4 ก.ย. 2023 เวลา 12:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ
JKN ประกาศจ่ายหุ้นกู้คืนได้เพียงบางส่วน ทำให้เสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไปมาก ดูจากราคาหุ้นก็น่าจะเห็นกันแล้ว คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับ JKN จะกลับมาได้หรือไม่ จากการดูย้อนหลังมีข้อสังเกตุอะไรบ้าง และ ราคาหุ้นที่ 1.3 บาท(วันที่ 4/9/2023) หมายความว่าอย่างไร
ทุกคนคงรับรู้เรื่อง Liquidity mismatch กันมาพอสมควรแล้ว รวมถึงคงได้ดูที่คุณแอนออกมาประกาศแล้ว ใครยังไม่ดูไปอ่านสรุปของลงทุนแมนได้เลยครับ
สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไมจึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น ผมจะค่อยๆไล่ไปตั้งแต่แรกนะครับ ใครเข้าใจแล้ว ลองเลื่อนไปอ่านท้ายๆได้เลยครับ เรื่องราคาหุ้น
ทำไมถึงไม่สามารถจ่ายหุ้นกู้ได้เต็มจำนวน?
คำตอบง่ายๆคือบริษัทขาดสภาพคล่อง หรือไม่มีเงินสดเพียงพอนั้นเองครับ ถ้าดูงบกำไรขาดทุนอย่างเดียวอาจจะงงได้ เนื่องจากบริษัทมีกำไรทุกปี ทำไมถึงไม่มีเงินล่ะ ในความเป็นจริงแล้วเราควรดูกระแสเงินสดของบริษัทเพื่อจะเห็นภาพเงินสดจริงๆที่เข้าและออกบริษัทในแต่ละปีนะครับ
สิ่งแรกที่ดูคือเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นบวกอยู่ 1100 ล้านบาท แต่บริษัทลงทุนไปแล้วประมาณ 1500 ล้าน เท่ากับกระแสเงินสดอิสระของบริษัทติดลบ 400 ล้าน ซึ่งย้อนไปดูอีก 3 ปี ก็จะเห็นภาพเดียวกันนี้
1
คำถามต่อมาคือแล้วบริษัทเอาเงินจากไหนมาลงทุน?
แน่นอนว่าแหล่งเงินทุนหลักก็คือการออกหุ้นกู้ ซึ่งเมื่อครบกำหนดควรจะคืน หรือออกหุ้นกู้ใหม่มาเพื่อ Roll over ไป แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้คือบริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ และไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนใหม่ มาคืนหุ้นกู้ชุดนี้ได้ จึงเกิดเรื่องขึ้นในตอนนี้
เมื่อไม่มีเงินสดพอ แล้วบริษัทมีอะไรอยู่บ้าง?
ลองดูในงบดุลของบริษัทจะเห็นว่าสินทรัพย์หลักของบริษัทคือ ลูกหนี้การค้า และ กลุ่มสินทรัพย์ไม่มีตัวตน คิดเป็นประมาณ 19% และ 70% ของสินทรัพย์ทั้งหมดตามลำดับ
งบ Q2 2566
รายการแรกคือลูกหนี้การค้า เมื่อดูในเอกสารประกอบงบ จะเห็นข้อสังเหตุนึงคือ ใน Q2 2023 บริษัทมีลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระสูงขึ้นพอสมควร โดยมีคำอธิบายว่าบริษัทอยู่ระหว่างเร่งเก็บเงินคู่ค้าเหล่านี้อยู่
งบ Q2 2566
อีกรายการคือกลุ่มสินทรัพย์ไม่มีตัวตนทั้ง ลิขสิทธ์รายการ, เครื่องหมายการค้า และค่านิยม
ตัวที่มีมูลค่าสามารถขายได้คือ "ลิขสิทธ์รายการ" เอาตรงๆคือผมไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าแต่ละตัวคืออะไรบ้าง ใครรู้ก็มาแชร์กันได้นะครับ
งบปี 2565
ประเด็นมันอยู่ที่กลุ่มลิขสิทธ์นี้เมื่อซื้อมา บริษัทจะไม่ได้รับรู้ค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนในทันที แต่จะตัดจำหน่าย(Amortization) ประมาณ 3 -7 ปี ตามที่บริษัทบอกในงบปี 2565 ทำให้เรายังเห็นว่าบริษัทกำไรดี
การตัดจำหน่าย
เมื่อย้อนไปดูไกลๆ ผมมีข้อสังเกตุอีกข้อนึงคือ เราจะเห็นว่าบริษัทซื้อลิขสิทธ์มาเรื่อยๆทำให้ สินทรัพย์ไม่มีตัวตนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่เมื่อเราดู ค่าตัดจำหน่ายกลับไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตาม
เปรียบเทียบการตัดจำหน่าย กับสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆคือในงบครึ่งปีแรก บริษัทมีค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเพียง 3.2% ทั้งที่มีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเพิ่มขึ้น 31.8%
ไม่แน่ใจว่าบริษัทมีการปรับยืดระยะเวลาการตัดจำหน่ายลงหรือไม่ ถ้าเป็นจริง ผลคือในงบกำไรขาดทุนจะดูดีไปหรือป่าว
เปรียบเทียบการตัดจำหน่าย กับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนงบ 6 เดือน 2566
หลังจากเจอข้อสังเกตุกันไปพอสมควรแล้ว สุดท้ายมาดูกันว่า ณ ราคา 1.3 บาท หมายความว่ายังไง
ด้วยราคาหุ้น 1.3 บาท Market cap จะอยู่ที่ประมาณ 1.3 พันล้าน ลองคิดคร่าวๆว่า บริษัทมีหนี้อยู่ประมาณ 3 พันล้าน แต่มีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอยู่ 6 พันล้าน ถ้าไม่นับลูกหนี้และเจ้าหนี้การค้าเลย เท่ากับว่าเราซื้อบริษัทที่ราคา 1.3 พันล้าน เราได้ค่าลิขสิทธ์มา 6 พันล้าน แต่มาพร้อมหนี้สิน 3 พันล้าน หักออกจากค่าลิขสิทธ์ และทุนที่เราซื้อด้วยเงิน 1.3 พันล้าน เราจะได้กำไรอยู่ประมาณ 1.7 พันล้านในทันที
ดังนั้นคำถามสำคัญคือสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านี้ จริงๆแล้วควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่??
ส่วนตัวคิดว่าถ้าบริษัทกลับมาได้ สามารถคืนเงินได้ตามปกติ ไม่ลงทุนเกินตัวเหมือนก่อนหน้านี้ กลับมาคิดถึงผู้ถือหุ้นบ้าง รวมถึงสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านั้นมีมูลค่าจริงๆ ราคานี้ก็อาจเป็นโอกาสในการลงทุนได้ครับ แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้มีแต่ความไม่แน่นอน ยังมีหลายอย่างที่ตอบไม่ได้ครับ
คิดเห็นยังไงกันบ้างมาแชร์กันได้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา