Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
9 ต.ค. 2023 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
Walking Tour 47 ปี 6 ตุลา: ณ จุดเกิดเหตุในประวัติศาสตร์ทมิฬมารที่ยังไม่ถูกชำระ
ดาวจักเรืองแจ่มหล้าเมื่อฟ้าหม่น
เดือนจะโรจน์อำพนเมื่อมืดหาว
เรื่องถ้อยร้อยกวีวะวับวาว
บันทึกคราวคับแค้นในแดนไตร
แม้ไม่มียุติธรรม์ในวันนี้
แต่ขอบฟ้ายังมีอรุณใหม่
ใครก่อเวรสร้างกรรมกระทำไว้
จักต้องรับชดใช้ชำระคืน
⎼ ไพบูลย์ วงษ์เทศ
กวีนิพนธ์แด่วีรชน 6 ตุลา ปรากฏอยู่บนหน้าแรกของแผ่นพับประกอบกิจกรรม ‘Walking Tour 6 ตุลา เหตุการณ์-เวลา-สถานที่’ ในวาระครบรอบ 47 ปี 6 ตุลา
ตามกำหนดการจะมีการพาเดินดูสถานที่เกิดเหตุ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 7 จุดด้วยกัน แต่เนื่องจากมีการปรับปรุงก่อสร้างในเขตมหาวิทยาลัยจึงลดเหลือ 5 จุด ได้แก่ 1) ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ 2) สนามฟุตบอล-ที่ตั้งเวทีชุมนุม-อาคารนิติศาสตร์ 3) อาคารวารสารศาสตร์ 4) สนามบอลฝั่งตึกโดม พร้อมกับพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดบริเวณอาคารพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ 5) ลานโพธิ์
ร่วมเดินดูสถานที่เกิดเหตุและบอกเล่าประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดย
• ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร (อดีตหน่วยรักษาความปลอดภัยในเหตุการณ์)
• ชูศิลป์ วนา (อดีตหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยในเหตุการณ์)
• จิว วีรวงศ์ (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ สมาชิกสังกัดพรรคยูงทอง)
• อาจารย์วรรณี นิยมไทย (อดีตหน่วยสวัสดิการหลังตึกวารสาร)
• ขวัญชัย จริยสินธุ์ (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ สมาชิกสังกัดพรรคยูงทอง เพื่อนสนิทจารุพงษ์ ทองสินธุ์)
• ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล (อดีตผู้ปราศรัยและพิธีกรในเหตุการณ์)
• ผู้ช่วยศาสตราจารย์เนตรนภา ขุมทอง (อดีตหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน)
• ประสิทธิ์ ตินารักษ์ (ผู้ปฏิบัติงานดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุม)
• อภินันท์ บัวหภักดี (อดีตนักแสดงแขวนคอ)
ท้องฟ้าสีสดคลายความกังวลของผู้เดินทางมาร่วมกิจกรรม ให้ได้ใจชื้นขึ้นมาว่ายังไม่ควรแก่เวลาที่สายฝนโปรยปรายลงมาเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมรำลึกนี้
เมื่อถึงเวลา 16.00 น. เสียงคล้ายเสียงปืนดังติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจากลำโพงใหญ่ ราวกับเป็นเครื่องย้อนเวลาไปในเหตุการณ์สุดโหดเหี้ยม เสียงแว่วจากผู้ร่วมเดินทางย้อนเวลาครั้งนี้พูดคุยกับคนที่มาด้วยกันว่า “วันนั้นฉันได้ยินเสียงนี้ แล้ววิ่งหัวซุกหัวซุนเลย” ทั้งหมดทั้งมวลส่งสัญญาณว่า walking tour เริ่มต้นขึ้นแล้ว มีผู้ดำเนินรายการตลอดกิจกรรมคือ ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร อดีตหน่วยรักษาความปลอดภัยในเหตุการณ์
■
หน้าหอประชุมใหญ่
เริ่มต้นกันที่หน้าหอประชุมใหญ่ เป็นจุดที่มวลชนกองกำลังฝ่ายขวา อาทิ กลุ่มนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน มารวมตัวกันตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ตำรวจเพียงเฝ้ามองการก่อความรุนแรงจากกลุ่มเหล่านี้ ทั้งการยิง พังรั้ว หรือกระทั่งการเผา ดำเนินไปตลอดค่ำแม้จะมีตำรวจอยู่ก็ตาม กระทั่งเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจกว่า 200 นาย เข้าปิดล้อมธรรมศาสตร์ มีการระดมยิงพร้อมกับการรุกคืบเข้ามาของกองกำลังในช่วงฟ้าสาง
“การยิงนี่เขายิงติดต่อกันนานมาก น่าจะ 20 นาทีได้ กระสุนที่ใช้น่าจะหลายร้อยนัด ผลสุดท้ายก็ตายกันเกือบหมด คนไม่ตายลุกขึ้นวิ่งก็ถูกเขายิงจนตายอีก สุดท้ายพอรถเมล์บุกเข้ามา ผมก็ตัดสินใจลุกขึ้นวิ่งเข้าไปตึกนิติฯ เพราะรถเมล์มันบังพอดี แต่พอรถเมล์บุกเข้ามา เขาก็บุกเข้ามาอีกหลายร้อยคน”
ชูศิลป์ วนา อดีตหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยในเหตุการณ์ 6 ตุลา บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณถนนหน้าหอประชุมใหญ่ พร้อมกับย้ำว่าในเวลานั้นทุกคนต่างพากัน ‘หนีตาย’
■
สนามฟุตบอล-ที่ตั้งเวทีชุมนุม-อาคารนิติศาสตร์
“ผู้มาร่วมกิจกรรมกับเราเมื่อปีที่แล้วบอกเล่าว่า เขาเห็นศพจารุพงษ์อยู่ตรงนั้น ตรงเชิงบันไดคณะนิติฯ” เสียงบอกเล่าถึงเรื่องราวของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่ตั้งใจกลับมาดูทีมการ์ดด้านหน้าหอประชุมใหญ่ด้วยความเป็นห่วง แต่กลับถูกกระสุนปืนเจาะร่างกายจนเสียชีวิตลงหน้าอาคารนิติศาสตร์ ก่อนจะถูกผ้าขาวม้ารัดคอและลากไปรอบสนามฟุตบอล
เวลาประมาณ 05.30 น. ของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผู้ชุมนุมถูกปิดล้อมโจมตีอย่างต่อเนื่องและรุนแรง เปิดฉากด้วยระเบิดเอ็ม 79 ที่ยิงถล่มลงกลางสนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากเสียชีวิตทันที ต่อมาผู้ชุมนุมต้องเสียชีวิตลงอีกจำนวนมากเช่นกัน เพราะถูกปิดทางเข้าออกทั้งหมด และตำรวจไม่ยอมให้ส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาล
■
อาคารวารสารศาสตร์
อาจารย์วรรณี นิยมไทย อดีตหน่วยสวัสดิการหลังอาคารวารสาร เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้นว่า ได้ยินเสียงระเบิดลงในช่วงเช้า มีการ์ดวิ่งมาที่หลังอาคารวารสารเพื่อแจ้งว่ามีเพื่อนเสียชีวิตที่หน้าหอประชุมใหญ่เป็นจำนวนมาก ให้เคลื่อนเข้ามาอยู่ภายในตัวอาคาร
“ในเวลานั้นตึกวารสารเต็มไปด้วยผู้คน ชั้น 3 ชั้น 4 คนเต็มหมดแล้ว ตัวเองขึ้นไปได้แค่ชั้นที่ 2 แต่ก็มีคนขึ้นมาบอกว่ามันมีการระดมยิงและคาดว่าอีกไม่นานจะบุกเข้ามาในมหาวิทยาลัยแล้ว จึงมีการเจาะกำแพงเป็นโพรงสำหรับให้คนหนึ่งคนรอดได้และหลบไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา และตอนหลังมารู้ว่าเราสามารถออกมาทันแค่คนที่อยู่ชั้นที่ 1 กับชั้นที่ 2 เท่านั้น เพื่อนๆ ของเราออกมาไม่ทัน”
อ.วรรณี ยังเน้นย้ำตอนท้ายว่า “มันมีความรู้สึกเสียอกเสียใจกับสิ่งที่เราทำ เราทำเพื่อส่วนรวมด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ในขณะที่เราถูกกระทำ มันก็ไม่รู้จะพูดยังไง”
ขณะที่ อ.วรรณี เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณอาคารวารสารจบลง รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ได้กล่าวเสริมขึ้นถึงกรณี วัชรี เพชรสุ่น หญิงสาวผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศในเช้าวันที่ 6 ตุลา ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเธอถูกข่มขืนจนเสียชีวิตจากรูปภาพที่เราเห็นเพียงด้านหน้า ความจริงจากการค้นข้อมูลผ่านไฟล์ชันสูตรพลิกศพ พบว่าเธอเสียชีวิตจากการถูกยิงเข้าด้านหลัง 3 นัด แต่กระสุนไม่ทะลุมาด้านหน้า ไม่มีเลือด ทำให้หลายปีที่ผ่านมาเราเข้าใจว่าการถูกยิงไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิต แต่เป็นการถูกข่มขืน
รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์
ทว่าความจริงนี้เป็นชิ้นส่วนที่เข้ามาต่อเติมความรู้สึกหดหู่ไม่ต่างไปจากเดิม เป็นเพราะความจริงชุดใหม่กำลังบอกว่า เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศและทารุณกรรมขณะที่นอนเป็นร่างไร้วิญญาณ ยิ่งไปกว่านั้นคือเธอนอนเสียชีวิตและถูกกระทำอย่างโหดร้ายอยู่กลางสนามฟุตบอลที่ขณะนั้นมีคนอยู่จำนวนมาก
■
สนามฟุตบอลฝั่งตึกโดม
“พี่ๆ ตำรวจครับ กรุณาหยุดยิงเถอะครับ ตัวแทนของเรากำลังเจรจากับรัฐบาลอยู่” ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวประโยคนี้ซ้ำอีกครั้งในปีที่ 47 แม้ว่าจะเล่าเหตุการณ์ไปแล้วกี่ครั้งหรือบอกเล่าผ่านตัวหนังสือไปแล้วกี่หน ก็ยังต้องหยิบยกประโยคนี้ขึ้นมาบอกเล่าทุกครั้งที่กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา
ในฐานะผู้นำนักศึกษาและผู้ปราศัยในช่วงเวลานั้น ไม่อาจทราบได้ว่ากล่าวข้อความวิงวอนจากตำรวจไปแล้วกี่ครั้ง สายตาของผู้ปราศรัยบนเวทีมองเห็นระเบิดลงกลางสนามฟุตบอลอย่างชัดเจน เห็นคนนอนท่ามกลางควันกับหมอกอย่างเลือนราง โดยไม่สามารถระบุได้ว่าใครเสียชีวิตไปแล้วและใครยังมีชีวิตอยู่ เห็นความพยายามของคนที่จะพังประตูอาคารคณะบัญชีฯ เข้าไปด้านใน และมองไปเห็นผู้คนล้มตายอยู่บริเวณถนนด้านหน้าหอประชุมใหญ่ กระทั่งเวลาล่วงเลยไปกว่าชั่วโมง หมดเสียง หมดแรง จึงตัดสินใจปิดเครื่องเสียง และวางไมค์ลง
■
อาคารคณะบัญชีฯ
อาคารเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กลายเป็นเป้านิ่งให้หน่วยปราบปรามทั้งหลายกระหน่ำยิงอย่างบ้าคลั่ง โดยบริเวณแทงค์น้ำใหญ่ด้านข้างคณะบัญชีฯ ได้ถูดจัดให้เป็น ‘จุดแพทย์เพื่อมวลชน’ ที่ยังคอยวิ่งฝ่าดงกระสุนช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่โดนยิงอยู่ในสนามฟุตบอล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เนตรนภา ขุมทอง อดีตหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน หนึ่งในผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บในวันนั้น เล่าเหตุการณ์กระหน่ำยิงขณะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กระสุนสาดซัดเข้ามาภายในอาคารจนการช่วยเหลือเป็นไปอย่างทุลักทุเล จากนั้นไม่นานตำรวจเข้ามาผลักดันให้ทุกคนออกไปรวมกันที่สนามฟุตบอล
ผศ.เนตรนภา เล่าต่อว่าเธอเป็นผู้หญิงกลุ่มแรกที่ถูกผลักดันให้เดินไปที่สนามฟุตบอล ซึ่งขณะนั้นถูกบังคับให้ถอดเสื้อ โดยอ้างว่ามีการพกอาวุธ ทั้งนี้มีการโต้เถียงกันเพื่อยืนยันว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ แต่ไม่เป็นผล
“ตอนนั้นเราก็เถียงกับเขา บอกเขาว่าเรามาชุมนุมมือเปล่า ไม่มีอาวุธ ทำไมจะต้องให้เรามาถอดเสื้อ เราเป็นผู้หญิงนะ เขาตอบกลับเรามาว่า ถ้าคุณไม่ถอดผมจะถอดเอง จนในที่สุดเราก็ต้องถอด และถูกบังคับให้ยกมือขึ้น ลองคิดสิเราต้องโชว์หน้าอกที่ถอดเสื้อและเดินลงไปในสนามหญ้า มันเจ็บปวดมาก เราร้องไห้ไม่หยุดอยู่ในสนามหญ้า”
ผศ.เนตรนภา บอกเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ เจือปนความเจ็บปวดที่อัดอั้นอยู่ในอก ตอกย้ำว่าระยะเวลา 47 ปี ความอัปยศครั้งนั้นยังคงทำหน้าที่เป็นอาวุธที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ถูกกระทำตลอดมา
■
ลานโพธิ์
จุดสุดท้ายบอกเล่าถึงการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา ทำให้ถูกสื่อฝ่ายขวาขณะนั้นปลุกปั่นจนกลายมาเป็นชนวนเหตุสำคัญที่สร้างความชอบธรรมในการบุกเข้าสังหารหมู่ผู้ชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิ่งที่ถูกบอกเล่าผ่านประสบการณ์ของ อภินันท์ บัวหภักดี ผู้แสดงละครแขวนคอที่ลานโพธิ์ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นวันที่นักศึกษาธรรมศาสตร์มีสอบปลายภาค แต่ก็มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยมารวมตัวกันที่ลานโพธิ์เพื่อฟังการอภิปรายขับไล่ทรราช จอมพลถนอม กิตติขจร ที่บวชเป็นสามเณรกลับเข้ามาในประเทศ
ในช่วงเที่ยงนักศึกษาได้จัดแสดงละครสะท้อนเหตุการณ์ช่างไฟฟ้า 2 คน ถูกฆ่าแขวนคอ ที่จังหวัดนครปฐม โดยอภินันท์เป็นคนที่จับพลัดจับผลูมาแสดงเป็นผู้ถูกแขวนคอ สลับกับวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ซึ่งในวันที่ 5 ตุลาคม ถัดมาเพียงหนึ่งวัน ภาพการแสดงละครแขวนคอโดยอภินันท์ ถูกหนังสือพิมพ์ดาวสยามเผยแพร่ว่าเป็นการ ‘หมิ่นพระบรมโอรสาธิราช’ เนื่องจากเอาบุคคลหน้าคล้ายมาแสดงละครแขวนคอ และเปิดฉากเข่นฆ่าผู้ชุมนุมในรุ่งเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับหยิบยื่นข้อหาหมิ่นเจ้า ดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับอภินันท์ บัวหภักดี
“พยานโจทก์ทุกคนไม่มีใครมีน้ำหนัก ไม่มีใครพูดเลยว่านักแสดงคนนี้หน้ามันเหมือน คนที่มีน้ำหนักที่สุดที่จะพูดได้คือนักข่าวที่มาถ่ายภาพผม ซึ่งดาวสยามบอกว่าคนนั้นเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ของเขา ถ่ายรูปเสร็จแล้วเขาก็เอากรักฟิล์มส่งโรงพิมพ์แล้วก็กลับบ้าน”
อภินันท์ บัวหภักดี
อภินันท์กล่าวพร้อมกับเน้นย้ำว่า ทั้งนักแสดง บทละคร ไม่มีอะไรที่เกี่ยวของกับเจ้าเลย ไม่มีอะไรเข้าเค้ากับการหมิ่นพระบรมฯ ชัดเจนเหลือเกินว่าเขาตั้งใจปั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เพื่อทำร้ายและทำลายขบวนการนักศึกษา
หลังจากการบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณลานโพธิ์จบลง มีการกล่าวสรุปให้เห็นถึงความร้ายแรงของมาตรา 112 ซึ่งเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะรัฐประหารของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เพิ่มโทษจากไม่เกิน 7 ปี เป็น 3-15 ปี โดยปัจจุบันยังมีผู้ต้องหาคดีทางการเมืองที่ต้องจำคุกด้วยมาตรา 112 สะท้อนการปิดกั้นเสรีภาพ การกลั่นแกล้งทางการเมืองที่แม้เวลาผ่านไปเกือบ 5 ทศวรรษก็ยังเกิดขึ้นเช่นเดิม
ช่วงท้ายของกิจกรรม Walking Tour ได้มีการยืนสงบนิ่งเพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรมในเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 อันก่อขึ้นโดยรัฐ พร้อมกับการเปล่งเสียงร้องเพลง ‘เพื่อมวลชน’ ของผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ก่อนกิจกรรมสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ที่เกิดการรัฐประหารหลังจากการสังหารหมู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างโหดเหี้ยม
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย