30 ต.ค. 2023 เวลา 06:06 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กรณีศึกษา การฟอกเขียว (Greenwashing) ที่เอาเปรียบนักลงทุนของ Chanel

ในยุคที่กระแสความยั่งยืนกำลังมาแรง ผู้บริโภคต่างก็หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ พยายามนำเสนอภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดผู้บริโภคและสร้างยอดขาย รวมถึงเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกระแสความยั่งยืนนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทบางแห่งที่พยายามเอาเปรียบนักลงทุนด้วยการโฆษณาเท็จเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์หรือบริการของตน หรือที่เรียกกันว่า การฟอกเขียว (Greenwashing)
หนึ่งในการฟอกเขียวหรือ Greenwashing ที่เป็นนิยมของบริษัทต่างๆตลอดหลายปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ การออกตราสารหนี้ SLB (Sustainability-Linked Bond)
ตราสารหนี้ SLB (Sustainability-Linked Bond) เป็นตราสารหนี้ที่เชื่อมโยงผลตอบแทนกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
โดยมีเงื่อนไขว่าจะให้ผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยที่สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของตัวชี้วัดและเป้าหมายของบริษัทผู้ออก
อย่างเช่น หากบริษัทไม่สามารถลดการปล่อยมลพิษในกระบวนการผลิตได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน SLB บริษัทจะจ่ายผลตอบแทนให้นักลงทุนสูงขึ้น
ในครั้งนี้เราจะมาบอกเล่าในกรณีของหนึ่งในบริษัทแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกและเป็นที่รู้จักในด้านสินค้าหรูและราคาแพงอย่าง Chanel
เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา Chanel ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างตราสารหนี้ SLB สำหรับตราสารหนี้ระยะสั้นให้อัตราผลตอบแทน 0.548% และพันธบัตรระยะยาวให้อัตราผลตอบแทน 1.059%
เงื่อนไขระบุว่า CHANEL จะเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในการดําเนินงานให้ได้ 100% ภายในปี 2025
อีกทั้ง Chanel จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ CHANEL ทั้งหมดลงให้ได้ 50% โดยเฉพาะในส่วนห่วงโซ่อุปทานของ CHANEL จะลดลงให้ได้ 10% ภายในปี 2030 (จากฐานตัวเลขปี 2018)
หากไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ Chanel จะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติมให้กับนักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ SLB ของ Chanel
การออกตราสารหนี้ SLB ครั้งนั้นสามารถระดุมเงินทุนให้กับ Chanel ได้กว่า 600 ล้านยูโร รายได้ที่ได้บางส่วนนำไปใช้สำหรับการลงทุน รวมถึงลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนาการผลิตทางเลือกอื่นแทนพลาสติกหรือหนัง
ซึ่งฟังดูแล้วก็เป็นวิธีที่ดีในการปรับกลยุทธ์ทางการเงินของ Chanel ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท
อย่างไรก็ดี การออกตราสารหนี้ SLB ของ Chanel ในครั้งนั้นไม่ได้ตรงไปตรงมากับเหล่านักลงทุนเสียเท่าไหร่
เมื่อมีการพบว่า Chanel ได้บรรลุวัตถุประสงค์บางส่วนในข้อตกลง ก่อนที่จะขายตราสารหนี้ให้กับนักลงทุนด้วยซ้ำ โดย Chanel ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนห่วงโซ่อุปทานได้ 21% สูงกว่าในเงื่อนไขของตราสารหนี้ SLB ที่ระบุไว้
ซึ่งข้อมูลตัวเลขนี้ Chanel ไม่ได้เปิดเผยให้นักลงทุนทราบก่อน โดย Chanel ให้เหตุผลว่าพวกเขากำลัง "สรุปข้อมูลในปี 2019" อยู่จึงไม่ได้มีการแจ้งข้อมูลนี้ให้นักลงทุนทราบ
แม้ว่านักลงทุนอาจไม่ได้มีการสูญเสียเงินหรือผิดเงื่อนไขในสัญญา แต่การกระทำนี้ของ Chanel ก็เข้าข่ายเอาเปรียบนักลงทุน
พวกเขาอาศัยประโยชน์จากกระแสความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมาอ้าง เพื่อระดมทุนโดยไม่มีการแจ้งข้อมูลที่ตรงไปตรงมาและเป็นธรรมกับนักลงทุน
กรณีศึกษาของ Chanel เป็นตัวอย่างที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เรื่องการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน
ด้วยการกระทำลักษณะนี้ของ Chanel รวมถึงบริษัทอื่นๆ กำลังทำให้ตลาดตราสารหนี้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง SLB ขาดความโปร่งใสและปัจจุบันก็ยังไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจนในเรื่องนี้
นักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในกระแสความยั่งยืน และคิดจะลงทุนในตราสารหนี้ SLB จึงควรศึกษาหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน เพราะว่าบริษัทผู้ออกอาจไม่ได้ตรงไปตรงมากับเรา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา