Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WhoChillDay
•
ติดตาม
12 ก.ย. 2023 เวลา 09:29 • การเมือง
ใจต้องกว้าง !! “สุรชาติ” ซู้ดปาก เปลี่ยนผ่านการเมืองใหม่ ไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูป
ปิดฉากระบอบทักษิณ-ระบอบประยุทธ์ กุญแจดอกพิเศษไขปลดล็อกอำนาจการเมืองอนุรักษ์นิยม เปิดประตูสู่อำนาจการเมืองใหม่ ประเดิมตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค สัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลก้านยาวกับกองทัพต้องลงตัว
“การเมืองไทยในอนาคต ถ้าเดินบนพื้นที่การเมืองใหม่ที่เปิดกว้าง จะคล้ายกับการเมืองในยุโรป ให้พรรคการเมืองทำหน้าที่คานอำนาจกันเอง อาจล้มลุกคลุกคลาน แต่ไม่มีรัฐประหาร สำคัญระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลของรัฐสภาต้องเข้มแข็ง”
คีย์แมสเสจ “จารย์สุรชาติ” ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ และความมั่นคง เดินบนสมรภูมิที่ระอุจากพิษสงครามการเมืองมาตลอด จากอดีตผู้นำนักศึกษา 14 ตุลา16 ลากถึง 6 ตุลา 19 กลายมาเป็นผู้รับผลกระทบ เห็นชีวิตคนในเหตุการณ์ครั้งนั้น เห็นสงครามในสนามรบชนบท และนึกไม่ถึงได้เข้าไปเห็นสงครามจริง ๆ ที่ติมอร์ตะวันออก ฯลฯ
ยอมรับพออายุอานามมากขึ้น...เริ่มอนุรักษ์นิยม !!
ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความสูญเสียใหญ่ ๆ ที่ผมยังรู้สึกถึงเหตุการณ์พฤษภา 35 การเปลี่ยนผ่านมีลักษณะแตกหักนองเลือด...นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเราพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม
สภาวะการเมืองปัจจุบัน...ต้องเรียนรู้ ตั้งซีนาริโอการเมืองไปข้างหน้า บนเงื่อนไขไม่มีรัฐประหาร และวิกฤติที่ไม่นำไปสู่การแตกหักของระบบการเมือง
ตอนนี้การเมืองยุคเก่าปิดฉากลง อาจเรียกยุคสีเสื้อ ยุคไทยรักไทย ยุคทักษิณ (อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร) ก็ได้ ที่ฉากสุดท้ายจบด้วย
การเดินทางกลับของ “คุณทักษิณ” !!
3 นายพลใหญ่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ – พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ผลพวงของเหตุการณ์ความขัดแย้งในยุคทักษิณทั้งหมด...เดินลงจากเวที !!
ภาพใหญ่ตัวละครชุดเก่า...ไปด้วยกันหมด ถ้าอธิบายแบบรัฐศาสตร์ ใช้ภาษาฮวงจุ้ย ซินแสจีนเขาจะใช้เวลาเปรียบเทียบเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เรียกเป็นยุค
ปี 2544 – 66 รวม 22 ปี การเมืองชุดหนึ่งจบ เข้าสู่ช่วงสมัยใหม่อีกชุดหนี่ง ทั้งในการเมืองไทย และการเมืองโลก เข้าสู่ยุคใหม่ในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งสงครามยูเครน เป็นจุดแบ่งการเมืองโลกใหญ่ที่สุด
ถ้ามองภาพใหญ่...เราเพิ่งเข้าสู่ยุคใหม่ !!
เราอยากเห็นการทำงานของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ในวันที่ ครม.เศรษฐา 1 (นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน) เกิดขึ้น มีโจทย์ใหญ่สารพัด...รอบด้านรออยู่
ฟื้นเศรษฐกิจ - วิกฤติอากาศ – วิกฤติความมั่นคงของมนุษย์ สืบเนื่องจากปัญหาโควิด-19 ยังไม่ถูกแก้ไข - ประชาชนตกงาน - การปฏิรูปกองทัพ
ปัญหาที่ไทยเผชิญจากสถานการณ์สงครามเย็นในเวทีโลก - สงครามยูเครน – ไต้หวัน หวังว่าจะไม่เกิด - การแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจในภูมิภาค
ที่สุดของวันนี้ ต้องฟื้นบทบาทของไทยในเวทีอาเซียน โดยเฉพาะการสางปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลเดิม ที่มีท่าที่ใกล้ชิดรัฐบาลทหารเมียนมาร์
สำหรับประเด็นรัฐธรรมนูญ (รธน.) ผมอาจคิดแบบเก่านิดหนึ่ง เสนอให้เอารธน. ปี 40 แก้ไขบางมาตรา...จบ !! เพราะโดยโครงสร้างใหญ่ ๆ เกือบทั้งหมด ไม่คิดว่าเป็นปัญหา
สิ่งที่ต้องเพิ่ม คือความเข้มงวดของระบบตรวจสอบ ทำให้เข้มแข็ง เพื่อให้รัฐสภามีศักยภาพในการทำหน้าที่ตรวจสอบ - ถ่วงดุลกับรัฐบาล
รอบนี้ เรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน ถ้ามองไกลสักนิด นี่เป็นโอกาสของการประคับประคองระบอบประชาธิปไตยให้เดิน....แล้วสู้กันต่อ
ล้มลุกคลุกคลานมาก ก็เลือกตั้งใหม่ - ล้มลุกคลุกคลานน้อย ก็ปรับครม !!
การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง !?
ที่ฟังแล้วหงุดหงิดสุด ๆ คือการประนีประนอมระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านทั่วโลกมีอยู่ 3 อย่าง
1. ประนีประนอม...เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์วิกฤติ หรือนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด และไม่จบลงด้วยรัฐประหารรอบใหม่ ทำให้การเมืองเดินต่อไม่สะดุดบนเงื่อนไขรัฐหาร และไม่เสียหลักการความเป็นประชาธิปไตย หรือระบบการเลือกตั้ง แต่ความละเอียดอ่อนอยู่ที่....ตกลงกันแค่ไหนล่ะ !?
2. โค่นระบบทหารทิ้ง หรือระบอบอำนาจเดิมทิ้ง แล้วตั้งรัฐบาลหลังการเปลี่ยนผ่านชุดใหม่ แต่ถามว่าไม่ประนีประนอมทั้งหมดหรือไม่...คำตอบคือไม่จริง !! ยังมีการประนีประนอมกันอยู่
เหมือน 14 ตุลา16 – หลังพฤษภา 35 – การเปลี่ยนผ่านใหญ่ในลาตินอเมริกา หลังปี 2523 - อาหรับสปิง ซึ่งการเปลี่ยนผ่านแบบนี้ง่ายกว่าอย่างแรก เพราะล้มระบบเดิมไปเลย
3. เรื่องใหญ่สุด ๆ หลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะเกิดอะไรขึ้น !?
กุญแจดอกสำคัญ...อยู่ช่วงรอยต่อการเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่าน การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเลือกตั้งกับกองทัพ
ตัวอย่างปรากฏการณ์หลังการเปลี่ยนผ่านในลาตินอเมริกา !!
- ทหารไม่หวนกลับ ไม่มีรัฐประหาร !! ทั้งที่ครั้งหนึ่งเป็นการเมืองระบอบทหารเข้มแข็งที่สุดในโลก แต่ความ น่าตกใจ...วันนี้โดยเฉพาะแอฟริกา หวนคืนกลับสู่รัฐประหาร “ไนเจอร์ - กาบอง” ตลอด 2 ปีผ่านมาแอฟริกา มีรัฐประหารถึง 8 ประเทศ
โจทย์ชุดนี้กำลังเตือนประเทศไทยว่า...กุญแจสำคัญอยู่ที่การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ...เป็นเรื่องที่ต้องคิด !!!
- ตัวชี้วัดใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยนผ่านความสำเร็จในหลายประเทศ คือการตั้งรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน ที่มีความรู้ ความสามารถจัดการกับปัญหาในกองทัพ และบางเรื่องต้องใช้เวลาแก้ปัญหา
- การเผชิญปัญหาของลัทธิเดี๋ยวนี้ (Nowism) !! ที่ต้องการได้อะไรทุกอย่างแบบปัจจุบันทันด่วน พอคนเกิดความหวังต้องเดี๋ยวนี้ มันทำให้การเปลี่ยนผ่านมีโอกาสเกิดการปะทะ เพราะข้อเรียกร้องมันตึง
ฉะนั้นสิ่งที่เห็นในการเมืองไทย ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ !!
เพียงแต่จะรักษาสภาวะการเปลี่ยนผ่านให้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้นอย่างไร และไม่มีเหตุปัจจัยให้ทหารเข้ามาแทรก !?
แน่นอนความหงุดหงิดใหญ่สุด ๆ ๆ หนีไม่พ้น...การประนีประนอมกับอำนาจรัฐเดิม บวกกับปัญหาที่ระบบเดิมทิ้งไว้อยู่ในรูปกฎหมาย องค์กรอิสระบางส่วน และแรงกดดันจากภาคสังคม ที่ไม่ค่อยตอบรับครม.เศรษฐา 1 สักเท่าไหร่
เป็นความท้าทายรัฐบาลใหม่ว่า...จะจัดการอย่างไรกับปัญหาพวกนี้ จะดึงใจประชาชนกลับมาได้แค่ไหน
ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่ไม่มีสูตรสำเร็จ พูดง่าย ๆ การเปลี่ยนผ่านไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูป ฉีกซองใส่ถ้วย น้ำร้อนชง...จบ !! มันมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้นตลอด
ประชาธิปไตยไทยในอนาคต...เปิดพื้นที่กว้าง เปิดใจกว้าง !?
ปัจจุบันข้อถกเถียงในไทยค่อนข้างตึงมาก...การขีดเส้นแบ่งชัดระหว่างฝั่งที่เป็นประชาธิปไตยกับฝั่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นพวกที่ไปอยู่กับฝ่ายรัฐประหาร หรือพรรคสืบทอดรัฐประหาร
ผมคิดว่าเรากำลังทำให้การเมืองไทย มันมีเส้นแบ่ง !! เหมือนหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 แบ่งเป็น 2 ซีก ระหว่างพรรคเทพกับพรรคมาร หรือพูดหยาบ ๆ ขาว-ดำ ดี-ชั่ว ทำให้ความยืดหยุ่นของตัวระบบการเมือง...สุดท้ายมันไปต่อไปได้
สมมติการเมืองไทยรอบนี้เดินยาว ๆ ไม่มีเงื่อนไขรัฐประหาร !?
ภาพประชาธิปไตยไทยในอนาคต อาจต้องการเปิดพื้นที่กว้าง และเปิดใจกว้าง ที่ไม่ใช่ข้อถกเถียงเรื่องเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย
เมื่อมองการเมืองผ่านยุโรป...อดีตเขารับแม้กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ ในหลายประเทศคอมมิวนิสต์ไม่ได้ผิดกฎหมาย
แต่ไม่รับพรรคนาซี เพราะมีชุดความคิดทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อมนุษยชาติ
วันนี้เราจะเห็นระบบประชาธิปไตยยุโรป เปิดกว้างใน 4 พื้นที่ มีซ้ายสุด - ซ้ายกลาง - ขวากลาง - ขวาสุด พรรคใดสังกัดพื้นที่ไหนขึ้นอยู่กับนโยบายที่นำเสนอ และรักษาจุดยืนในพื้นที่นั้น
ตัวอย่างขวากลาง “อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกฯเยอรมัน - โอลาฟ ชอลซ์ นายกฯ เยอรมันปัจจุบัน”
ขณะที่ปีกขวาสุด พรรคอัลเทอร์เนทีฟ ฟูร์ ดอยซ์ เยอรมัน หรือพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ในฝรั่งเศส เดี๋ยวนี้คนเลือกมากขึ้น
ตั้งแต่ปีกขวายุโรปเปิดการเคลื่อนไหวใหญ่หลังปี 2015 ประชานิยมปีกขวาเริ่มเชื่อมต่อกันในยุโรป นอกยุโรป
เช่น ผู้นำอัลเทอร์เนทีฟ ฟูร์ ดอยซ์ เยอรมัน - สมัยดอนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ – ผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน – ผู้นำอินเดีย นเรนทรา ดาโมดาร์ดาส โมที – ผู้นำฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูแตร์เต ฯลฯ
เห็นชัดประชาธิปไตยไม่ได้กีดกันพรรคใดเลย และประชาธิปไตยในอนาคตต้องไม่ปิด ด้วยจุดยืนใหญ่ของประชาธิปไตย
1.ประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของกองทัพ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะกองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐสมัยใหม่ เป็นคอนเซ็ปต์ที่ไม่ค่อยพูดในสังคมไทย แต่ที่ผมพูดไม่ได้โปรทหารนะ เพียงอธิบายให้เข้าใจในมิติรัฐศาสตร์
2.ระบอบประชาธิปไตย ไม่เคยบอกต้องไปทำลายพรรคอนุรักษ์นิยมทิ้ง เพราะเป็นส่วนประกอบของระบอบประชาธิปไตย
เมื่อพรรคอนุรักษ์นิยมสวิงมาเป็นกระแสหลัก เราจะเห็นรูปแบบซ้ำ ๆ เอา “ทรัมป์” เป็นตัวตั้งก็จะเห็นตัวแบบหนึ่ง
“โมที” อินเดีย ต้องยอมรับว่าเขาเก่ง ประสบความสำเร็จมาก วันนี้ทุกพรรคในอินเดียประกาศจับมือกันทุกพรรคเพื่อล้มโมทีพรรคเดียว เพราะโมทีสามารถดึงใจชาวฮินดูในอินเดีย – ส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์สำเร็จ แต่รัสเซียกลับล้มเหลว
วันนี้ระบอบประชานิยมปีกขวาในอินเดีย...เข้มแข็งมาก – สมัยทรัมป์ สหรัฐไม่ต้องพูด - ในยุโรป ยังอยู่กับปีกขวากลางมากกว่าขวาจัด แล้วไม่เดินไปถึงซ้ายกลางด้วย
ถ้าตอบในภาพการเมืองโลกชุดใหญ่ !!
ที่มองผ่านในแต่ละประเทศ เป็นระบบประชาธิปไตยระบบหลายพรรค โดยแนวโน้มเป็นรัฐบาลผสมทั้งนั้น
ตัวอย่างการเมืองไม่ใช่แค่ยุโรป - แคนนาดา - ออสเตรเลีย เป็นระบบหลายพรรค จบลงด้วยรัฐบาลผสม และอย่าตกใจ...บางครั้งเจอรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ
เว้นอเมริกา – อังกฤษ ที่เป็นการเมือง 2 พรรคหลักมาตั้งแต่ต้น “การโหวตตามประเด็นปัญหาข้ามพรรคเป็นเรื่องปกติ”
ปีกซ้ายในรีพับลิกัน อาจมาโหวตให้เดโมแครตได้ในเรื่องที่มองต่างจากพรรค ก็ไม่ได้ขีดเส้นแบ่ง...มีงูเห่า - ยกสวนกล้วย !! มันกลายเป็นอีกเรื่องไป
โอกาสเราจะเป็นการเมืองแบบ 2 พรรค ยากกกกกก... เพราะการเมืองไทยเป็นแบบมุ้ง เป็นรัฐบาลผสมตั้งแต่ในพรรค
ฉะนั้นตัวแบบการเมืองไทยในอนาคต !!
ถ้าเดินบนพื้นที่การเมืองใหม่ที่เปิดกว้าง เราจะคล้ายกับการเมืองในอิตาลี ล้มลุกคลุกคลาน แต่ไม่มีรัฐประหาร ก็อยู่ ๆ กันไป ปรับกันไป - รัฐบาลเดินต่อไม่ไหว ก็ลาออก - อาจไม่จำเป็นต้องเลือกตั้ง - มีการปรับครม. หรือสลายความเป็นรัฐบาลผสมชุดหนึ่ง แล้วก้าวไปสู่รัฐบาลผสมอีกชุด
สำคัญที่สุด ประชาธิปไตยต้องไม่ใจแคบ
และไม่หงุดหงิดกับระบบการเมืองแบบหลายพรรค
อยากให้มองการเมืองไทยด้วยความหวัง ไม่ใช่ด้วยความหดหู่ !! --//--
“--- วันนี้สิ่งที่เราอาจต้องเรียนรู้ คือการเปิดพื้นที่ ที่กว้างขึ้น และต้องเปิดใจด้วย ถ้าไม่เปิดใจมันก็ปะทะกันในโลกการเมืองชุดเก่าไม่จบ
ผมพูดเสมอประชาธิปไตยในอนาคต ต้องไม่ปิดพรรคอนุรักษ์นิยม ที่เป็นส่วนประกอบของระบอบประชาธิปไตย - ปีกขวาไทยถอดชีพรัฐประหารทิ้ง - ดีที่สุด คือให้พรรคการเมืองนั้นแหละเป็นตัวคานทางความคิด...การเมืองไทยจะเปลี่ยนทุกอย่าง
อนาคต เราต้องการกระบวนการทางรัฐสภาที่เข้มแข็ง คีย์เวิร์ดอยู่ที่ตรวจสอบรัฐบาล – ผลักดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายสอดรับกับความต้องการประชาชน – ผลักดันรัฐบาลให้แก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น – ออกกฎหมายตอบสนองต่อความเป็นเสรีของสังคม ลดการเป็นทุนผูกขาด --- ”
.
#WhoChillDay
12 ก.ย. 66
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามอ่านทุกเรื่องราว
และทักทาย WhoChillDay นะคะ
#สุรชาติ บำรุงสุข #เศรษฐา ทวีสิน #ครม.เศรษฐา 1
#เปลี่ยนผ่านการเมือง #การเมืองโลก
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เลาะรั้วการเมือง
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย