10 ต.ค. 2023 เวลา 06:58 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"Amazon Shipping" แข่งขันกับเจ้าตลาดขนส่งพัสดุอย่าง FedEx UPS USPS ได้หรือยัง?

Amazon ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้จำหน่ายหนังสือออนไลน์ ได้พัฒนาตนเองไปสู่การเป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซระดับโลก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Amazon ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการช็อปปิ้งออนไลน์มาตลอดทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว
เพื่อรองรับปริมาณการจัดส่งที่เพิ่มมากขึ้นและบริการใหม่ๆ อย่างเช่น Prime Now, Amazon Fresh และบริการอื่นๆ ของ Amazon
การสร้างอาณาจักรโลจิสติกส์เป็นของตนเอง จึงกลายเป็นสิ่งที่ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซรายนี้สนใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างมัน Amazon Shipping ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ด้วยความทะเยอทะยานนี้เอง บริษัทจึงขยายเครือข่ายโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ
เริ่มจากในปี 2016 ที่ผ่านมาเพียงปีเดียว Amazon ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ถึง 26 แห่งในสหรัฐฯ และเพิ่มนมากขึ้นเรื่อยๆหลังจากนั้น เพื่อผลักดันระบบโลจิสติกส์ให้เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซของตน
รวมถึงผลักดัน Amazon Shipping ที่เป็นบริการจัดส่งพัสดุของทาง Amazon เอง เพื่อให้ง่ายต่อการจัดส่งพัสดุที่มาจากเว็บไซต์ของ Amazon
อย่างไรก็ตาม ด้วยพิษร้ายจากวิกฤตโรคระบาด Covid-19 ที่ผ่านมา ทำให้ Amazon ตัดสินใจหยุดให้บริการ Amazon Shipping เป็นการชั่วคราวในปี 2020 แล้วจึงกลับมาเปิดตัวอีกครั้งหลังจากวิกฤตโรคระบาด Covid-19 คลี่คลายลง
สาเหตุที่ทำให้ Amazon ต้องรีบกลับมาผลักดันระบบโลจิสติกส์ของตน อีกครั้งก็เพราะว่า การที่ผู้คนหยุดอยู่บ้านบวกนโยบายช่วยเหลือประชาชนจากภาครัฐในช่วงโรคระบาด Covid-19 ที่ผ่านมา
ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ Amazon เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2022 ผู้ขายสินค้าบนเว็บ Amazon ของสหรัฐฯ สามารถขายสินค้าให้กับลูกค้าทั่วโลกได้มากกว่า 4.1 พันล้านชิ้น
อีกทั้ง Amazon ยังสามารถครอบครองส่วนแบ่งการตลาดในด้านปริมาณพัสดุในสหรัฐฯ ได้มากถึง 23% หรือคิดเป็นประมาณ 4,876 กว่าล้านชิ้นในปี 2022 ซึ่งแซงหน้าหนึ่งในคู่แข่งสำคัญอย่าง FedEx แล้วในด้านปริมาณการจัดส่งต่อปี
และเมื่อมาเปรียบเทียบความพร้อมในด้านพื้นที่ของศูนย์ปฏิบัติการ พบว่า Amazon มีพื้นที่ของศูนย์ปฏิบัติการมากกว่า Walmart และ Target ถึง 2.6 เท่า และ 6.5 เท่าตามลำดับในปี 2022 และยังมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นอีกในอนาคต
รูปภาพจาก Supplychaindive
โดยในปี 2023 นี้ศูนย์ปฏิบัติการในสหรัฐฯที่ใช้งานอยู่ในเครือข่ายการกระจายสินค้าของ Amazon มีจำนวนมากถึง 1,285 แห่ง และอีก 1,088 แห่งในต่างประเทศ และ Amazon ยังได้วางแผนในอนาคตไว้อีก 231 แห่ง สำหรับในสหรัฐฯ และอีก 52 แห่ง สำหรับในต่างประเทศ
Amazon ขยายอาณาจักรโลจิสติกส์ของตนเองไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็พยายามลดการพึ่งพาผู้ให้บริหารจัดส่งวัสดุเจ้าอื่น อย่างเช่น UPS เป็นผลให้รายได้ของ UPS ที่เชื่อมโยงกับ Amazon ลดลงจาก 13.3% ในปี 2020 เป็น 11.3% ในปี 2022
หากดูจากตัวเลขหลายๆอย่างแล้ว มันจึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็น Amazon มุ่งมั่นที่จะสร้างอาณาจักรโลจิสติกส์เป็นของตนเองให้ได้โดยเร็ว
แต่อย่างไรก็ดี Amazon ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดค่าบริการของ Amazon Shipping เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าบริการนี้ดูเหมือนจะกำหนดเป้าหมายไปที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ขายสินค้าบนเว็บไซต์ Amazon
เพราะยอดขายมากกว่า 60% บน Amazon มาจากผู้ขายอิสระซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางที่มีต้นทุนการจัดส่งสินค้าสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่
ด้วย ”อัตราค่าบริการธรรมดา” จะสามารถดึงดูดผู้ค้ารายย่อยได้ดี ซึ่งมักไม่ค่อยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำความเข้าใจรูปแบบสัญญาการจัดส่งพัสดุที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนกับ FedEx หรือ UPS
แต่ถึงกระนั้น แม้อาณาจักรโลจิสติกส์ของ Amazon จะเติบโตขึ้นและมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องจนสามารถเริ่มที่จะแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นในตลาดจัดส่งพัสดุได้แล้ว
รูปภาพจาก Supplychaindive
แต่ความท้าทายของ Amazon Shipping ก็ยังมีอยู่อีกมาก ถึงแม้จะมีการเติบโตและเม็ดเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง
อย่างเช่น ด้วยพัสดุปริมาณมากในบางช่วง Amazon จะจัดการการส่งมอบบริการอย่างไร กับคำสั่งซื้อของ Amazon.com ในช่วงที่มีความจุจำกัด เช่น ในช่วงวันหยุดหรืองานลดราคาในช่วง Prime Day
หรือหากพวกเขาจะเปลี่ยนไปใช้ระบบโลจิสติกส์ของตน Amazon อาจต้องสูญเสียส่วนลดที่ได้ตามปริมาณพัสดุจากผู้ให้บริการรายอื่นที่ Amazon ยังต้องพึ่งพาอยู่
บริการ Amazon Shipping เองปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเข้าถึงประชากรสหรัฐฯทั้งหมดทั่วประเทศได้ ยังจำเป็นต้องใช้บริการไปรษณีย์ของสหรัฐฯ (USPS) เพื่อให้ครอบคลุมปลายทางการจัดส่งของ Amazon ทั้งหมด
และเนื่องจากยังต้องลงทุนอีกมาก เพื่อให้บริการครอบคลุมลูกค้าได้ทั้งหมด ทำให้ยังมีอัตรากำไรที่ต่ำ
ไม่เพียงเท่านี้จากวิกฤตทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯช่วงนี้ ทำให้ Amazon ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน ยกเลิก และทำให้คลังสินค้าหลายสิบแห่งต้องล่าช้าออกไปอีก เนื่องจากพวกเขากำลังมองหาขนาดที่เหมาะสมกับสถานะการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้
รูปภาพจาก Supplychaindive
อีกทั้งในช่วงนี้ต้นทุนขนส่งพัสดุของสหรัฐฯมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงาน ทำให้ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายหลักๆ มีการส่งต่อต้นทุนไปยังบริการของพวกเขาและมีการปรับขึ้นราคาขนส่งพัสดุ
FedEx ปรับอัตราเฉลี่ยสำหรับบริการเพิ่มขึ้นทั้งหมด 6.9%
UPS ปรับอัตราเฉลี่ยสำหรับบริการเพิ่มขึ้นทั้งหมด 6.9%
USPS ปรับอัตราเฉลี่ยสำหรับบริการเพิ่มขึ้นทั้งหมด 4.2%
โดยภาพรวม แม้ระบบโลจิสติกส์ของ Amazon จะเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันด้วยวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและเงื่อนไขทางการเงินทำได้ยากขึ้น อาจจะยากต่อการจัดหาทุน
ทำให้ Amazon ต้องมีการปรับขนาดการลงทุนในระบบโลจิสติกส์ลง เนื่องด้วยบริษัทต้องการจะปรับขนาดให้เหมาะสมกับช่วงเวลานี้
ทำให้ Amazon ยังจำเป็นต้องมีการพึ่งพาผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุรายอื่น แม้ตนเองจะมีส่วนแบ่งปริมาณพัสดุในสหรัฐฯอยู่เยอะและมีระบบโลจิสติกส์เป็นของตนเองก็ตาม
อย่างไรก็ดี การมาของ Amazon Shipping และการลงทุนในอาณาจักรโลจิสติกส์ของบริษัท Amazon ยังคงมีนัยสำคัญกับตลาด
เพราะหาก Amazon ที่กินส่วนแบ่งปริมาณพัสดุถึง 1 ใน 4 ของตลาดสหรัฐฯ สามารถที่จะดำเนินการจัดส่งพัสดุได้อย่างเต็มรูปแบบ สิ่งนี้จะส่งผลต่อรายได้ของผู้เล่นรายอื่นในตลาดอย่างแน่นอน
และสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซแล้ว การที่สามารถจัดการกับการดำเนินการจัดส่งพัสดุของตนเองได้นั้น จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนของบริษัทได้เป็นอย่างมาก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา