24 ต.ค. 2023 เวลา 17:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

NASA เตรียมอัพเดท Software ให้กับยาน Voyager ทั้ง 2 ลำ เพื่อ "ยื้อ" การทำภารกิจของทั้ง 2 ลำออกไปอีก

หลังจากเมื่อปีที่แล้วต้องลุ้นกันใจหายใจคว่ำหลังจากยาน Voyager 1 ออกอาการไม่ค่อยดีมีการส่งข้อมูลกลับมาอย่างสับสน
ทีมวิศวกรที่ศูนย์ควบคุมต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะหาสาเหตุของปัญหาซึ่งก็คือตัว Software ของระบบ AACS หรือ attitude articulation and control system ซึ่งใช้ในการควบคุมตำแหน่งของจานรับสัญญาณวิทยุให้หันหน้าตรงมายังโลกนั้นเกิดเขียนข้อมูลคำสั่งลงในหน่วยความจำแทนที่จะสั่งการไปยังชุดอุปกรณ์ขับเคลื่อนของยาน
เมื่อพบสาเหตุแล้วก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อทำการเขียน Software ใหม่เพื่อเตรียมอัพเดทให้กับยาน Voyager ทั้ง 2 ลำในการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดซ้ำได้ในอนาคต ที่ต้องใช้เวลาเพราะความท้าทายในการเขียน Software เพื่อใช้กับ Hardware เก่าอายุเกือบ 50 ปีที่มีหน่วยความจำน้อยกว่าโทรศัพท์มือถือเราเป็นล้าน ๆ เท่า
รวมถึงการอัพเดทนี้พลาดไม่ได้เพราะไม่มีเครื่องให้ทดลองก่อนเสียด้วย ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีก
ไม่ใช่แค่อัพเดท Software ของระบบ AACS เพื่อป้องกันการเขียนคำสั่งผิดพลาดแต่ยังมีการอัพเดทในส่วนการควบคุมเครื่องยนต์ของยานเพื่อลดปัญหาหัว Nozzle ของไอพ่นขับดันตัน อันเนื่องมาจากสารเหนียวเกาะตัวจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงไฮดราซีน
ส่วนประกอบต่าง ๆ ของยาน Voyager ซึ่งทั้งหลัก ๆ ก็จะเป็นจานรับสัญญาณวิทยุขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.7 เมตร
โดย Software ของระบบ AACS เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้จะควบคุมให้จานสัญญาณวิทยุคอยหันหน้ากลับมายังโลก ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ระบบตรวจจับว่าหน้าจานหน้าบิดเกินกว่าค่าที่กำหนดก็จะเข้าสู่โหมด Emergency ทันทีและสั่งการให้ไอพ่นขับดันทำงานเพื่อรักษาตำแหน่ง
ซึ่งเจ้าตัวไอพ่นนี้จะทำงานเป็นช่วง ๆ ทำให้เกิดการสะสมของยางเหนียวในหัว Nozzle ของไอพ่น ด้วย Software ที่อัพเดทใหม่นี้จะสั่งการให้ไอพ่นทำงานยาวต่อเนื่องรวดเดียวเลย รวมถึงปลดล็อคค่ามุมจานสัญญาณวิทยุที่จะทำให้ AACS เข้าสู่โหมด Emergency ออกเพื่อลดการทำงานของไอพ่น ซึ่งก็จะแลกกับการสูญเสียข้อมูลที่จะได้รับกลับโลกไปบ้างแต่แลกมากับการที่ยาน Voyager จะยังทำงานต่อไปได้นานขึ้นไปอีก
ทั้งนี้สำหรับเชื้อเพลิงนั้นยาน Voyager ทั้ง 2 ลำมีเพียงพอที่จะใช้งานไปได้จนถึงปี 2037 แต่คาดว่าแม้จะได้อัพเดท Software ตัวใหม่หัว Nozzle ก็จะตันก่อนที่เชื้อเพลิงจะใช้หมด รวมถึงตัวแบตเตอรี่นิวเคลียร์ก็กำลังจะหมดพลังงานในอีก 2 ปีข้างหน้านี้
สำหรับการอัพเดท Software ให้กับยาน Voyager ทั้ง 2 ลำนี้ NASA จะทำการอัพเดทให้กับยาน Voyager 2 ก่อน ทั้งนี้ด้วยระยะห่างที่อยู่ใกล้โลกมากกว่า (12 ล้านไมล์) ทำให้ใช้เวลาติดต่อสื่อสารสั้นกว่า
รวมถึงถ้าหากมีอะไรผิดพลาดก็จะยังเหลือยาน Voyager 1 ในการทำหน้าที่สำรวจอวกาศห้วงลึกที่ไกลที่สุดของมนุษย์ในปัจจุบัน(ห่างจากโลก 15 ล้านไมล์) ข้อมูลที่จะได้จากยาน Voyager 1 จึงถือว่ามีความสำคัญมากกว่า
ทั้งนี้ยาน Voyager ทั้ง 2 ลำนี้เปรียบเสมือนฝาแฝดกันพวกมันจึงสามารถใช้ชุด Software ชุดเดียวกันและใช้ Voyager 2 ในการทดสอบ Software ก่อน
ตำแหน่งของยานสำรวจอวกาศห้วงลึกต่าง ๆ ทั้ง 5 ลำของ NASA (Voyager, Pioneer และ New Horizons)
โดย NASA ได้เริ่มทำการอัพเดท Software ให้กับยาน Voyager 2 ไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา และจะทำการทดสอบการสั่งการจากศูนย์ควบคุมเพื่อทดสอบการตอบสนองต่อการควบคุมในวันที่ 28 ตุลาคมที่จะถึงนี้ หากผลการทดสอบเป็นไปด้วยดีก็จะเริ่มทำการอัพเดทให้กับยาน Voyager 1 ต่อไป
ทั้งนี้ด้วยระยะห่างจากโลกกว่า 15 ล้านไมล์ กว่าที่สัญญาณวิทยุที่ส่งจากโลกจะไปถึงยาน Voyager 1 นั้นต้องใช้เวลากว่า 18 ชั่วโมงเลยทีเดียว
การอัพเดท Software ที่ไกลที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ครั้งนี้มีความเสี่ยงและจะผิดพลาดไม่ได้เลย ก็ต้องตามลุ้นกันต่อไปว่าการอัพเดทครั้งนี้จะ "ยื้อ" คุณปู่ทั้ง 2 ลำนี้ให้สำรวจอวกาศให้กับเราไปได้อีกนานแค่ไหน . . .

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา