10 ต.ค. 2023 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์

จะ ภะ กะ สะ - อักขระในธงกฐิน

หลังฤดูเข้าพรรษาเป็นประเพณีที่ชาวพุทธจะทำบุญทอดกฐิน ถือเป็นบุญใหญ่ เป็นมหากาลทาน ซึ่ง ๑ ปี มีเพียงครั้งเดียว ตามพระวินัยกำหนดระยะเวลาไว้ตั้งแต่วันออกพรรษา จนถึงวันลอยกระทง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) ตามวัดต่าง ๆ จะมีการจัดตกแต่งธงกฐิน เป็นรูปสัตว์ ๔ ประเภท ได้แก่ ธงจระเข้ ธงตะขาบ ธงนางมัจฉา และธงเต่า ซึ่งธงแต่ละแบบมีปริศนาธรรมซ่อนอยู่
ธงจระเข้ หมายถึง ความโลภ เพราะจระเข้เป็นสัตว์ที่มีปากใหญ่ มีฟันแหลมคมใช้เขมือบเหยื่ออย่างดุร้าย กินไม่อิ่ม จึงเปรียบเสมือนกับความโลภที่ครอบงำจิตใจคน ให้เข้าหาผลประโยชน์
ตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า เศรษฐีคนหนึ่งเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐินจนขาดใจตาย วัดจึงปักธงจระเข้ไว้หน้าวัดเพื่อให้ศรัทธาญาติโยมรู้ว่า วัดนี้ได้มีการทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว ใครที่ผ่านไปมาจะได้ยกมือขึ้นอนุโมทนาในกองการกุศลบุญกฐินที่ได้ทำ
ธงตะขาบ หมายถึง ความโกรธ เพราะตะขาบมีพิษที่เผ็ดร้อนเหมือนความโกรธที่แผดเผาจิต ท่านได้สอนให้รู้ว่า ความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นง่ายและรุนแรง แต่ก็หายเร็ว หรือที่เรียกว่า โกรธง่ายหายเร็ว โทสะหรือความโกรธมีความเจ็บปวด มีความเสียหายเป็นผล
ธงตะขาบ เมื่อถูกประดับขึ้นในวัดใดจะมีความหมายว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินไว้แล้ว เพื่อเป็นการแจ้งให้ผู้ประสงค์จองกฐินอื่น ๆ ได้ทราบและสามารถไปติดต่อจองกฐินที่วัดอื่นได้เลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเข้ามาไต่ถาม
ธงนางมัจฉา หมายถึง ความหลง แสดงความงามชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้ม ใช้ประดับงานพิธีถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนหญิงสาว ตามความเชื่อว่าอานิสงส์จากการถวายผ้าแก่พระภิกษุสงฆ์จะทำให้มีรูปงาม
ธงเต่า หมายถึง สติ เพราะเต่าเป็นสัตว์ที่มีกระดองแข็ง เมื่อภัยมาถึงตัว เต่าจะหดหัว คอ แขนขา และหางไว้ในกระดองเพื่อป้องกันตัว การกระทำของเต่าจึงอุปมาดุจสติที่ใช้ในการสำรวมระวังกิเลสทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นในห้วงอารมณ์โดยอาศัยช่องเข้ามากระทบให้กระเทือนใจ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อวัดปักธงเต่า เป็นการแจ้งให้รู้ว่าวัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว โดยจะปลดธงลงในวันเพ็ญเดือน ๑๒
ในบรรดาธงกฐินนี้นิยมเขียนอักขระขอมวิธีลงไปหลากหลายคาถาด้วยกัน บ้างก็เป็นคาถาพุทธคุณในด้านเมตตาค้าขาย เมตตามหานิยม ตามขนบธรรมเนียมประเพณีนิยม เช่น โบราณาจารย์ท่านได้นำเอาอักษร ตัวแรกของบทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณลิขิตว่า “อิ สฺวา สุ”
คำว่า อิ นำมาจากบทสรรเสริญพระพุทธคุณ คือ อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธฯ
คำว่า สฺวา นำมาจากบทสรรเสริญพระธรรมคุณ คือ สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโมฯ
คำว่า สุ นำมาจากบทสรรเสริญพระสังฆคุณ คือ สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆฯ
สำหรับการเขียนคำว่า อิ สฺวา สุ ด้วยอักษรขอมจะประกอบด้วยพยัญชนะ “ส” ตัวเต็ม พยัญชนะ “ว” ตัวซ้อน สระลอย ๑ ตัว คือ สระอิ และสระจม ๒ ตัว คือ สระอาและ สระอุ
ขอบคุณภาพจาก : https://www.web-pra.com/shop/ray2550/show/1365566
หรือคาถาที่เป็นคติสอนใจว่า “จะ ภะ กะ สะ” ซึ่งมาจากคำแรกของคาถาภาษาบาลี ดังนี้
จะ - จช ทุชฺชนสงฺสคฺคํ แปลว่า หลีกเลี่ยงคนพาลทั้งปวง คือผู้คิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว
ภะ - ภช สาธุ สมาคมํ แปลว่า คบหาบัณฑิตที่คิดดี พูดดี และทำดี หมั่นเข้าหาครูบาอาจารย์
กะ - กร ปุญญมโหรตฺตํ แปลว่า หมั่นทำบุญ คือความดีไม่เว้นทั้งกลางวันกลางคืน
สะ - สร นิจฺจมนิจฺจตํ แปลว่า ระลึกถึงความไม่เที่ยงเป็นนิจ เพราะชีวิตไม่แน่นอน
กล่าวโดยสรุป คือ อย่าไปคบคนชั่วคนโง่ คบแต่คนดีมีปัญญา ทำบุญอย่าเว้นทั้งกลางวันกลางคืน และระลึกถึงความไม่เที่ยงเป็นนิจ
การเขียนคำว่า จะ ภะ กะ สะ ด้วยอักษรขอมจะประกอบด้วยพยัญชนะตัวเต็ม ๔ ตัว คือ จ, ภ, ก และ ส
ขอบคุณภาพจาก : https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/amulets/news_4737906
เมื่อเราเห็นคาถาเหล่านี้ในธงกฐินใจของเราก็จะน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยและคำสอนของพระบรมพุทธเจ้า กายวาจาใจก็จะสะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมเป็นภาชนะรองรับบุญที่จะเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังทอดกฐิน อันเป็นมหากาลทานที่จะส่งผลให้เป็นเกิดความมั่งคั่งด้วยทรัพย์และโภคะทั้งหลาย ยามใดที่ปรารถนาสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเขียน จะ ภะ กะ สะ - อักขระในธงกฐิน ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=vL2DP7BkGM0
ติดตามความรู้เนื้อหาสาระดีๆ ได้ที่
โฆษณา