4 ก.ย. 2023 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

6 สมาชิกใหม่ ของกลุ่ม BRICS มีใครบ้าง เพียงพอหรือยังที่จะสร้าง “สกุลเงินใหม่”

กลุ่ม BRICS ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยี
รวมถึงความร่วมมือด้านการเงิน การต่อต้านการก่อการร้าย และการร่วมมืออื่นๆ ระหว่างประเทศสมาชิก
แต่ก็มีหลายๆคนมองว่า เหตุผลที่แท้จริงที่มีการก่อตั้งกลุ่ม BRICS ขึ้นมานั้นก็เพื่อ "ค้านอำนาจกับชาติตะวันตก"
การขยายตัวของกลุ่ม BRICS จึงถือเป็นหนทางหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม ให้มีอิทธิพลต่อเวทีระดับโลกมากขึ้น
จากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ กลุ่ม BRICS เดิม (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ได้มีการเชิญชวน 6 สมาชิกใหม่ให้เข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS
ได้แก่ อาร์เจนตินา อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
โดยการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 ประกาศโดย Cyril Ramaphosa ประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้
ซึ่งทำให้สัดส่วน GDP จากเดิมของกลุ่ม BRICS ที่อยู่ที่ 31.5% กลายเป็น 36% ของ GDP โลก และ 47% ของประชากรโลกทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้กลุ่ม BRICS
ทีนี้เราลองมาดูกันว่ากลุ่ม BRICS ได้อะไรบ้างจาก 6 สมาชิกใหม่นี้
  • อาร์เจนตินา
อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอเมริกาใต้หากแบ่งตามพื้นที่ และเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสามของอเมริกาใต้
อาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเนื้อสัตว์รายใหญ่ของโลก นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตขนสัตว์และไวน์รายใหญ่ที่สุด แต่ไวน์ส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ
ทำให้เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาใหญ่เป็นอันดับสามในอเมริกาใต้ และยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม G20 และองค์การรัฐอเมริกัน
  • อียิปต์
อียิปต์เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแอฟริกาเหนือ เป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสามในแอฟริกาและมากที่สุดในโลกอาหรับ เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในแอฟริกาและตะวันออกกลาง เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับที่ 27 ของโลก
และครอบครองเส้นทางเดินเรือขนส่งสำคัญอย่างคลองสุเอซ
  • เอธิโอเปีย
มีประชากรมากเป็นอันดับสองในแอฟริกา ภาคการเกษตรคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP มีค่าแรงต่ำอยู่ที่ 902 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีเท่านั้น
และเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค แต่ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุด โดยมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยที่ 1,020 ดอลลาร์ เท่านั้น
  • อิหร่าน
เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองในตะวันออกกลางหากแบ่งตามพื้นที่ อิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับสี่ในตะวันออกกลางและผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก
และมีแรงงานจำนวนมาก ประเทศนี้ยังเป็นมหาอำนาจที่สำคัญของภูมิภาคและมีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลกอีกด้วย
  • ซาอุดิอาราเบีย
เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางหากแบ่งตามพื้นที่ เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซรายใหญ่ของโลกและมีภาคการเงินที่แข็งแกร่ง เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลกมากที่สุดในตะวันออกกลาง
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ประกอบด้วย 7 รัฐ ได้แก่ อาบูดาบี อัจมาน ดูไบ ฟูไจราห์ ราสอัลไคมาห์ ชาร์จาห์ และอุมม์อัลไกไวน์
เศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในโลกอาหรับ
โดยมีจุดแข็งในด้านน้ำมันและก๊าซ การเงิน และการท่องเที่ยว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ องค์การความร่วมมืออิสลาม และกลุ่ม G20
De-Dollarization หรือ การลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ คือหนึ่งในคำที่เรามักได้ยินกันบ่อย
หลังจากรัสเซียที่เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม BRICS ประกาศว่าจะมีการสร้างสกุลเงิน BRICS เพื่อค้านอำนาจกับสกุลเงินอย่างดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรจากเรื่องสงครามยูเครน
ซึ่งมันกลายเป็นประเด็นฮือฮาว่า หากสกุลเงิน BRICS นี้เกิดขึ้นจะมีผลกระทบอะไรกับสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อมาดูกลุ่ม BRICS ที่รวม 6 สมาชิกใหม่ที่มีทรัพยากรสำคัญอย่างน้ำมันดิบและก๊าซเข้าไป ซึ่งเดิมทีก็มีประเทศผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่อย่างรัสเซียอยู่แล้ว
หากสกุลเงิน BRICS เกิดขึ้นจริงและใช้มันเป็นสกุลเงินกลางระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยประชากรของกลุ่ม BRICS ตอนนี้ที่มีมากถึง 47% ของประชากรโลก และขนาดเศรษฐกิจ 36% ของโลก
จะทำให้เกิดธุรกรรมด้านการเงินของสกุลเงิน BRICS เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะจีนที่มีความต้องการด้านพลังงานมหาศาล ก็ได้มีข้อตกลงที่จะซื้อน้ำมันดิบด้วยเงินหยวนกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย
ยังรวมถึงโรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ในอินเดียที่เริ่มมีการใช้เงินหยวนของจีนแทนดอลลาร์สหรัฐ สำหรับจ่ายค่าน้ำมันนำเข้าจากรัสเซียบางส่วนในปีที่ผ่านมา
ซึ่งแค่สองประเทศสมาชิกนี้ก็มีประชากรกว่าครึ่งของกลุ่ม หากกลุ่ม BRICS ต้องการที่จะผลักดันสกุลเงินใหม่ขึ้นมา
1
อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป เมื่อเราเทียบความต้องการบริโภคสิ่งต่างๆ ของประชากรกว่าครึ่งโลก ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้เงินซื้อสิ่งเหล่านั้น
แต่อย่างที่หลายคนรู้ว่าคำว่า De-Dollarization ไม่ใช่ว่ามันพึ่งจะเกิดแต่คำนี้มีมานานแล้ว ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างได้จากสกุลเงินยูโร ที่มีลักษณะคล้ายกับสกุลเงิน BRICS
โดยสกุลเงินยูโรเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1999 โดยกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป 11 ประเทศ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน ลดต้นทุนการแปลงสกุลเงินและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และกำกับดูแลโดย ECB
ซึ่งก็คล้ายคลึงกับจุดประสงค์ของสกุลเงิน BRICS เพียงแต่ BRICS มีขนาด GDP ที่ 36% มากกว่า GDP รวมของสหภาพยุโรปที่ประมาณ 16% ของ GDP โลก และจำนวนประชากรที่มากกว่ามหาศาล
สกุลเงิน BRICS จึงดูเป็นความหวังที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดของแนวคิด De-Dollarization นี้
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของสกุลเงิน BRICS ยังมีอยู่อีกหลายประการ
  • มูลค่าที่อยู่เบื้องหลังสกุลเงิน BRICS นี้
เมื่อเรามาดูสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐ ที่หลังจากยกเลิกมาตราฐานทองคำไปแล้ว พวกเขาใช้ความเป็นสกุลเงินหลักของโลกที่ทุกประเทศต้องถือครองเป็นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
และขนาดเศรษฐกิจที่มี GDP ปัจจุบันมากถึง 25% ของ GDP โลก หรือแม้แต่อำนาจทางทหาร ในการมาเป็นหลักประกันมูลค่าของสกุลเงินพวกเขา
หรือสกุลเงินยูโร นอกจากขนาดเศรษฐกิจที่มี GDP 16% ของ GDP โลกแล้ว ECB ยังใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยดอลลาร์สหรัฐ เยนญี่ปุ่น หยวนจีน ทองคำ และสกุลเงินอื่นๆ มาเป็นหลักประกันมูลค่าของสกุลเงินพวกเขา
แต่ถึงแม้สกุลเงินยูโรจะเกิดจากแนวคิด De-Dollarization เหมือนกันแต่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่เป็นหลักประกันมูลค่าของยูโร ประกอบด้วยดอลลาร์สหรัฐไปแล้วกว่า 59%
ข้อมูลจาก International Monetary Fund
ซึ่งหมายความว่ามูลค่าของสกุลเงินยูโร ก็ยังหนีไม่พ้นดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีอำนาจและผลกระทบต่อสกุลเงินยูโรอยู่มาก
สำหรับสกุลเงิน BRICS หลักประกันมูลค่าของมันก็น่าจะคลายคลึงกับสกุลเงินยูโ และถึงแม้ขนาดเศรษฐกิจและประชากรจะมีมากกว่าสหภาพยุโรป แต่ถ้ายังมีดอลลาร์สหรัฐ เป็นหลักประกันมูลค่า ภาพของสกุลเงิน BRICS อาจจะไม่ต่างจากสกุลเงินยูโรเท่าไหร่นัก
หากพวกเขาจะใช้มาตราฐานทองคำ ด้วยขนาดเศรษฐกิจและประชากร พวกเขาคงต้องใช้ทองคำปริมาณมหาศาลมาก มาเป็นหลักประกันมูลค่าสกุลเงิน BRICS เพื่อให้สกุลเงินนี้มีสภาพคล่องที่เพียงพอต่อการใช้งาน
  • ปัญหาด้านการเมืองของกลุ่ม BRICS
แม้สกุลเงิน BRICS จะดูมีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับแนวคิด De-Dollarization แต่ปัญหาด้านการเมืองก็ยังมีเหมือนกับสหภาพยูโร
ประเทศที่ลงทุนในกลุ่ม BRICS 4 ใน 8 อันดับแรกเป็นสมาชิกกลุ่ม G7 ที่สหรัฐฯ เป็นผู้คุมบังเหียน หมายความว่าเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS มีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยกับดอลลาร์สหรัฐ
เพราะหากค้าขายกับกลุ่ม G7 ส่วนใหญ่ก็ต้องใช้ดอลลาร์สหรัฐ ในด้านเศรษฐกิจแล้วสมาชิกกลุ่ม BRICS บางประเทศก็ยังต้องพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐอยู่
ทำให้สมาชิกบางประเทศ อย่างอินเดียที่กำลังมีเม็ดเงินจากสหรัฐฯไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ หรือประเทศสมาชิกอื่นๆ ไม่อยากที่จะสร้างสงครามด้านการเงินหรือด้านเศรษฐกิจกับกลุ่ม G7
ความท้าทายด้านการเมืองนี้ อาจเป็นปัญหาที่ขัดขวางการตั้งตัวของสกุลเงิน BRICS ได้
  • เวลาก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสกุลเงิน
อย่างอำนาจของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ยังใช้เวลาถึง 30-40 ปี ในการตั้งตัว หรือสกุลเงินยูโรที่ใช้เวลา 20 ปี ในการตั้งตัว สกุลเงิน BRICS ก็คงไม่ต่าง
สกุลเงิน BRICS จำเป็นต้องใช้เวลาให้ผู้คนรู้สึกคุ้นเคย เพราะอย่างไรประชาชนในแต่ละประเทศสมาชิก ก็คุ้นเคยกับการใช้สกุลเงินท้องถิ่นอยู่ดี
และยังต้องใช้เวลาสะสมความเชื่อมั่นจากนานาชาติ ไม่อย่างงั้นคงไม่มีใครกล้าถือครองสกุลเงิน BRICS ทำให้เสี่ยงต่อความผันผวนอีกด้วย
ความท้าทายของสกุลเงิน BRICS นั้นไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีปัจจัยสำคัญอีกมากมาย อย่างเช่น ความโปร่งใส สภาพคล่อง กฎระเบียบการเงินที่เข้มงวดและชัดเจน
หรือแม้แต่ว่าใครจะเป็นผู้กำกับผู้ดูแล ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของสกุลเงิน BRICS จะเก็บไว้ที่ใคร
รวมถึงข้อถกเถียงอย่าง ใครคือผู้คุมบังเหียนสกุลเงิน BRICS ถ้าหากเป็นจีนแล้วมันจะต่างอะไรกับดอลลาร์ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี การสร้างสกุลเงินของกลุ่ม BRICS ก็นับเป็นความเคลื่อนไหวที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และสามารถช่วยเปลี่ยนสมดุลแห่งอำนาจของกลุ่มประเทศตะวันตกได้
แต่มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาก่อนที่กลุ่ม BRICS ใหม่นี้จะสามารถสร้างสกุลเงินใหม่ได้
ปัจจัยเหล่านั้นยังรวมถึงระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความเต็มใจของประเทศต่างๆ ที่จะสละสกุลเงินของตนเอง และความมั่นคงของสกุลเงินใหม่
ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ากลุ่ม BRICS ใหม่จะสามารถสร้างสกุลเงินใหม่ได้หรือไม่ แม้พวกเขาจะมีประเทศผู้นำด้านพลังงานมาร่วมทัพเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนมานำเสนอเท่านั้น เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา