28 ต.ค. 2023 เวลา 04:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

นกกล้าท้าพายุ!! และมันจะมีอยู่ตัวหนึ่งที่บินฝ่าพายุแทนที่จะบินเลี่ยง

โดยนกผู้กล้าตัวนี้เป็นนกจมูกหลอดลายเพศผู้น้ำหนักครึ่งกิโลกรัม ซึ่งนกจมูกหลอดลาย (Streaked Shearwater) นี้เป็นนกทะเลชนิดหนึ่งลำตัวยาวประมาณ 48 ซม. ช่วงปีกกว้าง 122 ซม. ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลด้านล่างและใต้ปีกสีขาวหรือขาวปนเทา ปีกแคบยาว กินปลาและหมึกเป็นอาหาร มักพบมันบินติดตามเรือประมงเพื่อกินปลา
ซึ่งนกทะเลชนิดนี้ส่วนมากพบในมหาสมุทรแต่บางครั้งพบเลียบฝั่ง นกที่พบในมหาสมุทรแปซิฟิกจะทำรังวางไข่ในประเทศญี่ปุ่นและเกาะต่างๆนอกชายฝั่ง หลังฤดูผสมพันธุ์จะอพยพไปตอนใต้ของออสเตรเลียและมีรายงานว่าพบที่ชายฝั่งด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
นกจมูกหลอดลายใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในทะเลเลียบชายฝั่ง จะขึ้นบกทำรังเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธ์ุ
และด้วยภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่ส่งผลให้เกิดสภาวะอากาศแปรปรวน มีการเกิดขึ้นของพายุหมุนเขตร้อนมากขึ้น เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงต้องการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกโดยหนึ่งในนั้นก็คือเหล่านกนะเลที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาล
ล่าสุดได้มีงานวิจัยจากทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่ได้ทำการติดเครื่องติดตามตำแหน่งไว้กับนกจมูกหลอดลายเพื่อศึกษาเส้นทางบินอพยพย้ายถิ่นฐานในช่วงที่มีพายุใต้ฝุ่นเข้าที่ประเทศญี่ปุ่น
และผลที่ได้นั้นสร้างความประหลาดใจให้กับนักวิจัยที่พบว่ามีนกตัวหนึ่งที่ทำการบินฝ่าพายุอยู่ร่วม 11 ชั่วโมงด้วยระยะทาง 1,146 กิโลเมตรและบินขึ้นไปสูงถึง 4.7 กิโลเมตรด้วยความเร็วในการบินระหว่างติดอยู่ในใต้ฝุ่นสูงถึง 90-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
1
ทั้งนี้โดยปกตินกจมูกหลอดลายมักบินเลียดผิวน้ำในระดับความสูงไม่เกิน 100 เมตรจากระดับน้ำทะเลและความเร็วในการบินอยู่ที่ 10-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับการสำรวจเก็บข้อมูลนี้มีขึ้นในช่วงเดือนกันยายนปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พายใต้ฝุ่น "ฟ้าใส" ซึ่งเป็นใต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงระดับ 4 ด้วยความเร็วลมสูงสุด 215 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเข้าถล่มพื้นที่ด้านตอนกลางของญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายสร้างความเสียหายมูลค่ารวมกว่า 30,000 ล้านบาท
1
เส้นทางการเคลื่อนที่ของพายฟ้าใสตั้งแต่เริ่มก่อตัวกลางมหาสมุทรแปซิฟิคและเคลื่อนลงใต้ขึ้นฝั่งที่ตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น และย้อนกลับออกมหาสมุทรก่อนสลายตัว
โดยช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่เหล่านกทะเลจะทำการบินอพยพขึ้นเหนือ ซึ่งทีมวิจัยได้ติดอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งซึ่งจะส่งข้อมูลทุก ๆ 15 นาทีไว้กับกลุ่มนกจมูกหลอดลายจำนวน 14 ตัวที่จับได้ในระหว่างวันที่ 25-29 สิงหาคม ก่อนพายุเข้าฝั่งไม่กี่วัน
และจากข้อมูลที่เก็บได้พบว่าส่วนใหญ่พวกมันจะเลือกบินเลี่ยงบริเวณที่ได้รับอิทธิพลกระแสลมแรงจากใต้ฝุ่นฟ้าใส
สีฟ้าคือกลุ่มที่บินเลี่ยงพายุ ส่วนสีม่วง ส้ม และเหลืองคือ 3 ตัวที่บินติดเข้าไปในพายุแต่ก็หนีออกมาได้ (เส้นสีดำ
โดยจากรูปเป็นข้อมูลเส้นทางบินของกลุ่มตัวอย่างในช่วงเวลาที่พายุฟ้าใสขึ้นฝั่ง(เส้นสีดำ) มี 9 ตัวจากกลุ่มตัวอย่างเลือกบินเลี่ยงและไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากพายุ(เส้นสีฟ้า) และมีอีก 3 ตัวที่หลุดเข้าไปอยู่ในพายุแต่สุดท้ายก็บินหนีออกมาได้หรือไม่ก็ลงไปพักหลบพายุ
แต่ก็จะมีอยู่ตัวหนึ่งซึ่งเส้นทางบินของมันสร้างความประหลาดใจให้กับทีมนักวิจัยอย่างมาก
เส้นทางบินของนกผู้กล้า และข้อมูลความเร็วกับระดับความสูง
โดยพบว่ามันบินเข้าไปอยู่ท่ามกลางพายุเป็นเส้นทางบินวนทวนเข็มนาฬิกา 5 รอบเป็นระยะทางบินรวมกว่า 1,146 กิโลเมตร ก่อนที่จะบินลงพักกลางทะเลริมชายฝั่งห่างจากจุดที่เริ่มออกบิน 220 กิโลเมตรขึ้นไปทางเหนือ
จากข้อมูลการบินพบว่าช่วงที่บินเข้าไปอยู่ในพายุมันบินเร็วกว่าปกติมาก และบินด้วยความสูงมากกว่าปกติมากเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นความพยายามในการบินหลบออกจากบริเวณตาใต้ฝุ่น
และที่ผิดปกติสำหรับนกชนิดนี้อีกอย่างก็คือเกือบตลอดเส้นทางบินจะเป็นการบินบนฝั่งแผ่นดินซึ่งปกตินกชนิดนี้จะไม่บินเข้าฝั่งถ้าไม่ใช่เพื่อมาทำรังช่วงฤดูผสมพันธ์ุ
ทั้งนี้นักวิจัยก็ยังไม่อาจฟันธงได้ว่ามันเลือกที่จะบินฝ่าเข้าไปในพายุหรือจริง ๆ แล้วติดอยู่ในพายุกันแน่ เพราะหลังจากผ่านการบินมาราธอนกลางพายุร่วม 11 ชั่วโมงมันก็ลงไปพักกลางทะเลร่วม 5 ชั่วโมงเลยทีเดียวหลังผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาได้
รวมถึงเส้นทางบินที่ดูเหมือนโต้ลมพายุแค่ก็ยังยากที่จะบอกได้ว่าต้องร่อนตามกระแสลมหรือตั้งใจร่อนตามแรงลมพายุเพื่อผ่อนแรง เพราะสุดท้ายแล้วมันก็สามารถบินขึ้นไปทางเหนือได้ตามที่ต้องการแม้จะติดอยู่ในพายุ 11 ชั่วโมง
นกจมูกหลอดลายกับการอริยาบทระหว่างช่วงพักบนผิวน้ำ
นอกจากพฤติกรรมประหลายของนกผู้กล้านี้แล้ว นักวิจัยยังพบว่าเหล่านกจมูกหลอดลายยังมีการปรับตัวในการเริ่มออกบินในแต่ละวันเร็วขึ้นเพื่อทำการบินหลบพายุ โดยพบว่าพวกมันส่วนใหญ่เริ่มออกบินก่อนฟ้าสางร่วม 5 ชั่วโมง จากปกติที่พวกมันจะเริ่มทำการบินก่อนฟ้าสางประมาณ 1 ชั่วโมง
แต่จากทั้งหมดที่ว่ามากลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนี้ก็สามารถรอดจากพายุมาได้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบกันอยู่บ้าง (อีกตัวที่ไม่ได้พูดถึงคาดว่าเครื่องส่งสัญญาณหลุดหายไปก่อน)
อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่านกตัวนี้ตั้งใจจะโต้ลมพายุหรือเปล่า เพราะอย่างมนุษย์เราแต่ละคนก็ยังมีนิสัยไม่เหมือนกัน บางคนชอบความท้ายทายแม้จะต้องเสี่ยงตาย สำหรับสัตว์ก็อาจจะมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่ในแต่ละสายพันธ์ุก็เป็นได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา