5 ม.ค. เวลา 05:47 • การตลาด

5 โมเดลการตลาดสำหรับนักการตลาดมือใหม่ที่ต้องรู้

โมเดลการตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักการตลาดในการเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าและกำหนดกลยุทธ์การตลาด
นักการตลาดหน้าใหม่จะได้รับประโยชน์จากการทำความเข้าใจโมเดลการตลาด เนื่องจากโมเดลการตลาดเหล่านั้นสามารถให้กรอบการทำงานสำหรับการวางแผน การนำไปใช้ และการประเมินกลยุทธ์ทางการตลาด
โดยโมเดลการตลาดหลักๆ ที่นักการตลาดหน้าใหม่ควรที่จะรู้จักและทำความคุ้นเคยไว้ มีอะไรบ้างเราลองมาดูกัน
  • SWOT
SWOT ย่อมาจาก Strengths (จุดแข็ง), Weaknesses (จุดอ่อน), Opportunities (โอกาส), และ Threats (อุปสรรค)
จุดประสงค์ คือ เพื่อให้เข้าใจและประเมินปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา
ปัจจัยภายใน
Strengths = สิ่งที่ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเราทำได้ดีและเหนือกว่าคู่แข่ง เช่น ทักษะเฉพาะตัว ทรัพยากร หรือข้อได้เปรียบทางการตลาด จุดเด่นต่างๆ เป็นต้น
Weaknesses = สิ่งที่ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเราทำได้ไม่ดีหรือด้อยกว่าคู่แข่ง เช่น กระบวนการภายในบริษัท ข้อจำกัดของทรัพยากรของแบรนด์ เป็นต้น
ปัจจัยภายนอก
Opportunities = ปัจจัยภายนอกที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา เช่น แนวโน้มของตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้ใช้งานหรือพบเห็นผลิตภัณฑ์และบริการของเรา เป็นต้น
Threats = ปัจจัยภายนอกที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา เช่น การแข่งขันหรือความท้าทายทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบจากภาครัฐ เป็นค้น
  • ตัวอย่างการใช้ SWOT ในกรณีเป็นร้านอาหารทั่วไป
- จุดแข็ง (Strengths) = อาหารรสชาติอร่อย, บรรยากาศร้านดี, ราคาเหมาะสม และทำเลที่ตั้งสะดวก
- จุดอ่อน (Weaknesses) = พนักงานบริการไม่ทั่วถึง และทำโปรโมชั่นได้ไม่มาก
- โอกาส (Opportunities) = เทรนด์อาหารสุขภาพกำลังมาแรง และพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องความสะอาดมากขึ้น
- อุปสรรค (Threats) = การแข่งขันในตลาดสูง และต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น
  • STP
STP ย่อมาจาก Segmentation (การแบ่งกลุ่ม), Targeting (การกำหนดเป้าหมาย) และ Positioning (การวางตำแหน่ง)
จุดประสงค์ คือ เป็นแนวคิดเชิงกลยุทธ์ในการแบ่งส่วนตลาด การกำหนดเป้าหมายกลุ่มเฉพาะ และการวางตำแหน่ง เพื่อให้ทราบถึงภาพรวมและแนวทางดำเนินงานและเป้าหมายที่ชัดเจนของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา
Segmentation = แบ่งกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะสามารถกลายมาเป็นลูกค้าของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา โดยออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามลักษณะ ความต้องการ หรือพฤติกรรม
Targeting = เลือกกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความสามารถของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา
Positioning = กำหนดคุณค่าที่โดดเด่นที่เราจะนำเสนอ และวางตำแหน่งธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของเรา
  • ตัวอย่างการใช้ STP ในกรณีเป็นร้านอาหารนานาชาติ
แบ่งกลุ่ม (Segmentation)
- ภูมิศาสตร์ พื้นที่ในเมือง และชานเมืองที่มีประชากรหลากหลาย
- ข้อมูลประชากร วัยรุ่น วัยทำงาน ครอบครัว และบุคคลทั่วไปที่สนใจอาหารนานาชาติ
- ไลฟ์สไตล์ ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และผู้ที่มีความสนใจในรสชาติแปลกใหม่
- พฤติกรรม ผู้ชื่นชอบอาหาร บุคคลที่แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ
กำหนดเป้าหมาย (Targeting) = บุคคลทั่วไปที่สนใจอาหารนานาชาติที่ชื่นชอบรับประทานอาหารสุขภาพ
วางตำแหน่ง (Positioning)
