15 ธ.ค. 2023 เวลา 03:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

“อนุกรมวิธาน” ศาสตร์แห่งการบันทึกและจำแนก | Biology with JRItsme.

🕔 ระยะเวลาในการอ่าน 5 นาที
ขออนุญาตคั่นด้วยตอนสั้น ๆ ที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและหลายเซลล์ที่จะเล่าในตอนต่อ ๆ ไปได้ง่ายขึ้น เคยสงสัยไหมว่าทำไมคนเราถึงรู้ว่าสิ่งมีชีวิตหนึ่งกับสองต่างกัน อยู่กลุ่มเดียวกันหรือต่างกัน มากไปกว่านั้น ยังสามารถระบุความใกล้ชิดทางวิวัฒนาการ (ความเป็นญาติกัน) ได้ด้วย
นั่นเป็นเพราะว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่มนุษย์ค้นพบเจอถูกบันทึกไว้ แค่บันทึกไม่พอ... ยังต้องจัดจำแนกว่าอยู่กลุ่มใด ประเภทใดบ้าง [Classification] ต้องระบุชนิดว่าชนิดนี้เป็นชนิดที่เราเคยเจอที่ไหนหรือเปล่า... ถ้าไม่เจอ ต้องระบุได้ว่าแตกต่างจากชนิดอื่นอย่างไร [Identification] สำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดที่เพิ่งค้นพบ จะถูกตั้งชื่อใหม่ [Nomenclature] ทั้งสามขั้นตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญของศาสตร์แขนงย่อยที่เรียกว่า “อนุกรมวิธาน” [Taxonomy]
อนุกรมวิธาน เป็นศาสตร์วิชาอีกแขนงหนึ่งในชีววิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับการจำแนก การระบุชนิด และการตั้งชื่อ เพื่อใช้เป็นแบบแผนเดียวกันเมื่อต้องสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แน่นอนว่านักวิทยาศาสตร์จะรู้เกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันอยู่แล้ว แต่สำหรับคนธรรมดาสามัญ จะอธิบายเกณฑ์ง่าย ๆ ไปจนถึงเกณฑ์สากลใช้กัน
ตัวอย่างการจัดจำแนกของสัตว์มีกระดูกสังหลัง ที่มา: https://ib.bioninja.com.au/standard-level/topic-5-evolution-and-biodi/53-classification-of-biodiv/dichotomous-keys.html
การจัดจำแนกทำได้โดยการแยกความเหมือน-ความต่าง ตัวไหนที่มีลักษณะเหมือนจะจัดในกลุ่มเดียวกัน ตัวไหนที่ต่างออกไปจะจัดอยู่ในอีกกลุ่มหนึ่ง แยกชั้นเดียวไม่พอยังต้องแยกอีกหลาย ๆ ชั้น อารมณ์เหมือนตอนประถมที่ครูให้เราลองจัดจำแนกตามที่เราสังเกตได้ เนื่องจากแต่ละคนมองลักษณะไม่เหมือนกัน จึงมีเกณฑ์จัดจำแนกที่เป็นสากลใช้ร่วมกัน อีกข้อหนึ่งคือในปัจจุบัน แค่ลักษณะภายนอกไม่เพียงพอต่อการจัดจำแนก ต้องดูอวัยวะภายในร่างกาย ดูเมตาบอลิซึม ลึกไปจถึงระดับยีนเลยทีเดียว
ก่อนการจำแนก ต้องมีการระบุชนิดให้ได้ว่าเป็นตัวเดิมที่เคยเจอ หรือเป็นตัวที่เพิ่งค้นพบ ซึ่งต้องดูลักษณะภายนอก ภายใน เมตาบอลิซึม และยีน เพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อระบุได้ชนิดแล้ว จะต้องระบุชื่อวิทยาศาสตร์ให้ได้อีกด้วย เพราะสิ่งมีชีวิตที่ถูกค้นพบจะบันทึกเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ [Scientific name] และชื่อสามัญ [Common name] ทุกชนิด หากเป็นชนิดใหม่ที่ยังไม่ถูกบันทึก จะนำไปพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
นักวิทยาศาสตร์จะให้ความสำคัญกับชื่อวิทยาศาสตร์มาก เพราะสามารถใช้เทียบความใกล้ชิดทางงวิวัฒนาการ และระบุความแตกต่างระหว่างชนิดได้ง่านขึ้น ชื่อนั้นจะถูกตั้งเป็นภาษาละติน [Latin] ซึ่งเป็นภาษาที่ตายแล้ว แต่ในวงการวิทยาศาสตร์และแพทย์ยังคงอนุรักษ์ไว้
ตัวอย่างชื่อสามัญกับชื่อวิทยาศาสตร์ของกล้วยและแมว ที่มา: https://microbenotes.com/scientific-name/
โดยทั่วไปจะตั้งชื่อในระบบทวินาม [Binomial] ที่ชื่อวิทยาศาสตร์จะประกอบด้วยสองส่วนคือ ชื่อสกุล [Genus] ใช้ระบุความใกล้ชิดทางวิวัฒนาการ เว้นวรรค และชื่อเฉพาะ [Specific epithet] ที่ไว้บอกความแตกต่างระหว่างสปีชีส์ อีกทั้งยังมีการบันทึกชื่อสามัญที่เป็นภาษาอังกฤษให้คนทั่วไปรับทราบ และชื่อท้องถิ่น [Local name] เป็นชื่อที่แต่ละท้องถิ่นเรียกแตกต่างกันไป
ทั้งหมดนี้เป็นการจัดระเบียบสิ่งมีชีวิตให้เหมือนห้องสมุด มีการจัดหมวดหมู่ เรียงลำดับ และบ่งบอกความแตกต่างในแต่ละชนิดระดับพื้นฐานได้ ในตอนต่อไป จะเป็นการขยายกรอบอนุกรมวิธานออกมา เพื่อใช้อธิบายความหลากหลายกับวิวัฒนาการได้ดีขึ้น อย่าลืมติดตามเพจ Mr.BlackCatz. Academy ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ เพื่อไม่พลาดเนื้อหาชีววิทยาฉบับคนทั่วไปเข้าใจง่ายนะครับ 😺

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา