27 พ.ย. 2023 เวลา 09:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

กลไกการวิวัฒนาการ | Biology with JRItsme.

🕕 เวลาที่ใช้ในการอ่าน 6 นาที
ตอนนี้เรารู้แล้วว่าวิวัฒนาการคืออะไร แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไรล่ะ... นักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ “ฌอง ลามาร์ก” [Jean Lamarck] เชื่อว่า “สิ่งมีชีวิตจะมีการปรับเปลี่ยนรูปร่างอวัยวะไปตามการใช้งาน อวัยวะที่ใช้งานมากจะพัฒนาและใหญ่ขึ้น ส่วนอวัยวะที่ไม่ได้ใช้จะเล็กลงและหดหายไป จากนั้นสิ่งมีชีวิตก็จะถ่ายทอดลักษณะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปสู่รุ่นลูกหลาน” เรียกว่า “ทฤษฏีการใช้และไม่ใช้ และการถ่ายทอดลักษณะที่จำเป็น” [Theory of Inheritance of Acquired Characteristics]
ยีราฟตามแนวคิดของลามาร์ก ที่มา: https://simple.wikipedia.org/wiki/Lamarckism
อย่างเช่น ลามาร์กคิดว่า ยีราฟแต่เดิมมีคอสั้น คอที่ถูกใช้งานบ่อยจะพัฒนาให้มีความยาวมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถส่งต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น!!! เพราะรุ่นลูกรุ่นหลานอาจไม่ได้เกิดมาคอยาวแต่ต้น ทฤษฎีของลามาร์กจึงถูกปัดตกไป แต่กลับถูกต่อยอดโดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า “ชารล์ส ดาร์วิน” [Charles Darwin]
นกฟินซ์ทั้งหมดที่ดาร์วินค้นพบบนเกาะกาลาปากอส ที่มา: https://happygringo.com/blog/darwins-galapagos-finch/
ครั้งหนึ่งดาร์วินได้เดิทางศึกษาสิ่งมีชีวิตที่หมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งแต่ละบริเวณของหมู่เกาะจะมีสภาพแวดล้อมที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง เช่น ทะเลทราย ป่าดิบชื้น ทุ่งหญ้า เขาสังเกตเห็นลักษณะของนกฟินซ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณของหมู่เกาะ เขาจึงศึกษามันว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับนกฟินซ์เหล่านี้ บวกกับนำทฤษฎีของลามาร์กมาต่อยอดอีกครั้ง จนได้เป็น “กฎการคัดสรรตามธรรมชาติ” [Natural selection law]
ซึ่งว่าด้วยการคัดสรรสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่เท่านั้น หากไม่เหมาะจะถูกคัดสรรออกหรือสูญพันธุ์ไปนั่นเอง เช่น นกฟินซ์ในทะเลทรายจะพบชนิดปากแหลม เพราะดูดกินเกสรจากดอกกระบองเพชร ส่วนนกฟินฟินซ์ในป่าจะพบชนิดปากทู่ เพราะต้องใช้กะเทาะเมล็ดแข็งจากลูกไม้
ดาร์วินพบว่าในอดีต นกฟินซ์ปากทู่จากแผ่นดินใหญ่อพยพเข้ามาในหมู่เกาะกาลาปากอส แล้วกระจายประชากรไปตามบริเวณต่าง ๆ หมู่เกาะ เนื่องจากแต่ละบริเวณมีสภาพแวดล้อม น้ำ อาหาร ที่ต่างออกไป จึงปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่นั้น ทำให้ตัวที่ปรับตัวไม่ได้ต้องย้ายถิ่นที่อยู่หรือตายลงไป ซึ่งนั่นคือการคัดเลือกสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสม เมื่อปรับตัวได้จะออกลูกออกหลานจนเกิดความแปรผันทางพันธุกรรมให้แสดงลักษณะที่เหมาะสม นั่นคือรูปร่างปากที่เหมาะกับอาหารนั่นเอง
สรุปกฎการคัดสรรตามธรรมชาติของดาร์วินได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม จะต้องปรับตัว [Adaptation] ให้อยู่ได้ ถ้าอยู่ไม่ได้จะต้องถูกคัดสรร [Selection] ให้ย้ายไปอยู่สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมหรือสูญพันธุ์ลงไปหากอยู่ที่ไหนไม่ได้ เมื่อถูกคัดสรรให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมนั้น จะส่งต่อและแปรผันพันธุกรรมให้รุ่นลูก รุ่นหลานมีลักษณะที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมนั้นมากขึ้นนั่นเอง
หลายคนอาจเคยได้ยินสำนวน “อ่อนแอก็แพ้ไป!!!” กฎการคัดสรรตามธรรมชาติก็มีใจความแบบนั้นเองเช่นกัน เพียงแต่ธรรมชาติยังให้โอกาสในการปรับตัว เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเหมาะสมที่จะถูกคัดสรรให้อยู่รอดนั่นเอง นอกจากที่กฎนี้ใช้กับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ถ้าสังเกตดี ๆ ชีวิตมนุษย์เรากำลังถูกคัดสรรแบบนั้นเช่นกัน หากอ่อนแอ อาจไม่มีกิน ไม่มีที่ยืน ไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ดี... เรายังมีโอกาสที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นอยู่เสมอ เราอาจไม่จำเป็นต้องเอาชนะธรรมชาติ แต่เราแค่เอาชนะข้อจำกัดบางอย่างเพื่อให้ใช้ชีวิตที่มีความสุขขึ้น เช่น ภาระทางการเงิน การศึกษาที่สูงขึ้น การประกอบอาชีพ การมีครอบครัว แค่นั้นก็เพียงพอต่อการคัดสรรให้อยู่รอดแล้วครับ
ในตอนต่อไป ผมจะพาทุกคนรู้จักวิธีที่สิ่งมีชีวิตใช้ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมกันครับ อย่าลืมติดตามเพจ Mr.BlackCatz. Academy ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ เพื่อไม่พลาดเนื้อหาชีววิทยาฉบับคนทั่วไปเข้าใจง่ายนะครับ 😺
รูปปกคือหนึ่งในนกฟินช์ที่ดาร์วินพบเจอบนเกาะกาลาปากอส ชื่อวิทยาศาสตร์ Geospizinae subfamily ชื่อสามัญ Darwin's finches ที่มา: https://galapagosconservation.org.uk/species/darwins-finches/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา