22 พ.ย. 2023 เวลา 09:22 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม: ลักษณะนอกเหนือกฎของเมนเดล | Biology with JRItsme.

🕔 เวลาที่ใช้ในการอ่าน 5 นาที
โดยทั่วไปแล้ว หลาย ๆ ลักษณะจะถูกควบคุมด้วยโครโมโซมที่มียีนมากมาย แต่ละยีนจะมี 2 แอลลีล ที่อาจเป็นแอลลีลเด่นหรือด้อยก็ได้ ซึ่งแอลลีลเด่นจะแสดงออกมามากกว่าหรือยับยั้งการแสดงของแอลลีลด้อย นั่นก็คือ “เด่นข่มด้อย” หรือกฎของเมนเดลข้อที่ 3 ตามที่เราร่ำเรียนกันมากนั่นเอง แต่ก็จะมีอีกหลายลักษณะที่ไม่ได้ถูกควบคุมแบบ “เด่นข่มด้อย” ซึ่งอยู่นอกเหนือกฎของเมนเดล จะมีอะไรบ้างนั้น... ในตอนนี้มีคำตอบครับ...
การข่มไม่สมบูรณ์ทำให้สีแดงลักษณะเด่น และสีขาวลักษณะด้อย ผสมเข้าด้วยกัน ที่มา: https://www.sciencefacts.net/incomplete-dominance.html
ในสิ่งมีชีวิตพันทาง บางแอลลีลเด่นไม่สามารถข่มแอลลีลด้อยได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดการหลอมรวมลักษณะเด่นกับด้อยเข้าด้วยกัน เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “การข่มแบบไม่สมบูรณ์” [Incomplete dominance] อย่างกรณีดอกไม้ ที่ดอกกุหลาบที่เด่นพันธุ์แท้แสดงดอกสีแดง กับด้อยพันธุ์แท้แสดงดอกสีขาว เมื่อผสมกันได้เด่นพันทางจะได้ดอกสีชมพู
หมู่เลือด ABO ของมนุษย์ได้สามารถแสดงออกถึง 6 รูปแบบ 4 หมู่เลือด ที่มา: https://en.m.wikipedia.org/wiki/File:ABO_Blood_Group_Phenotypes.jpg
ในสิ่งมีชีวิตที่มีแอลลีลเด่นมากกว่า 1 แบบ เมื่อถูกผสมจับรวมกันจะแสดงลักษณะเด่นทั้งสองออกมาร่วมกัน อารมณ์แบบแข่งกันข่ม แข่งกันเด่น จึงเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “การข่มร่วมกัน” [Codominance] เช่น ระบบเลือดมนุษย์ ABO ที่มีหมู่ A ละ B เป็นลักษณะเด่น คนหมู่ A พันธุ์แท้ ผสมพันธุ์กับคนหมู่ B พันธุ์แท้ จะได้ลูกหมู่ AB ที่เกิดจากการข่มร่วมกันของสองหมู่เลือดลักษณะเด่นนั้นเอง
บางลักษณะเดียวกันจะสามารถผสมแอลลีลมากกว่า 3 รูปแบบ (เด่นพันธุ์แท้, ด้อยพันธุ์แท้, เด่นพันทาง) [Multiple allele] เช่น หมู่เลือด ABO ที่มีแอลลีลควบคุม 3 ลักษณะหมู่ A, B และ O จึงสามารถเรียงรูปแบบได้ดังนี้ A พันธุ์แท้/พันทาง, B พันธุ์แท้/พันทาง, AB จากการข่มร่วมกัน และ O พันธุ์แท้ รวมทั้งสิ้น 6 รูปแบบ
สีผิวแต่ละแบบถูกควบคุมด้วย 3 ยีนบนโครโมโซมเดียวกัน ที่มา:https://microbenotes.com/polygenic-inheritance-characteristics-examples/
บางลักษณะถูกควบคุมด้วยยีนมากกว่า 1 ตัวบนโครโมโซมเดียวกัน ที่ช่วยกันแสดงออกมา หรือ “โพลียีน” [Polygene] ทำให้เกิดรูปแบบของลักษณะจำนวนมากจนไล่ระดับการแสดงออกได้ เช่น สีผิวของมนุษย์ ที่ยีนตัวหนึ่งควบคุมโทนสี ตัวหนึ่งควบคุมความมืดความสว่าง และยีนอีกตัวควบคุมการกระจายของสีผิว จนได้มาเป็นสีผิวที่มีระดับต่าง ๆ
ยีน E เป็นยีนที่อยู่คนละโครโมโซม แต่สามารถควบคุมการแสดงออกของยีน B ที่อยู่อีกโครโมโซมได้ ที่มา: https://mmg-233-2014-genetics-genomics.fandom.com/wiki/Epistasis
บางลักษณะต้องถูกกระตุ้นจากยีนอื่นที่อยู่บนโครโมโซมต่างกันเท่านั้น จึงจะแสดงออกมาได้ แม้แอลลีลทั้งสองจะแสดงเป็นเด่นพันธุ์แท้หรือเด่นพันทาง หากไม่ได้รับการกระตุ้นจากยีนดังกล่าว ก็ไม่สามารถแสดงออกมาได้ เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “การข่มข้ามยีน” หรือ “ข่มข้ามคู่” [Epistasis]
จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ทุกลักษณะขึ้นตรงกับกฎของเมนเดล เพราะร่างกายเรามีความซับซ้อน ระบบภายในจึงซับซ้อนตาม การแสดงออกทางพันธุกรรมจึงมีกลไกต่าง ๆ เพื่อให้แสดงลักษณะที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต และส่งต่อพันธุกรรมใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การวิวัฒนาการในเวลาต่อมา อย่าลืมติดตามเพจ Mr.BlackCatz. Academy ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ เพื่อไม่พลาดเนื้อหาชีววิทยาฉบับคนทั่วไปเข้าใจง่ายนะครับ 😺

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา