12 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม กับตลาดแรงงานทั่วโลก

หลังการระบาดของโควิด 19 ตลาดแรงงานทั่วโลกดูจะเสียความสมดุลไป เพราะหลังจากที่หลายประเทศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ความต้องการจ้างงานก็เพิ่มขึ้นสูง เพราะนอกจากบริษัทและโรงงานหลายแห่งกลับมาเปิดแล้ว
กิจการและบริษัทเล็กๆ ก็เกิดใหม่มากมายด้วย แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนคนงานกลับมีน้อยลงเนื่องจากบางคนยังมีปัญหาด้านสุขภาพระยะยาวหลังติดโควิด แถมคนมากมายก็ลดชั่วโมงทำงานกันเพื่อจะได้มี work-life balance ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ในช่วงล็อกดาวน์ กันมากขึ้น
ซึ่งความต้องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นบวกกับจำนวนแรงงานที่ลดลง ก็ทำให้ตลาดแรงงานตึงตัว หมายความว่าบริษัทจะหาคนงานได้ยากขึ้นและต้องเพิ่มค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงาน ค่าแรงที่สูงขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้หลายประเทศเจอปัญหาเงินเฟ้อสูงในตอนนี้
ด้วยโครงสร้างตลาดแรงงานที่ดูเปลี่ยนไปหลังโควิด บางคนเริ่มสงสัยว่าตลาดแรงงานจะกลับมาเป็นปกติจริงๆ ได้ไหม ซึ่งในตอนนี้ก็เริ่มมีสัญญาณแล้วว่าตลาดแรงงานทั่วโลกเริ่มปรับตัวกลับสู่ความสมดุลมากขึ้น
อย่างในอังกฤษก็เริ่มมีวี่แววว่าความต้องการจ้างงานเริ่มชะลอลง เช่น ตำแหน่งงานว่างที่เริ่มลดลงมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 (แผนภูมิ 1)
หรืออัตราการว่างงานที่แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ 4.2% ในเดือนมิถุนายน 2565 นอกจากนี้ จำนวนแรงงานในประเทศก็น่าจะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะรายได้ที่ลดลงจากวิกฤติค่าครองชีพกำลังทำให้ผู้คนต้องเริ่มออกมาหางานทำแม้บางคนสุขภาพจะยังไม่ค่อยดี ในทำนองเดียวกัน
อัตราการจ้างงานของออสเตรเลียก็ลดลงเหลือ 64.3% ในเดือนกรกฎาคม จาก 64.5% ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในสามเดือนที่ 3.7% ในเดือนกรกฎาคม (แผนภูมิ 2)
ตัวเลขเหล่านี้กำลังส่งสัญญาณว่าจะมีจำนวนคนที่มองหางานใหม่ในตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งแปลว่าบริษัทต่างๆ ก็จะมีโอกาสจ้างพนักงานใหม่ได้ง่ายขึ้น ส่วนในสหรัฐฯ แม้ว่าจำนวนแรงงานที่มองหางานใหม่จะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นเยอะเมื่อดูจากจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงาน (Jobless Claims) ที่ยังคงลดลงอยู่
แต่ตัวเลขนี้ก็ค่อนข้างนิ่งมาได้ซักระยะในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปได้ว่ามันอาจจะไม่ลดลงไปมากกว่านี้เยอะ (แผนภูมิ 3)
นอกจากนี้ ผลสำรวจในเรื่องการจ้างงานจากดัชนี S&P Global PMI ก็ชี้ให้เห็นว่ามีความต้องการจ้างงานน้อยลง คือตัวเลขดัชนีในส่วนของการจ้างงานลดลงจาก 51.2 ในเดือนกรกฎาคม เหลือ 50.2 ในเดือนสิงหาคม จากการคาดการณ์ของ Capital Economics การว่าจ้างงานในสหรัฐฯ น่าจะลดลงเพิ่มเติมในไม่กี่เดือนข้างหน้าและอัตราการว่างงานก็น่าจะค่อยๆปรับตัวขึ้น นี่จะทำให้ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ คลายตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ สถานการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็น่าจะช่วยปรับสมดุลให้กับตลาดแรงงานในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือการที่หลายประเทศเริ่มออกนโยบายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน เช่น เยอรมนีที่เพิ่งเปิดโปรแกรม “chancenkarte”
ที่จะช่วยให้ชาวต่างชาตินอกยุโรปเข้ามาหางานในประเทศได้ง่ายขึ้น โดยชาวต่างชาติที่ผ่านเกณฑ์จะสามารถเดินทางเข้าประเทศเพื่อหางานได้เลย ต่างจากเดิมที่ต้องสมัครงานจากประเทศตัวเองและรอให้ได้งานจึงจะสามารถเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งทางรัฐบาลเยอรมนีคาดว่านโยบายนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานต่างชาติได้ราวๆ 60,000 คนต่อปี
นอกจากนี้ เทรนด์และเทคโนโลยีในปัจจุบันก็น่าจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคตได้ ยกตัวอย่างเช่น เทรนด์การทำงานออนไลน์ที่จะช่วยให้บริษัทมากมายจ้างคนงานจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น หรือ AI ที่จะเข้ามาช่วยลดความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ในบางส่วน
จากสถานการณ์เหล่านี้ แน่นอนว่าตลาดแรงงานจะค่อยๆ กลับมาสมดุลอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของตลาดแรงงาน เช่น ทักษะที่ผู้ว่าจ้างมองหา จำนวนแรงงานมนุษย์ หรือ วิธีการทำงาน อาจเปลี่ยนไปได้ในอนาคต
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา