18 ต.ค. 2023 เวลา 03:00 • ท่องเที่ยว
โตเกียว

Nihon Ichodo Ep.2

วันนี้ก็เป็นการเดินทางวันที่ 2 ของปันกันแล้ว กับการเดินทางเที่ยวญี่ปุ่นในโครงการ Nihon Ichido 2023 แผนการเดินทางของเราในวันนี้ก็คือ จะไปเที่ยวที่นิกโก้ จังหวัดโทชิงิ ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ในจังหวัดโทชิงิ การเดินทางจะเป็นอย่างไรมาดูกันได้เลย
  • Day 2 (5 October 2023)
วันนี้ปันออกเช้ามาก ประมาณ 6 โมง 50 เพราะได้นัดคณะทัวร์ไว้ว่าจะเดินทางไปนิกโก้ ตอนเวลานี้ สำหรับเส้นทางการเดินทางของปัน ที่จะไปนิกโก้ คือการนั่งรถสายโทบุนิกโก้ (東武日光線) จากสถานีคิตะเซ็นจู (北先住駅) ไปต่อขบวนที่สถานี มินามิคูริฮาชิ (南栗橋駅) จังหวัดไซตามะ แล้วจากนั้นก็ยิ่งยาวไปจนถึงสถานี โทบุนิกโก้เลย (東武日光駅) ใช้ระยะเวลาในการเดินทางทั้งหมด ประมาณ 3 ชั่วโมง ราคาตั๋วทั้งหมด 1,400 เยน (~350 บาท) ต่อคน/ต่อขา
เส้นทางการเดินทางไปนิกโก้
คณะทัวร์ของปันมาถึงสถานีคิตะซินจู ประมาณ 7 โมง 20 โดยนั่งรถไฟสายฮิบิยะ มาที่สถานีคิตะเซ็นจูนี้ ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อที่จะนั่งรถไฟออกนอกเมืองไปที่นิกโก้ เมื่อออกจากระบบแล้ว ปันก็จะไปซื้อตั๋วที่จะไปนิกโก้ต่างหาก ถึงตรงนี้เดี๋ยวปันจะสอนวิธีการซื้อตั๋วรถไฟในญี่ปุ่นให้แล้วกันนะ
วิธีการซื้อตั๋วรถไฟญี่ปุ่นผ่านตู้
  • 1.
    เลือกภาษาที่เราต้องการ (หลายสายมีภาษาไทยให้เลือกด้วยนะ)
  • 2.
    กด “ซื้อตั๋ว/Buy Ticket”
  • 3.
    เลือกราคาของสถานีที่เราจะลง โดยเราดูราคาได้จากป้ายตารางรถไฟเหนือหัวได้
  • 4.
    กดเลือกราคาของสถานีปลายทางที่เราจะลง
  • 5.
    เลือกจำนวนคน โดยกดปุ่มด้านซ้ายของตู้
  • 6.
    ใส่เงินตามจำนวนที่กำหนด
  • 7.
    เสร็จสิ้น
เมื่อเสร็จแล้วเราจะได้ตั๋วออกมา ตั๋วของรถไฟในญี่ปุ่นจะเป็นกระดาษแผ่นเล็ก ขนาดเท่าฝ่ามือตามภาพที่แปะไว้ข้างล่างนี้เลย ให้ตั๋วจะบอกหมดทั้งวันที่/เวลาที่ซื้อ สถานีที่ซื้อ สายของรถไฟที่เรานั่ง ฯลฯ
เราต้องเก็บไว้ให้ดี เพราะใบนี้มันหล่นและปลิวง่ายมาก และคณะทัวร์ก็เคยทำหายมาแล้วครั้งหนึ่ง ติดต่อเจ้าหน้าที่สถานีค่อนข้างยากด้วยนะ เพราะเราจะต้องออกไปซื้อหน้าสถานีใหม่ แล้วยิ่งถ้าเจ้าหน้าที่ ภาษาอังกฤษไม่ค่อยดี ก็ยิ่งจะสื่อสารยากไปกันใหญ่ เค้าก็อาจจะไม่อนุญาตให้เราออกไปซื้อใหม่ก็ได้ เพราะฉะนั้นระวังให้ดีเลย “สำคัญมาก!!”
ตั๋วรถไฟของญี่ปุ่น
หลังจากที่ซื้อตั๋วเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการดูตารางรถไฟที่จะมาถึง โดยเราสามารถดูได้จากป้ายตารางกำหนดการเดินรถที่อยู่เหนือหัวเรา ก็จะบอกหมด ทั้งเวลาที่รถเคลื่อนตัว (รถไฟญี่ปุ่นออกตรงเวลามาก) ขบวนรถ ปลายทางที่จะไป แล้วก็จำนวนตู้ของขบวนนั้นๆ แต่ไม่ได้บอกชานชลาที่ขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วต้องเผื่อเวลาหาชานชลาไว้ด้วย กันตกรถ
ป้ายตารางกำหนดการเดินรถ
ก่อนการเดินทางขึ้นรถ ปันขอไปกดเงินที่ตู้ ATM เซเว่นใกล้สถานี ซึ่งเราสามารถใช้บัตร Travel Cards ทำธุรกรรมทางการเงินได้เลย โดยวิธีการกดก็มี
  • 1.
    สอดบัตรเข้าไป
  • 2.
    เลือกภาษา (ตู้เซเว่นทุกตู้รองรับภาษาไทยทั้งหมด กดที่ภาษาไทยได้เลย)
  • 3.
    กด “ถอนเงิน”
  • 4.
    บอกรายละเอียดของค่าธรรมเนียม
  • 5.
    เลือกประเภทบัญชีของเรา
  • 6.
    ใส่รหัส PIN
  • 7.
    เลือกจำนวนเงินมีตั้งแต่ 10,000 เยน (1,000¥ 10ใบ) ไปจนถึง 100,000 เยน
  • 8.
    เลือกจำนวนเงินที่ต้องการ กดยืนยัน แล้วรอรับเงิน
  • 9.
    เสร็จสิ้น
จากนั้นก็เตรียมตัวขึ้นรถไปที่นิกโก้กันได้ โดยต่อแรกปันนั่งรถไปที่สถานีมินามิคูริฮาชิ ประมาณ 1 ชั่วโมง รถออกตรงเวลาตอน 8 โมง 3 นาที เคลื่อนที่ชานชลาห้าที่อยู่ชั้นล่างสุด นี่เกือบตกแล้ว ดังนั้นอย่างที่บอก ต้องเผื่อเวลาดูชานชลาให้ดีเลย จะได้ไม่ตกรถ บรรยากาศข้างทางของรถขบวนนี้ หลังจากที่ออกมาจากสถานีคิตะเซ็นจู ก็จะยังมีความเป็นชานเมืองโตเกียว เห็นเป็นตึก อพาร์ทเม้นท์ ตรอกซอกซอยที่มีบ้านเยอะๆ เมื่อมองจากที่สูงของรถไฟยกระดับ ก็จะมองเห็นเหมือนเป็นหลักลักษณะของตัวโมเดลเมืองเลย
แล้ววันนี้คือโชคดีมากที่ว่า ปันได้เห็นภูเขาที่น่าจะเป็นภูเขาไฟฟูจิจากที่นี่เลย เพราะวันนี้อากาศค่อนข้างเปิด แต่ไม่ถึงกับท้องฟ้าแจ่มใสมากนัก แต่ถ้ามองจากรูปทรงของภูเขาแล้ว ก็คิดว่าน่าจะเป็นภูเขาไฟฟูจิอย่างแน่นอน
แล้วตรงยอดเหมือนมีลักษณะคล้ายหิมะปกคลุมแล้ว ตามข่าวบอกว่าปีนี้ ยอดเขาฟูจิมีหิมะแรกปกคลุมแล้วในต้นเดือนตุลา ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วกว่าในทุกปี เพราะโดยปกติแล้วที่ยอดฟูจิ จะมีหิมะแรกปกคลุมตอนประมาณปลายเดือนตุลา
ภูเขาไฟฟูจิจากชานเมืองโตเกียว
ปันได้ผ่านสถานีคาซึคาเบะ จังหวัดไซตามะ ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนชินจัง ก็จะรู้ว่าเมืองเมืองคาซึคาเบะ คือเมืองบ้านเกิดของชินจัง ดังนั้น ในตัวเมืองคาซึคาเบะก็มีการตกแต่งป้าย เป็นตรีมของชินจัง ซึ่งปันก็ได้ถ่ายรูปเป็นบิลบอร์ดโรงแรม เป็นรูปชินจังกับหมาชิโร่ และห้างอิโตโยคาโดะ ที่ในเรื่องชินจังชื่อว่า “ซาโตะ โคโคโนะคาโดะ”
ใครที่เป็นแฟนอนิเมะชินจังก็อย่าพลาดที่จะแวะเมืองนี้ก่อนไปนิกโก้ได้นะ เป็นเมืองทางผ่านที่ปันแนะนำเลย
เมืองคาซึคาเบะ ไซตามะ
หลังจากนั้นไม่นานเราก็มาถึงที่สถานีมินามิคูริฮาชิ เพื่อต่อรถไปที่นิกโก้ โดยครั้งนี้จะต่อยาวไปจนถึงสถานีชิโมะ อิไมจิ ในตัวเมืองนิกโก้ ประมาณ 20 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 10 นาที เมื่อเข้าเขตจังหวัดโทชิงิแล้ว ภูมิประเทศข้างทางก็เปลี่ยนไป เป็นเทือกเขา เนื่องจากเส้นทางรถไฟที่วิ่งผ่านเป็นเส้นทางของเทือกเขาอาชิโอะ (足尾山) ภูมิประเทศก็จะดูสวยงามตามสไตล์ของชนบทริมเขา แล้วช่วงที่ไปฝนก็ตกด้วย ก็เลยเห็นเป็นทะเลหมอก
ภูเขาอาชิโอะ ในจังหวัดโทชิงิ
เรามาถึงสถานีชิโมะ อิไมจิแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่ปลายทางของเรา เราจะต้องนั่งรถไปอีกต่อ 10 นาทีจากตรงนี้ เพื่อไปถึงสถานีโทบุนิกโก้
ยินดีต้อนรับสู่นิกโก้
คณะทัวร์มาถึงสถานีโทบุนิกโก้ประมาณเกือบ 11 โมง จากนั้นก็ออกจากระบบของรถไฟฟ้า เราแวะทำธุระส่วนตัวภายในตัวสถานีก่อนออกเดินทางเที่ยวตัวนิกโก้ ประมาณ 20 นาที ตรงประตูทางเข้าสถานี จะเป็นจอตารางการเดินทางของบัสที่ไปสถานที่ท่องเที่ยวในนิกโก้ ซึ่งมี 2 สถานที่ยอดนิยม คือ สะพานชินเคียว (สะพานแว่นตา) และทะเลสาบจูเซ็นจิ (中禅寺) โดยจะใช้ระยะเวลา 5 นาที และ 45 นาทีตามลำดับ
ที่ด้านข้างของประตูก็จะมีจอเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในนิกโก้ ที่นอกจากสะพานแว่นตา, ศาลเจ้าโทโชกุ, ทะเลสาบจูเซ็นจิ และที่มีโหมดภาษาไทยด้วย และด้านล่างของจอก็จะเป็นที่วาง โบชัวร์ เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในนิกโก้ แล้วก็มีภาษาไทยด้วยเช่นกัน
การเดินทางมาที่นิกโก้ครั้งนี้ ก็เป็นครั้งที่ 3 ของปันที่มา คือทุกครั้งที่เที่ยวญี่ปุ่น ก็จะมาที่นี่ทุกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ปั่นจะเลือกไว้ 2 ที่ เริ่มจากทะเลสาบจูเซ็นจิก่อน แล้วก็ศาลเจ้าโทโชกุ+สะพานแว่นตา คราวนี้ปันจาเที่ยวให้เต็มที่ เพราะคราวที่แล้ว (2019) เที่ยวได้แค่ศาลเจ้าโทโชกุทีเดียว เพราะคราวที่แล้วมาถึงที่นี่ก็ช่วงบ่ายแล้ว
หลังจากออกจากสถานีเราก็มากินราเมง/อุด้งเจ้าประจำ หน้าสถานีสถานี ชื่อร้านว่า อาซึมะ (あずま) ร้านนี้คืออร่อยตรงเส้นแล้วก็น้ำซุป แนะนำเลยถ้าใครจะมาก็มากันได้ รอบนี้ปันสั่งเป็นเมนูอุด้งโมจิ ราคา 900 เยน (~220 บาท) แล้วก็รอไม่นานก็ได้กินแล้ว
จากนั้นก็ต่อกันที่ร้านไอติมซอฟต์ครีม ชื่อร้านซูงิ อยู่ข้างร้านราเมง ร้านนี้มีซอฟต์ครีมอร่อย มีทั้งแบบถ้วย แบบโคน แล้วก็มีให้เลือกท็อปปิ้ง เลือกได้ตามใจชอบ ในราคาเริ่มต้น 400-600 เยน (100-150 บาท) ของปันสั่งเป็นซอฟต์ครีมน้ำผึ้ง ราคา 400 เยน รสชาติคือหวานละมุนลิ้น
พิกัดสถานีรถไฟ, ร้านราเม็ง, ร้านไอติม :
ก่อนออกเดินทางไปทะเลสาบ ปันก็ขอถ่ายรูปที่หน้าสถานีโทบุนิกโก้ ตัวโครงสร้างของสถานีเป็นไม้กึ่งปูน ดูมีความเป็นธรรมชาติดีเหมาะกับบรรยากาศเมืองที่มีความร่มรื่นสงบ ในบรรยากาศของตัวเมืองมรดกโลกแห่งนี้
สถานีโทบุนิกโก้
หลังจากนั้นเราก็ได้ขึ้นรถบัส เพื่อที่จะไปทะเลทะเลสาบจูเซ็นจิกัน ค่ารถตกคนละ 1,250 เยน (~310 บาท) ไป-กลับก็ 2,500 เยน (~625 บาท) อัตรานี้คือกรณีที่ขึ้นรถที่หน้าสถานี ไปยังทะเลสาบ
คณะทัวร์ของปันขึ้นรถตอน 12:20 โดยการจ่ายค่าโดยสาร เราจะจ่ายตอนลง บอกเขาว่า เราขึ้นจากที่ไหน หากใครที่มี IC Card (SUICA) สามารถแตะขึ้นและแตะลงได้เลย เงินก็จะตัดตอนลงเช่นกันนะ
บรรยากาศข้างทาง ก็จะผ่านตัวสะพานแว่นตาและศาลเจ้าโทโชกุ ขึ้นเหนือไปทางทะเลสาบ และหลังจากนั้นจะเจอกับธรรมชาติ ป่าเขาสวยงามร่มรื่นของนิกโก้ โดยจะใช้ระยะเวลาจากตรงนี้ประมาณ 40 นาที
บรรยากาศตัวเมืองนิกโก้
ก่อนถึงตัวทะเลสาบเราจะผ่านโค้งที่เป็น โค้งอันตราย และชันมาก โค้งนี้มีชื่อว่า โค้งอิโรฮะซะกะ (いろは坂) บอกเลยว่า โค้ง Genting Highland ที่มาเลเซีย ที่ปันเคยรีวิวเอาไว้ ดูเด็กไปเลย เก็นติ้งว่าเยอะแล้วคดแล้ว ที่นี่ทั้งเยอะ หักศอก และก็อันตรายมาก
เพราะระยะทางประมาณแค่ 10 กิโลเมตร แต่ต้องผ่านโค้งและเขาที่ค่อนข้างคดเคี้ยวและอันตรายสุดๆ โดยโค้งอิโรฮะ จะมี 2 ทาง ก็คือขาขึ้น กับ ขาลง ขาขึ้นมีประมาณ 20 โค้ง และขากลับอีก 27 โค้ง รวมทั้งสิ้น 47 โค้ง โดยแต่ละโค้งจะเป็นโค้งหักศอก ทั้งขาขึ้นขาล่อง
โดยรอบนี้จะมาพูดถึงโค้งขาขึ้นก่อน ในช่วงแรกจะยังไม่หักศอกและยังไม่ถี่มาก แต่หลังจากนั้นแล้วก็จะเรียกได้ว่า โค้งแล้วโค้งอีก ในจุดที่ชื่อว่า “คุโระคามิไดระ” ที่เป็นโค้งตวัดทั้งสิ้น 12 โค้ง ภายในระยะทางแค่ 2.3 กิโลเมตร และหลับจากนั้นก็จะเจอโค้งเล็กคงน้อยอีก จนถึงสถานีสถานีโรปเวย์อาเคจิไดระ หลังจากนั้นเป็นอุโมงค์ทอดตัวยาว ไปจนเกือบถึงแยกฟุตาระบาชิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนริมทะเลสาบจูเซ็นจิ
เทือกเขาอชิโระ ในโค้งอิโรฮะซะกะ
ถึงแม้ว่าระหว่างทางจะดูอันตราย แต่ถ้าหากแวะจุดที่ถ่ายรูปได้ บอกเลยว่ารูปที่ออกมาสวยมาก และถ้าหากมาในช่วงปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า ก็จะสวยมากกว่านี้เพราะว่าเป็นช่วงพีคของฤดูใบไม้เปลี่ยนสี
ลืมบอกไปว่าระหว่างจุดหักโค้งแต่ละโค้งนั้นก็จะมี ป้ายเขียนเอาไว้ด้วย ที่จะสุ่มออกมา ตามจำนวนโค้งที่เจอ อย่างเช่นขามาเจอ 20 โค้ง ก็จะมีทั้งหมด 20 ป้าย แต่ละป้ายจะเป็นป้ายคล้ายกับคำศัพท์ของญี่ปุ่น เช่น ตัวมิ (み) ก็จะเป็นรูปผลส้ม 🍊 (ภาษาญี่ปุ่นคือ みかん) เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่มีป้ายเป็นแบบนั้นก็คิดว่าน่าจะเป็นการติดเพื่อแก้ง่วง แก้เมาเมารถระหว่างทางละมั้งนะ
เมื่อรถเดินทางมาถึงทะเลสาบจูเซ็นจิแล้ว สิ่งแรกที่สัมผัสได้เลยคือ อากาศที่นี่หนาวมาก ตอนที่เดินทางมาถึง วัดอุณหภูมิแล้วอยู่ที่ 13-14 องศาเซลเซียส (จากตอนที่อยู่ข้างล่างประมาณ 20-21 องศา) และลมก็แรงด้วย ฮู้ดที่ปันใส่คือจะต้องเอามาคลุมหัวเลยอ่ะ ไม่งั้นคือผมยุ่งหมด
บรรยากาศโดยรอบ ก็คือธรรมชาติล้วนๆ ร้านข้างทางก็ตกแต่งเป็นแบบชุมชนเล็กๆ สไตล์ญี่ปุ่น โดยเบื้องหลังก็คือภูเขาไฟนันไต (男体山) ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ยังคุกกรุ่นอยู่ เป็นภูเขาไฟเพียงลูกเดียวของตัวนิกโก้ ด้วยความสูง 2,484 เมตร นับจากระดับน้ำทะเล เชื่อว่าการเกิดทะเลทะเลสาบจูเซ็นจิ ก็คงเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟนันไตนี่แหละ
ภูเขาไฟนันไต
พิกัดทะเลสาบจูเซ็นจิ :
จากนั้นเราก็เดินมาที่จุดชมวิว น้ำตกเคกอง ซึ่งเป็นน้ำตกที่ สำคัญที่สุดของนิกโก้ ซึ่งไหลมาจากทะเลสาบจูเซ็นจิ แล้วก็ไหลลงหน้าผาความสูง 97 เมตร
น้ำตกเคกอง
ช่วงที่ที่ปันมาเนี่ย ความที่ต้นเดือนตุลา มันเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มเป็นฤดูใบไม้เปลี่ยนสี แต่ยังไม่ใช่จุดพีค เพราะ อย่างที่บอกไปว่า จุดพีคของฤดูใบไม้เปลี่ยนสี สีต้นไม้ปกคลุมไปด้วยสีเหลือง-น้ำตาล-แดง คือช่วงปลายเดือนตุลาถึงเดือนพฤศจิกา ดังนั้นต้นไม้ที่ปันเห็นส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นสีเขียวอยู่ แต่ก็จะมีบางส่วนที่เริ่มทยอยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล-สีแดงบ้างแล้ว อย่างเช่นต้นเมเปิ้ลในภาพ
จากนั้นก็แวะร้าน レストラン日光 เป็นร้านกาแฟ และก็ของฝากของนิกโก้ ตั้งอยู่หน้าทางเข้าไปชมน้ำตกเคกอง คณะทัวร์ของปันมาแวะพักทานไอติม & ชาที่นี่ ก่อนที่จะเดินทางลงไปที่ศาลเจ้าโทโชกุ เจ้าของร้านพอพูดไทยได้ด้วยนะ แปลว่าคนไทยน่าจะมาเที่ยวนิกโก้เยอะมากๆ ขนาดแนะนำที่เที่ยวหน้าสถานี ยังมีภาษาไทยเลยอ่ะ 😚
ปันสั่งเป็นซอฟต์ครีมวานิลา 400 เยน แล้วก็เสิร์ฟมาพร้อมชาร้อน แต่ไม่ใช่ชาเขียวนะ เป็นเหมือนชาโบราณ เหมือนชาจีนอย่างงั้นแหละ
ร้าน レストラン日光
จากนั้นก็จะเดินทางกลับไปที่เมืองนิกโก้ ไปศาลเจ้าโทโชกุกัน โดยขากลับเราจะขึ้นรถบัส ไปลงที่ป้าย นิชิซันโดะ อิริงุจิ ราคาตั๋ว 1,150 เยน (~290 บาท) ขากลับถูกกว่า เพราะเราลงกลางทาง ประมาณ 17 ป้าย แต่ตอนขามาเราลง 26 ป้าย คือตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง ดังนั้นขากลับก็เลยถูกกว่าตอนขามา
ตั๋วรถบัสขากลับ
ตอนขามา เราขึ้นได้เลย แต่ขากลับต้องซื้อตั๋ว เพราะว่ามันมีตู้ขาย และเหมือนว่าจะต้องมีตั๋วด้วยนะ เพราะพนักงานตอนขากลับจะขอดูก่อนขึ้นมา และตั๋วใบนี้เราจะต้องเก็บไว้ให้ดี เพราะเมื่อถึงปลายทางแล้ว พนักงานก็จะฉีกตั๋วเราทิ้ง
ก่อนกลับปันก็ได้ถ่ายรูปหมู่กับคณะทัวร์ ที่หน้าป้ายศูนย์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งนิกโก้ ก่อนจะเดินทางกลับ อากาศในตอนนี้ถือว่าเย็นกว่าตอนมามาก เพราะอุณหภูมิตอนนี้อยู่ที่ 12 องศาเซลเซียส แล้วก็ลมแรงกว่าเดิม ดังนั้นก็เลยเดินขาสับขึ้นรถไปเลย
ขากลับก็ต้องลงผ่านโค้งอันตรายอิโรฮะซากะ ขาลง ผ่านโค้งทั้งหมด 27 โค้ง แต่ละโค้ง ก็เหมือนกับขามา คือเป็นโครงหักศอกและเป็นโค้งที่วิ่งตามหน้าผา รูปที่ถ่ายออกมาได้ก็คือสวยงามตามภาพ แต่ขณะเดียวกันก็น่ากลัวพอสมควร
โค้งอิโรฮะซากะ ขาลง
นี่ถ้าเดินทางมาช่วงพีคนะต้นไม้ทั้งหมดก็จะเป็นสีเหลืองทองทั้งหมดเลยมันจะเป็นภาพที่สวยงามกว่านี้มากเลย แล้วโค้งขาลงเนี่ย ก็จะเห็นเป็นผืนป่าทั้งหมดเลย
หลังจากออกจากโค้งอิโรฮะซากะแล้ว ก็ได้นั่งมองวิวข้างทางเรื่อยๆ จนใกล้จะถึงจุดที่ลงไปศาลเจ้าโทโชกุ เกิด Event เล็กน้อย คือปันเกือบทำตั๋วหาย แต่โชคดีที่ลูกทัวร์เก็บมาได้ เลยรอดไป ไม่งั้นเสียอีก 1150 เยนแน่ อย่างที่ปันบอกไปตอนต้นแหละว่า ได้ตั๋วมาแล้ว เก็บไว้เลย จะได้ไม่ต้องมารุ่นระทึกแบบนี้😌
นั้นเดินมาอีก 800 เมตร จากจุดลงรถไปที่ศาลเจ้า ระหว่างทาง บริเวณรอบศาลเจ้ามีต้นไม้สูงใหญ่มาก ตรงทางเดินเข้าศาลเจ้าโทโชกุ ฝั่งศาลฟุตาระซัน
มาถึงโซนที่เป็นศาลฟุตะระซัน ปันก็ได้ขึ้นไปไหว้ขอพรสักหน่อย ซึ่งที่ญี่ปุ่นจะมีวิธีการขอพรแตกต่างจากบ้านเรา หรือต่างจากแบบจีน แบบที่เคยรีวิวตอนวัดเทียนโหว ที่ KL นะ
วิธีการขอพรแบบญี่ปุ่นมีดังนี้
  • 1.
    ชำระร่างกาย โดยการตักน้ำมาบ้วนปาก-ตักล้างมือล้างเท้า
  • 2.
    โยนเหรียญเยนใส่เข้าไปในกล่องไม้
  • 3.
    หากมีกระดิ่งตรงหน้าก็สั่นกระดิ่งด้วย ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการเรียกพระเจ้าให้รับมาพร
  • 4.
    โค้งคำนับ 2 ครั้ง
  • 5.
    แล้วก็ตบมืออีก 2 ครั้ง แล้วก็พนมมือไหว้ขอพรได้เลย
  • 6.
    หลังไหว้เสร็จหากออกจากศาลแล้ว ก็ทำการโค้งคำนับอีกครั้ง ตรงเสาโทริอิหน้าศาลเจ้า
ซึ่งศาลเจ้าที่ไปขอพร ก็ไม่มีกระดิ่ง ดังนั้นหลังจากโยนเหรียญแล้ว ก็ข้ามขั้นตอนการสั่นกระดิ่ง ไปเป็นโค้ง-ตบมือไหว้ได้เลยนะ กระดิ่งเรียกพระเจ้ามันมีแล้วแต่บางที่อ่ะ บางที่มี บางที่ไม่มี
เสาโทริอิหน้าทางเข้าศาลเจ้าฟุตะระซัน
จากนั้นเราก็เดินไปทางทิศตะวันออก ไปที่ศาลเจ้าโทโชกุ ซึ่งเป็นศาลเจ้าใหญ่ของที่นิกโก้ แต่เราไม่ได้เดินเข้าไปข้างในนะ เพราะตอนนั้นก็กำลังเตรียมตัวจะกลับแล้ว เลยเดินอยู่ตรงโซนนอก ไปถ่ายรูปตรงเจดีย์ห้าชั้น โกะจุนโนะโตะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจดีย์สัญลักษณ์ของศาลเจ้าโทโชกุ ถ่ายเช็คอินไว้เพื่อให้รู้ว่าเรามาที่นี่แล้วนั่นแหละ 👍🏻
เจดีย์โกะจุนโนะโตะ
ศาลเจ้าโทโชกุสร้างขึ้นมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับ โทกุงาวะ อิเอะยาซุ ซึ่งเป็นโชกุนคนแรกของตระกูลโทกุงาวะ ในช่วงสมัยเอโดะ ปัจจุบันนี้ศาลเจ้าแห่งนี้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของนิกโก้
อีกไฮไลท์ของศาลเจ้าโทโชกุ คือทางเดินที่เป็นหินกรวดยาวตรงนี้ ซึ่งจะถ่ายรูปออกมาได้สวยมากเลย เป็นอีกจุดหนึ่งที่แนะนำในการถ่ายรูป ทางเดินเป็นหินกรวด ขนาบข้างด้วยต้นไม้สูงใหญ่
แล้วช่วงต้นชั่วโมง ก็จะมีการตีระฆังยักษ์ด้วยนะ ที่รูเพราะว่านี่เดินผ่านช่วง 4 โมงตรง ก็มีเจ้าหน้าที่มาตีระฆัง
จากนั้นแล้วเราก็เดินลงไปข้างล่าง เพื่อที่จะไปที่สถานีรถไฟกลับโตเกียว ซึ่งรอบนี้เราใช้วิธีการเดินเท้าไป ใช้เวลาไม่นานมากประมาณครึ่งชั่วโมง แต่อยู่ข้างทางก็คือหลักล้านเลย มีทั้งต้นไม้น้อยใหญ่ ทางเดินชมป่าชมเขา และที่สำคัญคือ ได้แวะถ่ายรูปที่สะพานแว่นตาด้วย
สะพานแว่นตา
พิกัดศาลเจ้าโทโชกุ :
บรรยากาศของตัวเมืองคือ เงียบสงบมาก ร้านรวมต่างๆ ปิดทำการเยอะมาก ก็งงอยู่เหมือนกันนะว่า ปิดอะไรเยอะแยะ ทั้งที่ช่วงนี้ก็เริ่มเข้าไฮซีซั่น ช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีแล้วแท้ๆ คือเงียบจริง
ระหว่างทางที่เดินอยู่นี้ก็ได้มีการแวะเข้าห้องน้ำก่อนที่จะไปที่สถานี ห้องน้ำสาธารณะที่ปันเข้าสะอาดมาก แล้วก็เพิ่งรู้ว่ามันคือ ห้องน้ำสาธารณะหน้าทางเข้าของศาลาว่าการเมืองนิกโก้ ซึ่งสวยงาม ตัวอาคารทั้งหลังเป็นสีขาวทั้งหมดเลย ดูสะอาดตา
ศาลาว่าการเมืองนิกโก้
จากนั้นก็เดินไปอีกประมาณ 20 นาที เพื่อไปที่สถานีรถไฟ แล้วหลังจากนี้ก็คือเดินอย่างเดียว เพราะไม่มีอะไรให้แวะ แล้วเราก็ จะขึ้นรถรถไฟให้ทัน ระหว่างทางก็ได้ถ่ายรูปเก็บบรรยากาศไว้ ถึงความสงบเงียบของตัวเมืองนิกโก้ ในช่วงเริ่มฤดูใบไม้เปลี่ยนสี
บรรยากาศตัวเมืองนิกโก้
เรามาถึงสถานีโทบุนิกโก้ ตอนเกือบ 5 โมงเย็น พอมาถึงแล้วก็จัดการซื้อตั๋วกลับไปที่โตเกียว ราคาเดิมกับตอนขามาคือ 1,400 เยน (~350 บาท) รอบรถไฟที่ปันขึ้นคือ 17:28 โดยขากลับเราต่อรถที่เดียวคือ สถานีมินามิคูริฮาชิ แล้วก็ตรงยาวไปที่สถานีคิตะเซ็นจูได้เลย
เมื่อถึงเวลาแล้วเราก็ขึ้นรถไฟกัน ด้วยเราขึ้นชานชลาที่ 1 รถไฟออกตรงตามเวลา พร้อมบอกลาเมืองนิกโก้ แล้วแสงอาทิตย์ยามเย็นของวันที่ 2 กับการเดินทางเที่ยวญี่ปุ่น ก็ได้ลารับขอบฟ้าไป ณ ตรงนี้
ตั๋วขากลับ จากนิกโก้
ปันขอตัดมาที่โตเกียวเลย ที่สถานีคิตะเซนจูเลยละกัน พอถึงสถานีแล้วเราสามารถต่อรถไฟฟ้าเข้าไปในเมืองได้เลย โดยไม่ต้องออกระบบแล้วเข้าใหม่ เพราะที่จริงแล้วเราสามารถเพิ่มยอดส่วนต่างของตั๋วรถไฟได้เมื่อถึงปลายทางสุดท้ายของการเดินทางเราได้นะ
1,400 เยนคือค่ารถไฟจากนิกโก้ มาที่คิตะเซ็นจู แต่ปลายทางเราจริงๆคือ อุเอะโนะ ซึ่งต้องเพิ่มอีก 180 เยน เราอาจทำได้ 2 ทางคือ ออกจากระบบ แล้วไปซื้อตั๋วต่างหาก กับใช้ตั๋วใบเดิม แล้วไปเพิ่มส่วนต่างกันหน้าทางออก โดยจะมีตู้เขียนว่า のりこし หรือ Fair Adjustments อยู่ทุกสถานี วิธีการใช้ก็คือ
  • 1.
    เลือกภาษา (หากมีภาษาไทย ก็ใช้ภาษาไทยได้เลย)
  • 2.
    กด เพิ่มเงินส่วนต่าง ( Fair Adjustment)
  • 3.
    สอดตั๋วรถไฟของเรา
  • 4.
    ใส่จำนวนเงินที่ขาดหายไป ซึ่งการแสดงในช่อง “ยอดเงินที่ไม่พอ”
  • 5.
    ได้ตั๋วมาใหม่ พร้อมเงินทอน
ตู้เพิ่มส่วนต่างของตั๋วรถไฟ (のりこし)
เมื่อได้ตั๋วที่เพิ่มเงินส่วนต่างมาแล้ว ก็ทำการสอดที่เครื่องอ่านตามปกติ แล้วก็ออกมาได้เลย ซึ่งปั่นออกที่สถานีอุเอะโนะ ซึ่งเป็นสถานีใกล้ใกล้ร้านอาหารที่เราจะกินกันในเย็นวันนี้ ก่อนเดินกลับที่พัก ซึ่งอยู่ไม่ไกลมาก
ตอนแรกตั้งใจจะกินซูชิเจ้าดัง ที่ทางเพจดังแนะนำมา เป็นซูชิหน้าเยอะ ราคาแค่ 100 เยนต้นๆ แต่ปรากฏว่าร้านเต็ม ถามเจ้าของร้านแล้วก็พบว่า ไม่รับลูกค้าแล้ว เพราะร้านใกล้ปิด ก็เลยต้องตัดใจไม่กินร้านนี้แล้วมาจบที่ร้านราเมง ใต้ทางวิ่งของรถไฟ ที่หมายถึงรถไฟจะวิ่งเหนือหัวเราตลอดเวลา 🤣🤣
ร้านราเมงที่ปันกินเป็นแบบตู้กด คือเราจะต้องใส่เงินก่อน แล้วก็เลือกเมนูที่เราต้องการกิน จากนั้นก็ได้ตั๋วมาแล้วให้พนักงานร้าน โดยเราจะต้องจำด้วยว่าเราสั่งอะไรไป เพราะมีลูกทัวร์จำเมนูกันไม่ค่อยได้ เลยเกิดความสับสนอยู่นิดนึง แนะนำว่าให้จำหน้าตาของเมนูตรงตู้แล้วกัน
ปันสั่งเป็นเซ็ตเมนู อุด้ง+แกงกะหรี่ ราคา 670 เยน (~170 บาท) รสชาติเข้มข้น แต่คิดว่าไม่ค่อยอยู่ท้องเท่าไหร่เพราะไม่มีเนื้อ โดยโดยรวมก็ถือว่า โอเคในระดับหนึ่ง ถ้าสั่งแบบมีเนื้อมาก็คงอิ่มอร่อยมากเลยล่ะ
จากนั้นคณะทัวร์ของปันก็เดินทางกลับที่พักกันเลย เดินจากสถานีอุเอะโนะ เพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้น เมื่อมาถึงที่พักแล้วก็ บอกลาคณะทัวร์ แยกย้ายกันไปพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย
ก็เป็นการปิดวันการเดินทางวันที่ 2 ของการเดินทางเที่ยวญี่ปุ่นในโครงการ Nihon Ichido 2023 ลงแต่เพียงเท่านี้ ใน Ep. หน้า ก็จะการเดินทางเที่ยวภายในโตเกียว เพิ่มเติม และเป็นวันสุดท้ายก่อนที่ในวันต่อไปจะเป็นการเดินทางกลับสู่ประเทศไทย จะเป็นอย่างไรนั้น อย่าลืมติดตามชม
Contact Us

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา