24 ก.ย. 2023 เวลา 04:01 • ท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑ์บริติช

ค้นหาสมบัติล้ำค่าของอดีตที่ British Museum

Chapter 64/7: Unearthing the Treasures of the Past at the British Museum
ใครที่ชอบประวัติศาสตร์เชิญทางนี้เลยค่ะ มาดูกันว่าที่ British Museum มีโบราณวัตถุสำคัญๆ ชิ้นไหนที่มีเรื่องเล่าน่าสนใจมั่ง เผื่อใครที่กำลังคิดจะไปจะได้เก็บไว้เป็นข้อมูลด้วยนะ 😉
มาลอนดอนตั้งหลายหนแต่ก็ไม่เคยได้ไป British Museum ซักที ไม่ใช่เพราะไม่อยากไปนะ แต่มันมีเหตุให้ต้องคลาดกันอยู่เรื่อย จนคราวนี้ได้ไปสมใจอยากเลยอยู่มัน 3 ชั่วโมงกว่าเลย ไปดูกันว่าที่นี่มีอะไรเด็ดๆ ให้ดูถึงอยู่ได้ตั้งนานสองนานขนาดนี้
โดยพื้นฐานเราเป็นคนชอบฟังและชอบดูเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เพราะมันทำให้เราได้เห็นว่าคนสมัยก่อนเค้ามีชีวิตอยู่กันยังไง มีความรู้ความเข้าใจในโลก และมีความเชื่อแบบไหน ถึงได้วิวัฒนาการจนกลายมาเป็นโลกเราอย่างทุกวันนี้
ประวัติศาสตร์บางเรื่องฟังแล้วทึ่งมาก แต่บางเรื่องฟังแล้วก็อึ้งมากเหมือนกัน มีทั้งการสร้างสรรค์มีทั้งการทำลายล้าง แต่สิ่งที่รู้แน่ๆ คือถ้าไม่มีการพัฒนาทางความคิดจากคนรุ่นบรรพบุรษก็คงไม่มีพวกเราในปัจจุบัน
เราอยากมา British Museum เพราะที่นี่รวบรวมโบราณวัตถุที่มีค่าจากทั่วโลกไว้มากกว่า 8 ล้านชิ้น มีอายุทางประวัติศาสตร์รวมกันกว่า 2 ล้านปี และเราจะได้ศึกษาพัฒนาการของคนแต่ละยุคผ่านทางโบราณวัตถุเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน
ก่อนมาเราลิสสิ่งที่อยากดูไว้แล้ว (เพราะถ้าจะให้เดินไปทั่วทั้งพิพิธภัณฑ์คงใช้เวลามากกว่า 1 วันแน่ๆ) ซึ่งได้ข้อมูลมาจาก Podcast ช่อง 8 Minute History (EP. 131) ที่คุณวิทย์ สิทธิเวคินเคยเล่าให้ฟังว่าใน British Museum มีงานชิ้นไหนบ้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ล้ำๆ และก็หาข้อมูลเพิ่มเติมเองอีกว่ามีงานชิ้นไหนที่น่าดูนอกเหนือจากนี้อีก ก็เลยเป็นที่มาของโบราณวัตถุต่างๆ ที่เราได้เอามาเล่าใน Blog นี้ค่ะ
ก่อนอื่นเลยขอแนะนำว่าการจะเข้าชม British Museum ควรจองมาทาง website ก่อนนะจะได้ไม่ต้องเข้าคิวนาน การจองก็ไม่ยากเลยเข้าไปในลิงค์นี้ https://www.britishmuseum.org/visit เลือกแบบ Standard นะจะได้ไม่มีค่าใช้จ่าย
ถ้าไปช่วงปกติที่ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว จองวันนี้ไปวันนี้ยังได้ แต่ถ้าเป็นหน้าท่องเที่ยวคนจะเยอะมาก อาจต้องจองล่วงหน้าเป็นอาทิตย์เลย เพราะเค้าจำกัดจำนวนคนเข้าต่อวันไว้ อ้อ…แล้วที่นี่เข้าฟรีนะคะไม่ต้องซื้อตั๋ว แต่ถ้าอยากบริจาคช่วยเค้าก็สามารถบริจาคตอนจองตั๋วได้เลย
British Museum
เราไปวันธรรมดาช่วงเที่ยงๆ ยังคนหยั่งกะหนอนเลย ดีที่จองมาทาง online ก็เลยเข้าได้เลยเร็วมาก เห็นแถวคนที่ไม่ได้จองมาแถวยาวเลย
ซ้ายมือคือคนที่จอง online มาเดินเข้าได้เลย ขวามือคือคน walk-in แถวยาวเชีย
เข้าไปด้านในได้แล้ว
British Museum
British Museum เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์และธรรมชาติของมนุษย์ที่สำคัญที่สุดในโลก ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1753
British Museum
British Museum มีพื้นที่มากกว่า 92,000 ตรม. มีห้องจัดแสดงกว่า 100 ห้อง รวมระยะทางเดินทั้งหมดประมาณ 3.2 กม. โดยมีการจัดแสดงวัตถุต่างๆ มากกว่า 50,000 ชิ้น ซึ่งคิดเป็นแค่ 1% ของของสะสมทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์เท่านั้นเองนะ
3
แล้วรู้มั้ย British Museum มีอายุมากกว่ากรุงรัตนโกสินทร์อีกนะ ปี 2023 นี้ British Museum ก็มีอายุถึง 259 ปีแล้ว
บรรดาโบราณวัตถุ งานประติมากรรม และของที่ถูกจัดแสดงทั้งหลายเหล่านี้ได้มาจากการเก็บรวบรวมนับตั้งแต่สมัยพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 เป็นต้นมา ที่อังกฤษเข้าไปบุกดินแดนต่างๆ แล้วก็เข้าไปรวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ ของแต่ละประเทศมาเก็บไว้ที่นี่
6
ซึ่งการได้มาก็มีทั้งที่ประเทศนั้นยอมให้แต่โดยดีและที่อังกฤษไปปล้นจากประเทศอื่นมา จนทำให้ในปัจจุบันเกิดกระแสการทวงคืนโบราณวัตถุจากประเทศเจ้าของมากมาย
1
เกริ่นมาซะเยอะเลย ได้เวลาไปตามล่าหาสมบัติล้ำค่ากันแล้วค่ะ
เราไปเริ่มจากโบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของ British Museum กันก่อนเลย นั่นก็คือ Rosetta Stone (ศิลาโรเซตตา) ซึ่งเป็นศิลาจารึกบนหินแกรนิตที่ไขปริศนาของภาษาอียิปต์โบราณ (Egyptian sculpture gallery ห้อง 4)
Rosetta Stone (ศิลาโรเซตตา)
Rosetta Stone เป็นศิลาจารึกทำจากหินแกรนด์โอไดโอไรต์ที่บันทึกกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นในพระนามาภิไธยพระเจ้าทอเลมีที่ 5 แห่งอียิปต์เมื่อ 196 ปีก่อนคริสตกาล กฤษฎีกานี้ถูกเขียนด้วยอักขระ 3 แบบ ทำให้นักอียิปต์วิทยาในสมัยศตวรรษที่ 19 สามารถถอดความภาษาอียิปต์โบราณซึ่งเป็นภาษาที่ตายไปแล้วได้ในที่สุด เลยทำให้หินชิ้นนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก
Rosetta Stone (ศิลาโรเซตตา)
ชิ้นต่อไปคือ หินสลักของฟาโรห์ Rameses ที่ 2 หรือ Younger Memnon ที่มีน้ำหนักถึง 7 ตัน (Egyptian sculpture gallery ห้อง 4)
หินสลักของฟาโรห์ Rameses ที่ 2 หรือ Younger Memnon
ความจริงแล้วประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้ค้นพบหินสลักนี้ก่อน แต่ขนกลับไปประเทศตัวเองไม่ไหว อังกฤษจึงเข้ามาจัดการด้วยการใช้หลักวิศวะกรรมศาสตร์มาใช้ในการยกหินชิ้นนี้ขึ้นมาแล้วขนกลับไปประเทศตัวเองได้สำเร็จ เออ…เค้าก็เก่งจริงๆ แหละ
นอกจากนั้นก็มีงานที่น่าสนใจอีกมากมายในห้อง Egyptian sculpture แต่ละชิ้นบิ๊กเบิ้มทั้งนั้น
ห้อง Egyptian sculpture
ต่อมาเป็นชุดภาพสลักนูนต่ำจากพระราชวังของกษัตริย์ Tiglath-Pileser III ในเมือง Nimrud เมืองหลวงของอาณาจักรอัสสิเรียที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 3000 ปีก่อน (Assyria: Nimrud ห้อง 7-8)
The Palace of Tiglath-Pileser III at Nimrud
ซึ่งภายในพระราชวังมีงานประติมากรรมอยู่มากมาย แต่น่าเสียดายที่บางส่วนได้ถูกทำลายไปโดยกองกำลังของ Isis เมื่อปี ค.ศ. 2014 สาเหตุเพราะ Isis ถือว่ารูปเคารพและสิ่งของบูชาเหล่านี้เป็นของนอกรีต
1
หลังจากกองทัพของอิรักได้ขับไล่กลุ่ม Isis ออกไปได้ ก็เริ่มมีการเข้ามาบูรณะพื้นที่นี้แล้วก็นำซากภาพสลักนูนต่ำเหล่านี้มาเก็บรักษาไว้ที่ British Museum
Lamassu (ลามัสซู)
ชิ้นนี้เป็นสัตว์ในตำนานที่ยืนเฝ้าประตูวังอยู่ เรียกว่า Lamassu (ลามัสซู) มีหัวเป็นคน ตัวเป็นสิงโต และมีปีกเป็นนกอินทรี
ภายในนี้มีงานภาพสลักนูนต่ำหลายร้อยชิ้นวางเรียงกันยาวไปอีกหลายห้องเลย นับว่ายังดีที่พวกเราได้มีโอกาสเห็นงานศิลปะล้ำค่าแบบนี้
The Palace of Tiglath-Pileser III at Nimrud
ต่อไปเป็นห้องอียิปต์ซึ่งก็น่าดูมากๆ (The Roxie Walker Galleries ห้อง 62-63)
Egyptian death and afterlife: mummies
ข้างในจะได้พบกับมัมมี่จำนวนมากมายที่ถูกรวบรวมไว้แบบเยอะมากๆ เราผู้ไม่เคยเห็นมาก่อนนี่ตื่นตาตื่นใจมากๆ นี่ถ้าคนน้อยๆ ก็มีแอบหนาวเหมือนกันนะ ศพทั้งนั้นเลย
Egyptian death and afterlife: mummies
นอกจากทำมัมมี่คนแล้ว ยังมีการทำมัมมี่สัตว์เลี้ยงด้วยทั้งสุนัข แมว และนก จะถูกทำให้เป็นมัมมี่และบรรจุลงในสุสานเดียวกับเจ้าของเพื่อให้ไปอยู่ร่วมกันในปรโลก
Egyptian death and afterlife: mummies
ชิ้นต่อมาคือ Gebelein Man (The Early Egypt gallery ห้อง 64)
Gebelein Man
เป็นศพที่ถูกค้นพบที่ Gebelein (เมืองเกเบลีน) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอียิปต์ คาดว่าน่าจะถูกฝังประมาณ 3500 ปีก่อนคริสตกาล
Gebelein Man
ศพไม่ได้ถูกทำพิธีกรรมให้เป็นมัมมี่ แต่สภาพของภูมิอากาศและภูมิประเทศในบริเวณนั้นได้ทำให้ศพแห้งจนกลายเป็นมัมมี่โดยธรรมชาติ
1
และหลังจากที่อยู่ใน British Museum มาเป็นเวลานานกว่า 100 ปี ในปี 2012 ที่ผ่านมา Gebelein Man ได้ถูกนำออกจากพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งแรกเพื่อทำการ CT Scan ทำให้เราได้ทราบว่าศพนี้เสียชีวิตในช่วงอายุ 18-21 ปี และเสียชีวิตเพราะถูกแทงที่หลัง
1
สุดยอดมะ…นี่เป็นครั้งแรกที่มีการสแกนมัมมี่ ทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวิตและความตายในแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
มาทางโซนอเมริกาบ้างเพื่อมาดู The Moai Hoa Hakananai'a (The Wellcome Trust Gallery ห้อง 24)
The Moai Hoa Hakananai'a
รูปปั้นโมอายชิ้นนี้ เป็น 1 ใน 14 ชิ้นที่แกะสลักมาจากหินบะซอลต์ ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธเป็นผู้มอบให้กับทาง British Museum หลังจากที่พระนางได้รับมอบเป็นของขวัญ คาดว่ามีน้ำหนักถึง 4.2 ตัน
ผู้ปกครองเกาะอีสเตอร์ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของชิลีระบุว่า รูปปั้นโมอายชิ้นนี้ถูกชาวอังกฤษขนย้ายโดยเรืออังกฤษ HMS Topaze กลับสู่ประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1868 โดยปราศจากการขออนุญาต
และขณะนี้รัฐบาลชิลีกำลังเจรจากับทางรัฐบาลอังกฤษเพื่อให้มีการส่งคืน Moai Hoa Hakananai'a กลับคืนไปยังเกาะอีสเตอร์
ย้ายมาโซนแอฟริกา และสิ่งที่เรามาดูคือ
The Benin Bronzes
The Benin Bronzes มรดกล้ำค่าแห่งอาณาจักรเบนิน (ปัจจุบันคือรัฐเอโดะ ประเทศไนจีเรีย) ที่ถูกหล่อขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 (The Sainsbury Galleries ห้อง 25)
The Benin Bronzes
เป็นกลุ่มแผ่นโลหะสำริดและงานประติมากรรมจำนวนหลายพันชิ้นที่ประดับอยู่ในพระราชวังแห่งอาณาจักรเบนิน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์และเป็นการเชิดชูเกียรติแก่เหล่ากษัตริย์ในอดีต
The Benin Bronzes
ต่อมาในสมัยจักรวรรดินิยม อังกฤษก็ได้เข้าไปบุกอาณาจักรเบนิน แล้วก็นำเอาโบราณวัตถุเหล่านี้มาจัดแสดงที่ British Museum
2
ปัจจุบันรัฐบาลไนจีเรียได้มีการพยายามเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ที่ครอบครอง Benin Bronze อยู่ส่งคืนสมบัติชาติเหล่านี้ให้แก่ไนจีเรีย
มาต่อที่โซนเอเชีย มาดู Amaravati Marbles หรือ หินอ่อนอัมราวตี ที่มีถึง 120 ชิ้น (The Asahi Shimbun Gallery ห้อง 33A)
Amaravati Marbles
Amaravati Marbles มาจากการขุดค้นสถูปอมราวตีในเมืองอมราวตีกุนตูร์ ในรัฐ อานธร ประเทศอินเดีย โดย Sir Walter Elliot ในปี ค.ศ. 1840
Amaravati Marbles
รูปแกะสลักเหล่านี้แสดงเรื่องราวจากนิทานชาดกเกี่ยวกับพุทธปรินิพพานในครั้งก่อนๆ และชาติปางต่างๆ ของพระพุทธเจ้าก่อนจะประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
1
Amaravati Marbles
และถึงจะถูกเรียกว่า Amaravati Marbles หรือหินอ่อนอัมราวตี แต่ความจริงแล้ว Amaravati Marbles ไม่ได้ทำมาจากหินอ่อนนะแต่ทำมาจากหินทราย
Amaravati Marbles
นอกจากนี้ก็มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจในโซนเอเชียอีก ได้แก่ Shiva Nataraja หรือ ศิวนาฏราช (The Sir Joseph Hotung Gallery ห้อง 33)
Shiva Nataraja
Shiva Nataraja เป็นรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางหนึ่งของพระศิวะ เป็นปางที่เป็นบรมครูของศิลปะการร่ายรำหรือนาฏยศาสตร์ของอินเดีย
Shiva Nataraja
มีความเชื่อว่าการเต้นรำของพระศิวะก่อให้เกิดปฏิกิริยาของการสร้างโลกและมนุษย์ โดย Shiva Nataraja จะแสดงในท่าย่างสามขุม (ตรีวิกรม) ซึ่งเป็น 1 ใน 108 ท่าที่ออกแบบโดยพระศิวะ มีสัญลักษณ์ที่พระกรขวาถือกลองคือการสร้างโลก พระกรซ้ายมีเปลวเพลิงล้อมเป็นกรอบคือการสิ้นสุดที่ไฟจะเผาผลาญโลก
เหนื่อยกันรึยังคะ 😆 เกือบเสร็จการทัวร์ตามล่าหาสมบัติกันแล้วนะ ป่ะ…ไปกันต่อ
เรามาที่โซนยุโรปมั่ง ไปดูห้องนี้ค่ะ กรุสมบัติจาก Sutton Hoo (The Sir Paul and Lady Ruddock Gallery ห้อง 41)
1
Sutton Hoo
Sutton Hoo เป็นกรุสมบัติขนาดใหญ่สมัยยุคกลางตอนต้นที่ขุดพบโดยบังเอิญในปี ค.ศ. 1939 ที่เมือง Suffolk (ซัฟโฟล์ก) ประเทศอังกฤษ
Sutton Hoo
คุณ Edith Pretty (เอดิธ พริตตี้) ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะนั้น ได้ว่าจ้างให้ Basil Brown (เบซิล บราวน์) ผู้ช่วยนักโบราณคดีที่พิพิธภัณฑ์ในเมือง Ipswich (อิปสวิช) ลองมาขุดค้นเนินดินจำนวนหนึ่งภายในเขตที่ดินของเธอ
Sutton Hoo
ระหว่างการขุดค้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1938 Brown ได้พบโบราณวัตถุจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่ในการขุดค้นครั้งถัดมาใน ค.ศ. 1939 ก็ได้พบซากเรือที่มีความยาว 27 เมตร และสมบัติจำนวนมาก ถือเป็นการค้นพบโบราณวัตถุจากสมัยยุคกลางตอนต้นในเกาะอังกฤษที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
1
Sutton Hoo
เรื่องนี้ถูกเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยชื่อว่า The Dig ซึ่งเราก็ได้รู้เรื่อง Sutton Hoo จากการดูหนังเรื่องนี้นี่แหละ เลยอยากมาเห็นด้วยตาตัวเองซักที เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มากเลย
ถัดมาเป็นชุดหมากรุก Lewis Chessmen (The Sir Paul and Lady Ruddock Gallery ห้อง 40)
Lewis Chessmen
ชุดหมากรุกนี้ถูกค้นพบบนเกาะ Lewis (ลูอิส) ในประเทศสกอตแลนด์ เป็นชุดหมากรุกที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมา มีหมากทั้งหมด 78 ชิ้น ทำจากงาของตัววอลรัสพร้อมกับกระดานอีก 14 อัน
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าหมากรุกชุดนี้ถูกสร้างขึ้นในเมือง Trondheim (ทรอนด์เฮม) ทางตะวันตกของประเทศนอร์เวย์ในช่วงศตวรรษที่ 12 เพราะ Trondheim เป็นศูนย์กลางของการแกะสลักงาวอลรัสในยุคกลาง แต่ก็ยังไม่ทราบที่มาว่าสุดท้ายชุดหมากรุก Lewis Chessmen เดินทางมาถึงที่สกอตแลนด์ได้อย่างไร
Lewis Chessmen
มาถึงห้องสุดท้ายทีเด็ดของเรา Parthenon Mables (Greece: Parthenon ห้อง 18)
Duveen Gallery
Duveen Gallery เป็นห้องที่มีโบราณวัตถุที่ล้ำค่ามากๆ และเป็นมหากาพย์จนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ Parthenon Mables หรือรูปสลักบนหน้าบันและเชิงหลังคาของวิหารพาร์เธนอนที่สร้างมาตั้งแต่ประมาณ 2500 ปีที่แล้วในสมัยที่จักรวรรดิเอเธนส์เรืองอำนาจ
Parthenon Mables
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อปี ค.ศ. 1801 ลอร์ดเอลกิน (Lord Elgin) เอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ นครอิสตันบูลแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ได้เกิดความชื่นชอบวิหารพาร์เธนอนเป็นอย่างมาก จึงได้เจรจากับสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันซึ่งในขณะนั้นออตโตมันปกครองประเทศกรีซอยู่ เพื่อขอนำภาพสลักของวิหารพาร์เธนอนมาจัดแสดงที่อังกฤษ สุลต่านแห่งออตโตมันต้องการที่จะเอาใจอังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจในขณะนั้นจึงยกให้แต่โดยดี
Parthenon Mables
ต่อมาเมื่อกรีซประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการจากจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. 1829 รัฐบาลกรีซจึงได้ขอทวงโบราณวัตถุหล่านี้คืน เหตุผลคือเพื่อเป็นการฟื้นฟูสัญลักษณ์ของประเทศ
แต่รัฐบาลอังกฤษก็ไม่คืนให้ และให้เหตุผลว่าประติมากรรมชุดนี้เป็นโบราณวัตถุที่เป็นมรดกของโลก ดังนั้นมันควรที่จะถูกจัดแสดงอยู่ที่ลอนดอนซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกสามารถชมได้ และอ้างว่า British Museum สามารถดูแลรักษาโบราณวัตถุชิ้นนี้ได้ดีกว่ากรีซอย่างแน่นอน
Parthenon Mables
ก็ไม่รู้ว่าที่รัฐบาลอังกฤษและ British Museum เคลมมันสมควรหรือเปล่าแต่เราก็ได้มาดูแล้ว และก็เห็นความพยายามของลอร์ดเอลกินและทีมงานของเค้าที่ค่อยๆ แกะโบราณวัตถุมาจากที่นั่นทีละชิ้นๆ ขนใส่เรือกลับมาแล้วเอามาวางเรียงต่อกันตามแบบเดิม คิดดูดิว่าเป็นงานช้างขนาดไหน
จริงๆ เรื่องเกี่ยวกับ Parthenon Mables นี่ยาวกว่านี้อีก ไปฟังกันได้ใน The Standard: 8 Minute History นะ สนุกมากๆ
และนอกเหนือจากโบราณวัตถุที่เราเอามาเล่าให้ฟังนี้ก็ยังมีของอื่นๆ อีกมากกกกกที่น่าสนใจเหมือนกัน ใครที่ชอบประวัติศาสตร์และมีโอกาสได้มาเที่ยวลอนดอน อย่าลืมหาเวลาซักครึ่งวันมาเดินเล่นที่นี่นะ รับรองคุณจะเพลิดเพลินจนลืมเวลาเลย
แหะ…ลืมใส่คำเตือนไปเนอะว่า Blog นี้เนื้อหาจะเยอะหน่อย เพราะส่วนตัวรู้สึกว่าเรื่องประวัติศาสตร์นี่สนุกจริงๆ 😁
1
ถือเป็นการใช้เวลา 3 ชั่วโมงใน British Museum ที่มันส์มาก หยั่งกะเล่นเกมตามล่าหาของเลยเพราะเราลิสแต่ชื่อมาว่าจะดูอะไร แต่ไม่ได้จดมาว่าเค้าอยู่ที่ห้องไหนกัน 😓 ก็เลยต้องเสียเวลาเดินหากันหน่อย แต่คุ้มค่ามากค่ะ
1
สำหรับ Blog นี้ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะคะ แล้วเจอกันใน Blog ต่อไป จะพาไปเที่ยวที่ไหนของอังกฤษอีก อย่าลืมมาอ่านกันนะคะ 😊

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา