Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InvestWay
•
ติดตาม
24 ก.ย. 2023 เวลา 23:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การ “พึ่งพาแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง” อีกหนึ่ง “ความเปราะบาง” ของสหรัฐฯ
ทำไมการพึ่งพาแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ถือเป็น "ช่องโหว่" ที่สำคัญของสหรัฐฯ
คำว่า "แร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง" หมายถึง สินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทที่ผลิตโดยการขุด แต่ไม่รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นเชื้อเพลิง เช่น ถ่านหินและหินน้ำมัน เป็นต้น
การผลิตแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆตาม USGS (หน่วยงานทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ) ได้แก่ โลหะ/แร่โลหะ และแร่อุตสาหกรรม
โดยในปี 2022 มูลค่าการผลิตแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงของสหรัฐฯ อยู่ที่ 98.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งแบ่งเป็นการผลิตโลหะ 34.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการผลิตแร่อุตสาหกรรม 63.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯ จะทำเหมืองและแปรรูปแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง จำนวนมากภายในประเทศ
แต่นั่นเป็นแร่ธาตุที่ใช้ในอุตสาหรรมซะส่วนใหญ่ อย่างเช่น หินบด ซีเมนต์ ทองแดง ทราย และกรวด เป็นต้น
รองลงมา ได้แก่ ทองคำ แร่เหล็ก สังกะสี และโมลิบดีนัม เป็นต้น
ตามรายงานที่ USGS เผยแพร่สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โดยคิดเป็น "มากกว่าครึ่ง" ของการบริโภคที่ชัดเจนของสหรัฐฯ สำหรับแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงกว่า 50 รายการที่ USGS ให้ความสำคัญ
รูปภาพจาก National Management Association (NMA)
ซึ่งแร่ธาตุที่นำเข้าเหล่านั้น มักถูกเรียกว่าแร่ธาตุสำคัญหรือแร่ธาตุเชิงกลยุทธ์ มีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ
รวมถึงยานพาหนะไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจยุคใหม่
ทีนี้เราลองมาดูกันว่าสหรัฐฯ การนำเข้าแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงกว่า 50 รายการ นั้นนำเข้าจากที่ไหนและมีอะไรบ้าง
*หมายเหตุ USGS ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดและไม่ได้ตรงไปตรงมา เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของสหรัฐฯ
ข้อมูลจากการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USGS)
ข้อมูลจากการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USGS)
จากข้อมูลของการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USGS) แร่ธาตุทั้งหมด 50 รายการที่รัฐบาลสหรัฐฯถือว่ามีความสำคัญ
มีการพึ่งพาการนำเข้าจากหลายประเทศ เช่น จีน แคนนาดา เม็กซิโก อินเดีย เยอรมนี ญี่ปุ่น เป็นต้น
ในบรรดาแร่ธาตุที่สหรัฐฯ มีการพึ่งพาการนำเข้าจะเห็นได้ว่าแทบจะทุกชนิดมี "จีน" เป็นแหล่งนำเข้าหลัก ในปี 2022
การพึ่งพาการนำเข้าที่สูงนี้ทำให้สหรัฐฯ เสี่ยงต่อการหยุดชะงักของอุปทานและความผันผวนของราคา หากเกิดปัญหา
ตัวอย่างที่เกิดขึ้น ในปี 2010 การนัดหยุดงานของเหมืองในจีน ทำให้เกิดการขาดแคลนธาตุหายาก ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก การขาดแคลนนี้ส่งผลให้ราคาธาตุหายากพุ่งสูงขึ้น และทำให้ห่วงโซ่อุปทานของหลายบริษัทหยุดชะงัก
และยิ่งในสถานะการณ์โลกที่มีความ De-globalization ที่หลายๆประเทศลดการพึ่งพากัน และเริ่มมีการแบ่งข้างกันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
การพึ่งพาการนำเข้าแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงจำนวนมากของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้เกิดความท้าทายสำหรับดำเนินงาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีหลายๆอย่างได้
อย่างเมื่อเร็วๆนี้ที่จีนประกาศจะจำกัดการส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมเนียม ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในการผลิตทรานซิสเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ แผงโซลาร์เซลล์ และอื่นๆ
