5 ก.ย. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

เป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันไม่ต้องผ่าตัดได้ด้วยหรือ

ในโลกของการแพทย์ การค้นพบครั้งสำคัญอาจใช้เวลาหลายปีหรือหลายทศวรรษจึงจะแสดงผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ การศึกษาล่าสุดจากสวีเดนได้เปิดเผยผลระยะยาวที่น่าทึ่งของการรักษาไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งอาจเปลี่ยนแนวทางการรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันในอนาคตอันใกล้นี้
ผลวิจัยดังกล่าวพบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน บางคนได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด และอีกกลุ่มหนึ่งได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่ผ่าตัดจนอาการหายดี เมื่อติดตามผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไปนานราว ๆ 20 ปี พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับการรักษาแบบไม่ผ่าตัด (ได้รับเพียงยาปฏิชีวนะ) สามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดไส้ติ่งได้เกือบสองทศวรรษ
ในช่วงทศวรรษ 1990 สองการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่มีการควบคุม (RCTs) ในประเทศสวีเดนได้ปูทางไว้ อัตราความสำเร็จของการรักษาครั้งแรกนั้นน่าประทับใจ โดยมีผู้ป่วย 95% และ 88% ตอบสนองต่อการรักษาไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันแบบไม่ผ่าตัดได้ดี แม้แต่ผู้ที่จำเป็นต้องผ่าตัดในตอนแรกก็มีแนวโน้มระยะยาวที่ดีเช่นกัน โดยมีเพียง 15% เท่านั้นที่สุดท้ายต้องเข้ารับการผ่าตัด
ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษานี้ยังเปิดเผยข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจ กล่าวคือ การผ่าตัดไส้ติ่งในภายหลังในคนไข้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะในตอนแรกยังคงเกิดขึ้นได้แม้กระทั่ง 20 ปีต่อมา แต่มีเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่มีการรายงานภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
การวิจัยนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษา แม้ว่าการศึกษาจะมีข้อจำกัด เช่น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและมาตรฐานการวินิจฉัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการรักษาไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันแบบไม่ผ่าตัด
ในอนาคตเมื่อคุณมีอาการปวดท้องด้านขวาล่าง และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน แพทย์คงต้องถามว่า จะเลือกรักษาแบบใดดีระหว่างผ่าตัด หรือ ไม่ผ่าตัด (ปัจจุบันการผ่าตัดยังเป็นการรักษามาตรฐานของโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน) ซึ่งจากข้อมูล ณ ปัจจุบัน การรักษาแบบไม่ผ่าตัด หรือรักษาด้วยยาปฏิชีวนะก็ให้ผลลัพธ์ที่ดี ปลอดภัย ในระยะสั้นและระยะยาว
อ้างอิง
Pátková B, Svenningsson A, Almström M, Svensson JF, Eriksson S, Wester T, Eaton S. Long-Term Outcome of Nonoperative Treatment of Appendicitis. JAMA Surg. 2023 Aug 9:e232756. doi: 10.1001/jamasurg.2023.2756. Epub ahead of print. PMID: 37556160; PMCID: PMC10413207.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา