Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
9 ต.ค. 2023 เวลา 01:50 • ไลฟ์สไตล์
มาร์กซิสต์คิดอย่างไรต่ออาการ Burnout?
ในแวดวงวิชาการ ภาวะ ‘หมดไฟในการทำงาน’ หรือ burnout มักถูกศึกษาโดยนักจิตวิทยาเป็นส่วนใหญ่ น้อยนักที่จะมีงานเขียนวิชาการที่พูดถึงเรื่องนี้จากมุมมองทฤษฎีทางสังคมแนววิพากษ์ โดยเฉพาะมุมมองแบบมาร์กซิสต์ แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่านักมาร์กซิสต์จะไม่สนใจเรื่องของสุขภาพจิตเสียเลย
มาถึงวันนี้มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นพ้องกันว่า ภาวะ burnout คือเรื่องทางจิตและสังคม (หรือเรียกว่า pyschosocial ก็ได้) ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจไม่น้อยว่าเราจะสามารถอธิบาย burnout อย่างไรผ่านมุมมองของทฤษฎีที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างทางสังคม-เศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมา และการทำเช่นนี้อาจนำเราไปสู่การอธิบายภาวะ burnout ที่แตกต่างออกไปจากชุดคำอธิบายที่เป็นที่นิยมในวงการจิตวิทยาและการแพทย์ไม่มากก็น้อย
บทความชิ้นนี้จึงขอชวนมองภาวะ burnout แบบมาร์กซิสต์ ผ่านการสรุปเนื้อหาสำคัญจากบทความของ โฮวาร์ด เจ. การ์เจอร์ (Howard J. Karger) ที่ชื่อว่า ‘Burnout as Alienation’ หรือ ‘burnout เสมือนภาวะแปลกแยก’ (1981) ซึ่งได้อธิบายถึงภาวะ burnout ในหมู่คนทำงานด้านสังคมไว้อย่างน่าสนใจ และเป็นหนึ่งในงานเขียนทางวิชาการสายมาร์กซิสต์ว่าด้วยเรื่อง burnout ที่มีอยู่เพียงแค่หยิบมือ
■
Burnout ต้องไม่ใช่เแค่เรื่องของปัจเจกบุคคล
งานชิ้นนี้ของการ์เจอร์ ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ (ถ้าไม่แรกสุด) ที่พูดถึง burnout ผ่านมุมมองแบบมาร์กซิสต์ โดยงานเขียนด้านวิชาการชิ้นแรกเกี่ยวกับ burnout ปรากฏออกมาในปี 1974 เท่านั้น นั่นก็คืองานของนักจิตวิเคราะห์นามว่า เฮอร์เบิร์ต ฟรูเดนเบอร์เกอร์ (Herbert Freudenberger) ชื่อว่า ‘Staff Burn-Out’
จุดต่างแรกในงานของการ์เจอร์ คือการที่เขาเปิดหัวบทความด้วยการโจมตีว่า งานเขียนเกี่ยวกับ burnout ที่ผ่านมามักมองว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคล มากกว่าจะเป็นเรื่องปัญหาของสังคมในวงกว้าง
การ์เจอร์มองว่า งานของนักจิตวิทยาอย่าง อยาลา เอ็ม. ไพนส์ (Ayala M. Pines) หรืองานของ คริสตินา มาสลัค (Christina Maslac) หรือแม้แต่งานของฟรูเดนเบอร์เกอร์เอง (ซึ่งล้วนนับว่าเป็นเบอร์ต้นๆ ของวงการ burnout ศึกษา) ไม่ได้มอบทฤษฎีที่ช่วยให้ทำความเข้าใจได้เลยว่าเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจมีส่วนสร้างให้เกิด burnout ได้อย่างไร
ดังนั้นข้อเสนอแนะของงานเหล่านี้จึงคับแคบและคาดเดาได้ง่าย กล่าวคือ เน้นการแก้ไขปัญหาที่ระดับตัวบุคคล หรืออย่างมากก็ในระดับองค์กร เช่น การรู้จักจัดการกับความเครียด การลดชั่วโมงการทำงาน การไปพักผ่อนนอกสถานที่ การพูดคุยและช่วยเหลือกันในองค์กร การทำให้งานไม่จำเจจนเกินไป การออกกำลังกาย โยคะ การหายใจเข้าลึกๆ เป็นต้น คำแนะนำมากมายเหล่านี้มักพุ่งเป้าไปที่การควบคุมตัวเองของคนทำงาน หรืออย่างมากก็ควบคุมบรรยากาศในการทำงาน มากกว่าการควบคุมการผลิตโดยคนทำงาน
ด้วยเหตุนี้ การ์เจอร์จึงนำเสนอแนวคิดที่ต่างออกไปโดยการหยิบใช้ความคิดแบบมาร์กซิสต์เรื่อง ‘alienation’ หรือ ‘ภาวะแปลกแยก’ ซึ่งเขามองว่าอธิบายภาวะ burnout ของคนทำงานโดยเฉพาะคนทำงานด้านสังคมได้ดี
■
Burnout = ภาวะแปลกแยก?
เดิมแล้ว ‘ภาวะแปลกแยก’ หรือ ‘alienation’ เป็นมโนทัศน์ที่ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ใช้อธิบายการที่แรงงานในโรงงานถูกทำให้แปลกแยกกับสิ่งของที่พวกเขาผลิต ทั้งแรงและผลผลิตจึงไม่ใช่ของพวกเขาอีกต่อไป แต่เป็นของนายทุน
เพื่อจะอธิบายว่า ‘ภาวะแปลกแยก’ ตามความคิดของมาร์กซ์คืออะไร ให้สอดคล้องกับบริบทของ burnout การ์เจอร์เลี่ยงภาษาทางทฤษฎีที่อาจซับซ้อนเกินไปและเลือกยืมคำบรรยายจากหนังสือเรื่อง Man Alone: Alienation in Modern Society (1962) ของ เอริก (Eric) และ มารี โจเซฟสัน (Mary Josephson)
กล่าวคือ งานที่เขา (คนทำงาน) ทำ กลายมาเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือตัวเขาเอง มันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเขา เขารู้สึกทุกข์ทรมานแทนที่จะมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำ ในที่ทำงาน เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอื่น ไม่ใช่ตัวเอง เขาไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ตามใจอยาก เขาและเพื่อนร่วมงานรู้สึกเป็นเพียงสิ่งของที่ไร้ความรู้สึก ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและเพื่อนร่วมงานก็ถูกกำหนดโดยระเบียบและเงื่อนไขของงาน
สำหรับการ์เจอร์ เมื่อใช้มโนทัศน์ของภาวะแปลกแยก จะพบว่า burnout มีต้นตอจากการที่ความสามารถและทักษะของคนทำงานถูกทำให้กลายเป็นแค่ปัจจัยการผลิต (means of production) และเป็นสินค้า ความสามารถของเขาถูกใช้ไปเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการผลิตและผลกำไร มากกว่าที่จะได้ทำในสิ่งที่ใจปรารถนา
และเมื่อใช้กรอบคิดแบบนี้มองภาวะ burnout ในหมู่คนทำงานด้านการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ครู หมอ พยาบาล หรือคนทำงานด้านสังคมอื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะ burnout มากกว่ากลุ่มอื่น การ์เจอร์ชี้ว่า ภาวะแปลกแยกอย่างที่เกิดขึ้นในโรงงานก็ยังมีอยู่เช่นเดิม เพราะระบบทุนนิยมพยายามทำให้งานด้านสังคมเหล่านี้เป็นเรื่องของตลาด
เช่น การดูแลเอาใจใส่คนไข้ของหมอและพยาบาล ซึ่งในทางรูปธรรมแล้วถูกทำให้เป็นการทำงานที่ต้องเป็นมืออาชีพ กล่าวคือ จะเอาใจไปใส่ในงานมากไม่ได้ เพราะคนไข้ก็คือลูกค้า ไม่ใช่ญาติพี่น้อง จะช่วยเขาได้ก็เท่าที่เงื่อนไขการทำงานและตลาดกำหนด หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ที่ถูกทำให้กลายเป็นแค่เรื่องของการซื้อขายสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ
ในระบบทุนนิยม การทำงานเพื่อสาธารณะถูกทำให้ไม่ต่างจากงานอื่นๆ ในตลาด กล่าวคือ พวกเขาถูกบีบให้รับใช้สาธารณะเพื่อผลประโยชน์และเงื่อนไขบางอย่างขององค์กร (ไม่ว่าจะเพื่อตอบสนองแหล่งทุนสนับสนุน หรืออื่นๆ) มากกว่าการรับใช้สาธารณะอย่างแท้จริง หรือถูกบีบให้ไม่สามารถสัมพันธ์กับสาธารณะ คนไข้ หรือนักเรียน แบบที่เราต้องการได้ แต่ต้องสัมพันธ์ตามเงื่อนไขของตลาดงานด้านสังคม
นักจิตวิทยาต่างๆ มักมองว่า การถอนใจออกจากงาน นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของ burnout แต่จากมุมของการ์เจอร์มองว่า เป็นเรื่องที่ถูกบังคับโดยระบบทุนนิยม เพราะแม้บางครั้งทุนนิยมจะเรียกร้องให้คนทำงาน ‘ใส่ใจ’ กับงานที่ทำ แต่ในทางรูปธรรมก็เพียงเรียกร้องให้คนทำงาน ‘ใส่แรง’ และ ‘ปรับใจ’ ให้ตรงกับเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนใจของคนทำงานจะต้องการอย่างไรนั้น ทุนนิยมไม่ได้แคร์
งานด้านสังคมมากมาย อาจนำเข้าเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ๆ โดยอ้างว่าเพื่อจะรับใช้ผู้คนได้ดีขึ้น แต่ในความจริงแล้วแฝงไปด้วยความต้องการที่จะควบคุมปริมาณและคุณภาพการผลิตและบริการให้ตรงตามเงื่อนไขทางการเงินและตลาด ไม่ได้ยึดโยงกับผู้คนอย่างที่อ้าง เป็นเพียงการยึดโยงกับการเงินขององค์กร
คนทำงานมากมายถูกเรียกร้องให้ต้องรู้ ‘know how’ เพิ่มขึ้น แต่กลับรู้ ‘know why’ น้อยลง ความหมายของงานที่เขาทำจึงเริ่มจางหาย และถูกทดแทนด้วยวิธีการและเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เสมือนว่าเราทำงานเพื่อทำงานเท่านั้น
การ์เจอร์เสนอต่ออีกว่า งานด้านสังคมมากมายได้ปรับตัวให้มีความเป็นระบบราชการมากขึ้น คนทำงานที่อยากทำเพื่อสังคมจริงๆ จำเป็นต้องทิ้งความตั้งใจส่วนตัวไว้ที่บ้าน เมื่อต้องเผชิญกับโครงสร้างองค์กรที่ไม่อนุญาตให้เขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการการตัดสินใจ และในแง่นี้เราอาจเสริมได้อีกว่า แม้กระทั่งองค์กรภาคประชาสังคมที่อาจมีความเป็นราชการน้อย หรือ ไม่มีเลย ก็ยังขาดอิสระการทำงานที่เป็นดั่งใจเพราะเงื่อนไขโครงสร้างแหล่งทุนที่อยู่นอกเหนือพวกเขาและปิดโอกาสให้คนทำงานไม่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่
■
ภาพฝันของคนทำงานและความเป็นจริงในระบบทุนนิยม
การ์เจอร์กล่าวโดยสรุปว่า ภาวะ burnout โดยเฉพาะในหมู่คนทำงานด้านสังคม คือ การที่คนทำงานแม้จะมีภาพฝันต่อการทำงานแบบหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความเป็นจริงในที่ทำงานได้ และนี่คือผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในงานด้านสังคมต้องค่อยๆ กลายเป็นกลไกหนึ่งในโลกของการผลิตเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้ของการ์เจอร์ ปิดท้ายด้วยถ้อยคำที่นักอ่านหลายท่านอาจต้องผิดหวัง เพราะการ์เจอร์ไม่ได้บอกว่าทำยังไงถึงจะหายจาก burnout เขาเพียงบอกว่าการมอง burnout จากมุมมองแบบปัจเจก ก็ย่อมนำไปสู่การคิดค้นวิธีแก้ที่เน้นตัวปัจเจก
แต่ถ้าหากมอง burnout แบบภาวะแปลกแยก การคิดค้นวิธีแก้ย่อมเน้นไปที่เงื่อนไขความเป็นจริงในที่ทำงาน ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ส่วนข้อสงสัยในบทสรุปที่ว่า หากจะกำจัด burnout สุดท้ายแล้วจะต้องโค่นล้มระบบทุนนิยมหรือไม่นั้น ผู้อ่านจะต้องกลับไปคิดเอง เพราะบทความของการ์เจอร์เพียงต้องการจะนำเสนอมุมวิเคราะห์ต่อ burnout ที่ต่างออกไปเท่านั้น
หากจะประเมินพอสังเขป อาจต้องกล่าวว่า จริงๆ แล้วการ์เจอร์ไม่ได้มอง burnout ต่างไปจากนักจิตวิทยาคนอื่นที่ศึกษาเรื่อง burnout เสียทั้งหมด เพราะสุดท้ายแล้วการ์เจอร์ก็ยังเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า burnout เกี่ยวข้องกับการที่คนทำงานสูญเสียคุณค่าบางอย่างไปจากการทำงาน
และยังเห็นด้วยกับองค์ประกอบของอาการ burnout เช่น ความเหลื่อยล้า ความหมดจิตหมดใจ หรือการมีคติในเชิงลบต่องาน ที่นักวิชาการด้าน burnout ก่อนหน้าเขาได้เสนอเอาไว้ แต่สิ่งที่ต่างออกไปในงานของการ์เจอร์ คือการมองไปยังต้นตอของสิ่งเหล่านี้ นั่นก็คือทุนนิยม ไม่ใช่ที่ทำงานหรือตัวปัจเจก
ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถตัดสินได้ด้วยตัวเองว่าจะนำแนวคิดแบบการ์เจอร์มาใช้ในการมอง burnout ที่ตัวเองหรือคนรอบข้างกำลังเผชิญได้มากน้อยแค่ไหน ผู้อ่านยังสามารถตั้งคำถามและวิพากษ์งานของการ์เจอร์ได้อีกด้วยว่า สุดท้ายแล้วคำอธิบายของการ์เจอร์พาเราไปสู่อะไรกันแน่ในทางปฏิบัติ
นักคิดหลายคนอาจบอกว่า การวิพากษ์ไม่จำเป็นต้องมีข้อเสนอในทางปฏิบัติเสมอไป เพราะแค่วิพากษ์ได้ตรงจุดก็มีประโยชน์แล้ว แต่นักคิดบางคนอย่าง เฮอร์เบิร์ต มาคูเซ (Herbert Marcuse) ก็อาจให้ข้อควรระวัง [อย่างที่เขาเคยได้พูดไว้ในรายการสัมภาษณ์ของ ไบรอัน มากี (Bryan Magee) ในปี 1978] ว่า ความคิดเกี่ยวกับ alienation หลังจากมาร์กซ์ เป็นมโนทัศน์ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางเกินไปและง่ายเกินไป “ไม่ใช่ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รักจะมีต้นตอมาจากทุนนิยม” มาคูเซยกตัวอย่าง
วงการการศึกษา burnout ยังต้องการความเห็นจากทฤษฎีแบบมาร์กซิสต์อีกมาก เพื่อต่อยอดการวิเคราะห์จากงานของการ์เจอร์ บทความชิ้นนี้หวังจะช่วยจุดประกายสิ่งนี้ได้
อ้างอิง:
●
Karger, H. J. (1981). Burnout as Alienation. Social Service Review, 55, 270-283.
2 บันทึก
2
1
2
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย