Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่าน เขียน เรียน รู้
•
ติดตาม
2 ม.ค. เวลา 02:00 • สุขภาพ
วิธีป้องกันโรคเบาหวานก่อนสายเกินไป
ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (pre-diabetes) เป็นภาวะที่เราอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังเผชิญอยู่ ภาวะนี้ส่งผลต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงในระยะยาวได้หากปล่อยทิ้งไว้ บทความนี้จะสรุปสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับภาวะก่อนเป็นเบาหวานและวิธีป้องกันไม่ให้เราดำเนินสู่การเป็นโรคเบาหวาน
ภาวะก่อนเป็นเบาหวานคืออะไร?
ภาวะก่อนเป็นเบาหวานเป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดของเราสูงกว่าค่าปกติ แต่ยังไม่สูงพอที่จะเรียกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ หมายความว่าร่างกายของเราไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เซลล์ของเราดูดซึมกลูโคสจากเลือด
ทำไมเราต้องสนใจภาวะก่อนเป็นเบาหวาน?
ภาวะก่อนเป็นเบาหวานพบได้ในผู้ใหญ่ประมาณหนึ่งในสามในประเทศสหรัฐอเมริกาและ 720 ล้านกว่าคนทั่วโลก ภาวะนี้ทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เส้นประสาทอักเสบ และสูญเสียการมองเห็นจากเบาหวานขึ้นตา และโดยประมาณ 10% ของผู้ที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวานจะกลายเป็นโรคเบาหวานในแต่ละปี
รู้ได้อย่างไรว่าเรามีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน?
คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวานจะไม่มีอาการใด ๆ วิธีเดียวที่จะทราบได้คือ การตรวจเลือด แพทย์สามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของเราได้โดยวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (ปริมาณกลูโคสในเลือดของเราหลังจากไม่ได้กินอาหารนานอย่างน้อย 8 ชั่วโมง) หรือระดับฮีโมโกลบิน A1c (ปริมาณกลูโคสเฉลี่ยในเลือดของเราในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา)
หน่วยงานควบคุมโรคในประเทศสหรัฐฯ แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 35 ถึง 70 ปีที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนเข้ารับการตรวจภาวะก่อนเป็นเบาหวานและโรคเบาหวาน ทุก 3 ปี
เราทำอะไรเกี่ยวกับภาวะนี้ได้บ้าง?
ข่าวดีก็คือ ภาวะก่อนเป็นเบาหวานสามารถป้องกันและทำให้กลับเป็นปกติได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต นี่คือตัวอย่างบางส่วนที่เราสามารถทำได้เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันเบาหวาน:
1. ออกกำลังกายเป็นประจำ: ตั้งเป้าให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ 5 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อใช้น้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและปรับปรุงความไวต่ออินซูลิน
2. กินอาหารสุขภาพ: เลือกอาหารที่มีน้ำตาลน้อย ไขมันอิ่มตัว และคาร์โบไฮเดรตขัดขาวน้อย เลือกอาหารที่มีไฟเบอร์ โปรตีน ไขมันดีสูง เลือกกินผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดขาว ถั่ว เมล็ดพืช ถั่วเปลือกแข็ง เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เครื่องดื่มหวาน เบเกอรี่ ขนมหวาน และอาหารจานด่วน ควบคุมปริมาณอาหารและจำกัดปริมาณแคลอรี่
3. ลดน้ำหนัก: หากมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน การลดน้ำหนักแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความแตกต่างได้มาก การศึกษาวิจียึแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวานที่ลดน้ำหนักลง 5% ถึง 7% ของน้ำหนักตัวสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ 58% เพื่อลดน้ำหนักอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ให้เลือกกินอาหารสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสมดุล ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มโปรแกรมลดน้ำหนักใดๆ
4. หาแรงสนับสนุน: การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอาจเป็นเรื่องยาก แต่เราไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว ขอความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อน ทีมดูแลสุขภาพ หรือกลุ่มสนับสนุนทางสุขภาพ
ยาสำหรับการรักษาภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
ในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยา เฉพาะสำหรับรักษาภาวะก่อนเป็นเบาหวาน แต่ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูงหรือโรคอ้วน อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย ยาเหล่านี้รวมถึง ยาเมตฟอร์มิน (metformin) ซึ่งเป็นยาที่ลดปริมาณกลูโคสที่ตับผลิต และ ยากกลุ่ม GLP-1 receptor agonists ซึ่งช่วยกระตุ้นการปล่อยอินซูลินและชะลอการย่อยอาหาร
อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ ไม่ใช่ทางลัด แทนการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการใช้ยาอาจมีผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยากับยาอื่น ดังนั้นจึงควรใช้เฉพาะภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น และใช้เฉพาะในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้
สรุป
ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เป็นภาวะที่เราควรใส่ใจ เนื่องจากอาจนำไปสู่โรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หากไม่ได้รับการรักษา แต่เราสามารถป้องกันได้ โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีสุขภาพดี เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารที่ดี ลดน้ำหนัก และหาแรงสนับสนุน หากคิดว่าเราอาจมีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจ ยิ่งเราลงมือทำเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่ภาวะก่อนเป็นเบาหวานจะหายเป็นปกติและมีชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีก็ยิ่งมีมากขึ้นไป
ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีในปีใหม่ Happy New Year Happy New You ครับ
อ้างอิง
Jin J. What Is Prediabetes? JAMA. 2023;330(24):2404. doi:10.1001/jama.2023.17846
สุขภาพ
ไลฟ์สไตล์
อาหาร
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
รู้ทันหมอ
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย