Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กลุ่มอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน
•
ติดตาม
3 ต.ค. 2023 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
นะ ชา ลี ติ - คาถามหาลาภ
นะ ชา ลี ติ หรือที่เรียกว่า คาถาหัวใจพระสีวลี หรือคาถาหัวใจพระฉิมพลี เป็นคาถามหาลาภ ซึ่งนิยมใช้เกี่ยวกับการเสริมโชคลาภ ความร่ำรวย และเมตตามหานิยม
ทั้งนี้เพราะ พระสีวลีเป็น ๑ ใน ๘๐ พระอสีติมหาสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางผู้มีลาภมาก ด้วยอำนาจบุญที่ท่านได้บำเพ็ญสั่งสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติ ที่ท่านเกิดเป็นชายช่างตัดฟืนในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
คราวหนึ่ง ท่านได้ตัดรวงผึ้งจากป่าและถือเข้ามาในเมือง โดยไม่ทราบมาก่อนว่าชาวเมืองกำลังหาซื้อน้ำผึ้งสดจากรวงเพื่อไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีคนมาขอซื้อโดยเริ่มต้นจาก ๑ กหาปณะ ท่านก็ฉุกคิดในใจว่าทำไมจึงมีคนมาเสนอราคามากกว่าปกติ
แต่แม้จะได้ราคาดีขนาดไหนท่านก็ยังไม่ยอมขาย จนคนขอซื้อขยับราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ ซึ่งถ้าคิดเป็นเงินในปัจจุบันก็ราคาเป็นหลักหมื่นหลักแสนเลยทีเดียว ถึงอย่างนั้นท่านก็ไม่ยอมขาย
ในที่สุดเมื่อท่านทราบว่าชายคนดังกล่าวต้องการขอซื้อรวงผึ้งเพื่อคั้นน้ำผึ้งสด ๆ จากรวงเพื่อไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงนำรวงผึ้งถวายกับคณะสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยอานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและอานุภาพของทานอานิสงส์แห่งการถวายรวงผึ้ง ทำให้ในชาติสุดท้าย ท่านได้เกิดเป็นพระสีวลี บรรลุเป็นพระอรหันต์ และได้เป็นเอตทัคคะในทางผู้มีลาภมากในที่สุด
พระสีวลี เป็นพุทธสาวกที่นี่ลาภสักการะมากจนเผื่อแผ่ไปถึงพระพุทธสาวกพระองค์อื่น ๆ ด้วย เมื่อใดก็ตามที่พระบรมศาสดาออกเดินทางไปที่ไกลหรือว่ากันดารแค่ไหนก็ตาม หากพระสีวลีได้ร่วมทางไปด้วยแล้ว เหล่าคณะสงฆ์ทั้งหลายก็จะสามารถเดินทางได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ไม่มีความขาดแคลนใด ๆ ทั้งเรื่องที่พักอาศัยตลอดจนภัตตาหารต่าง ๆ
ในสมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุอีก ๕๐๐ รูป ได้เสด็จไปเยี่ยมพระเรวตะ พระน้องชายของพระสารีบุตร ที่จำพรรษาอยู่ ณ ป่าไม้ตะเคียน เมื่อมาถึงทางสองแพร่ง พระอานนท์ได้กราบทูลว่า “เส้นทางแรกจะยาวประมาณ ๖๐ โยชน์ (ประมาณ ๙๖๐ กิโลเมตร) แต่ว่าจะมีหมู่บ้านอยู่เป็นอันมาก หากเดินทางไปตามเส้นทางนี้ พระภิกษุก็จะไม่ลำบากเรื่องข้าวปลาอาหาร แต่อีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางลัด ยาวประมาณ ๓๐ โยชน์ (ประมาณ ๔๘๐ กิโลเมตร) จะเป็นป่าใหญ่ ถึงแม้ระยะทางจะสั้นกว่า แต่ว่าไม่มีหมู่บ้าน กลัวว่าพระภิกษุจะลำบาก”
พระพุทธองค์จึงตรัสถามพระอานนท์ขึ้นมาว่า “พระสีวลี ได้มากับคณะนี้หรือไม่” เมื่อพระอานนท์กราบทูลว่า “พระสีวลีมาอยู่พระเจ้าข้า” พระพุทธองค์จึงตรัสสรุปว่าเราสามารถที่จะเดินทางไปในทางลัด ๓๐ โยชน์ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นสภาพป่าใหญ่ แต่จะมีอมนุษย์และเทวดาทั้งหลายมาคอยเตรียมที่พักอาศัยและภัตตาหารเพื่อถวายพระสีวลี อันเป็นที่เคารพของตน พวกเราเองก็จะได้อาศัยบุญแห่งพระสีวลีในการเดินทางในครั้งนี้อย่างไม่ลำบากไปด้วย
ด้วยอำนาจบุญที่พระสีวลีท่านสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติ ท่านจึงมีลาภสักการะมากทั้งที่เหล่าอมนุษย์และมนุษย์นำมาถวายไม่ได้ขาด ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งพระสีวลี ให้เป็นเอตทัคคะในทางผู้มีลาภมากกว่าภิกษุใด ๆ
ในภายหลัง จึงมีผู้คนจำนวนมากได้นิยมแต่งบทคาถาสำหรับบูชาท่านโดยเฉพาะในหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็จะอยู่ในบทย่อที่ว่า “นะชาลีติ” ซึ่งประกอบด้วยพยัญชนะ ๔ ตัว คือ น, ช, ล และ ต และ สระ ๓ ตัว คือ สระอา สระอิ และสระอี
การเขียนของรูปแบบอักษรขอม
เมื่อเห็นคำว่า นะชาลีติ ครั้งใดก็อย่าลืมนึกถึงบุญที่ได้สั่งสมมา แล้วก็ตั้งใจที่จะสั่งสมบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ทานอันเป็นพื้นฐานของโภคทรัพย์ทั้งหลาย เพื่อชีวิตที่รุ่งเรืองร่ำรวยยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ดั่งคำสอนของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่ว่า
“เราเป็นมนุษย์ ยังไม่ถึงชาติที่สุดแล้วต้องให้ ถ้าไม่ให้แล้ว ไปในภายภาคหน้ามันกันดาร ไม่สมบูรณ์ด้วยเครื่องกินเครื่องใช้ มันขาดตกบกพร่อง ถ้าว่าให้อยู่เนืองนิตย์อัตราแล้ว ไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ทุกข์ยาก ในระหว่างนั้น ๆ พอใช้พอสอยทีเดียว เพราะการให้เป็นตัวสำคัญนัก”
โอวาทพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเขียน นะ ชา ลี ติ - คาถามหาลาภ ได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=OT8AXax8lnE
ติดตามความรู้เนื้อหาสาระดีๆ ได้ที่
Website :
https://www.mps-center.in.th
Youtube :
https://youtube.com/c/MPSCChannel
Twitter :
https://twitter.com/MPSCchannel
Blockdit :
https://www.blockdit.com/dhammachai_tipitaka
ความรู้รอบตัว
ประวัติศาสตร์
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ปุราณอักษรา...มนตราแห่งอักขระโบราณ
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย