10 ม.ค. 2024 เวลา 07:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

The Boy and the Heron (2023) – ก้าวเดินด้วยสายตาอันสร้างสรรค์

ไม่ได้เกิดและเติบโตกับผลงานแอนิเมชันของ ฮายาโอะ มิยาซากิ เสียเท่าไหร่ ก่อนที่ช่วงท้ายปีที่ผ่านมา ได้สัมผัสกับนิทรรศการทั้งภาพยนตร์และการจัดแสดง ที่ทำให้เราได้เข้าไปสู่ "โลกของจิบลิ" เป็นครั้งแรก และก็ประทับใจในเนื้อหาที่ล้วนพุ่งเป้าเพื่อเชิญชวนคนดูหลากหลายวัย ไปสู่มิติใหม่ผ่านทางสื่อกลางที่เคลื่อนไหวด้วยภาพวาดนับหลายพันเฟรม และหลังพาเราไปเผชิญโลกเวทมนตร์ อ่างอาบน้ำ จิตวิญญาณแห่งพงไพร มิยาซากิ ก็เชื้อเชิญเราไปสู่มิติที่แสนเป็นส่วนตัว อย่างใน "The Boy and the Heron"
“The Boy and the Heron” เล่าเรื่องของ มาฮิโตะ มาคิ หลังสูญเสียแม่ไปจากไฟของสงคราม พ่อของเขา โชอิจิ จึงพากันไปอาศัยกับคุณน้า นัตสึโกะ ในย่านชนบทนอกเมืองกรุง ในฐานะครอบครัวใหม่ ด้วยความใหญ่โตของบ้าน มาฮิโตะ ที่ไม่อาจปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และก้าวผ่านบาดแผลจากการสูญเสีย กลับเผชิญเข้ากับนกกระสานวลสีเงิน ที่โฉบเข้ามาเรียกด้วยเสียงขับขาน ก่อนนำพา มาฮิโตะ ไปสู่หอคอยลึกลับกลางป่า ที่กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่มิติพิศวงของเขา
เฉกเช่นหนังของเขา ที่มักจะพาเราเข้าเรื่องแทบจะทันที “The Boy and the Heron” มาพร้อมการเล่าเรื่องที่เป็นเส้นตรง และแบ่งเป็นองก์ที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งเนื้อหาช่วงแรกที่พา มาฮิโตะ มาสู่ย่านชนบทเพื่อตั้งต้นชีวิตกับคุณแม่คนใหม่ หลังฉากเปิดเรื่องที่เผยให้เห็นไฟแดงฉาน อันโหมกระหน่ำในกรุงโตเกียว ไปสู่ธรรมชาติอันเขียวชะอุ่ม และนกกระสาสีนวลที่โฉบเข้ามา
ตัวหนังมีช่วงองก์แรกที่เล่าอย่างเรียบเฉยและนิ่งเงียบ ก่อนที่คำเชื้อเชิญอันโหวกเหวกของเจ้านกกระสา จะกลายเป็นการ “เปิดประตู” บานใหม่ของมาฮิโตะ ไปสู่การผจญภัยที่เขาไม่เคยพานพบ
หากคุ้นเคยกับโลกของจิบลิ เราก็มักจะคาดเดาได้ถึงสิ่งที่มักจะเจอในเรื่องราวที่ มิยาซากิ ขีดเขียนขึ้น ทั้งตัวเอกที่แม้จะดูธรรมดา (ไม่ว่าจะเพศใด) แต่มักจะมีเป้าหมายอันมุ่งมั่นบางอย่าง ก่อนนำพาตัวเองไปสู่ความน่าตื่นตาอันวิจิตร ซึ่งแตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง
“The Boy and the Heron” ก็เป็นเช่นนั้น หากแต่หนังใช้เวลาองก์แรก เพื่ออุทิศและพูดถึงชีวิตวัยเด็กที่ไม่อาจก้าวข้ามบาดแผลอันใหญ่หลวงของตนเอง นั่นคือ การสูญเสียแม่ผู้ให้กำเนิดไปอย่างไม่มีวันกลับจากไฟของสงคราม พลางการปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ก็ยากยิ่ง
องก์แรกของหนังจึงเต็มไปด้วยห้วงของความเงียบงัน ไร้ซึ่งสีสัน ประกอบเข้ากับดนตรีประกอบเล็กจ้อย ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติอันเขียวขจีของป่าเขา และสุ้มเสียงอันอื้ออึงของคนเฒ่าคนแก่ในคฤหาสน์หลังโต ก่อนที่ นกกระสาสีนวล จะมามอบเป้าหมายให้ มาฮิโตะ ได้ออกผจญภัยในรูปแบบที่เขาไม่คาดคิด แต่เขาก็ไม่ได้หวั่นเกรง ตัวหนังจึงพาเข้าสู่องก์สองที่ละลานตาแฟนตาซี ที่น่าตื่นตะลึงของมิติโลกใบใหม่ ผ่านทั้งภาพวาดที่เปี่ยมสีสัน และดนตรีประกอบที่ใหญ่โตมโหฬารมากขึ้น
ขณะดู เรารู้สึกอย่างเห็นได้ชัดว่าตัวหนัง ไม่ได้เป็นงานแฟนตาซีที่สร้างความจรรโลงใจในปราดแรก แบบแอนิเมชันจิบลิเรื่องอื่น ๆ ทั้งการจัดวางองค์ประกอบเรื่องราวที่แม้จะดูคุ้นเคย ทว่าท่าทีเนื้อหาก็ดูจริงจังและสุขุมกว่า แถมยังมาพร้อมจังหวะที่เงียบขรึม และปล่อยวางกว่าปกติ
แถมด้วยเนื้อหาของหนังก็เป็นผู้ใหญ่ไม่เบา ทั้งการสะท้อนถึงห้วงเวลาญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก ทั้งการบาดเจ็บล้มตายและความลำบากยากเข็ญของผู้คนในยุคนั้น ที่ตื่นตากับเพียงแค่อาหารกระป๋อง และอาชีพหลักของพ่อมาฮิโตะ ที่ผูกพันกับสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากแต่ มาฮิโตะ มีความขัดแย้งในความรู้สึกที่ไม่อาจเป็นส่วนร่วมกับสังคมใหม่ รวมถึงการไม่อาจก้าวข้ามบาดแผลใจที่เขาไม่อาจข้ามพ้น การเผชิญหน้ากับนกกระสาสีนวล จึงดูเป็นโลกใบใหม่ที่น่าค้นหากว่าโลกใบเดิมที่เขาอยู่ พร้อมด้วยพันธกิจที่ผูกเข้ากับปณิธานที่ตนมี เขาจึงพร้อมโดดเข้าสู่โลกใบนั้นอย่างไม่ถอยหลังกลับ
ซึ่งในโลกแฟนตาซีใบนั้น แม้มันจะเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่นเกินคาดคิด โพ้นทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ นกกระสาจงอยยาว ที่มีวงจรชีวิตอันน่ารันทด เจ้าวาราวาราแสนบริสุทธิ์ ที่ชวนยิ้มทันทีที่แรกเห็น หรือกระทั่ง กองทัพนกแก้ว ที่ดูซื่อบื้อจนชวนขำ มันกลับสะท้อนถึงโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงตัวตนของฮายาโอะ มิยาซากิ ได้อย่างเป็นส่วนตัวมาก ๆ ด้วย
ความน่าสนใจในหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นในองก์แรกของหนัง ที่ มาฮิโตะ ค้นพบหนังสือเล่มหนึ่งที่แม่เขาทิ้งไว้ให้อย่าง “How Do You Live?” วรรณกรรมของ เก็นซาบุโร่ โยชิโน่ ตีพิมพ์ในปี 1937 – และเป็นชื่อของหนังเรื่องนี้ตอนฉายในญี่ปุ่น รวมถึงเป็นหนังสือฆ่าเวลาในวัยเด็กของมิยาซากิเองด้วย ถึงแม้การปรากฎตัวของหนังสือภายในหนัง จะไม่ได้ผลักดันหรือส่งเสริมเรื่องราวหลักของเรื่องเลยก็ตาม ทว่าการมีอยู่การสะท้อนหลักใหญ่ใจความของหนังเรื่องนี้ได้อย่างแหลมคม
เพราะแอนิเมชัน คือสื่อกลางนึงที่ช่วยพาเราหลีกหนีไปจากความเป็นจริง เป็นคณูปการชั้นดีที่ภาพยนตร์สามารถมอบให้คนดู ในแบบที่สื่อรูปแบบอื่นไม่อาจ หรือทำได้มีประสิทธิภาพเท่า และผลงานของฮายาโอะ มิยาซากิ ก็เป็นตัวอย่างอันเอกอุในแง่มุมนั้น ที่ช่วยชะล้างความขุ่นมัวที่เรามีในโลกจริง หากแต่ก็ยังชวน ให้เราเชยชมซึ่งความงดงามของธรรมชาติ อีกทั้งยังสะท้อนถึงแง่มุมบนโลกจริง เช่น การต่อต้านสงคราม และยั่วล้อภาพลักษณ์ของกองทัพผ่านการเปรียบเปรยอันน่าขันได้อย่างชาญฉลาด
แต่สิ่งที่ทำให้ “The Boy and the Heron” โดดเด่น และเหมาะสมกับการเป็น “หนังเรื่องสุดท้ายของฮายาโอะ มิยาซากิ” แบบที่เขาป่าวประกาศไปก่อนหน้าอย่างยิ่งยวด เพราะมันสะท้อนถึงแง่มุมวัยเด็ก รวมถึงตัวตนของเขา ในฐานะผู้สร้างสรรค์ได้อย่างลุ่มลึกเกินคาดเดา มันตอกย้ำถึงทัศนคติของเขา ที่สะท้อนผ่านในผลงานมากมายหลายสิบเรื่อง ที่ต่างร่ายมนตร์ขลัง ผ่านเฟรมภาพมากมาย ผ่านงานภาพและเนื้อหาที่จับใจ เพื่อปลอบประโลมความแข็งกระด้าง และสร้างแรงบันดาลใจพลางขณะที่เรากำลังดู
ไม่เพียงแค่นั้น “The Boy and the Heron” ยังส่งเสริม ให้เราชวนลุกขึ้นไปทำในสิ่งที่ มิยาซากิ ได้ทำ นั่นคือการกำหนดซึ่งทางเดินชีวิตของตนเอง ที่แม้โลกจริงอาจไม่สวยหรูแบบที่เราคาดไว้ แต่เราสามารถกำหนด “วิธีใช้ชีวิต” แบบที่เราต้องการได้ มันไม่อาจจะต้องใหญ่โตแบบมิยาซากิ อาจจะไม่สมดุล อาจจะไม่งดงาม แต่อย่างน้อย เราสามารถส่งแรงบันดาลใจเฉกเช่นเดียวกันนี้ ไปยังผู้คนรุ่นต่อไปได้ด้วย
สรุปแล้ว “The Boy and the Heron” คือแอนิเมชันเรื่องล่าสุดจากสตูดิโอจิบลิ ที่ยังคงตอกย้ำถึงความเอกอุของฮายาโอะ มิยาซากิ ในการรังสรรค์โลกที่ไว้หลีกหนีจากความจริงอันเจ็บปวด ทั้งบาดแผลจากสงคราม การข้ามผ่านแผลใจในวัยเด็ก ไปสู่โลกแฟนตาซีเหนือจินตนาการ ที่ยังคงสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างแหลมคม ด้วยจังหวะเล่าที่สุขุมและชวนปล่อยวางมากขึ้น สะท้อนทัศนคติและตัวตน ผ่านแง่มุมวัยเด็กของมิยาซากิ ด้วยการส่งผ่านแรงบันดาลใจ จากคณูปการของการสรรค์สร้างได้อย่างยิ่งยวด
4.5 / 5
The Boy and the Heron - 君たちはどう生きるか (2023)
Written & Directed by Hayao Miyazaki
The Boy and the Heron มีกำหนดฉายในไทย 11 มกราคม 2024

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา