12 ธ.ค. 2023 เวลา 02:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมเมื่อลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงแรก ตลาดหุ้นอาจจะย่ำแย่

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยทั่วไปจะกระทำต่อเมื่อธนาคารกลางเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะร้อนแรงเกินไป เกิดการเก็งกำไรในตลาดสินทรัพย์ และความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น
ในทางกลับกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะกระทำก็ต่อเมื่อธนาคารกลางคาดว่าความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป นั้นได้เบาบางลงจนกลับเข้าสู่ระดับปกติแล้ว
ซึ่งอาจเป็นผลดีกับตลาดหุ้น เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจลดลง
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม้ได้ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นอย่างที่คิดก็ได้
เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอีกบริบท อาจบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือภาวะเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงก่อนหน้านี้
ลองมาดูตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯกัน
ที่มา twitter burrytracker
รูปภาพนี้แสดงถึงกราฟของผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1871 ของตลาดหุ้น S&P 500
โดยแสดงถึงพฤติกรรมและความสัมพันธ์ต่างๆของตลาด ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไปจนถึงจุดที่เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
หากสังเกตจะพบว่าในอดีตเมื่อผลตอบแทนเฉลี่ยของ S&P 500 ปรับตัวสูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรง หลังจากนั้นจะเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Inverted Yield Curve หรือก็คือ สถานการณ์ที่พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวซึ่งมีความเสี่ยงด้านเครดิตเดียวกัน
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เนื่องจากขัดกับความคาดหวังแบบดั้งเดิมที่ว่าหากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น พวกเขาอาจจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงในการผูกมัดเงินไว้ในพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลาที่นานขึ้น
ในหลายๆครั้งเมื่อ Inverted Yield Curve เกิดขึ้น มักเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้ กำลังจะได้รับแรงกดดันทางการเงินที่มากขึ้น
ซึ่งตามสถิติแล้ว หากเกิด Inverted Yield Curve หลังจากนั้นสักระยะหนึ่งมักจะตามมาด้วยเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง (แทบสีเทา = วิกฤตเศรษฐกิจถดถอย)
ที่มา fred.stlouisfed.org
สัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจอาจจะย่ำแย่ลงอย่าง Inverted Yield Curve บวกกับเงื่อนไขการให้กู้ยืมเงินที่มีความเข้มงวดมากขึ้นจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลให้ผู้บริโภคและธุรกิจใน S&P500 ต้องแบกรับภาระหนี้จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ภาระหนี้และเงื่อนไขทางการเงินที่ย่ำแย่จากสถานการณ์ดังกล่าวจะมีส่วนทำให้ผลประกอบการของบริษัทใน S&P500 นั้นออกมาแย่ลง
และด้วยการกู้ยืมเงินที่ยากขึ้นนี้เอง หากแผนทางการเงินของบริษัทไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ ในบางกรณีอาจทำให้บริษัทนั้นเกิดวิกฤตทางการเงินหรือล้มละลายได้ เนื่องจากบริษัททำกำไรได้น้อยลง ขาดสภาพคล่อง รวมถึงอาจไม่สามารถจำหน่ายหุ้นกู้ได้ตามแผน และอื่นๆ
และด้วยภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ยังทำให้ผู้บริโภคมีการบริโภคสินค้าและบริการน้อยลงจึงส่งผลเชิงลบกับรายได้ของธุรกิจใน S&P500 เป็นผลให้ผลตอบแทนเฉลี่ยของ S&P 500 จะเริ่มลดลงตามไปด้วยในเวลาต่อมา
และเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมที่เคยร้อนแรงชะลอตัวลงตามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดการณ์ไว้แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯจึงจะเริ่มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือที่เรียกกันว่าการ Cut rate นั่นเอง
ซึ่งตามสถิติในรูปภาพจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก หลังจากนั้นผลตอบแทนเฉลี่ยของ S&P 500 ได้มีการลดน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงเวลาหนึ่งก่อน ถึงจะมีการกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี หากมาดูสถานการณ์ล่าสุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในช่วง 5.25% - 5.5% โดยยังคงเหลือการปรับขึ้นอีก 1 ครั้งตามแผนที่พวกเขาประกาศเอาไว้
ซึ่งตลอดเวลาที่ดำเนินนโยบายมา เงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯได้มีการปรับตัวลดลง โดยอยู่ที่ 3.2% และหากมาดูเงินเฟ้อที่นำอาหารและพลังงานออกไป (Core CPI) จะพบว่ามีการปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยอยู่ที่ 4%
ทำให้นักลงทุนในตลาดมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 5.25% - 5.5% อาจพอเพียงที่จะกดดันเงินเฟ้อให้ลดลงได้แล้ว และธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะคงไว้ในระดับนี้ต่อไปจนกว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นผลให้ราคาหุ้นของบริษัทสหรัฐฯในช่วงนี้มีการกลับตัวเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามาดูที่ ISM Services INDEX ที่บ่งบอกถึงสถานการณ์ภาคการบริการของสหรัฐฯ
ที่มา Tradingeconomics
จากแผนภูมิจะพบว่าแม้กำลังการบริโภคของประชาชนของสหรัฐฯจะลดลงจากก่อนหน้านี้อย่างมาก แต่อาจจะถือว่ายังอ่อนแอไม่เพียงพอหากต้องการจะกดดันเงินเฟ้อที่มาจากภาคบริการให้ลดลงไปกว่านี้
และเมื่อสังเกตวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วง 2000 และ 2008 จะพบว่าในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งอดีตกำลังการบริโภคของประชาชนนั้น อ่อนแอกว่าในปัจจุบันมากพอสมควรก่อนจะมีการกลับมาฟื้นตัว
นั่นอาจหมายความว่า กำลังการบริโภคของประชาชนในสหรัฐฯ หลังจากนี้อาจจะอ่อนแอลงกว่าเดิมก็ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูง
และจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีผลประกอบการออกมาไม่ดีก็เป็นได้
เราจึงอนุมานได้ว่าการกลับตัวของราคาหุ้นของบริษัทในสหรัฐฯ ในบางธุรกิจหรือบางอุตสาหกรรมอาจไม่ใช่การกลับตัวที่แท้จริง
เพราะหากเราเชื่อว่ากำลังการบริโภคของประชาชนในสหรัฐฯสามารถอ่อนแอลงกว่านี้ได้ ผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ควรที่จะลดลงตามไปด้วย
และเมื่อเศรษฐกิจซบเซาลงอย่างแท้จริง นั่นก็ถือเป็น "สัญญาณที่ดี" ให้ธนาคารกลางเริ่มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cut rate) นั่นเอง
จากที่กล่าวมานี้จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมตลาดหุ้นอาจจะย่ำแย่ในช่วงแรกที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นั่นก็เพราะว่า หากจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ธนาคารกลางต้องมั่นใจก่อนว่าเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น อ่อนแอมากพอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการที่จะทำแบบนั้นได้ต้องทำให้กำลังการบริโภคของประชาชนอ่อนแอลงด้วย
เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจกลับมาร้อนแรงเร็วเกินไป จนทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง และเพื่อให้ง่ายต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่กระทบกับอัตราเงินเฟ้อจนเกินไป
และถึงแม้จะเริ่มมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจลดลงก็ตาม แต่ระบบเศรษฐกิจและกำลังการบริโภคของประชาชนจำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเช่นกันในการกลับมาฟื้นตัว
ทำให้ช่วงแรกๆของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ตลาดหุ้นอาจจะย่ำแย่ลงและเมื่อเวลาผ่านไปจึงค่อยกลับมาฟื้นตัวนั่นเอง
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนมานำเสนอเท่านั้น และต้องจำไว้เสมอว่าในวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง มีปัจจัยและตัวแปรไม่เหมือนกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นหลังจากนี้ อาจไม่ได้เป็นไปตามสถิติที่กล่าวไว้ข้างต้นก็ได้ เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา