22 ธ.ค. 2023 เวลา 11:00 • สุขภาพ

Mental Health City x Gen Z

[#GenerationZ] หรือ [#GenZ] คือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1997 - 2010 (อายุ 13 - 26 ปี ในปี ค.ศ. 2023) ปัจจุบันเป็นวัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นคนกลุ่มแรกที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี (Digital natives) เติบโตมาในช่วงที่สังคม การเมือง และเศรษฐกิจมีความอ่อนไหว
คนเจนนี้ถูกมองว่าเป็นเจเนอเรชันแห่งความหวัง และความเป็นไปได้ เพราะช่วงอายุ 19 - 26 ปี เป็นช่วงที่มนุษย์มีศักยภาพทางกายสูงสุด ก่อนที่ความแข็งแรงและกล้ามเนื้อจะเริ่มส่งสัญญาณความเสื่อมถอยเมื่ออายุเพิ่มชึ้น ในด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และพัฒนาตัวตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านความสัมพันธ์และความสำเร็จ
คนเจน Z เป็นรุ่นที่เติบโตขึ้นพร้อมกับความท้าทายในทุกมิติ (Disenchanted cohort) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความกดดันสูง อายุยังน้อย และยังมีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจไม่มาก ทำให้คนเจน Z ให้ความสำคัญกับสิทธิการเข้าถึงมากกว่าความเป็นเจ้าของ (Access over ownership) ชีวิตที่สะดวกสบาย ความยืดหยุ่น การมีตัวเลือก และความแตกต่างหลากหลาย 32% ของคนเจน Z มองว่าตนเองมีความลื่นไหลทางเพศ (Gender fluidity)
นอกจากนี้ คนเจน Z ยังเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตกับการทำงาน (Work-life balance) ทำให้เป้าหมายเกี่ยวกับความก้าวหน้าในอาชีพของคนเจน Z เชื่อมโยงกับมุมมองที่พวกเขามีต่อตนเอง การสร้างภาพลักษณ์และความประทับใจ การเรียนรู้และการเติบโตงอกงามเฉพาะบุคคล และความมั่นคงทางการเงินส่วนบุคคลมากกว่าความมั่นคงขององค์กรหรือนายจ้าง
นอกจากนี้ ความตระหนักถึงผลกระทบของโครงสร้างทางสังคมที่มีต่อการใช้ชีวิต ทำให้คนเจน Z ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามเชิงระบบ ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ ความรับผิดชอบ และความยั่งยืน
ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนเจน Z จะมีอายุ 23 - 36 ปี และต้องเผชิญความท้าทายที่หลากหลายไปพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้นตามช่วงอายุ คนเจน Z จำเป็นต้องวางแผนการจัดการทรัพย์สินเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มสังคมสูงวัยที่จะทำให้สัดส่วนประชากรแรงงานผู้เสียภาษีเงินได้ให้รัฐมีน้อยกว่าผู้ที่ต้องการสวัสดิการรัฐอย่างเข้มข้นเช่นเด็กและผู้สูงอายุ ประกอบกับสินทรัพย์ดั้งเดิมมีเหลือในตลาดอย่างจำกัด ทำให้คนเจน Z ต้องมองหาสินทรัพย์และความมั่งคั่งจากช่องทางใหม่ เช่น สินทรัพย์และเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น สอดคล้องกับผลสำรวจว่า 56% ของคนเจน Z พิจารณาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของแผนเกษียณ และคนรุ่นนี้ยังคิดเป็น 74.7% ของนักลงทนคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทยปี ค.ศ. 2022
ประเด็นสุขภาพจิตที่น่ากังวลอย่างยิ่งของคนเจน Z คือ โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัจจัยทางสังคมรอบข้าง มีรายงานว่า 1 ใน 7 ของเยาวชนทั่วโลกอายุ 10 - 19 ปี มีปัญหาสุขภาพจิต รายงานของศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต พบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอายุ 15 ปีขึ้นไปเพียง 28% จากอย่างน้อย 1.5 ล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงการรักษา
และยังพบว่ามีวัยรุ่นอายุ 13 - 17 ปีมากถึง 17.6% มีความคิดฆ่าตัวตาย ทั้งที่ผลการศึกษาระบุว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2029 โรคซึมเศร้าจะเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายอันดับ 2 ของคนอายุ 15 - 29 ปี
ทำให้เห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพจิตจะยิ่งมีความสำคัญสำหรับคนเจน Z มากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น เมืองที่จะส่งเสริมให้คนมีสุขภาพจิตดีจึงต้องเป็นเมืองที่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางสังคมไปพร้อมกับส่งเสริมให้พลเมืองกล้าที่จะตั้งเป้าหมายและสามารถทำให้เป้าหมายเป็นจริงได้
เมืองแห่งอนาคตที่ส่งเสริมสุขภาพจิตคนเจเนอเรชัน Z เป็นเมืองที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้ผ่านนโยบาย สวัสดิการ และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ เช่น การลดหย่อนหรืองดเว้นการเก็บภาษีเงินได้บัณฑิตจบใหม่ การสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
มีการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์พฤติกรรมมาใช้สนับสนุนพฤติกรรมการออมและการลงทุนไปพร้อมกับการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีนโยบายเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับแรงงาน สร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงนวัตกรรม การลงมือปฏิบัติจริง และมีสุขภาวะที่ดีอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ เพื่อลดแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมภายนอกและสนับสนุนให้พลเมืองสามารถให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง การสร้างและบรรลุเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวกกับคนสำคัญได้ดียิ่งขึ้น
องค์กรและสถานที่ทำงานถูกออกแบบโดยพิจารณาจากคุณค่าและความต้องการของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ เช่น ความยืดหยุ่น การให้ความสำคัญกับสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวม การยอมรับและส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย เป็นต้น มีพื้นที่สำหรับใช้สมาธิ (Quiet room) แยกจากพื้นที่ทำงานแบบระดมสมอง (Co-woring space) ห้องทำสมาธิ (Mindfulness area) ห้องนั่งเล่น (Playground) ห้องพักผ่อน (Calm room) พื้นที่รับบริการสุขภาพจิต ห้องประกอบศาสนกิจ พื้นที่สำหรับดูแลเด็กเล็ก เป็นต้น
ที่พักอาศัยในเมืองควรมีความหลากหลายเพื่อรองรับคนทุกกลุ่ม ทุกกลุ่มรายได้ และรสนิยม ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายที่เอื้อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถโยกย้ายหรือยกระดับที่อยู่อาศัยได้เมื่อบริบทในชีวิตเปลี่ยนไป ปัจจุบัน เหตุผลทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่จำกัดส่งผลให้คนเจน Z มีแนวโน้มเช่าอยู่มากกว่าซื้อและซื้อเพื่อลงทุนมากกว่าซื้อเพื่ออยู่อาศัย คนเจน Z 42% ยังอาศัยอยู่กับครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์
การมีเครื่องมือทางการเงินที่จูงใจและสนับสนุนให้คนเจน Z เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ อาจเปลี่ยนภูมิทัศน์อสังหาริมทรัพย์และเปิดประตูให้การพัฒนาเมืองมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่จะมีกำลังซื้อมากขึ้นในอนาคต
เมืองแห่งอนาคตสำหรับคนเจน Z จึงควรเป็นเมืองที่สามารถรองรับและให้การช่วยเหลือพลเมืองหากเกิดปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือในชีวิต ให้การสนับสนุนพลเมืองจนสามารถกลับมาพึ่งพาตนเองได้อีกครั้ง เพื่อเป็นทั้งพลเมืองและผู้เสียภาษีที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ไม่ว่าบุคคลนั้นต้องการสร้างครอบครัว มีบุตร หรือครองตัวเป็นโสดก็ตาม
พื้นที่สาธารณะในเมืองต้องสามารถขับเคลื่อนสุขภาวะของบุคคลได้หลายมิติพร้อมกัน เช่น สามารถผลักดันให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์และความบันเทิงของผู้คนในเมืองไปพร้อมกับช่วยให้บุคคลซึมซับธรรมชาติเพื่อฟื้นคืนและยกระดับสุขภาวะ มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการทำกิจกรรมกลางแจ้งเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมงช่วยยกระดับสุขภาวะแบบองค์รวมได้ สถานที่ภายในเมืองต้องมีส่วนช่วยให้พลเมืองเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในเชิงอาชีพ ความงอกงามในจิตใจ และเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป
นอกจากนี้ พื้นที่สาธารณะและเมืองยังต้องมีความปลอดภัยทั้งในโลกกายภาพและโลกไซเบอร์ มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์สวมใส่แบบพกพา ระบบสัญญาณเครือข่ายไร้สาย เป็นต้น มายกระดับสุขภาพจิตและสุขภาวะของพลเมือง เช่น การติดตามและคาดการณ์สถานการณ์สุขภาพจิตของพลเมืองด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ระบบการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น ทั้งนี้ เมืองควรต้องมีการให้ความสำคัญกับผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อสุขภาพจิตและสุขภาวะของพลเมือง (Digital well-being) อย่างรอบคอบด้วยเช่นกัน
ภายในเมืองควรมีการสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดให้พลเมืองสามารถแสดงความคิดเห็น เสนอแนวทางแก้ปัญหา ไปจนถึงมีส่วนร่วมในการฏิบัติจริงเพื่อแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม ปัจจุบันเยาวชนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยสูงถึง 84% แสดงออกอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม โดยพบว่า 45% ของรายงานผู้มีภาวะวิตกกังวลอันเนื่องมาจากการรับรู้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ (Climate anxiety) เป็นคนเจน Z
นอกจากนี้ มีผลสำรวจรายงานว่ามีเยาวชนมากกว่า 45% พยายามนำเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาพูดคุยในวงสนทนาแต่กลับถูกเมินเฉยโดยสมาชิกในครอบครัว ทั้งที่การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นไม่พียงแต่ช่วยให้เมืองเป็นเมืองที่ดีขึ้นเพื่อพลเมืองทุกคนท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ผลักดันมีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและเรียนรู้ประเด็นที่สนใจกับผู้อื่น
เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์และแรงสนับสนุนทางสังคม เป็นส่วนหนึ่งในการค้นพบและพัฒนาตัวตน เกิดการประเมินและยกระดับความภาคภูมิใจในตน และส่งผลให้เกิดภาวะเชิงบวกกับสุขภาพจิตและสุขภาวะแบบองค์รวม
นอกจากนี้ เมืองควรมีการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี (High-Tech) หรือการนำเสนอประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ (High-Touch) พร้อมสื่อสารแนวทางสนับสนุนแรงงานทั้งโดยรัฐและโดยความร่วมมือกับแต่ละภาคส่วนอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง
เช่น โครงการพัฒนาทักษะแรงงาน โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ การให้งบสนับสนุนหรือการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม การต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนแรงงานศักยภาพสูง องค์ความรู้ และนวัตกรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ ระบบสังคมและนโยบายภายในเมืองทุกระดับควรมีการส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย และเท่าทันมากพอที่จะทำให้เมืองในอนาคตเป็นจุดหมายของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์จะไม่เป็นอุปสรรคต่อแรงงานและพลเมืองในอนาคต ทั้งยังอาจเป็นข้อได้เปรียบให้แรงงานซึ่งเป็นพลเมืองของตนเป็นที่ต้องการของตลาดงานโลก สามารถนำรายได้กลับเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในเมือง และยังคงรักษาอัตลักษณ์ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยและมีความสุขกับวิถีชีวิตที่เลือกอย่างยั่งยืน
Sources: McKinsey, World Economic Forum
อ่านเพิ่มเติม: FutureTales Lab and BMA held Bangkok Foresight Future City Full of Happiness under BKK Rangers Empower Children for City Change https://www.futuretaleslab.com/events/bkkrangers
อ่านเพิ่มเติม: Imagine Our Future Habitat : Greater City for the Next Generation https://www.futuretaleslab.com/events/kmitlworkshophabitat
อ่านเพิ่มเติม: Future Generations and Their Impact on the Future of Living https://www.futuretaleslab.com/events/future-generations-and-their-impact-on-the-future-of-living
#FutureTalesLAB #FutureofWork #WellBeing #FuturePossible #FutureofLiving #MQDC
โฆษณา