Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
แค่สงสัย เลยอยากเล่า|中文秘密
•
ติดตาม
9 ก.ย. 2023 เวลา 17:08 • การศึกษา
หนานจิง
“วิชาภาษาจีนโบราณ” รากฐานที่สำคัญในการเรียนจีน|“古代汉语”为学汉语基础之重
เมื่อพูดถึงการเรียนภาษาจีนแล้ว เราอาจจะนึกถึงการเรียนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เทศกาลต่าง ๆ และไวยากรณ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นเนื้อหาหลัก ๆ ที่เหล่าซือสอนในคาบเรียน แต่แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่เรามักไม่ค่อยได้พูดถึงคือ "วิชาภาษาจีนโบราณ"
แล้ววิชานี้มาไหน? ทำไมไม่เจอในชั้นเรียนม.ปลาย? จริง ๆ แล้ววิชานี้จะมีเรียนตอนอยู่มหาลัย ไม่ว่าจะเป็นคณะการสอนจีนฯ(汉语国际教育)หรือคณะภาษาศาสตร์ฯ(汉语言)ก็ล้วนมีเรียนวิชานี้ให้เรียน ส่วนตอนม.ปลายที่ไม่มีเพราะเนื้อหาอาจจะลึกไป แต่ในความเป็นจริงมันอยู่ในสิ่งที่เราเรียนนี่แหละ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการสอนว่าจะสอดแทรกยังไง
1
ดังนั้น ในโพสต์นี้ดราจะมาอธิบายให้ฟังเกี่ยวกับ "วิชาภาษาจีนโบราณ(古代汉语)"
1、นิยามความหาย "ภาษาจีนโบราณ"|什么是古代汉语
ภาษาจีนโบราณ(古代汉语)เป็นภาษาที่ชาวจีนฮั่นในยุคโบราณใช้ ซึ่งรวมถึงภาษาเขียน(书面语)และภาษาพูด(口语)ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า "ภาษาจีนโบราณ" ในปัจจุบันหมายถึง ภาษาเขียนที่บันทึกไว้ซึ่งภาษาของเอกสารโบราณ
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ภาษาจีนสามารถแบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
●
ภาษาจีนยุคโบราณ(上古汉语)——สมัยก่อนราชวงศ์ฉิน-ฮั่น(先秦两汉)
●
ภาษาจีนยุคกลาง(中古汉语)——สมัยราชวงศ์เว่ย์จิ้น-ซ่ง(魏晋至宋)
●
ภาษาจีนยุคใกล้(近代汉语)——สมัยราชวงศ์หยวน-หลังชิง(元至清后)
●
ภาษาจีนสมัยใหม่(现代汉语)——ตั้งแต่ขบวนการ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 เป็นต้นมา(1919年五四运动以来)
ภาษาจีนสมัยใหม่(现代汉语)เป็นภาษาจีนที่ชาวจีนใช้กันทั่วไป ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นภาษาเดียวกัน ในขณะที่ภาษาจีนโบราณนั้นตรงกันข้าม ด้วยเหตุนี้ ภาษาเขียนของภาษาจีนโบราณในความหมายกว้าง ๆ จะหมายถึง ภาษาจีนยุคกลาง(中古汉语)และภาษาจีนยุคใกล้(近代汉语)
ภาษาเขียนของภาษาจีนโบราณแบ่งเป็น 2 ระบบ ดังนี้
●
ระบบที่ภาษาจีนโบราณใช้ "ภาษาพูด" ในยุคก่อนราชวงศ์ฉินเป็นฐาน
ประกอบด้วย อักษรกระดองเต่า(甲骨文)อักษรสัมฤทธิ์(金文)คัมภีร์ซือจิง《诗经》หนังสือซ่างซู《尚书》คัมภีร์หลุนอฺวี่《论语》เป็นต้น
●
ระบบที่บันทึก "ภาษาพูด" ในช่วงราชวงศ์ถัง-ซ่ง
คำศัพท์และไวยากรณ์มีความใกล้เคียงกับภาษาจีนสมัยใหม่ โดยระบบแรกคือ "ภาษาเขียนโบราณ(文言文;文言)" และ "ภาษาพูดโบราณ(古白话)" ดังนั้น เนื้อหาหลักในวิชานี้จะเน้นไปที่ "ภาษาเขียนโบราณ" มากกว่า "ภาษาพูดโบราณ"
ภาษาเขียนโบราณ(文言)เป็นภาษาที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาพูดในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน ในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีหนังสือหลายเล่มที่เพิ่มคำอธิบายประกอบ(注释)เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าใจเอกสารยุคก่อนฉิน ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง ก็เป็นเรื่องยากที่คนจะเข้าใจเอกสารยุคก่อนฉินและฮั่น จึงมีการผลิตหนังสือที่เพิ่มคำอธิบายประกอบทั้งเอกสารยุคก่อนฉินและฮั่นไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการพบว่าภาษาพูดโบราณที่บันทึกภาษาพูดของราชวงศ์ถัง-ซ่งเกิดช่องว่างระหว่างภาษาพูดโบราณกับเอกสารที่บันทึกภาษาพูดในยุคก่อนฉิน
อย่างไรก็ตาม แม้ภาษาพูดจะเปลี่ยนไป ภาษาเขียนดั้งเดิมก็มีการเลียนแบบภาษาวรรณกรรมยุคก่อนฉินอยู่เสมอ หรือที่เรียกว่า "เลียนแบบโบราณ(仿古)" ซึ่งสิ่งนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ความขัดแย้งทางวัจนภาษา(言文脱节)"
ลักษณะพิเศษของภาษาคลาสสิก
1.
แยกออกจากภาษาพูด(脱离口语):เป็นภาษาวิภาษวิธีแบบขั้นสูง(朝方言性)
2.
เลียนแบบโบราณ(仿古):เป็นสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลา
สรุป
.
ภาษาคลาสสิก มีบทบาทที่พิเศษต่อภาษาในแต่ละยุค โดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการ ข้าราชการและปัญญาชนที่เคยเรียนอยู่ในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปไม่ได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่เนื่องจากภาษาคลาสสิกเป็นภาษาเขียนที่ใช้ในวัฒนธรรมของชนชั้นสูงและการศึกษาระบบดั้งเดิม จึงมีกฎเกณฑ์ เอกสารทางประวัติศาสตร์และงานวรรณกรรมจำนวนนับไม่ถ้วนที่สร้างขึ้นมาจากภาษาคลาสสิก ดังนั้น หากไม่ได้ในสาขาเฉพาะก็เป็นเรื่องยากในการตีความทำความเข้าใจ
2、คุณสมบัติและจุดประสงค์|古代汉语课程的性质和目的
วิชานี้เป็นวิชาเชิงทฤษฎี(理论课)ที่ควรสอนความรู้ทฤษฎีพื้นฐานของภาษาจีนโบราณอย่างเป็นระบบ และอธิบายกฎเกณฑ์ทางภาษาของภาษาจีนโบราณ โดยทั่วไปวิชานี้จะเน้นทฤษฎีพื้นฐานของคำศัพท์(词汇)ตัวอักษร(文字)ไวยากรณ์(语法)สัทวิทยา(音韵)และวาทศาสตร์(修辞)ของภาษาจีนโบราณเป็นหลัก เพื่อทำความเข้าใจภาษาจีนโบราณได้อย่างลึกซึ้ง
ในทางกลับกัน วิชานี้กลับมีความเป็นวิชาเชิงบูรณาการ(工具课)มากกว่า โดยมีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังความสามารถในการอ่านภาษาคลาสสิกของผู้เรียน ด้วยความช่วยเหลือของหนังสืออ้างอิง(工具书)จึงทำให้สามารถอ่านงานเขียนภาษาคลาสสิกในระดับปานกลาง-ยากได้อย่างราบรื่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ จึงจำเป็นต้องอ่านงานเขียนจำนวนหนึ่งไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ทฤษฎีพื้นฐาน และจำเป็นต้องอะแดปทฤษฎีเข้ากับการฝึกอ่าน
หากต้องเรียนภาษาจีนโบราณ ขอแนะนำว่าให้เรียนรู้การออกเสียง(语音)คำศัพท์(词汇)และไวยากรณ์(语法)ทั้งสามด้านนี้เสียก่อน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “คำศัพท์” การออกเสียงมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยต่อการทำความเข้าใจงานเขียนภาษาคลาสสิก ไวยากรณ์โบราณกับสมัยใหม่ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่คำศัพท์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
กล่าวคือ คำบางคำใช้กันทั่วไปในยุคโบราณ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีการใช้หรือไม่ใช้เลย บางคำในยุคโบราณกับยุคปัจจุบันมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หรืออาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยซึ่งทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย ดังนั้น การเรียนรู้ศัพท์ภาษาจีนโบราณจึงเป็นจุดสำคัญ โดยแบ่งออกเป็น "คำที่ใช้งานบ่อย(常用词)” กับ “คำที่ไม่ได้ใช้งาน(非常用词)” ซึ่งควรเน้นที่ใช้บ่อยเป็นสำคัญ
คำที่ไม่ได้ใช้งานมักไม่ค่อยปรากฏให้เห็น และเมื่อลองพิจารณาจากหนังสืออ้างอิงก็สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทุ่มเทมากในการทำความเข้าใจคำเหล่านั้น สำหรับคนทั่วไป ตราบใดที่เราอ่านหนังสือโบราณ เราก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอคำเหล่านั้น ดังนั้น การชำนาญคำที่ใช้บ่อยสามารถแก้ปัญหาคำศัพท์ในการอ่านภาษาจีนโบราณในระดับพื้นฐานได้ดี
สำหรับผู้ที่มีภาษาแม่ที่ไม่ใช่ภาษาจีน เพื่อให้เกิดความเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโบราณอย่างครอบคลุมและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผู้เรียนจำเป็นต้องมีความสามารถในการอ่านงานเขียนภาษาคลาสสิก การมีความรู้ภาษาจีนโบราณในระดับหนึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมโยงไปยังความรู้ในแขนงอื่น ๆ เช่น ปรัชญาจีนโบราณและวรรณคดีจีน
การเรียนรู้ภาษาจีนโบราณยังจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับภาษาจีนสมัยใหม่ และในขณะเดียวกันก็สามารถปรับปรุงระดับภาษาของภาษาจีนสมัยใหม่ได้ จีนโบราณและจีนสมัยใหม่มีความสัมพันธ์ระหว่างต้นกำเนิดและการพัฒนาการ หากต้องการทำความเข้าใจภาษาจีนสมัยใหม่อย่างถี่ถ้วนและเข้าใจที่มาที่ไป คำตอบนั้นอยู่ในภาษาจีนโบราณแล้ว
คุณสมบัติที่เกี่ยวพันดั่งมรดก
(1)ภาษาจีนสมัยใหม่เป็นการสืบทอดและพัฒนามาจากภาษาจีนโบราณ คำไวยากรณ์(虚词)และรูปแบบโครงสร้าง(结构形式)ของภาษาจีนโบราณหลายคำมักใช้ในภาษาจีนสมัยใหม่ โดยเฉพาะในภาษาเขียน เช่น 其、之、所、为……所、以……为 เป็นต้น
(2)องค์ประกอบบางอย่างอาจหายไป แต่ในความเป็นจริง องค์ประกอบเหล่านั้นยังคงมีอยู่ในภาษาจีนสมัยใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
(3)คำพยางค์เดียว(单音词)หลายคำในสมัยโบราณถือเป็นคำที่สูญพันธ์ไปแล้ว แต่ในรูปแบบหน่วยคำ(词素)ยังคงมีอยู่ในภาษาจีนจนถึงทุกวันนี้ เช่น คำว่า “มู่(目;ดวงตา)” ที่ปรากฏใน หนังสวินจื่อ หมวดส่งเสริมการเรียน《荀子·劝学》
สายตามิอาจมองของสองอย่างแล้วตรึกตรองอย่างแจ่มชัด『目不能两视而明。』
หนังสวินจื่อ หมวดส่งเสริมการเรียน《荀子·劝学》
แต่ในภาษาจีนสมัยใหม่ คำว่า “มู่(目)” เป็นเพียงแค่หน่วยคำ เช่น 目光(แววตา)注目(สายตาจับจ้อง)ปัจจุบันใช้คำว่า “眼睛” แทน ซึ่ง “目” ไม่สามารถใช้เป็นคำพยางค์เดียวได้อย่างอิสระ
(4)ความหมายหลายของคำพยางค์เดียวหลายคำในภาษาจีนโบราณไม่สามารถใช้โดด ๆ ในภาษาจีนสมัยใหม่ แต่ยังคงไว้ในหน่วยคำ เช่น คำว่า “见闻(ได้ยินและได้เห็น)” “新闻(ข่าว)” โดยอักษร “闻” แปลว่า ได้ยิน ซึ่งยังคงความหมายเดิมในลักษณะหน่วยคำของภาษาจีนสมัยใหม่
(5)คำภาษาจีนสมัยใหม่บางคำยังคงโครงสร้างพิเศษของภาษาจีนโบราณ เช่น คำนาม(名词)ในภาษาจีนโบราณสามารถเป็นบทขยายกริยา(状语)ได้ เช่น หนังสือจั่วจ้วน ศกจวงกงปีที่ 8《左传·庄公八年》
หมูยืนร้องไห้เหมือนคน『豕人立而啼』
หนังสือจั่วจ้วน ศกจวงกงปีที่ 8《左传·庄公八年》
ในไวยากรณ์จีนสมัยใหม่ไม่มีโครงสร้างนี้ แต่โครงสร้างนี้ยังสามารถพบเห็นได้ในคำต่าง ๆ เช่น 瓜分(แบ่งดินแดน)日新月异(เปลี่ยนแปลงทุกวัน) เป็นต้น อีกอย่างหนึ่งคือ การใช้ 使动用法、意动用法 เป็นลักษณะทางไวยากรณ์ของภาษาจีนโบราณ และโครงนี้ยังคงไว้ในภาษาจีนสมัยใหม่ เช่น “惊人(ตกใจ)” “惊天动地(สะท้านฟ้าสะเทือนดิน)” เป็นต้น ทั้งหมดนี้ยังคงโครงสร้างหน้ากรรม(宾语)
(6)คำที่ใช้บ่อยหลายคำยังคงมีอยู่ในภาษาจีนสมัยใหม่ ซึ่งปรับเปลี่ยนมาจากภาษาจีนโบราณ เช่น คำว่า “启发(ชี้แนะ/ให้คติ)” ที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอฺวี่ บรรพซู่เอ๋อร์《论语·述而》
หากนักเรียนพยามทำความเข้าใจ แต่ยังไม่ทะลุปรุโป่ง พึงอย่าสั่งสอน หากนักตรึกตรองในใจได้ แต่ไม่แสดงออกมาได้ครบถ้วน พึงอย่าชี้แนะ『不愤不启,不悱不发。……』
คัมภีร์หลุนอฺวี่ บรรพซู่เอ๋อร์《论语·述而》
(7)ในภาษาจีนสมัยใหม่มีการใช้คำหรือประโยคจากภาษาจีนโดยตรง เพราะเนื่องจากมีการใช้ผสมผสานกัน เช่น วรรคหนึ่งจากคัมภีร์หลุนอฺวี่
ในบรรดาคนทั้งหลาย ในนั้นย่อมมีคนที่เป็นครูของเราได้『三人行,必有我师』
คัมภีร์หลนอฺวี่ บรรพซู่เอ๋อร์《论语·述而》
สรุป
.
เห็นได้ชัดว่าเป็นการยากที่จะแยกภาษาจีนโบราณออกจากภาษาจีนสมัยใหม่ หากไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาจีนโบราณก็ยากที่จะทำความเข้าใจภาษาจีนสมัยใหม่ได้อย่างลึกซึ้ง และเป็นการยากที่จะยกระดับการแสดงออกในภาษาจีนสมัยใหม่ด้วย ดังนั้น ในแง่ของเงื่อนไขที่สูงขึ้น การเรียนภาษาจีนโบราณก็เป็นส่วนสำคัญของการเรียนภาษาจีนเช่นกัน
3、แล้วจะเรียนภาษาจีนโบราณอย่างไร|怎么学习古代汉语
วิชานี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปลูกฝังความสามารถในการอ่านหนังสือโบราณ การพัฒนาความสามารถนี้ต้องใช้การสั่งสมมาเป็นเวลานาน
1.
ประการแรก การสะสมความรู้เกี่ยวกับภาษาจีนโบราณ
2.
ประการที่สอง การสะสมปริมาณการอ่านงานเขียนภาษาคลาสสิก
ซึ่งทั้งสองด้านนี้จะต้องมีปริมาณที่เพียงพอต่อการอ่านหนังสือโบราณได้อย่างอิสระ เมื่อเรียนภาษาจีนโบราณ สิ่งที่ควรโฟกัสเป็นอันดับแรกคือ “การอ่าน” อ่านและคัดสรรเอกสารโบราณจำนวนหนึ่ง ยิ่งอ่านผลงานและมีความเชี่ยวชาญมากเท่าใด ความรู้ความเข้าใจยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
ผลงานดัง ๆ ในยุคโบราณนั้นมีมาก หากจะศึกษาก็ควรเน้นไปที่ยุคก่อนฉิน-ฮั่น เพราะผลงานในยุคนี้เป็นแหล่งที่มาที่แท้จริงของภาษาคลาสสิกและมีอิทธิพลอย่างยิ่ง เมื่อศึกษาผลงานคลาสสิกแล้วจะต้องพิจารณาความหมายแฝงของทุกคำทุกประโยค ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดในเนื้อหาและศิลปะที่แฝงอยู่ด้วย นี่แหละคือการเรียนที่แท้จริง
แม้จะอ่านหนังสือในปริมาณมาก ก็เลี่ยงที่จะเจอความรู้เกี่ยวกับจีนโบราณไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องชำนาญในปรากฏการณ์ทางภาษาต่าง ๆ ความต่างระหว่างสมัยโบราณ-ปัจจุบันและกฎแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะสามารถอนุมานจากกรณีหนึ่งไปยังกรณีอื่นได้ ไม่ใช่ว่าอ่านหนึ่งฉบับแล้วเข้าใจในทันที ในกระบวนการเรียนรู้ เราจะค่อย ๆ เชี่ยวชาญโครงสร้างความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการอ่านหนังสือโบราณและสามารถในการอะแดปกับการอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในกระบวนการเรียนรู้ภาษาจีนโบราณ สิ่งแรกที่ผู้เรียนควรเริ่มต้นคือ การสะสมคำศัพท์และความหมาย
1.
ประการแรก จำเป็นต้องเข้าใจและจดจำ
2.
ประการที่สอง ต้องเชี่ยวชาญด้วยวิธีที่ถูกต้องเพื่อเพิ่มความเร็วและความแม่นยำในการสะสม
รูปลักษณ์ของอักษรจีนมีความเกี่ยวข้องกับความหมายที่ได้บันทึกไว้ คำพยางค์เดียวในภาษาจีนโบราณมีจำนวนมาก ความหมายของอักษรเกี่ยวข้องโดยตรงกับความหมายของคำ การเรียนภาษาจีนโบราณต้องใช้ความรู้ด้านอักษรศาสตร์จึงจะเข้าใจความหมายของคำตามวิธีการสร้างคำ
ภาษาจีนโบราณและภาษาจีนสมัยใหม่มีที่มาจากระบบเดียวกัน ซึ่งมีทั้งจุดเหมือนและจุดต่าง ต้องมีการเปรียบเทียบและให้ความสนใจกับความรู้ที่แตกต่างกันเป็นพิเศษ เช่น บทกรรมในตำแหน่งหน้า(宾语前置)ความยืดหยุ่นของการใช้คำ(词类活用)ประโยคชี้ขาด(判断句)คำไวยากรณ์(虚词)เป็นต้น
วิชาภาษาจีนโบราณเป็นวิชาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำแบบฝึกหัดทั้งการพูดและการเขียนให้ดี เพื่อนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้
●
แบบฝึกการพูด เช่น การอ่านออกเสียง(朗诵)การท่องจำ(背诵)
●
แบบฝึกการเขียน เช่น การจดโน้ต(笔记)การใส่คำอ่าน(注音)การอธิบายความหมาย(释义)การวิเคราะห์ประเด็นทางภาษา(分析语言要点)การแปลประโยค(翻译句子)
สรุป
.
แม้ภาษาจีนโบราณจะยาก แต่ก็เป็นวิชาหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจีน และยังเกี่ยวข้องกับการเรียนภาษาจีนสมัยใหม่ด้วย งานเขียนภาษาคลาสสิกที่ยอดเยี่ยมมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งและเข้มข้น ด้วยภาษาที่กระชับและสวยงาม และนักเรียนต่างชาติอย่างเรา ๆ ก็สามารถเอ็นจอยไปกับมันได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง|参考
1.
https://www.enlightenth.com/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99/
2.
https://www.facebook.com/lovechinese88/photos/a.281126648743564/281284408727788/?type=3
สามารถโดเนทเพื่อเป็นทุนในการสร้างอุปกรณ์สวดมนต์จีนและทุนสนับสนุนการศึกษาได้ที่
💵PromptPay: 0954289757
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่
📌Facebook:
www.facebook.com/zhongwensmimi2021
📌IG:
www.instagram.com/zhongwens_mimi/
📌TikTok:
http://www.tiktok.com/@zhongwensmimi?is_from_webapp=1
...
blockdit
จีน
การศึกษา
4 บันทึก
5
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับจีน|中国常识
4
5
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย