13 พ.ย. 2023 เวลา 12:56 • ปรัชญา

ข้อคิดจากชีวิต: การเป็นพื้นที่ว่าง

เป็นพื้นที่ว่างด้วยใจที่กว้าง
อย่าเป็นพื้นที่ว่างด้วยใจที่แคบ
เมื่อประมาณกลางเดือนที่แล้ว
ผมได้ลงบทความข้อคิดจากเพลงที่ว่าง (Pause)
ซึ่งถือเป็นบทความที่มีส่วนร่วมเยอะที่สุด
นับตั้งแต่ผมทำเพจมาเลยครับ
ในขณะที่ผมกำลังนั่งอ่านความคิดเห็น
ที่มีผู้อ่านบทความเข้ามาแบ่งปันความเข้าใจ และประสบการณ์ส่วนตัว
ผมก็ถูกตรึงอยู่กับความคิดเห็นของผู้อ่านท่านหนึ่งครับ
โดยข้อความนั้นเขียนไว้ว่า
‘ส่วนมากคอมเมนต์จะเจอแต่พื้นที่ว่าง...คือการนอกใจ’
พอผมได้อ่านความคิดเห็นทั้งหมดก็พบว่า
โทนของความคิดเห็นส่วนใหญ่
มีทั้งการเป็นพื้นที่ว่างอย่างเข้าใจ และการถูกนอกใจเมื่อสร้างระยะห่าง
ซึ่งเป็นความจริงอย่างที่ผู้อ่านท่านนั้นบอกไว้เลยครับ
จังหวะนั้นผมก็ได้ไอเดียสำหรับบทความใหม่ขึ้นมา
‘การเป็นพื้นที่ว่างคืออะไร ?’
เอาแบบแยกคุณภาพกันไปเลย
-อันนี้เป็นพื้นที่ว่างอย่างมีเงื่อนไข
-อันนี้เป็นพื้นที่ว่างอย่างไม่มีเงื่อนไข
อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งบทความ
ที่จะชวนผู้อ่านมาสังเกตตัวเองว่า
‘กำลังเป็นพื้นที่ว่างด้วยคุณภาพของจิตใจแบบไหน’
การเขียนบทความนี้
ทำให้ผมนึกถึงช่วงฝึกงานตอนเรียนปริญญาโท
ในเหตุการณ์ที่ผมและผองเพื่อน
ขอคำชี้แนะเกี่ยวกับงาน Counseling จากอาจารย์
(กระบวนการนี้เรียกว่า Supervision)
อาจารย์พูดแซวลูกศิษย์คนหนึ่งขึ้นมาว่า
‘นี่มันมิจฉาEmpathy ไม่ใช่สัมมาEmpathy’
พวกเราขำกันลั่นเลยครับ
ประโยคนี้ของอาจารย์ชวนให้เห็นคุณภาพของจิตใจ
ซึ่งเป็นคุณภาพของ ‘ใจที่เข้าใจ กับ ใจที่ไม่เข้าใจ’
โดยบทความนี้
ผมขอนำเสนอคุณภาพของจิตใจในการเป็นพื้นที่ว่าง
ทั้งในคุณภาพของ ‘สัมมาSpace กับ มิจฉาSpace’
(ที่ว่างแบบไหนส่งเสริมความสัมพันธ์ ที่ว่างแบบไหนทำลายความสัมพันธ์)
จุดเริ่มต้นของการกระทำต่าง ๆ
ทั้งการรับรู้ การคิด การมีความรู้สึก
การประมวลผล การใคร่ครวญ การตัดสินใจ
การระบุความต้องการ การเรียบเรียงถ้อยคำ
การสื่อสาร การปรับตัว และการกระทำใด ๆ ก็ตาม
ล้วนเกี่ยวข้องกับคุณภาพของจิตใจครับ
หากจะแยกระดับคุณภาพของจิตใจอย่างชัดเจน
เราสามารถรวบไว้ในสองคำสั้น ๆ คือ ‘กว้าง-แคบ’
-จิตใจที่กว้าง เป็นจุดเริ่มต้นของความรัก
(ความรัก = การเกื้อกูลไม่ก้าวก่าย การไม่ยึดติดครอบครอง การพึ่งพาอาศัย)
-จิตใจที่แคบ เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นเจ้าของ
(ความเป็นเจ้าของ = การบีบคั้นบังคับ การละเลยทอดทิ้ง การล่วงเกินหวังผล)
โดยทั้งสองคุณภาพนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้
ซึ่งจิตใจที่กว้างนั้นมีความพิเศษอย่างหนึ่งครับ
นั่นคือ มันมีพลังในการรับรู้ซึ่งสามารถบอกเราได้ว่า
จังหวะไหนที่ใจเรากว้าง จังหวะไหนที่ใจเราแคบ
‘จิตใจที่กว้าง’
เป็นปัจจัยที่เอื้อเฟื้อให้ความสัมพันธ์
ดำเนินไปด้วยความไว้วางใจและความเข้าใจ
เนื่องจากจิตใจไม่ถูกขังไว้ในเงื่อนไขและข้อสรุปใด ๆ
ซึ่งเปิดทางให้ปัจจัยที่ส่งเสริมคุณภาพจิตใจเพิ่มเติมเข้ามา
นั่นคือ ‘ความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ตามวิถีทางของมัน’
(ต้อนรับความจริง เข้าใจความจริง หาทางปรับตัวให้เข้ากับความจริง)
คุณภาพของจิตใจจึงประกอบไปด้วยความรู้ตัว ความสดใส
ความอิสระ ความเบาสบาย ความยืดหยุ่น ความผ่อนคลาย
ความรัก ความเคารพ ความอ่อนโยน และความมั่นคง
การดำรงชีวิตด้วยจิตใจอันกว้างขวางอย่างต่อเนื่อง
ย่อมแผ่คลื่นของความเป็นมิตรและความสงบเย็น
ส่งผลให้บรรยากาศของสายสัมพันธ์นั้นอบอุ่น
การอยู่ร่วมกันจึงไม่ค่อยมีความขัดแย้ง
ต่อให้มีความขัดแย้งก็จะหาทางคลี่คลายกันได้
(ถึงแม้จะยุติความสัมพันธ์ ก็จะเป็นการจากกันด้วยความรัก)
‘จิตใจที่แคบ’
เป็นปัจจัยที่เอื้อเฟื้อให้ความสัมพันธ์
ดำเนินไปด้วยความไม่ไว้วางใจ ความไม่เข้าใจ และการตัดสิน
เนื่องจากจิตใจถูกคุมขังไว้ในเงื่อนไขและข้อสรุปมากมาย
อีกทั้งยังมีปัจจัยที่บั่นทอนคุณภาพจิตใจแทรกตัวเข้ามา
นั่นคือ ‘การอยากให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามใจของตนเอง’
(เช่น ฉันต้อง..., คนอื่นต้อง..., สิ่งนั้นสิ่งนี้ต้อง...)
คุณภาพของจิตใจจึงประกอบไปด้วยความไม่รู้ตัว ความมัวหมอง
ความกดดันบีบคั้น ความแข็งกระด้าง ความตึงเครียด ความกลัว
ความเป็นเจ้าของ ความอยากเอาชนะ ความปั่นป่วนวุ่นวาย และความไม่มั่นคง
การดำรงชีวิตด้วยจิตใจอันคับแคบอย่างต่อเนื่อง
ย่อมแผ่คลื่นของความกดดันและความไม่เป็นมิตร
ส่งผลให้บรรยากาศของสายสัมพันธ์นั้นอึดอัด ฝืดฝืน
คล้ายกับพื้นที่สงคราม ซึ่งนับถอยหลังรอวันเปิดศึกใส่กัน
การอยู่ร่วมกันจึงมักเกิดความขัดแย้ง และความไม่ลงรอยกัน
ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อใดก็มักสร้างรอยร้าวในสายสัมพันธ์
(การยุติความสัมพันธ์ ก็จะเป็นการจากลาด้วยความขัดแย้ง)
‘การเป็นพื้นที่ว่างด้วยใจที่แคบ (มิจฉาSpace)’
เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์นั้นติดขัด
นำไปสู่การล้ำเส้น การควบคุมบงการ
การขูดเลือดขูดเนื้อ และการหวังผลประโยชน์
โดยคุณภาพของจิตใจที่คับแคบ
ย่อมทำให้หัวใจของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้น ๆ
‘เกิดความกดดัน เกิดความห่างเหิน เกิดความไม่เข้าใจ เกิดความละเลย’
ส่งผลให้การแบ่งเวลาสำหรับการอยู่ร่วมกัน และการใช้ชีวิตส่วนตัว
เป็นไปอย่างขาด ๆ เกิน ๆ
‘ใกล้จนอึดอัด ไกลจนห่างเหิน’
‘การเป็นพื้นที่ว่างด้วยใจที่กว้าง (สัมมาSpace)’
เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ความสัมพันธ์นั้นราบรื่น
ไม่จำกัดว่าจะอยู่ใกล้กัน หรือ จะอยู่ห่างกัน
แต่ด้วยคุณภาพของจิตใจที่กว้างขวาง
ย่อมทำให้หัวใจของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้น ๆ
‘เกิดความอิสระ เกิดความใกล้ชิด เกิดความเข้าใจ เกิดความเอาใจใส่’
ส่งผลให้การแบ่งเวลาสำหรับการอยู่ร่วมกัน และการใช้ชีวิตส่วนตัว
เป็นไปอย่างพอเหมาะพอดี
‘ไม่ใกล้จนอึดอัด ไม่ไกลจนห่างเหิน’
นี่จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายเราอย่างยิ่งครับ
สำหรับการสังเกตและตรวจสอบตนเอง
‘ตอนนี้ใจเรากว้าง หรือ ตอนนี้ใจเราแคบ’
แล้วไม่ว่าเราจะสังเกตเห็นคุณภาพของจิตใจเป็นแบบไหน
ก็พึงต้อนรับคุณภาพนั้นอย่างที่มันเป็นครับ
‘ถึงเวลากว้างก็กว้าง ถึงเวลาแคบก็แคบ’
ต้อนรับคุณภาพของจิตใจทั้งหมดอย่างที่เป็น
โดยไม่จำเป็นต้องหลอกลวงหรือปฏิเสธตัวเอง
(อย่างเช่น ปากบอกว่าเป็นที่ว่างให้นะ แต่ในใจโคตรกดดันบีบคั้น)
ความกว้างและความแคบนั้น
สามารถเกิดขึ้นแบบสลับไปมาได้ครับ
ซึ่งขึ้นอยู่กับการขัดเกลา และการฝึกฝนตัวเองอย่างต่อเนื่อง
-ส่งเสริมปัจจัยให้ความกว้าง = เพิ่มโอกาสให้ความกว้างเกิดขึ้นบ่อย
-ส่งเสริมปัจจัยให้ความแคบ = เพิ่มโอกาสให้ความแคบเกิดขึ้นบ่อย
ไม่เป็นไรหรอกครับที่ใจเราจะเผลอแคบบ้าง
เมื่อใดก็ตามที่เห็นความแคบ เมื่อนั้นความกว้างย่อมเกิดขึ้น ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา