8 ธ.ค. 2023 เวลา 23:00 • ธุรกิจ

ช่องโหว่ทางการค้าที่ Shein และ Temu ใช้เพื่อเติบโตในตลาดสหรัฐฯ

Shein เป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกเสื้อผ้าในราคาถูกบนโลกออนไลน์ ซึ่งทางบริษัทใช้วิธีอย่างการการจ้างแรงงานผลิตจากภายนอก และไม่มีร้านค้าปลีกของตนเอง
บวกกับการตลาดบนโซเชียลมีเดียของทางแบรนด์ ทำให้ Shein มีคำสั่งซื้อจำนวนมาก และด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำและคำสั่งซื้อจำนวนมาก
Shein จึงสามารถประหยัดต่อขนาด (Economic of scale) ในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าได้ ทำให้ Shein สามารถขายเสื้อผ้าได้ในราคาที่ถูกกว่าแบรนด์อื่นๆ
ในทำนองเดียวกันกับ Temu อีกหนึ่งแพลตฟอร์มค้าปลีก ซึ่งมีโมเดลธุรกิจแบบ Group Buying หรือการให้ผู้บริโภครวมกันส่งคำสั่งซื้อไปยังร้านค้าหรือผู้ผลิตโดยตรง
เมื่อผู้บริโภครวมคำสั่งซื้อกันได้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้สามารถต่อรองราคากับผู้ผลิตได้ ผู้บริโภคจึงสามารถซื้อสินค้าต่างๆบนแพลตฟอร์ม Temu ได้ในราคาที่ถูก
ด้วยโมเดลธุรกิจและกระบวนการดำเนินงานที่ทำให้ทั้งสองบริษัทนี้ มีต้นทุนสินค้าที่ต่ำ จึงทำให้ทั้งสองบริษัทสามารถรักษาราคาสินค้าบนแพลตฟอร์มของตนไว้ได้ และสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆในตลาดได้
ซึ่ง Shein และ Temu ทั้งสองต่างก็เป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์สัญชาติจีน ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดของสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแค่สินค้าราคาถูกเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาสามารถเจาะตลาดที่มีผู้เล่นรายใหญ่มากมายอย่างสหรัฐฯได้
แต่พวกเขายังอาศัยช่องโหว่ทางการค้าของสหรัฐ ซึ่งต้องเป็นสินค้าที่ราคาถูกและขนาดเล็กเท่านั้นถึงจะได้รับประโยชน์จากช่องโหว่ดังกล่าวนี้
ช่องโหว่ทางการค้าที่ว่านี้ก็คือ "นโยบาย de minimis"
1
de minimis เป็นบทบัญญัติในกฎหมายศุลกากรของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1930 ที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก โดยไม่ต้องเสียภาษีหากเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด
โดยมีจุดเริ่มต้นจากสภาคองเกรสที่ต้องการยกเว้นการจ่ายภาษีสำหรับการซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ของนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน เมื่อพวกเขากลับจากการเดินทางไปต่างประเทศ
โดยในช่วงแรกเริ่มนั้นได้กำหนดมูลค่าของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไว้ที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็น 800 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2016
ซึ่งช่องโหว่กล่าวนี้มักถูกเรียกว่า "การยกเว้น de minimis"
อธิบายง่ายๆก็คือ หากผู้บริโภคของสหรัฐฯ นำเข้าหรือสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศรวมแล้วไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 800 ดอลลาร์ สินค้าเหล่านั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีจากศุลกากรของสหรัฐฯนั่นเอง
นโยบายนี้จึงได้กลายเป็นช่องโหว่ทางการค้าที่ไม่ใช่แค่ Shein และ Temu เท่านั้นที่อาศัยช่องโหว่ที่ว่านี้ แต่ยังมีบริษัทสัญชาติจีนอีกมากมายที่กำลังใช้ช่องโหว่ทางการค้านี้กันในวงกว้าง เพื่อขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคของสหรัฐฯ
ซึ่งสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้น de minimis ประมาณหนึ่งในสามนั้นเป็นของ Shein และ Temu ทั้งสองแพลตฟอร์มจึงเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของบริษัทภายในประเทศสหรัฐฯ พวกเขากำลังได้รับแรงกดดันและผลกระทบเชิงลบจากการยกเว้น de minimis ที่ว่านี้
และมีรายงานว่าในไตรมาสสามที่ผ่านมานี้ บริษัทสัญชาติสหรัฐฯอย่าง Gap, Amazon และ Walmart มีปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ลดลง โดยเฉพาะ Gap ที่ออกมายอมรับว่า Shein กำลังได้รับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยผู้ใช้งานรายเดือนของ Shein ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากปี 2021 เป็นจำนวน 30.2 ล้านคน ในไตรมาสที่สามของปี 2023
และตามข้อมูลของ Sensor Tower ระบุว่า Temu มีผู้ใช้งานแซงหน้าผู้ใช้งานทั้งหมดของ Shein ภายในหนึ่งปีนับจากเปิดตัว และได้กลายเป็นหนึ่งในแอปช้อปปิ้งที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในสหรัฐฯ
ช่องโหว่ทางการค้าดังกล่าว ไม่เพียงแต่ทำให้บริษัทจากต่างประเทศที่ขายสินค้าในราคาถูก สามารถเจาะตลาดและเติบโตได้ในตลาดสหรัฐฯเท่านั้น
แต่การยกเว้นภาษีที่ว่านี้อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯเก็บภาษีได้น้อยลงและมีการขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นมันยังกลายเป็นอุปสรรคในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทภายในประเทศเองอีกด้วย
ซึ่งในขณะนี้เอง นโยบาย de minimis ก็ยังเป็นที่ถกเถียงและทบทวนกันอยู่ตลอดในสภาคองเกรส ถึงประโยชน์และข้อได้เปรียบเสียเปรียบของสหรัฐฯในกรณีการยกเว้นภาษี de minimis ที่ว่านี้
ซึ่งก็ยังไม่ได้มีบทสรุปหรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในเรื่องนี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา