27 ต.ค. 2023 เวลา 04:32 • ข่าว

พลิกปูมคดีฆาตกรรมคริปโตแห่งกังนัม

ด้านมืดของความมั่งคั่งยุคดิจิทัลของเกาหลีใต้
Blockdit Originals - บทความพิเศษ
เมื่อวันพุธ (25 ตุลาคม 2023) ที่ผ่านมา ศาลกรุงโซลมีคำตัดสินพิพาษาหนึ่งในคดีฆาตกรรมที่ครึกโครมอย่างมากในเกาหลีใต้ จนสื่อเกาหลีขนานนามว่าเป็น
"คดีฆาตกรรมคริปโตแห่งกังนัม" เพราะมันเกิดในใจกลางย่านกังนัม สัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งหรูหราของกรุงโซล
โดยทางอัยการตั้งใจให้คนร้ายได้รับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต เพื่อเป็นคดีตัวอย่างในสังคม แม้ในเกาหลีใต้จะไม่มีการประหารชีวิตจริงๆเลยตั้งแต่ปี 1997 มาแล้วก็ตาม
2
จุดที่ทำให้คดีนี้ เป็นที่สนใจอย่างมากในเกาหลีใต้ เนื่องจากเกี่ยวพันกับการลงทุนในธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี ที่เป็นหนึ่งในธุรกิจแห่งความหวังของหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ แต่สุดท้ายกลับจบลงด้วยการฆาตกรรมเพราะผิดแผน!!!
1
วันนี้ เรามาพลิกปูมคดีสะท้อนปัญหา ด้านมืดของธุรกิจคริปโตในเกาหลีใต้กันหน่อยดีกว่า
จุดเริ่มต้นของคดีนี้ เกิดขึ้นในช่วงใกล้เที่ยงคืนของวันที่ 29 มีนาคม ในเขตซอโช ย่านกังนัม ที่เป็นย่านใจกลางธุรกิจด้านการเงินของกรุงโซล นางชอย ผู้บริหารสถาบันการเงินวัย 48 ปี เพิ่งเดินทางกลับบ้าน ที่เป็นอพาร์ตเมนท์หรูในย่านนั้น ขณะที่นางชอย กำลังเดินเข้าอาคารที่พัก มีรถยนต์คันหนึ่งมาจอดเทียบข้าง พร้อมชาย 2 คนลงจากรถมาลาก นางชอยขึ้นรถ แล้วลักพาตัวหายไปทันที
2
ในวันรุ่งขึ้น ที่ทำงาน และ ครอบครัวของนางชอย ถึงทราบว่านางชอยหายตัวไปอย่างผิดปกติ เพราะเธอเป็นผู้บริหารระดับสูง ที่ทำงานหนัก เข้างานเช้าสุด เลิกงานคนสุดท้าย และไม่เคยขาดงานประชุมสำคัญโดยไม่บอก จึงไปแจ้งตำรวจ แต่ไม่ทันการ เพราะหลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็พบศพนางชอย ถูกฝังไว้ป่าริมเขื่อนแทชอง ในจังหวัด
แทจ็อง ซึ่งห่างจากกรุงโซลประมาณ 140 กิโลเมตร
1
แต่จุดเกิดเหตุในย่านกังนัมที่มีกล้องวงจรปิดเป็นจำนวนมาก ตำรวจจึงสามารถติดตามรถ และจับคนร้ายได้ในเวลาไม่นาน ซึ่งคนร้าย 3 คนที่ก่อเหตุลักพาตัว และฆ่า นางชอย ได้แก่
1. ลี ฮยุง-อู วัย 35 ปี
2. ฮวัง แด-ฮาน วัย 34 ปี
3. ยอน จี-โฮ วัย 29 ปี
มูลเหตุจูงใจคือ ความแค้นจากการสูญเงินที่ลงทุนในคริปโต ที่นางชอย และ สามี เป็นผู้บริหาร
1
ย้อนกลับไปราวปี 2020 มีการเปิดตัวเงินคริปโตที่ชื่อ Puriever หรือ P-Token โดยบริษัท Uninetwork ซึ่งสามีนางชอยเป็น CEO และได้เริ่มชักชวนให้ชาวเกาหลีใต้เข้ามาลงทุน และ P-Token ถูกปั่นให้มีมูลค่าสูงถึงเหรียญละ 10,000 วอน (ประมาณ 270 บาท) ก่อนจะตกฮวบเหลือ 10 วอนในเวลาเพียง 6 เดือนหลังจากนั้น ก่อนบริษัทจะปิดตัวและบอกกับนักลงทุนว่า P-Token เป็นทรัพย์สินดิจิทัลที่ล้มละลาย
4
แต่ทางการเกาหลีใต้เชื่อว่านางชอย และ สามี ได้เงินสดจากการเงินลงทุนของลูกค้า P-Token กว่า 5 พันล้านวอน และอาจเข้าข่ายการหลอกลวงนักลงทุน
1
ซึ่ง ลี ฮยุง-อู คือ 1 ใน นั้น เขาสูญเงินสะสมทั้งชีวิตจากการลงทุนใน P-Token มากถึง 80 ล้านวอน และเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนแก้แค้น 2 สามี-ภรรยา นักการเงินผู้มั่งคั่งแห่งกังนัม
1
แต่ไม่ใช่มีแค่ ลี ฮยุง-อู ที่หมดตัวเพราะลงทุนเงินคริปโตกับบริษัทสามีนางชอย แต่ยังมีสามี-ภรรยาอีกคู่ คือ ยู ซัง-วอน และ ฮวัง อึน-ฮี ที่สูญเงินเก็บของครอบครัวให้กับ P-Token เช่นกัน จึงได้ว่าจ้างลี ฮยุง-อู ที่มีแรงจูงใจอยู่แล้ว เป็นเงิน 52,000 เหรียญ เพื่อติดตาม และลักพาตัวสามีของนางชอยมาให้ได้
1
ซึ่ง ลี ฮยุง-อู ก็ได้รวมทีมกับเพื่อนอีก 2 คน ก็คือ ฮวัง แด-ฮาน และ ยอน จี-โฮ ติดตามดูนางชอย และ สามี ระหว่างเส้นทางที่ทำงาน และพักอาศัยในย่านกังนัมมาหลายเดือนก่อนลงมือ โดยตั้งใจว่าแค่ลักพาตัวมา และขู่บังคับให้บอกรหัสเข้า คริปโต วอลเลท ที่ทั้งคู่เก็บเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆไว้มากมายมหาศาล เพื่อล้างแค้น และ ต้องการเงินที่สูญเสียไปของตนคืนมา
2
แต่ทุกอย่างเริ่มผิดแผน เพราะสามีของนางชอยโดนรวบตัวเสียก่อน แต่ไม่ใช่จากฝีมือคนในทีมลี แต่เป็นตำรวจ!!
1
สื่อเกาหลีใต้ได้รายงานข่าวว่า ได้จับกุมตัวสามีของนางชอยเมื่อช่วงต้นปี จากข้อหาฉ้อโกงจากธุรกิจเงินคริปโตของเขา ซึ่งแทบจะเป็นช่วงไล่เรี่ยกับ Do Kwon ผู้ก่อตั้งเงินคริปโตรายใหญ่ของเกาหลีใต้อีกรายโดนจับเช่นกัน จากการสูญมูลค่าของเหรียญ Terra
1
เมื่อสามีถูกจับติดคุกไปแล้ว ก็เหลือแต่นางชอย ผู้เป็นภรรยาที่เคยมองเป็นเป้าหมายรอง แต่ตอนนี้กลายเป็นเป้าหมายเดียวของทีมลี
1
จนเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ลี ฮยุง-อู กับเพื่อนอีก 2 คนจึงลงมือ ลักพาตัวนางชอยไปกักขังไว้ และโดนฉีดสารเคตามีนเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้นางชอยยอมบอกรหัสเข้าวอลเลทดิจิทัล จนนางชอยเสียชีวิตเพราะรับยาเสพติดเกินขนาด จากนั้นทั้ง 3 จึงนำศพนางชอยไปฝังไว้ในป่าริมเขื่อนที่เมืองแทจ็อง
2
และเมื่อตำรวจจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุได้ทั้ง 3 คน ก็มีการสืบคดี ซัดทอดไปยัง สามี-ภรรยา ยู ซัง-วอน และ ฮวัง อึน-ฮี ผู้ว่าจ้าง ส่วนคนร้ายทั้ง 3 ต่างกล่าวโทษกันเองว่า ไม่ได้ตั้งใจฆ่านางชอยแต่แรก แต่เหตุการณ์เลยเถิดจนผิดแผน ซึ่ง 2 ใน 3 คนร้ายกล่าวว่าพวกเขาได้ขอถอนตัวหลังจากจับตัวนางชอยขังไว้ตั้งแต่ 12 ชั่วโมงแรก
แต่สุดท้ายศาลกรุงโซล มีคำพิพากษา ตัดสินโทษประหารชีวิต ลี ฮยุง-อู และ ฮวัง แด-ฮาน ส่วน ยอน จี-โฮ ผู้ร่วมก่อการคนที่ 3 ถูกตัดสินจำคุก 23 ปี แต่สำหรับ ยู ซัง-วอน และ ฮวัง อึน-ฮี ผู้ว่าจ้างยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคดี
4
คดีฆาตกรรมคริปโตแห่งกังนัม เป็นอุทธาหรณ์แก่ชาวเกาหลีใต้ไม่น้อย เป็นผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องเร่งผลักดันร่างกฏหมายคริปโตเคอร์เรนซีออกมาทันที หลังจากล่าช้ามานานถึง 2 ปี และสร้างความเสียหายแก่นักลงทุนเกาหลีใต้จำนวนมหาศาล
2
เพราะที่ผ่านมา การลงทุนในทรัพย์สินดิจิทัลของเกาหลีใต้เฟื่องฟูมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่ม-สาว ที่ต้องการแสวงหาความมั่งคั่ง ซึ่งการลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ มีราคาสูงเกินกว่าที่คนรุ่นใหม่จะเอื้อมถึงได้ จึงมีเพียงการลงทุนเสี่ยงโชคในคริปโตที่ยังมีโอกาสเป็นไปได้สำหรับพวกเขา
2
จากข้อมูลการลงทุนของรัฐบาลพบว่า 1 ใน 8 ของชาวเกาหลีใต้ ครอบครองทรัพย์สินดิจิทัล แต่ทว่า กลับมีกฎหมายควบคุมน้อยกว่าประเทศชั้นนำอื่นๆอย่างสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่นมาก
ซึ่งก็มีข้อดีคือ การซื้อง่าย ขายคล่อง เพราะรัฐบาลควบคุมน้อย แต่ข้อเสียคือความหายนะ เมื่อเงินดิจิทัลสูญมูลค่า บริษัทสามารถปิดตัวลงอย่างง่ายดายโดยอ้างว่าถูกแฮ็คข้อมูล และการจารกรรมทางไซเบอร์อย่างที่ผ่านมา สร้างความแค้น ที่จองเวรกันไปมาจนกลายเป็นคดีฆาตกรรมจริงๆ
3
จึงกล่าวได้ว่า คดีฆาตกรรมคริปโตแห่งกังนัม มีส่วนทำให้เกาหลีใต้มีกฎหมายควบคุมกิจการคริปโตในวันนี้ ที่ให้บริษัทต้องวางเงินประกันภัยคุ้มครองนักลงทุนจากความเสี่ยงในกรณีการจารกรรมทางไซเบอร์ และการฉ้อโกง
แต่สุดท้าย ก็ต้องระลึกเสมอว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และความมั่งคั่งไม่สามารถสร้างได้เพียงวันเดียว "ความมั่งคั่ง" ไม่เท่ากับ "ความมั่นคง"ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจ รอบคอบ และ มีสติ
1
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
1
แหล่งข้อมูล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา