17 ก.ย. 2023 เวลา 12:38 • ประวัติศาสตร์

Carlo Rigoli: ชายผู้อยู่เบื้องหลังจิตรกรรมฝาผนังในวังเจ้านายสยาม

“ก๊อก ๆ” เสียงเคาะผนังจากมือของช่างรับเหมาดังก้องออกมาจากแผ่นผนังชั้นบนเหนือห้องบรรทมในตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี ภายในพระตำหนักวังบางขุนพรหมซึ่งบัดนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่ง
ของที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย
1
สภาพของตัวตำหนักที่เริ่มผุพังส่งผลให้เกิดการบูรณะครั้งใหญ่ขึ้นในราวปี 2530 ซึ่งในระหว่างการสำรวจตัวตำหนักสมเด็จฯนั้น ช่างรับเหมาก็ได้พบกับผนังประหลาดที่เคาะแล้วมีเสียงดังก้องกังวานผิดไปจากผนังอื่น จึงได้เริ่มลงมือ “งัด” ผนังไม้นั่นออกมา
และได้เผยโฉมให้เห็นถึงภาพวาดของหญิงสาวปริศนา 6 นาง ที่ถูกปิดซ่อนในธนาคารแห่งประเทศไทยมานานหลายทศวรรษและสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ค้นพบเป็นอย่างมาก ที่มุมขวาล่างของภาพจดจารตัวอักษรโรมันความว่า “C Rigoli 1913” ทำให้ทราบว่าผู้ที่วาดภาพนี้ขึ้นมานั้นไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก
“คาร์โล ริโกลี” จิตรกรผู้ฝากฝังภาพจิตรกรรมฝาผนังสไตล์ยุโรปอันเป็นมรดกทางศิลปะสมัยใหม่ที่ไทยเราได้รับมา และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมยุโรปที่ฝากร่องรอยเอาไว้ในประเทศเมื่อครั้งยังเป็นแผ่นดินสยามอันเรืองรอง
📌 เด็กชายผู้เทใจให้ศิลปะ
ถ้าหากจะพูดถึงชาวต่างชาติที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมในสยามให้ดูเป็นตะวันตกมากขึ้นหรือที่เรียกกันว่าการทำให้เป็นสมัยใหม่นั้น ถ้าพูดถึงสถาปัตยกรรมก็ต้องพูดถึงมารีโอ ตามาญโญ ถ้าพูดถึงประติมากรรมก็ต้องพูดถึงอาจารย์ศิลป์ พีระศรี แต่ถ้าพูดถึงจิตรกรรมแล้วล่ะก็ หนึ่งในชื่อของจิตรกรชาวต่างชาติที่มีอิทธิพลมากในไทยก็ต้องกล่าวถึงคาร์โล ริโกลี่
คาร์โล ริโกลี่เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 1883 ในแคว้นทัสคานี่ ของอิตาลี เขาเป็นบุตรคนที่ 3 ของครอบครัวซึ่งมีฐานะทางการเงินที่จัดว่าค่อนข้างดีเลยทีเดียว โดยพ่อแม่ของเขาอยากจะให้เขาได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมเพื่อที่จะได้เป็นบาทหลวงในอนาคต แต่อย่างไรก็ดี ปณิธานของริโกลี่นั้นกลับต่างออกไป สภาพแวดล้อมของเขาที่เติบโตมาท่ามกลางเมืองแห่งศิลปะที่อยู่ไม่ไกลจากนครฟลอนเรนซ์ที่ซึ่งทุกย่างก้าวนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรม
ริโกลี่เริ่มเส้นทางสายศิลปะจากสภาพแวดล้อมของเขา โดยเป็นหนึ่งในจิตรกรกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสซึม โดยริโกลี่ได้พบกับจิตรกรชื่อดังคนหนึ่งนาม กาลิเลโอ คินี่ จิตรกรผู้สร้างชื่อเสียงไปแล้วทั่วยุโรป ซึ่งคินี่เองก็เป็นบุคคลสำคัญที่ชักชวนให้ริโกลี่เดินทางไกลออกจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มาสู่ทะเลอ่าวไทย ในปี 1910
ชาวอิตาเลียนในสยามกับการสร้างสยามใหม่ด้วยจิตรกรรม
ในช่วงกระบวนการก้าวไปสู่ความเป็นสากลของสยามนั้น ได้มีการนำเข้าช่างฝีมือจากยุโรปมากมาย โดยคินีและริโกลี่เองก็เป็นหนึ่งในช่างฝีมือเหล่านั้น โดยภารกิจใหญ่ภารกิจแรกของทั้งคู่ ก็คือการวาดภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจิตรกรรมที่ได้รับการกล่าวขานถึงความสวยงามเป็นอันดับต้น ๆ ในหมวดหมู่ภาพจิตรกรรมของช่างชาวตะวันตกในสมัยนั้น
ริโกลี่ได้วาดภาพมากมายตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสยาม ทั้งงานหลวงที่ได้รับมอบหมายและงานวาดส่วนตัวที่บันทึกวิถีชีวิตและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวของเขา ริโกลี่ได้ฝากฝังภาพจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ ในอาคารสำคัญทั้งวัดและวังเจ้านายต่าง ๆ อาทิเช่น วัดราชาธิวาส วัดโพธิ์ วังบางขุนพรหม พระที่นั่งบรมพิมาน บ้านพิบูลธรรม เป็นต้น
ในช่วงเวลาที่อยู่ในสยามนี้เอง ริโกลี่ก็ได้เรียนรู้ที่จะประยุกต์เอาความเป็นไทยเข้ากับศิลปะตะวันตกผ่านการแนะนำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทพองค์ต่าง ๆ ในวัฒนธรรมไทยในจิตรกรฝรั่งได้เลือกสรรมาประยุกต์ใช้ ดังที่ปรากฏในบ้านพิบูลธรรมซึ่งเป็นภาพฉากจากเรื่องรามเกียรติ์ หรือภาพที่วัดราชาธิวาสซึ่งเป็นภาพเวสสันดรชาดก
1
📌 ภาพลับในวังบางขุนพรหม
หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของริโกลี่ นอกจากภาพรามเกียรติ์ที่บ้านพิบูลธรรม และภาพเวสสันดรชาดกที่วัดราชาธิวาสแล้ว ภาพจิตรกรรมดรุณีทั้ง 6 ในตำหนักสมเด็จฯที่ได้กล่าวไปในบทเกริ่นนั้นก็เช่นกัน โดยวังบางขุนพรหมนั้นเป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งตัวตำหนักหลักถูกออกแบบโดยมาริโอ ตามาญโญ และตัวตำหนักสมเด็จฯ ที่แยกออกมานั้นออกแบบโดยคาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมันคนสำคัญอีกคนหนึ่งของสยาม
ริโกลีได้ออกแบบภาพปูนเปียกบนโค้งครึ่งวงกลมเหนือกรอบประตูห้องบรรทมในสไตล์พรี-ราฟาเอลไลท์ ซึ่งเป็นภาพของนักบวชหญิง แต่ก็มีการสันนิษฐานว่าทั้ง 6 คนนี้ก็คือเหล่าธิดาของเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ฯ ได้แก่ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง, พระองค์เจ้าสุทธวงษวิจิตร, พระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย, พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน, พระองค์เจ้าจันทรกานตมณี และพระองค์เจ้าอินทุรัตนา
📌 ลาแล้วสยาม คืนสู่นิวาสถานทัสคานี
นอกเหนือจากจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ แล้ว ริโกลี่ยังได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้วาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย โดยริโกลี่ได้ทำงานให้กับสยามจนกระทั่งช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น ริโกลี่ก็ได้ลากลับไปบ้านเกิดที่แคว้นทัสคานี
เขาได้รับการเชิดชูเกียรติเฉกเช่นเดียวกันกับชาวต่างชาติคนอื่น ๆ ที่มารับราชการในด้านศิลปะวัฒนธรรมในไทย และฝากฝังผลงานเอาไว้มากมาย แต่ถึงอย่างนั้น ชื่อเสียงของเขาในอิตาลีก็ไม่ได้โด่งดังมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟลอเรนซ์ เขาจึงกลับไปยังเมืองเกิดของเขาที่อยู่นอกมหานครแห่งศิลปะ และใช้เวลาบั้นปลายของชีวิตที่นั่น
2
ริโกลียังคงวาดภาพอยู่จนกระทั่งจากไปในปี 1962 และหลงเหลือเอาไว้เพียงแค่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงฝังอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ของไทย ทั้งวัดและวัง รอคอยให้มีคนไปชื่นชม เป็นอีกหนึ่ง “ฝรั่งในสยาม” ที่ฝากฝังคุณค่าและวิวัฒน์ศิลปกรรมในไทยให้ก้าวไปข้างหน้าสู่สากลอันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสยามประเทศในช่วงเวลานั้น และเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมจากอดีตที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน
Sources :
  • Piazzardi, Paolo, and Alberto Cassio. Italiani alla corte del siam = Italians at the Court of Siam = ชาวอิตาเลี่ยนในราชสำนักไทย: On the occasion of the 140th anniversary of diplomatic relations between the Kingdom of Thailand and Italy. Bangkok, Thailand: The Embassy of Italy and the Ministry of Culture of the Kingdom of Thailand, 2010.
โฆษณา