- สูตรอาหารนานาชาติที่ปรุงโดยเชฟผู้มากประสบการณ์ หรือได้รับรางวัล
- บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเองพร้อมองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย
- เมนูประกอบด้วยอาหารหลากหลายที่จัดไว้ให้ตามความชอบที่แตกต่างกัน รวมถึงตัวเลือกอาหารมังสวิรัติและอาหารปราศจากกลูเตนและวัตถุดิบปรับแต่งพันธุกรรม (GMO)
- มีส่วนร่วมในการบริการลูกค้าโดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมและอาหารนานาชาติเหล่านั้น
  • AIDA
AIDA ย่อมาจาก Awareness (การรับรู้), Interest (ความสนใจ), Desire (ความต้องการ) และ Action (การกระทำ)
จุดประสงค์ คือ เป็นกรอบแนวคิดเพื่อระบุขั้นตอนการมีส่วนร่วมของลูกค้าในกระบวนการซื้อ ตั้งแต่ทำให้ลูกค้ารู้จัก สนใจ จนเกิดเป็นความต้องการ และทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์และบริการของเรา
Awareness = โฆษณาบนโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล และสื่อสิ่งพิมพ์
Interest = รีวิวจากบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์
Desire = คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
Action = รีวิวผลลัพธ์หรือประสบการณ์จากผู้ใช้งานจริง
  • ตัวอย่างการใช้ AIDA ในกรณีเป็นร้านอาหารเปิดใหม่
Awareness (ทำให้รู้จัก)
- ออกโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล นำเสนอภาพลักษณ์ของร้านอาหารที่ทันสมัย น่านั่ง
Interest (ทำให้สนใจ)
- จัดทำรีวิวร้านอาหารโดยบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์ นำเสนอบรรยากาศร้าน รสชาติอาหาร และความคุ้มค่า
- โพสต์ภาพและวิดีโอของอาหารบนสื่อสังคมออนไลน์ กระตุ้นความอยากอาหาร
Desire (ทำให้เกิดความต้องการ)
- นำเสนอเมนูอาหารหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกความต้องการ
- นำเสนอโปรโมชั่นส่วนลดและสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ
Action (ทำให้เกิดการตัดสินใจ)
- อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการสั่งอาหารและรับอาหาร เช่น บริการเดลิเวอรี บริการจองโต๊ะล่วงหน้า
  • 5Cs
5Cs ย่อมาจาก Company (บริษัท), Customer (ลูกค้า), Competitor (คู่แข่ง), Collaborators (ผู้ทำงานร่วมกัน) และ Climate (สภาพแวดล้อมภายนอก)
จุดประสงค์ คือ เป็นกรอบการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางการตลาดทั้งปัจจัยภายในและภายนอกของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา เพื่อกำหนดกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะคล้ายคลึงกับ SWOT แต่ใช้วิธีและให้ข้อมูลที่ต่างกัน
Company = วิเคราะห์ตัวบริษัทเอง โดยรวมถึงวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ขีดความสามารถ สายผลิตภัณฑ์ วัฒนธรรมองค์กร และวัตถุประสงค์ของบริษัท
Customer = วิเคราะห์ลูกค้า โดยรวมถึงความต้องการ พฤติกรรม ทัศนคติ และปัจจัยแวดล้อม
Competitor = วิเคราะห์คู่แข่ง โดยรวมถึงจุดแข็ง จุดอ่อน กลยุทธ์ และทิศทางการแข่งขัน
Collaborators = วิเคราะห์ช่องทางการจัดจำหน่าย โดยรวมถึงช่องทางการเข้าถึงลูกค้า กระบวนการจัดส่ง และความสัมพันธ์กับคู่ค้า
Climate = การวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมภายนอก โดยรวมถึงเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี และวัฒนธรรม
  • ตัวอย่างการใช้ 5Cs ของในกรณีเป็นร้านอาหารอิตาเลียน
Company (บริษัท)
- ประเภท เป็นร้านอาหารอิตาเลียนระดับพรีเมี่ยม
- ข้อเสนอหลักของร้าน คือ อาหารอิตาเลียนที่ผสมผสานความทันสมัย ​​รายการไวน์ที่หลากหลาย และบรรยากาศที่หรูหรา
- ข้อเสนอการขายที่ไม่ซ้ำใคร อาหารอันเป็นเอกลักษณ์ที่รังสรรค์โดยเชฟผู้ได้รับรางวัล โดยเน้นที่วัตถุดิบคุณภาพสูงภายในท้องถิ่น
Customer (ลูกค้า)
- กลุ่มเป้าหมาย ชาวเมืองที่ร่ำรวย คู่รัก และนักชิมที่กำลังมองหาประสบการณ์การรับประทานอาหารที่หรูหรา
- ข้อมูลประชากร อายุ 25-45 ปี และมีรายได้สูง
- ไลฟ์สไตล์ ชื่นชอบการรับประทานอาหารรสเลิศ เพลิดเพลินกับการสำรวจหน้าตาของอาหารที่น่าสนใจ ให้ความสำคัญกับคุณภาพและรสชาติของอาหาร
Competitor (คู่แข่ง)
- คู่แข่งโดยตรง ร้านอาหารอิตาเลียนระดับพรีเมี่ยมอื่นๆ ในพื้นที่
- คู่แข่งทางอ้อม ร้านสเต็กสุดหรู ร้านอาหารฝรั่งเศสและเมดิเตอร์เรเนียน ในพื้นที่
- ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน การนำเสนอเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ วัตถุดิบภายในท้องถิ่น เชฟผู้มีชื่อเสียง ไวน์ที่คัดสรรเป็นพิเศษ
Collaborators (ผู้ทำงานร่วมกัน)
- เกษตรกรและซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น ร้านอาหารร่วมมือกับผู้ผลิตในท้องถิ่นเพื่อวัตถุดิบสดใหม่คุณภาพสูง
- ผู้จัดจำหน่ายไวน์ เป็นพันธมิตรกับไร่องุ่นที่มีชื่อเสียงสำหรับไวน์ที่หลากหลายและได้รับการดูแลจัดการ
- นักวางแผนกิจกรรม ทำงานร่วมกันกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีไลฟ์สไตล์หรูหรา สำหรับกิจกรรมพิเศษและนำเสนอประสบการณ์การรับประทานอาหารแบบส่วนตัว
Climate (สภาพแวดล้อมภายนอก)
- เศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อาจไม่ได้กระทบอะไรมากนัก เนื่องจากกลุ่มหมายเป็นที่มีร่ำรวยและมีรายได้สูง
- สังคมและวัฒนธรรม ความสนใจในประสบการณ์รับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้น กลุ่มหมายเป็นที่มีร่ำรวยให้ความสำคัญกับการบริการมากเป็นพิเศษ
- เทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีสำหรับการจองออนไลน์ โปรโมชั่น และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า
- กฎหมายและข้อบังคับ ร้านอาหารดำเนินการสอดคล้องกับกฎระเบียบด้านสุขภาพและความปลอดภัย ใบอนุญาตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรฐานคุณภาพอาหาร
- สิ่งแวดล้อม เน้นความยั่งยืนด้วยความพยายามในการลดขยะอาหารและใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • 4Ps
4Ps ย่อมาจาก Product (ผลิตภัณฑ์), Price (ราคา), Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย) และ Promotion (การส่งเสริมการตลาด)
จุดประสงค์ คือ เป็นกรอบแนวคิดเพื่อให้นักการตลาดสามารถกำหนดกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา
Product = ผลิตภัณฑ์หรือบริการมีลักษณะและคุณสมบัติอย่างไร และผลิตภัณฑ์หรือบริการมีคุณภาพระดับใดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และอยู่ในตำแหน่งใดในตลาด และสื่อถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างไร
Price = ผลิตภัณฑ์หรือบริการถูกวางตำแหน่งว่าเป็นสินค้าระดับใด หรือราคาเป็นมิตรกับลูกค้าและการกำหนดราคาสะท้อนถึงมูลค่าการรับรู้ของผลิตภัณฑ์หรือบริการได้อย่างไร
Place = ลูกค้าจะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนและอย่างไร (เช่น ร้านค้าปลีก แพลตฟอร์มออนไลน์) สินค้าจะถูกขนส่งและจัดเก็บอย่างไรก่อนถึงมือลูกค้า และลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกเพียงใด
Promotion = ช่องทางและสื่อใดที่จะใช้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการ มีแรงจูงใจในระยะสั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อหรือไม่ ผลิตภัณฑ์ถูกนำเสนอในสื่อและต่อสาธารณะอย่างไร
  • ตัวอย่างการใช้ 4Ps ของในกรณีเป็นร้านกาแฟ
Product (ผลิตภัณฑ์)
- การออกแบบผลิตภัณฑ์ นำเสนอกาแฟที่มีเอกลักษณ์และดึงดูดสายตา โดยเน้นที่ลาเต้อาร์ต
- คุณภาพ การจัดหาเมล็ดกาแฟระดับพรีเมียมและใช้วัตถุดิบออร์แกนิกจากท้องถิ่นสำหรับกาแฟและขนมอบในร้าน
- การสร้างแบรนด์ วางตำแหน่งร้านกาแฟให้เป็นสถานที่ที่สะดวกสบายและเป็นมิตรสำหรับผู้ชื่นชอบกาแฟและลูกค้าทั่วไป ร้านมีพื้นที่กว้างและเงียบสงบ
Price (ราคา)
- ราคา ตั้งราคาในระดับที่สะท้อนถึงคุณภาพของสินค้าในขณะที่ยังคงสามารถเข้าถึงได้ โดยตั้งราคาให้สอดคล้องกับคุณภาพของวัตถุดิบและปริมาณสินค้า
- ส่วนลด เสนอโปรแกรมสะสมคะแนน ส่วนลดสำหรับการซื้อจำนวนมาก หรือการส่งเสริมการขายเป็นครั้งคราวเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น โปรโมชั่นตามเทศกาล
- มูลค่าที่รับรู้ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกค้ารู้สึกว่าตนได้รับความคุ้มค่าจากเงินที่จ่ายไปผ่านคุณภาพของสินค้า โดยอาจให้ทำแบบสอบถามเพื่อแลกกับส่วนลด
Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย)
- สถานที่ตั้ง เลือกสถานที่ที่มีคนสัญจรไปมาสูงและบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
- การนำเสนอทางออนไลน์ นำเสนอการสั่งซื้อออนไลน์สำหรับการรับและจัดส่งผ่านแอปหรือแพลตฟอร์มการจัดส่งยอดนิยม
- บรรยากาศ สร้างบรรยากาศสบายๆ ด้วยที่นั่งที่สะดวกสบายและ Wi-Fi ฟรีสำหรับลูกค้าที่ต้องการพักผ่อน
Promotion (การส่งเสริมการตลาด)
- แคมเปญโซเชียลมีเดีย ดำเนินแคมเปญเพื่อโปรโมตเครื่องดื่มตามฤดูกาล แสดงคำรับรองจากลูกค้า และประกาศกิจกรรมพิเศษ
- โปรโมชันในร้าน นำเสนอโปรโมชันแบบจำกัดเวลา เช่น ขนมอบฟรีเมื่อซื้อเครื่องดื่มบางอย่าง
- การมีส่วนร่วมของชุมชน การร่วมมือกับกิจกรรมและเทศกาลในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มการมองเห็นแบรนด์และการมีส่วนร่วมของชุมชน
โมเดลการตลาดแต่ละโมเดลที่กล่าวมานี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเราได้มากมาย
และทุกโมเดลล้วนแต่สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประเมินหรือทำให้ทราบและเห็นถึงภาพรวมของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา
โดย SWOT สามารถใช้สำหรับธุรกิจทุกประเภท เพื่อประเมินปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น ธุรกิจใหม่อาจใช้ SWOT เพื่อประเมินโอกาสและความท้าทายในตลาดใหม่ หรือธุรกิจที่ดำเนินกิจการมานานอาจใช้ SWOT เพื่อประเมินความเสี่ยงจากการแข่งขันหรือการเปลี่ยนแปลงของตลาด
STP สามารถใช้สำหรับธุรกิจที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เช่น ธุรกิจแฟชั่น ธุรกิจอาหาร อาจใช้ STP เพื่อแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามอายุ เพศ ไลฟ์สไตล์ หรือความสนใจ เป็นต้น
AIDA สามารถใช้สำหรับธุรกิจที่ต้องการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้า อย่างธุรกิจขายสินค้าออนไลน์อาจใช้ AIDA เพื่อกำหนดลำดับขั้นตอนในการทำการตลาด
เช่น การสร้างการรับรู้ผ่านโฆษณาบนสื่อดิจิทัล การสร้างความสนใจผ่านรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ การสร้างความต้องการผ่านคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อผ่านโปรโมชั่นต่างๆ
5Cs สามารถใช้สำหรับธุรกิจที่ต้องการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางการตลาดทั้งหมด เช่น ธุรกิจร้านอาหารอาจใช้ 5Cs เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เช่น คู่แข่ง พฤติกรรมของลูกค้า แนวโน้มของตลาด ความสามารถของคู่ค้า และปัจจัยแวดล้อมภายนอก
4Ps สามารถใช้สำหรับธุรกิจที่ต้องการกำหนดกลยุทธ์การตลาดที่ครอบคลุมทุกด้าน เช่น ธุรกิจเครื่องสำอางอาจใช้ 4Ps เพื่อกำหนดกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การกำหนดราคาที่เหมาะสม การจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ และการสร้างการรับรู้ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาด
และเพื่อให้นักการตลาดหน้าใหม่สามารถเข้าใจและคุ้นเคยกับโมเดลการตลาดทั้ง 5 โมเดลนี้
อาจเลือกใช้วิธีเขียนรายละเอียดต่างๆ ลงในกระดาษเพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์และทำให้เห็นภาพโดยรวมของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการของเรา ในแต่ละโมเดลได้อย่างชัดเจน
เพื่อที่จะได้สามารถเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้ารวมถึงปัจจัยอื่นๆ เพื่อกำหนดกลยุทธ์การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา