28 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

การเฟื่องฟูของเศรษฐกิจเวียดนาม…ทางเลือกใหม่ของสหรัฐฯ

การที่ประธานาธิบดีไบเดนได้ไปเยือนเวียดนามเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดการพึ่งพาจีน ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าคือการพยายามสร้างความเชื่อมั่นระหว่างทั้งสองประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ พยายามจะหาพันธมิตรอื่นๆ ในเอเชียพื่อถ่วงดุลความตึงเครียดทางรัฐศาสตร์กับจีน และหวังจะพัฒนาเทคโนโลยีหลักๆ เช่น การผลิตชิป
บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง Apple และ Intel ก็ได้เริ่มกระจายอุปทานการผลิตขึ้น โดยขยายโรงงานในเวียดนามอย่างเต็มจำนวน และช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม
หากดูจากสถิติแล้วจะพบว่า ในปี 2022 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากเวียดนามคิดเป็นมูลค่ากว่า 127.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากในปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 101.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 79.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020
ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมา เวียดนามกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของสหรัฐฯ ขึ้นมาจากปีก่อนหน้าที่ยังอยู่อันดับที่ 10
📌 เมื่อการพึ่งพาซัพพลายเชนจากประเทศเดียวไม่เวิร์คอีกต่อไป
สหรัฐฯ มุ่งหวังที่จะย้ายห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศพันธมิตรใหม่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันธุรกิจจากความขัดแย้งทางรัฐศาสตร์ โดยมองว่าแทนที่จะไปพึ่งพาประเทศที่มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กันอยู่และไม่สามารถพึ่งพาไปได้ตลอด การกระจายกลุ่มซัพพลายเออร์อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
จากทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน บวกกับค่าแรงที่สูงขึ้น และสภาพการดำเนินงานที่ไม่แน่นอน ทำให้หลายๆ บริษัทต้องคิดทบทวนถึงปริมาณธุรกิจที่ทำกับจีน
ถึงแม้จีนจะยังถือว่าเป็นโรงงานของโลก แต่การแข่งขันสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2018 ความเสี่ยงนี้ทำให้ธุรกิจแทบทุกขนาดเลยเลือกย้ายการผลิตไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ เช่น เวียดนาม และอินเดีย เนื่องจากประโยชน์ทางภาษีที่ดีกว่า
ยิ่งหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เห็นความเปราะบางของการพึ่งพาซัพพลายเชนแหล่งเดียว หลายบริษัทก็เริ่มคิดกลยุทธ์ใหม่คือ China plus one ซึ่งหมายถึงการลดสัดส่วนการพึ่งพาจีนลง แล้วกระจายฐานการผลิตออกจากไปยังประเทศอื่นๆ
จากมุมมองทางอุตสาหกรรม ประเทศเวียดนามที่เริ่มเฟื่องฟูมาสักระยะหนึ่งก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากค่าแรงต่ำ และมีประชากรวัยหนุ่มสาวเยอะ ซึ่งเป็นฐานแรงงานและกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ ก็เลยดึงดูดให้หลายบริษัทสนใจหันมาลงทุนในเวียดนาม
อย่างไรก็ตามบริษัทที่คิดจะย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามตอนนี้อาจจะคิดช้าไปเสียแล้ว เนื่องจากในบางกรณีความต้องการผลิตสินค้าในเวียดนาม มีมากเกินกว่าซัพพลายการผลิตไปแล้ว เพราะเกือบทุกบริษัทก็มุ่งแต่จะย้ายไปเวียดนาม
📌 ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
สหรัฐฯ มองว่าเวียดนามมีศักยภาพที่จะสร้างซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ได้อย่างแข็งแกร่ง ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้กลายมาเป็นต้นตอปัญหาความตึงเครียดหลักๆ ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทั้งกรุงปักกิ่งและกรุงวอชิงตันต่างก็ขับเคี่ยวกันอย่างหนักเพื่อจะเพิ่มศักยภาพในภาคส่วนนี้ แต่ละฝ่ายพยายามจะออกกฎหมายเพื่อควบคุมการส่งออกโดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดกำลังการผลิตของอีกฝ่าย
ส่งผลให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์ที่เชื่อถือได้สำหรับการจัดหาชิป และเวียดนามก็คือประเทศนั้น
บริษัทผลิตชิปที่มีฐานการผลิตในแคลิฟอร์เนียอย่าง Intel ก็คงมองเห็นเช่นนั้นจึงได้ทุ่มเงินกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับโรงงานสาขาซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองโฮจิมินห์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นศูนย์ประกอบและทดสอบระบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้คาดว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ตามมาอีก ภายหลังจากที่วอชิงตันประกาศร่วมมือกับฮานอย ทำให้ความสำคัญของเวียดนามในซัพพลายเชนจะยิ่งทวีความเข้มข้น และจะยิ่งรวดเร็วขึ้นเมื่อเป็ยเรื่องของความร่วมมือในทางเทคโนโลยี
📌 การเติบโตอย่างรวดเร็วราวปาฏิหาริย์ของเวียดนามท่ามกลางความมืดมิดของเศรษกิจโลก
แม้ว่าทาง IMF คาดว่าปีนี้เวียดนามอาจจะโตช้าลงไปบ้างอยู่ที่ 5.8% จากที่ปีก่อนโตได้ 8% เนื่องจากปัญหาอุปสงค์สินค้าส่งออกของเวียดนามน้อยลง
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3% แล้ว ก็ถือว่าเป็นการเติบโตที่รวดเร็วแซงประเทศเศรษฐกิจหลักๆ อย่าง สหรัฐฯ จีน และประเทศกลุ่มยูโรโซนได้เลย
และเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ในเอเชียนั้นยังเติบโตได้อย่างน่าผิดหวังอยู่ เวียดนามจึงเป็นเหมือนดาวเด่นที่เติบโตเร็วที่สุด ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา
ความสนใจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้ชัดจากการที่ US-ASEAN Business Council ได้ขับเคลื่อนภารกิจทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในเวียดนาม โดยประกอบด้วยคณะผู้แทนจากบริษัทอเมริกัน 52 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix และ Boeing ด้วย
แน่นอนว่าบางบริษัทต่างๆ ก็อาจจะยังติดข้อจำกัดต่างๆ เช่น กฎระเบียบด้านเทคโนโลยีของเวียดนาม หรือบางบริษัทก็อาจจะยังคงกังวลถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังดูด้อยประสิทธิภาพอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจนานการค้ามายาวนานอย่างจีน เช่น ไม่มีท่าเรือสำหรับสินค้าเพื่อส่งออกอย่างเพียงพอและรวดเร็วตามที่บริษัทต้องการ และในเชิงการเมือง
แต่ถึงอย่างนั้น หลายบริษัทก็มองว่าเป็นทางเลือกที่คุ้มที่จะเสี่ยง เพราะข้อได้เปรียบของเวียดนามที่สำคัญคือต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับจีนอย่างเห็นได้ชัด
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา