22 ก.ย. 2023 เวลา 14:01 • การเกษตร
โรงเรียนบ้านคำข่า

เสริมอาชีพเพาะเห็ดจากฟางข้าว ด้วยนวัตกรรมแก้จน

“ดีใจที่มีโอกาสเพิ่มธุรกิจใหม่ผลิตหัวเชื้อเห็ด เป็นโครงการที่ดีช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนและคนในชุมชน ปัจจุบันซื้อหัวเชื้อเห็ดจากต่างจังหวัดครั้งละ 5,000-6,000 บาทต่อรอบการผลิต” แม่โสพิส เรืองสวัสดิ์ อายุ 55 ปี กล่าวขอบคุณ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และ นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
1
ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาการผลิตเห็ดเชิงพาณิชย์ ณ วิสาหกิจชุมชนเรียนรู้การเพาะเห็ดบ้านคำข่า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ทำให้เกิดช่องทางที่จะสร้างรายได้จากการจำหน่ายเชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่าง
ดร.ธนภักษ์ อินยอด นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ บรรยายเกี่ยวกับการเพาะเห็ดเศรษฐกิจทั่วไป ประเทศไทยมีการผลิตเห็ดมากถึงปีละ 30,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 1,580 ล้านบาท ได้แนะนำวิธีการเพาะเห็ดนางฟ้าโดยวัสดุจากฟางข้าว เพื่อลดต้นทุนโดยใช้ทรัพยากรในพื้นที่ พร้อมด้วย นายธนภัทร เติมอารมณ์ และนางสาวสุริมา ญาติโสม ได้ฝึกสาธิตการผลิตเห็ด ได้แก่
1)ฝึกปฏิบัติการการทำอาหารแข็งจากมันฝรั่งและอาหารสำเร็จ
2)ฝึกปฏิบัติการการแยกเชื้อการเตรียมหัวเชื้อเห็ดลงในเมล็ดข้าวฟ่าง
3)ฝึกปฏิบัติการการทำก้อนเชื้อเห็ดจากฟางข้าว
นอกจากนั้นได้ตอบปัญหาเกี่ยวกับการผลิตเห็ดให้กับชาวบ้าน เช่น การนึ่งก้อนเชื้อเห็ด การดูแลก้อนเชื้อ การเปิดดอกเห็ดและโรงเรือนที่เหมาะสม เป็นต้น
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงฯ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีร่วมกัน (co- share) ในระหว่างเครือข่ายงานวิจัยพื้นที่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม และ ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เสริมความสามารถในการดำเนินธุรกิจจำหน่ายเห็ดให้ครบวงจรห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)
โดยใช้ทรัพยากรในพื้นที่ สร้างงาน/จ้างงานในพื้นที่ กระจายรายได้ในชุมชน ตามแนวคิด Pro-Poor Value Chain คือรับแรงงานครัวเรือนยากจนเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อาชีพอื่น ๆ ได้แก่ ทำนา ทำเห็ด ทำปุ๋ย การแปรรูป เป็นระบบนิเวศธุรกิจ
ความประทับใจจากผู้เข้าร่วมการอบรม
“วันนี้ได้แนวทางการปฏิบัติเยอะมากเลยครับวิทยากรเป็นกันเองมาก ถามอะไรตอบได้หมดสุดยอดจริง ๆ ที่สำคัญเราได้พูดคุยกันถึงปัญหาที่เราพบเจอและได้แนวทางในการแก้ไขปัญหามีเทคนิคและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องขอบคุณมาก ๆ เลยครับผม” คุณณรงค์ฤทธิ์ อายุ 30 ปี สมาชิกโค้งคำนับฟาร์ม
“มีความรู้เพิ่ม มีความคิดใหม่ รู้สึกเพิ่มประสบการณ์ให้กับชีวิต อยากสร้างโรงเรือนเห็ด สนุกสนานประทับใจในการเข้าร่วมกิจกรรมนี้” น้องเหนือเมฆ อายุ 16 ปี สมาชิกโค้งคำนับฟาร์ม
“ความรู้ที่ได้รับในวันนี้ทำให้เราได้มีแนวทางที่จะนำมาแก้ปัญหาและยกระดับสินค้า จะนำวิธีการต่าง ๆ มาพัฒนาโรงเรือนเห็ดของเรา” น้องอิสรา อายุ 18 ปี สมาชิกโค้งคำนับฟาร์ม
หลังจากนั้น คุณณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร บ.เสาวัด ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร นำทักษะที่ได้จากการอบรมไปทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าว จำนวน 500 ก้อน เก็บผลผลิตได้ประมาณ 2 เดือน นำมาทำอาหารลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และสามารถขายได้ในชุมชน กิโลกรัมละ 80 บาท มีรายได้เฉลี่ยในครั้งนี้ 2,000 บาทต่อเดือน
เห็ดมีรสชาติที่หอมหวานเป็นเอกลักษณ์ของฟางข้าว น้องวัชรพงษ์ อายุ 16 ปี สมาชิกโค้งคำนับฟาร์ม ที่ผ่านการอบรม เล่าความรู้สึกครั้งแรกที่ได้เก็บผลผลิตว่า “ได้สัมผัสในสิ่งที่น่าภูมิใจ เก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างมีความสุขมาก ๆ ครับ ขอบคุณครับ”
โฆษณา