ทำให้เกิดอุปสรรคเพิ่มเติมของห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของสหรัฐฯ ในเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งรวมถึงไฟ LED ระบบไฟเบอร์ออปติก และการส่งข้อมูล
ซึ่งข้อจำกัดนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยจีนให้เหตุผลว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญ เป็นความมั่นคงของชาติ
แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าการกระทำนี้ เป็นการตอบโต้สหรัฐฯและชาติอื่นๆของจีน จากการที่พวกเขาขัดขวางไม่ให้จีนพัฒนาอุตสาหกรรมชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์
เลยจะมาลองสำรวจดูกันว่า หากการขัดแข้งขัดขากันนี้ทวีความรุนแรงขึ้น จีนมีแร่ธาตุอะไรอีกมั้ยที่จะใช้ในการ "ตอบโต้สหรัฐฯ"
แผนภูมิจาก Elements
แผนภูมิจาก Elements
จากแผนภูมิ จะเห็นได้ว่านอกจากแกลเลียมที่สหรัฐฯมีการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน 100% และ 50% สำหรับเจอร์เมเนียม ก็ยังมีแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงอย่างอื่นๆอีก ที่สหรัฐฯมีการพึ่งพาการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง
มีอะไรบ้างมาดูกัน
●
Arsenic (สารหนู) สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 100%
เป็นสารเติมแต่งโลหะผสมที่มีประสิทธิภาพสูงที่สามารถใช้เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติ เช่น เพิ่มความแข็ง ความแข็งแรง และการนำไฟฟ้า ของโลหะต่างๆ อย่างเหล็ก ทองแดง และสังกะสี
และใช้ทำสารประกอบอินทรีย์หลายชนิด รวมถึงยาฆ่าแมลง ยา และสีย้อม
●
Graphite (กราไฟต์) สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 100%
กราไฟต์เป็นวัสดุแอโนดหลักในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ใช้ในน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์เซรามิกต่างๆ
●
Tantalum (แทนทาลัม)สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 100%
มีความทนทานต่อการกัดกร่อน ทนความร้อนสูง และสามารถนำไฟฟ้าได้ ใช้ทำอิเล็กโทรดในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรี่ ไดโอด ทรานซิสเตอร์ เป็นต้น
ใช้ทำวัสดุคอมโพสิต เช่น วัสดุผสมโลหะและพลาสติก ใช้ทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือผ่าตัดและอุปกรณ์ใส่เทียม
และยังใช้ทำชิ้นส่วนเครื่องบินและจรวดบางอย่าง เนื่องจากน้ำหนักเบา ทนความร้อนสูง และทนต่อการกัดกร่อน
●
Yttrium (อิตเทรียม) สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 100%
ใช้ทำวัสดุแม่เหล็กทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า ไดนาโม และเครื่องจักรอุตสาหกรรม
ใช้ทำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และใช้ทำไดนาโมสำหรับพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์บางส่วน
และยังเป็นวัสดุทำอุปกรณ์ใส่เทียมทางการแพทย์ เช่น หัวเข่าเทียมและข้อสะโพกเทียม
●
Bismuth (บิสมัท) สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 96%
เป็นโลหะทรานซิชันที่หายากที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ สามารถนำไปทำโลหะผสมที่มีจุดหลอมเหลวต่ำได้
นอกจากนี้ยังมีการใช้ในการทำ เครื่องสำอาง สี และยารักษาโรคบางชนิด มันเป็นวัสดุที่ทนไฟสามารถใช้ทำวัสดุทนไฟ เช่น อิฐและแผ่นรองกันความร้อนได้
●
Rare Earths (แร่หายาก) สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 95%
เป็นกลุ่มของธาตุโลหะ 17 ชนิด ได้แก่ กลุ่มแลนทาไนด์ (Lanthanides) 15 ชนิด และกลุ่มอะคติไนด์ (Actinides) 2 ชนิด
แร่หายากเหล่านี้มักใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์การแพทย์ และใช้ในเทคโนโลยีสีเขียว เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และแบตเตอรี่บางส่วน
และแร่หายากพวกนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมการทหารอย่าง ขีปนาวุธ เครื่องบิน และเรือ อีกด้วย
●
Antimony (แอนทิโมนี) สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 83%
เป็นธาตุโลหะทรานซิชันที่หายากที่มีจุดหลอมเหลวต่ำอีกชนิดหนึ่ง ใช้ทำโลหะผสมที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้และแบตเตอรี่กรด
และใช้ในอุตสาหกรรมการทหาร อย่างวัตถุระเบิดและทุ่นระเบิดอีกด้วย
●
Barite (บาไรท์)สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 75%
บาร์ไรต์ใช้ทำสารแขวนลอยเพื่อปรับปรุงการไหลของน้ำมันและก๊าซในท่อ ใช้ทำคอนกรีตและปูนซีเมนต์ และใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษและสี
และใช้ทำยา เช่น ยาระบายและยารักษาโรคกระเพาะอาหารบางชนิด
*ตัวอย่างประโยชน์ของแร่ธาตุต่างๆที่กล่าวมานี้ เป็นการอธิบายอย่างง่ายๆ หากสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง
จะเห็นได้ว่าแม้แร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงต่างๆที่กล่าวมานี้ อาจไม่ได้มีนัยเท่าแกลเลียมและเจอร์เมเนียม ที่ใช้ในการผลิตทรานซิสเตอร์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็น "กระดูกสันหลัง" ของโลกนี้
แต่มันก็แสดงถึง "ความเปราะบาง" ของสหรัฐฯในด้านนี้ เพราะพวกเขามีการพึ่งพาการนำเข้าแร่ธาตุสำคัญที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงจากต่างประเทศที่สูง
แม้ว่าสหรัฐฯ เองจะทำเหมืองและแปรรูปแร่ธาตุภายในประเทศด้วยก็ตาม แต่หากสหรัฐฯ เผชิญกับการจำกัดการส่งออกอย่างที่เกิดในแกลเลียมและเจอร์เมเนียม
ด้วยสัดส่วนการนำเข้าขนาดนี้ มันคงมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆในสหรัฐฯไม่น้อย
หากเป็นเมื่อก่อนสิ่งนี้อาจจะไม่ได้ถือเป็นความเสี่ยงอะไรมาก เพราะโลกเรายังค่อนข้าง Globalization แต่เมื่อเกิดสงครามเศรษฐกิจระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ สิ่งนี้จึงเริ่มถูกนำมาใช้เป็นอาวุธหรือข้อต่อรอง
ทำให้มันกลายเป็นความเสี่ยงและความท้าทายที่เพิ่มขึ้น สำหรับทั้งสหรัฐฯเองและจีน
อย่างไรก็ตาม หากเราสังเกตก็จะเห็นว่า 50 รายการ ในข้อมูลที่นำเสนอก็จะมีจีนอยู่ในนั้นเสมอ มันแสดงให้เห็นว่า แม้จีนเองจะถูกขัดแข้งขัดขาด้วยวิธีต่างๆ แต่พวกเขาก็ยังมีสิ่งที่ใช้ต่อรองอื่นๆ อยู่อีกโดยเฉพาะในแร่ธาตุที่สำคัญๆ
แผนภูมิจาก Statista
แผนภูมิจาก Statista
โดยในปี 2022 นั้นจีนมีปริมาณสำรองแร่หายากจำนวนประมาณ 44 ล้านเมตริกตัน และจีนเป็นผู้ผลิต "มากกว่าสองในสาม" ของการผลิตเหมืองแร่หายากทั่วโลกทั้งหมด
ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจต่อรองอย่างมากในเรื่องนี้
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูล ปัจจัยบางส่วนในช่วงเวลาหนึ่ง มานำเสนอเท่านั้น
และเนื่องด้วยการหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของสหรัฐฯ ข้อมูลตัวเลขอาจจะคาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
แต่ก็เพียงพอที่จะเห็นแนวโน้มได้ว่าสหรัฐฯ มีการพึ่งพาแร่ธาตุที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงจากต่างประเทศขนาดไหน
เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียด ได้ด้วยตัวเอง
References:
http://www.mofcom.gov.cn/article/zwgk/gkzcfb/202307/20230703419666.shtml
https://thestandard.co/why-is-gallium-germanium-important/
https://www.visualcapitalist.com/the-50-minerals-critical-to-u-s-security/
https://pubs.usgs.gov/periodicals/mcs2023/mcs2023.pdf
https://elements.visualcapitalist.com/americas-import-reliance-of-critical-minerals-charted/
https://elements.visualcapitalist.com/mapped-u-s-mineral-production-value-by-state-in-2022/
https://www.statista.com/statistics/270277/mining-of-rare-earths-by-country/
https://www.statista.com/statistics/277268/rare-earth-reserves-by-country/
https://nma.org/2023/01/31/u-s-reaches-highest-recorded-mineral-import-reliance/
https://www.usgs.gov/news/national-news-release/usgs-records-nonfuel-mineral-production-jump-36-billion-2022
เศรษฐกิจ
การเงิน
ข่าวรอบโลก
3 บันทึก
12
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
INVESTING NEWS AND ECONOMY SERIES by InvestWay
3
12
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย