29 ก.ย. 2023 เวลา 13:00 • ปรัชญา

If My Life Goal(s) Were Like a Bowl of Tom Yum: เป้าหมายกับชีวิต

“เย็นนี้เป็นอีกวันที่ลูกสาวของฉันเดินหายเข้าไปในครัวเพื่อทำอาหาร เวลาผ่านไปครู่ใหญ่ๆ ก็มีกลิ่นข้าวหุงและอาหารโชยแตะจมูก ฉันจึงเดินเข้าไปที่ครัวเพื่อช่วยลูกตั้งโต๊ะ เห็นลูกกำลังวุ่นกับการตักอาหารใส่ถ้วย ฉันเพ่งมองไปที่ถ้วยที่มีหน้าตาจืดชืด เห็นชิ้นไก่ ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกสด มีส่วนผสมไม่กี่อย่าง ทั้งจมทั้งลอยผสมรวมอยู่ในถ้วยน้ำใสออกขุ่นผ่านไอร้อนๆ มีกลิ่นมะนาวลอยปนเบาๆ
ลูกคงเห็นคิ้วที่ฉันขมวดเป็นปมแห่งความเคลือบแคลงอยู่ ลูกจึงพูดขึ้นว่า "วันนี้อยากกินต้มยำมาก ใช้ผักใช้เนื้อตามที่มีในตู้เย็นเพราะอาทิตย์นี้ยังไม่ได้ไปจ่ายตลาดค่ะ"
ฉันพูดสัพหยอกว่า “ถ้าเป็นร้านอาหาร.. ลูกค้าคงได้แค่เหลือบมองแล้วต้องรีบเดินหนี เพราะกลัวโดนเรียกเข้ามากินอาหารที่ร้าน” ลูกก็มองค้อนขวับกลับมาที่ฉันพร้อมพูดว่า “แม่ชิมก่อนสิคะ รสชาติอาจไม่น่าเกลียดเหมือนหน้าตาก็ได้ค่ะ..”
ฉันเงียบขณะที่เอื้อมมือจับช้อนตักน้ำต้มยำ หลังจากได้ลิ้มรสปรากฏว่ารสชาติอร่อยกลมกล่อมสมเป็นต้มยำสวนทางกับหน้าตา ฉันก็ได้แต่อมยิ้มแกมละอายที่เผลอแสดงความไม่เชื่อมั่นออกมาทางหน้าตาผ่านคำพูดโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วฉันก็เอ่ยเบาๆว่า “เดี๋ยวแม่ช่วยเรียกลูกค้าเข้าร้านให้นะคะ” แล้วเสียงหัวเราะของเราสองคนก็ดังขึ้น”
จากต้มยำถ้วยนี้ทำให้นึกโยงถึงเรื่องเป้าหมายในชีวิต และมีคำถามขึ้นกับตัวเองว่า เรามีเป้าหมายเพื่อชีวิตหรือเรามีชีวิตเพื่อเป้าหมาย?
ถ้าให้เป้าหมายคือการกิน ในบางมื้อหรือบางเวลาเราอาจรู้เหตุผลที่อยากกินอาหารเฉพาะอย่าง แต่การตัดสินใจเลือกกินอาหารนั้นๆ ก็เกิดจากทั้งแรงผลักและแรงดันที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของการกินอาหารแต่ละอย่าง
ความหิวเป็นแรงผลักภายในที่เกิดขึ้นตามความต้องการทางชีวภาพ ที่ส่งสัญญาณกระตุ้นไปยังสมองเตือนว่าร่างกายต้องการพลังงาน เพื่อให้เรารักษาภาวะสมดุลของร่างกายด้วยการกิน อาหารจึงเป็นเชื้อเพลิงที่จําเป็นเพื่อความอยู่รอดตามสัญชาตญาณ
มนุษย์เรามีวิวัฒนาการที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ เราเดินด้วยสองเท้า เราใช้สองมือหยิบจับเครื่องมือเป็นอาวุธในการหาอาหารล่าสัตว์และป้องกันตัวที่เพิ่มโอกาสในการอยู่รอดและสืบพันธุ์
เราหยุดพักเมื่อเหนื่อย เราหลับเมื่อง่วง เรากินเมื่อหิว เป็นกลไกในการกำกับตัวเองทางระบบชีวภาพเพื่อรักษาความสมดุลของชีวิต ด้วยการปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เข้ากับภาวะรอบตัวให้เหมาะสมที่สุดเพื่อการอยู่รอด¹ ช่วยลดความเสี่ยงไม่ป่วยตาย ไม่อดตายหรือมีอุบัติเหตุตาย เพื่อให้ชีวิตดำรงได้นานขึ้น
ถ้าชีวิตได้รับการจัดการสำเร็จตามภาวะสมดุลที่เป็นของเรา เราจะสุขกายสบายใจและชีวิตก็ดำรงต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพจนสุดท้ายของวงจรชีวิต ถ้าไม่สำเร็จก็อาจมีภัยต่อความดำรงอยู่ของชีวิตได้
เช่นเดียวกับการมีอารมณ์หรือความรู้สึกที่มีผลต่อนิสัยพฤติกรรมต่างๆ ก็มีประโยชน์ในแบบของมันเอง เพราะความคิดและการกระทำที่แสดงออกคือเหตุผลจำเป็นต่อความอยู่รอด ที่จะกระตุ้นให้เรามีความต้องการหรือความฝันจนตั้งเป็นเป้าหมายที่เจาะจงนั่นเอง
บางคนมองว่า การมีอยู่ของชีวิตคือเป้าหมาย เป้าหมายที่ต้อง'เติม'ชีวิตให้'เต็ม'ไปด้วยความต้องการต่างๆ ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกได้ถึง'ค่า'ของชีวิตที่ให้'คุณ'(ประโยชน์)เพื่อผลักให้ตัวเองดำเนินชีวิตผ่านไปได้ในแต่ละวัน
ถ้าสังเกต เราจะเห็นวัฏจักรของชีวิตที่ดำเนิน คือ เรียนจบ ทำงาน (อาจ)มีครอบครัว เกษียณ ที่ดูเหมือนว่าเป็นเป้าหมายทั่วไปที่เกิดขึ้นในสังคม และอาจทำให้เรารู้สึกกดดันโดยที่ไม่รู้ตัว ถ้าเราทำตามที่สังคมคาดหวังไม่ได้
ถ้าสังเกตให้ลึกลงไป เราต่างมี"เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง" ที่เป็นเป้าหมายในเรื่องส่วนตัวจนถึงหน้าที่การงาน เพื่อรักษา"สมดุลชีวิต" ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เช่น มีรถ มีบ้าน มีเงินเก็บ เป็นโสด ท่องเที่ยว หรืออะไรต่างๆ มากมาย ที่สอดคล้องและเป็นไปตามค่านิยมหรือค่าที่ให้ในชีวิต
 
เราจึงมีแรงจูงใจที่กระตุ้นขับเคลื่อนและชี้นำไปในทิศทางที่ให้ลงมือทำที่แตกต่างกันไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ สามารถแยกแรงจูงใจได้หยาบๆ เป็นสองประเภท คือ
1) แรงผลักจากตัวเอง
1
เป็นแรงขับภายในที่เป็นแรงจูงใจหลักที่มาจากความต้องการทางชีวภาพ ด้วยการปรับตัวและลงมือทำที่สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวให้เกิดความสมดุลกับตัวเองเพื่อความอยู่รอด เช่น กินอิ่มให้สบายท้อง ใส่เสื้อผ้าอุ่นๆเพื่อกันหนาว กินอาหารมีประโยชน์และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี เป็นต้น
 
2) แรงดึงจากสังคม
เป็นแรงขับภายนอกที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือสถานการณ์ต่างๆในชีวิตที่ให้เหตุผลในการตั้งเป็นเป้าหมายและเป็นตัวกระตุ้นกำหนดพฤติกรรมให้ลงมือทำ เพื่อภาพรวมของความเป็นอยู่ที่ดีที่เป็นสมดุลตามความต้องการทางจิตใจของตัวเอง เช่น ขยันทำมาหากินและประหยัดอดออมเพราะไม่อยากเป็นหนี้เหมือนที่พ่อแม่เคยเป็น เที่ยวปารีสเพราะเห็นโพสต์ในอินสตาแกรม ซื้อเสื้อผ้าใส่ตามเทรนด์เพราะไม่อยากดูแปลกจากคนอื่น เป็นต้น
ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ เพียงเพื่อตอบสนองจิตใจที่หิวโหย
โดยไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริง
เมื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ เราจึงรู้สึกถึงภาวะแห่งความว่างเปล่า
รู้สึกเหมือนอยู่ห่างไกลจากสถานที่หรือบุคคล
ที่ส่งผลให้รู้สึกถึงความโดดเดี่ยวและค่าที่ให้ในชีวิตดูเหมือนไร้ความหมาย
แรงจูงใจนั้นมีผลต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันที่มีบทบาทเป็น..
- พลังขับเคลื่อนต่อพฤติกรรมหรือการกระทำที่ทำให้รู้สึกกระตือรือร้นจนบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่ทำแบบ "เช้าชาม เย็นชาม" เพียงเพื่อให้ผ่านไปวันๆ
- ตัวช่วยชี้นำให้เราเลือกขยับเคลื่อนได้ในเวลาที่เหมาะสมตามจังหวะชีวิตและในทิศทางที่ถูกต้องตามที่เราต้องการ
- ตัวยืนกรานให้เรามานะบากบั่น ถ้าความผิดพลาดเกิดขึ้น เราเรียนรู้แก้ไขหรือปรับปรุงกระบวนการเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่อาจจะต่างไปจากแนวเดิม
- ตัวชี้นำการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราค้นพบสิ่งใหม่ๆในระหว่างกระบวนที่กำลังเดินทางไปยังเป้าหมาย เราอาจเปลี่ยนเป้าหมายเป็นอย่างอื่น เพราะการเปลี่ยนแปลงคือสัญญาณของความก้าวหน้าและเติบโต
เราต่างมีระดับความตื่นตัวเฉพาะตัว ถ้าระดับความตื่นตัวอยู่นอกระดับที่เหมาะสม เราอาจทำบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายหรือเพื่อช่วยผ่อนคลายลดความเครียดเพื่อเป็นการรักษาสมดุล บางคนจึงเลือกความเสี่ยง บางคนไม่กล้า ขณะที่อีกคนมีสมดุลในชีวิตที่เหมาะสมแล้วจึงไม่รู้สึกถึงความเบื่อหน่าย
ทุกครั้งที่เราลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องหาคำให้เหตุผลหรือเครื่องพิสูจน์(คุณ)ค่าของตัวเองจากคนอื่น ไม่ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะเราคือคนที่ต้องพร้อมรับผิดชอบกับผลที่ตามมานั้นๆ ด้วยการยินดีกับตัวเองเมื่อสำเร็จ หรือยอมรับความล้มเหลวนั้นเพื่อเป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับตัวเอง
เป้าหมายที่ใช่ที่เป็นสิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริง เราจะรู้สึกถึงความสนุกและตื่นเต้นกับสิ่งที่ทำ พร้อมจะเรียนรู้และจะเข้าใจว่าต้องทำการแก้ไขหรือปรับปรุงเมื่อจำเป็น จะช่วยให้เราเกิดความมุมานะเพื่อให้บรรลุจนสำเร็จ ส่งผลให้รู้สึกถึงความเติมเต็มในที่สุด
ในทางตรงข้าม ถ้าสิ่งที่ทำ ที่ให้ความรู้สึกท้อแท้ในระหว่างกระบวนการเพราะไม่เข้าใจเมื่อเจอปัญหา ไม่รู้ว่าต้องแก้ไขหรือปรับปรุงอะไรบ้าง
2
รู้เพียงแค่ว่าต้องการไปให้ถึงเป้าหมาย จึงตะบี้ตะบันและฝืนทำครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังไม่สำเร็จผล ที่บางครั้งอาจใช้ทางลัดเพื่อให้ได้มากับการบรรลุเป้าหมายนั้น สิ่งที่ได้กลับมาปรากฎว่าเป็นเพียงความรู้สึกว่างเปล่า ไม่มีความสุขตามคาดหวัง เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ
ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ นั่นหมายความว่าในชีวิตเราต้องเผชิญกับปัญหาบางอย่างเข้ามาแทรกแซงที่ไม่เป็นไปตามแผน ที่อาจเกิดความพลาดพลั้งผิดพลาด ที่เราต้องอาศัยการเรียนรู้เพื่อไม่ให้ความผิดพลาดเรื่องเดิมๆ เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เมื่อการเรียนรู้ไม่เกิด แนวคิดใหม่ๆจึงไม่มี แนวทางจึงไม่เปลี่ยน การเติบโตก็ไม่เกิด
จุดเปลี่ยนเริ่มต้นที่เราทำได้คือ ตระหนักว่า "บางครั้งคุณค่าของเป้าหมายไม่ได้อยู่กับสิ่งที่เราทำสำเร็จ แต่อยู่ในทิศทางที่เป้าหมายให้เรา"
อย่างน้อยเราได้ประสบการณ์เป็นบทเรียน ทำให้รู้จักตัวเองว่าเป็นใครและต้องการอะไรในชีวิตมากขึ้น และนี่คือเหตุผลดีดี ที่บางครั้งความล้มเหลวนั้นมีค่ามากกว่าความสำเร็จ เพราะความล้มเหลวจะให้บทเรียนที่มีค่าพอๆ กับประโยชน์ที่เรานำมาใช้กับชีวิต ที่สอนเราถึงสิ่งสำคัญที่เราควรจะไล่ตามแทน
บางคนอาจตามหาความหมายของชีวิตเพื่อความดำรงอยู่ของตัวเอง จึงไล่ตามเป้าหมายและบรรลุเป้าหมายนั้นด้วยการทำให้ตัวเองมีหนี้สินหรือใช้ทางลัดด้วยการทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม จนทำให้ตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อนเป็นทุกข์ ถามว่า นั่นคือเป้าหมายชีวิตที่ประสบความสำเร็จ"ตามที่ตัวเองต้องการ"อย่างแท้จริงหรือไม่?
ความหมายของ(การมี)ชีวิต(อยู่)คือ การได้ลงมือทำที่เริ่มจากสิ่งง่ายๆ รอบตัวที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง
งานหรืออาชีพที่เราทำ ไม่ใช่เพราะทำให้ชีวิตมีความหมาย แต่เป็นงานที่เรารักและให้ความหมายกับชีวิต ถ้าเราไม่มีค่าสำคัญที่ให้ในชีวิตเป็นตัวช่วยยึดทางใจและชี้นำชีวิต เราก็จะไม่เข้าใจค่าที่ให้คุณ(ประโยชน์)กับตัวเอง อาจทำให้รู้สึกไร้ความหมายและไม่สามารถหาจุดที่เติมเต็มความต้องการของตัวเองได้
 
ความหมายของชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ฝืนทำแต่เป็นสิ่งที่รัก
ความหมายของชีวิตจึงอยู่ในที่สิ่งเล็กๆ ที่ดูเรียบง่ายแต่มีคุณค่าในตัว โดยมีเราเป็นคนให้นิยามให้ความหมายกับสิ่งที่เราทำ
- บางคนมีความสุขอยู่ในร้านกาแฟเล็กๆได้บริการลูกค้า
- บางคนมีความสุขกับการเป็นครู ได้สอนนักเรียน
- บางคนมีความสุขกับการเป็นโปรแกรมเมอร์ ได้พัฒนาออกแบบวางโครงสร้างระบบคอมพิวเตอร์
- บางคนมีความสุขอยู่ในสวน ได้ปลูกผัก ปลูกดอกไม้
- บางคนมีความสุขกับการเป็นหมอ ได้ช่วยเหลือคนอื่นให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
คนที่มีความสุขไม่ได้ค้นหาความหมายของ(การใช้)ชีวิต แต่รู้สึกถึงคุณค่าของการตื่นมาได้ทำในสิ่งที่รักที่มีความหมายในทุกๆวัน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน เพราะนั่นคือสิ่งที่เราเลือกเอง
ถ้ามีต้มยำเป็นอาหารชนิดเดียวที่มีอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ แน่นอนว่า หน้าตาหรือรสชาติของต้มยำของเราแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอิสรภาพทางชีวิต - ให้แทนความสามารถในการปรุงกับสภาพความพร้อมของเครื่องปรุงและวัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน และหลักการในการดำเนินชีวิตที่เป็นนิยามความสุขส่วนบุคคลตามค่าสำคัญที่ให้ในชีวิต - ให้แทนของรส(ชาติ)ปาก
ดังนั้น เราจะมีความสุขที่เป็นนิยามในแบบของเราเอง เราจะพึงพอใจกับหน้าตาต้มยำที่อาจดูแปลกและรสชาติที่อาจแตกต่างสำหรับคนอื่น แต่นั่นคือเป้าหมายชีวิตในแบบที่เป็นของเรา
เพราะนั่นคือตัวชี้วัดความสุขที่เป็นของเรา - ไม่ใช่ของใครอื่นนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา