23 ก.ย. 2023 เวลา 07:44 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

แม้จะไร้สมองแต่ก็เรียนรู้ได้ นักวิจัยทดสอบแล้วแมงกะพรุนก็เรียนรู้เป็น

โดยทีมนักวิจัยจากสวีเดนและเยอรมนีได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ในสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังหรือประสาทส่วนกลาง และผลที่ได้นั้นท้าทายแนวคิดของทฤษฏีวิวัฒนาการอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้แมงกะพรุนนั้นเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอยู่ในไฟลัม Coelenterate หรือ Cnidalia มีรูปร่างคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำ มีน้ำเป็นองค์ประกอบของร่างกายมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสมองแต่มีระบบประสาทและเส้นประสาทต่อกันเป็นร่างแหตามลำตัวและหนวดเพื่อรับสัมผัสและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่มีระบบประสาทส่วนกลางมีแต่โครงข่ายระบบประสาททั่วร่างเพื่อรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก
เมื่อไม่มีระบบประสาทส่วนกลางโดยทั่วไปแล้วสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกเป็นไปโดยอัตโนมัติ แต่จากการทดลองล่าสุดของทีมนักวิจัยพบว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น พวกมันมีความสามารถในการเรียนรู้แบบ associative learning หรือการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไขได้ด้วย
ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้คือการจดจำเรียนรู้และตอบสนองต่อเงื่อนไขของสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่พบได้ทั่วไปในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังหรือมีระบบประสาทส่วนกลาง
ตัวอย่างคลาสสิคของ associative learning หรือการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข กรณีการฝึกสุนัขให้น้ำลายไหลเพียงได้ยินเสียงกระดิ่ง
สำหรับการทดลองเพื่อศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ของเจ้าแมงกะพรุนครั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ทดสอบกับแมงกะพรุนสายพันธ์ Caribbean box jellyfish โดยใส่พวกมันไว้ในถังน้ำกลมที่มีการใส่กิ่งรากต้นโกงกางจำลองเอาไว้ด้วย
เมื่อปล่อยแมงกะพรุนลงไปพวกมันก็จะตอบสนองต่อรากต้นโกงกางด้วยการว่ายหนีออกห่างและก็จะไปชนกับกำแพงถัง ซึ่งจะเป็นสิ่งเร้าที่ไปกระตุ้นพวกมัน
ภาพวีดีโอการทดลอง
นักวิจัยพบว่าเพียงแค่ 7 นาทีครึ่ง พวกแมงกะพรุนก็เรียนรู้ที่จะว่ายหลบไม่ให้ชนผนังถังแล้ว โดยมีอัตราการว่ายไปโดนผนังลดลงเหลือไม่ถึงครึ่ง และเริ่มมีการว่ายเว้นระยะห่างจากผนังถังอีกด้วย
นั่นทำให้ทีมวิจัยสรุปว่าแม้แต่สิ่งมีชีวิตที่มีระบบประสาทเรียบง่ายอย่างแมงกะพรุนนี้ก็มีความสามารถในการเรียนรู้ได้เหมือนกับสัตว์ที่มีระบบประสาทขั้นสูง
ศูนย์การเรียนรู้จะอยู่บริเวณกลุ่มเซลล์ประสาทที่หุ้มดวงตาของเจ้า Caribbean box jellyfish
ทั้งนี้สำหรับ Caribbean box jellyfish นี้จะมีกลุ่มเซลล์ประสาทจำนวนมากหุ้มอยู่ใต้ดวงตาจำนวน 24 ดวงของพวกมัน ซึ่งทำหน้าที่รับรู้และประมวลผลภาพและอาจจะใช้ในการทำหน้าที่เรียนรู้ในรูปแบบเดียวกับสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
การวิจัยครั้งนี้อาจเป็นกุญแจไขปริศนาว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตตัวไสไร้สมองนี้พวกมันสามารถอยู่รอดผ่านกาลเวลาหลายร้อยล้านปีมาได้อย่างไรเพราะแม้จะไร้สมองแต่ก็สามารถเรียนรู้ได้
ไม่ธรรมดาเลยเจ้าเพื่อนร่วมโลกตัวใส เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่งจริง ๆ ทั้งเรียนรู้ได้แม้มีเพียงโครงข่ายเส้นประสาท หรือแม้แต่มีชีวิตอมตะอย่างเจ้า Turritopsis dohrnii

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา