14 ต.ค. 2023 เวลา 01:27 • อาหาร

ร่วมลงขันชวนกันไปทำนา

เล่าเรื่อง ร่วมลงขันขวนกันไปทำนา
เมื่อตอนทำงานอยู่ที่จังหวัดยโสธรเมื่อหลายปีก่อน ได้ริเริ่มกิจกรรมหนึ่งเพื่อส่งเสริมการตลาดหรือการขายให้กับผลผลิตข้าวอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร ชื่อโครงการ “ร่วมลงขันชวนกันไปทำนา”
จังหวัดยโสธรนั้นได้กำหนดใหัเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นวิสัยทัศน๋ของจังหวัดมาตั้งแต่เริ่มมีการให้แต่ละจังหวัดกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาจังหวัดของตนเอง และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปัจจุบันจังหวัดมีวิสัยทัศน์ว่า ยโสธร “เมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งวิถีอีสาน”
ในช่วงที่ทำงานที่ยโสธร แนวคิดในการขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ของยโสธรที่นํามาใช้ คือการนำหลักการตลาดมาใช้ เพื่อสร้างจุดขาย ขยายตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือเรียกรวมๆ ว่า “ตลาดนำการผลิต”โครงการร่วมลงขันชวนกันไปทำนา เป็นกิจกรรมหน่ึงท่ีได้คิดทําขึ้นเพ่ือพยายามเพิ่มช่องทางการตลาด และสร้างการรับรู้ในเร่ืองเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร
ที่มาของความคิดนี้มาจากการที่พี่บุญส่ง มาตขาว หนึ่งในปราชญ์เกษตรอินทรีย์แห่งบ้านโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม ได้มาชวนให้ไปรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะมาร่วมกันดำนาในวันหยุด ภายใต้โครงการ “กระทิงแดงสปิริต” โดยบริษัทกระทิงแดงซึ่งเป็นผู้ซื้อข้าวอินทรีย์จากกลุ่มบ้านโนนยางมาต่อเนื่องหลายปี เพื่อนำไปเป็นสวัสดิการอาหารกลางวันให้พนักงาน โดยในโครงการกระทิงแดงสปิริตได้รับสมัครคนรุ่นใหม่ในหลากหลายอาชีพมาเรียนรู้วิถีชีวิตวิถีเกษตรอินทรีย์ในชนบท
ประกอบกับจากการที่เคยพยายามเชิญชวนเพื่อนฝูงคนรู้จักมาซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของยโสธร และต้องคอยอธิบายให้ทราบถึงความแตกต่างระหว่างข้าวทั่วไป ข้าวปลอดภัย ข้าวอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน และข้าวอินทรีย์ว่าเป็นอย่างไร
จากทั้งสองเรื่องนี้จึงรวมกันออกมาเป็นโจทย์ว่า ข้อแรกจะทำอย่างไรให้คนในเมืองรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของยโสธรให้มากขึ้น ข้อที่สองทำอย่างไรจะเปิดตลาดสร้างผู้บริโภครายใหม่ในเมืองให้เกิดเพิ่มมากขึ้น
จากความคิดเริ่มต้นท่ีเล่ามา จึงเป็นที่มาของโครงการ “ชวนกันไปทํานา” จากเมืองสู่...ท้องนา จากต้นกล้า...สู่เมล็ดข้าว” โดยเริ่มปีแรกเมื่อปี ๒๕๕๙
รูปแบบกิจกรรมเป็นการเชิญชวนให้ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเดินทางมาทดลองดํานา ปลูกข้าวในแปลงนาอินทรีย์ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการ โดยกําหนดให้คนหนึ่งทํานาอย่างน้อย ๑ ไร่ขึ้นไป แต่ถ้าไม่สะดวกมาก็จะให้เกษตรกรเจ้าของแปลงนาทำแทน และดูแลแปลงข้าวให้จนถึงการเก็บเก่ียว เกษตรกรก็จะสีข้าวจากแปลงดังกล่าวส่งให้ผู้สมัครร่วมโครงการจํานวน ๒๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ โดยผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะเสียค่าใช้จ่ายไร่ละ ๑๕,๐๐๐ บาท สำหรับข้าวอินทรีย์
กิจกรรมนี้เริ่มในปีแรกช้าไปหน่อย เพราะกว่าจะคิดตกผลึกและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เข้าไปเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ แล้ว แต่ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จพอควร
แต่ในปีที่สอง ปี ๒๕๖๐ เนื่องจากได้มีเวลาเตรียมการพอควร จึงได้มีการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ โดยเริ่มจากชื่อโครงการ ที่เติมให้สื่อถึงการเป็น “หุ้นส่วน” กันระหว่ํางผู้บริโภคกับเกษตรกร จึงได้เติมคำว่า “ลงขัน ” ซึ่งหมายถึง การช่วยกันออกเงิน ซึ่งเป็นคำ ที่ทุกคนคุ้นหูกันดี เลยได้ชื่อกิจกรรมออกมาว่า “ร่วมลงขัน ชวนกันไปทำนา” แทน และกำหนดจำนวนเงินลงขันขั้นต่ำที่เปิดโอกาสให้คนเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น
จังหวัดยโสธร ยังคงดำเนินโครงการร่วมลงขันชวนกันไปทำนา ตั้งแต่ฤดูกาลผลิต ๒๕๕๙ มาจนถึงปัจจุบันเป็นที่ ๘ แล้ว ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดยโสธร ได้สรุปข้อมูลมาให้ว่า ตั้งแต่เริ่มถึงปีนี้ มีคนร่วมลงขัน ๑,๒๔๓ คน มีปริมาณข้าวที่ซื้อขายในโครงการ ๓๒๘,๐๒๑ กิโลกรัม เป็นมูลค่า ๑๖,๔๔๙,๙๘๐ บาท
ข้อมูลการดำเนินโครงการร่วมลงขันชวนกันไปทำนา พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๖
สำหรับในปี ๒๕๖๖ นี้ จังหวัดยโสธร ยังดำเนินโครงการร่วมลงขันชวนกันไปทำนา เพื่อรณรงค์และเชิญชวนให้ คนไทยสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบการเป็น “หุ้นส่วนทำนา” ด้วยการ “ลงขัน” จ่ายค่าข้าวล่วงหน้า โดยสามารถร่วมลงขันทำนาได้ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ บาทขึ้นไป และทางจังหวัดจะจับคู่ผู้ลงขันกับเกษตรกรพี่เลี้ยง เมื่อเก็บข้าวแล้วในช่วงธันวาคม เกษตรกรพี่เลี้ยงจะส่งมอบข้าวสารตามจำนวนเงินที่ลงขันให้กับผู้ลงขัน ได้บริโภคข้าวอินทรีย์ชั้นดีของจังหวัดยโสธร โดย ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยโสธร 045-586-063 หรือ 06-5510-1948
กลุ่มเกษตรอินทรีย์พี่เลี้ยงที่ร่วมโครงการ
เล่าเรื่องโดย นาย Bt
๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา