26 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

3 ปัจจัยที่บอกว่าผลกระทบของ AI จะใหญ่แค่ไหน

AI กำลังเป็นประเด็นร้อนสำหรับนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนมากมาย เนื่องจากมันมีโอกาสส่งผลกระทบมากมายต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ และถึงแม้ว่าจะไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีปัจจัยบางประการที่สามารถช่วยให้เราเห็นภาพได้คร่าวๆ ว่าผลกระทบจาก AI จะใหญ่มากแค่ไหน
ปัจจัยแรกอยู่ที่ว่า AI จะกลายเป็นเทคโนโลยีอเนกประสงค์ หรือ General Purpose Technology (GPT) หรือไม่ เทคโนโลยีอเนกประสงค์คือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ได้ในอุตสาหกรรมมากมาย เช่น รางรถไฟ ไฟฟ้า หรือ อินเตอร์เน็ต ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีอเนกประสงค์จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง
ในปัจจุบันที่ AI ที่สามารถผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตัวอักษร ภาพ หรือ เสียง (หรือที่เรียกว่า generative AI) ก็ทำให้ AI ดูจะกลายเป็นเทคโนโลยีอเนกประสงค์ หรือ GPT มากขึ้น
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง AI ก็คงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง จากการคาดการณ์ของ McKinsey generative AI อาจสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจโลกได้สูงถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนี่เยอะกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่อินเตอร์เน็ตเคยสร้าง ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เสียอีก
อย่างไรก็ตาม บางคนกลับมองว่า AI ยังมีข้อจำกัดหลายด้านและยังไม่เสถียรพอที่จะเป็น GPT ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในรูปแบบของ AI ที่เรียกว่า Large Language Models ที่สามารถเดาบทสนทนาหรือประโยคถัดไปโดยใช้สถิติ ก็ยังไม่สามารถเข้าใจถึงความหมายของคำศัพท์ต่างๆ ได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ AI ก็ยังไม่สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ในด้านหนึ่งมาต่อยอดความสามารถอีกด้านหนึ่งได้เหมือนมนุษย์ด้วย ซึ่งนี่แปลว่า AI ยังคงเพียงแค่เลียนแบบมนุษย์เท่านั้น และอาจจะยังไม่ได้เขย่าโลกแรงอย่างที่หลายคนคาดไว้
1
อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องดูคือผลกระทบของ AI ต่อประสิทธิภาพการทำงาน แน่นอนว่าการมี AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับคน เนื่องจากมันเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทุ่นแรงได้เยอะในหลายด้าน
อย่าง McKinsey ก็มองไว้ว่า แค่ใช้ generative AI เพียงอย่างเดียวในการทำงาน (ยังไม่ได้นำไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว) ก็จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภาพ (productivity growth) เพิ่มขึ้นราวๆ 0.1% - 0.6%
ทั้งนี้ ผลกระทบของ AI ที่มีต่อเศรษฐกิจจะใหญ่ขึ้นอีกถ้ามันสามารถเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า “ผลิตภาพแบบพหุปัจจัย (multifactor productivity)” หรือผลิตภาพโดยรวมที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น แรงงาน วัตถุดิบ หรือ พลังงาน
ซึ่งโดยปกติแล้ว GPT มักจะเพิ่มผลิตภาพแบบพหุปัจจัยโดยการทำให้เกิดกระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ไฟฟ้า ที่นอกจากจะช่วยให้เครื่องจักรทำงานได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้คนงานในโรงงานไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ใกล้ๆแหล่งพลังงานที่เดียว
ซึ่งนี่ทำให้เกิดกระบวนการผลิตแบบสายพานที่ช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมากด้วย และถ้า AI มีผลต่อผลิตภาพแบบพหุปัจจัยเช่นเดียวกัน ก็มีโอกาสที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นกัน
ปัจจัยสุดท้ายที่จะกำหนดว่าผลกระทบของ AI จะใหญ่หรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ความเร็วในการที่เทคโนโลยีนี้จะเป็นที่นิยมในสังคม โดยปกติแล้ว เทคโนโลยีใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา มักจะต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่จะถูกใช้อย่างกว้างขวาง (แผนภูมิ 1)
อย่างโทรศัพท์บ้านที่ถูกนำเสนอในปี 1876 ก็ใช้เวลาราวๆ 50 ปี กว่าที่ผู้คนจะเริ่มคุ้นเคยกับมัน อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่เทคโนโลยีใหม่จะกลายเป็นเรื่องธรรมดานั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือที่ใช้เวลาเพียงราวๆ 20 ปี กว่าจะเป็นที่นิยม ส่วนอินเตอร์เน็ตก็ใช้เวลาน้อยลงอีก คือไม่ถึง 10 ปี ซึ่งยิ่งเทคโนโลยีใหม่ถูกประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางเร็วเท่าไร เทคโนโลยีนั้นก็ยิ่งส่งผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจได้แรงขึ้นเท่านั้น
และในตอนนี้ AI ก็ดูจะเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วด้วย เนื่องจากมีเทคโนโลยีมากมายที่รองรับการประยุกต์ใช้และการพัฒนา AI
 
โดยสรุปแล้ว ปัจจัยทั้งสามอย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในตัวชี้วัดว่า AI จะกระทบเศรษฐกิจได้แรงแค่ไหน ซึ่งถึงแม้จะไม่มีตัวเลขอย่างชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้เราพอคาดการณ์คร่าวๆ ได้ว่าอุตสาหกรรมและโลกจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา