3 ธ.ค. 2023 เวลา 22:18 • ข่าว
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

สกลนครจัดเสวนา “คึดนำกัน” มองการแก้จนเป็นหนึ่งเดียว เสนอแพลตฟอร์มแก้จนจังหวัด

นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และนักวิจัยระดับส่วนกลางจาก บพท. จัดเวทีเสวนา “คึด นำ กัน” สานพลังภาคีความร่วมมือทุกภาคส่วนมอง “การแก้จนเป็นหนึ่งเดียว” เป้าหมายขับเคลื่อนแพลตฟอร์มขจัดความยากจนฯ ในจังหวัดสกลนคร
4
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดการเสวนา “คึด นำ กัน : พลังข้อมูล พลังความคิด ออกแบบชีวิตครัวเรือน” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมสร้อยสุวรรณา อาคาร 10 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้เข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 80 คน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กลุ่มชุมชนร่วมดำเนินงาน กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลแก้จน และนักวิจัย
1
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนาในครั้งนี้เพื่อ
1
  • 1.
    สื่อสารสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเป้าหมาย และหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือและบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดสกลนครอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
  • 2.
    ค้นหานิยามความยากจนเชิงพื้นที่ ลักษณะความยากจนเชิงพื้นที่ การจำแนกระดับความยากจนเชิงพื้นที่ และการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนเชิงพื้นที่ของจังหวัดสกลนคร
  • 3.
    พัฒนากรอบเกณฑ์ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของการเลื่อนระดับสถานะทางสังคม (Social Mobility) และหลุดพ้นความยากของจังหวัดสกลนคร
“คึดนำกัน” แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกคือการเสวนาในประเด็น สถานการณ์ความยากจนในพื้นที่ที่สำคัญ ลักษณะหน้าตาคนจน การช่วยเหลือเกิดการเปลี่ยนแปลงและเลื่อนระดับทางสังคมมีวิธีประเมินอย่างไร มีผู้ร่วมเสนา ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด ระดับอำเภอ หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ช่วงที่สองคือการระดมความคิดเห็นแบ่งกลุ่ม 3 พื้นที่ปฏิบัติการทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ นอกจากนี้มีบรรยายพิเศษ แนวทางนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดสกลนคร โดยนางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร
สำหรับบรรยากาศการเสวนามีถ่ายทอดสดผ่าน Facebook live รับชนย้อนหลังได้ที่เพจมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
แพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร เป็นระบบและกลไกในการนำครัวเรือนออกจากความยากจน เริ่มการวิจัยตั้งแต่ปี 2563 และในปี 2566 ทีมนักวิจัยนำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หัวหน้าโครงการวิจัย ได้ดำเนินการใน 2 พื้นที่เป็นอำเภอแก้จนที่มีเป้าหมายร่วมในการขจัดความยากจนทั้งอำเภอ ได้แก่ กุดบากโมเดลและอากาศอำนวยโมเดล
ตามกรอบการวิจัยดังนี้ 1)การสร้างกลไกความร่วมมือร่วมกับหน่วยงาน 2)การพัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้า 3)การพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า 4)สร้างโมเดลแก้จน และ 5)การเชื่อมโยงสู่ยุทธศาสตร์แก้จนแผนพัฒนาระดับจังหวัด ระดับอำเภอและท้องถิ่น
กรอบการวิจัยแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร
การดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดรูปแบบความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยบูรณาการและจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน เมื่อปี 2565 ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 551 ครัวเรือน แบ่งเป็นด้านพัฒนาอาชีพ 486 ครัวเรือน และส่งต่อหน่วยงานภาคีช่วยเหลือด้านสงเคราะห์ 65 คน ในปี 2566 มีเป้าหมายช่วยเหลืออย่างน้อย 700 ครัวเรือน
ภาพรวมความยากจนของจังหวัดสกลนคร ปี 2565 มีครัวเรือนยากจน จำนวน 1,210 ครัวเรือน จากพื้นที่ 3 อำเภอ คือ พื้นที่อำเภอกุดบาก พื้นที่ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม พื้นที่ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย รวมกับข้อมูลครัวเรือนยากจนที่เก็บตั้งแต่ปี 2563-2565 มีจำนวนครัวเรือนยากจนทั้งหมดในฐานข้อมูลจำนวน 11,844 ครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนจำนวน 43,753 คน
จากการวิเคราะห์สภาวการณ์ความยากจนจังหวัดสกลนครภาพรวมตามกรอบแนวคิดระบบการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihoods Framework : SLF) มีค่าเฉลี่ย 2.14 อยู่ในระดับอยู่ยาก (จากรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลทุนการดำรงชีพอย่างยั่งยืนจังหวัดสกลนคร ในระบบ PPAOS)
Sustainable Livelihoods Framework : SLF
การแก้จนในประเทศไทยดำเนินการมาต่อเนื่อง หลายโครงการหลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือสนับสนุนไป แต่ยังตอบคำถามสำคัญที่อธิบายด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based) ไม่ได้คือ หนึ่งครัวเรือนยากจนที่ได้รับการช่วยเหลือมีการเปลี่ยนแปลง หรือจะก้าวข้ามจากฐานะความเป็นอยู่เดิมไปสู่ฐานะความเป็นอยู่ที่ดี จะใช้เกณฑ์การชี้วัดอะไร
การระดมสมองความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออก โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายคนจนที่รับผลประโยชน์โดยตรง ได้ส่งเสียงสะท้อนบอก “หน้าตาความยากจน” แต่ละบริบทพื้นที่มีลักษณะอย่างไร ทุนดำรงชีพอะไรที่สำคัญในครัวเรือนหรือทุนอะไรยังมีปัญหาอยู่
รวมพลังภาคี “คึดนำกัน” คาดหวังว่าทุกองคาพยพในจังหวัดจะมอง “การแก้จนเป็นหนึ่งเดียว : One Poverty” และร่วมกันพัฒนาตัวชี้วัดที่สำคัญ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์แก้จนจังหวัด แผนการพัฒนา ตัวชี้วัด โครงการ/กิจกรรม เพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ บนฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนเดียวกัน มีเป้าหมายเพิ่มเสถียรภาพทุนดำรงชีพของครัวเรือน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเกิดรูปธรรมขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ตามเป้าหมายขจัดความยากจนให้หลุดพ้นภายในปี 2570
1
โหลดเอกสารคู่มือ รับชมFacebook Live และดูภาพบรรยากาศงานย้อนหลังได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/656a3ccfdab7a18faa6853ae
ข่าว : แตงโมสกลนคร
ภาพ : ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
ภาพหน่วยงานภาคีเครือข่าย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา