Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่าน เขียน เรียน รู้
•
ติดตาม
19 ม.ค. 2024 เวลา 02:00 • หนังสือ
10 ข้อที่ได้หลังอ่านหนังสือ Outlive the science and art of longevity
1. Lifespan กับ healthspan ควรไปด้วยกัน กล่าวคือ อายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ต้องมีสุขภาพที่ดีควบคู่ไปด้วยกัน ไม่ได้เพิ่มเพียงตัวเลขของอายุ แต่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย
2. โรคสำคัญที่ทำให้ lifespan ไม่มีคุณภาพ ทำลาย health span ได้แก่ 1. เบาหวานและโรคทางเมตาโบลิก 2. โรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะอัลไซเมอร์ 3. มะเร็ง และ 4. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเหล่านี้คือ โรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases) ที่สำคัญในยุคปัจจุบัน
3. แนวคิดที่สำคัญของผู้เขียนเพื่อชีวิตทื่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ คือ Medicine 3.0 หรือการแพทย์ 3.0 หมายถึงแนวคิด การป้องกันโรคปฐมภูมิ (Primary prevention) คือ การป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคต่าง ๆ รวมทั้งการวินิจฉัยโรคหรือความเสี่ยงการเกิดโรคให้เร็วและให้การดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
4. นอกจากนี้ การดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อ health span และ lifespan ที่ยืนยาว ต้องเน้น Proactive > Reactive คือ เน้นเชิงรุก มากกว่าเชิงรับ จัดการตั้งแต่ยังไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ
5. หลักสำคัญของการพัฒนา health span หรือ การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีหลักสำคัญ 5 ประการ เป็นการปรับพฤติกรรมทางสุขภาพ ได้แก่ ออกกำลังกาย (ครอบคลุม แอโรบิก เพิ่ม VO2 max สร้างความแข็งแรงของ กล้ามเนื้อ) อาหาร (จำกัดอาหาร เลือกกิน หรือจำกัดเวลากิน) การนอนหลับพักผ่อน (ทั้งปริมาณและคุณภาพ) การจัดการอารมณ์ความคิดและพฤติกรรม และยา ฮอร์โมน หรืออาหารเสริม คล้าย ๆ หลัก 5 อ ของไทย (อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย อดิเรก และอนามัย)
6. ใครที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพสูง ซึ่งต้องได้รับการคัดกรองยีนส์ก่อโรค หรือผลเลือดบางอย่างที่ตรวจในห้องแล็บพิเศษ (ที่รพ. ทั่วไปตรวจไม่ได้) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เมื่อทราบความเสี่ยงแล้ว คนกลุ่มนี้ควรได้รับการปรับพฤติกรรมทางสุขภาพอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต
7. เนื้อหาโดยภาพรวม เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมทางสุขภาพ มีความเหมือน ๆ หนังสือ non-fiction ทางสุขภาพ แนวคิดการดูแลแทบไม่ได้ต่างกัน สิ่งที่แตกต่าง คือ เน้นการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และให้การดูแลเชิงรุกในคนกลุ่มนี้ จัดการตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งในชีวิตจริง การส่งตรวจตามแนวคิดนี้ยังทำได้ยาก ทำได้เฉพาะคนมีเงิน จึงมีความเหลื่อมล้ำสูง และยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์หรือข้อมูลงานวิจัยมารองรับแนวคิดดังกล่าว แม้ว่าจะมี rationale ที่ดี (หนังสือเลยบอกว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ the science and art of longevity)
8. ส่วนที่ขาดไปของการดูแลรักษาสุขภาพ ตามแนวคิด Medicine 3.0 คือ การป้องกันโรคติดเชื้อ หรือ communicable diseases ซึ่งหลาย ๆ โรคเป็นโรคที่เราสามารถป้องกันได้ (เช่น โควิด ไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส งูสวัด ไวรัสตับอักเสบเอ บี ไข้เลือดออก เป็นต้น) โดยการใช้วัคซีนหรือยา
แต่ผู้เขียนกลับละทิ้งประเด็นสำคัญนี้ไป ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะประเด็นเรื่อง commercial หรือไม่ เนื่องจาก ถ้าแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค อาจทำให้กลุ่ม anti-vax รู้สึกแอนตี้กับหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจึงไม่แตะประเด็นนี้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน ในการเพิ่ม lifespan ไปพร้อม ๆ health span โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ยิ่งลดลง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคมากขึ้น
9. ข้อเขียนบางประเด็นมีความขัดแย้งในตัว เช่น ผู้เขียนกล่าวว่างานวิจัยเชิงสังเกตมีปัญหาว่า ผลที่ได้เป็นเพียงสหสัมพันธ์ไม่สามารถอธิบายความเป็นเหตุเป็นผลได้ (งานวิจัยที่อธิบายความเป็นเหตุเป็นผลได้ คือ งานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม หรือ randomized controlled trial) ดังนั้นงานวิจัยประเภทนี้จึงมีข้อจำกัดในการนำไปใช้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยต่าง ๆ ที่ผู้เขียนอ้างอิงมา หลายงานวิจัยก็เป็นงานวิจัยเชิงสังเกต ซึ่งมีข้อจำกัดดังกล่าวและผู้เขียนเองก็ยกงานวิจัยบางชิ้นที่ผลลัพธ์เข้าได้กับแนวคิดตนเอง โดยไม่ได้ยกงานวิจัยอื่นที่ให้ผลตรงข้ามมาอภิปรายด้วย ลักษณะนี้เข้าทำนอง confirmation bias
10. เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ ให้ความรู้สึกเหมือน influencer ทางสุขภาพมาเล่าเรื่องสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติตัว และดูแลสุขภาพ ให้ความรู้สึกว่าผู้เขียนพยายามชักชวนให้เราเข้าคอร์สดูแลสุขภาพของเขา อ่านแล้วเลยให้ความรู้สึกถูกขายคอร์สไปในตัว อยากให้เราไปติดตามเขาต่อทาง social network หรือ website ของเขา (ประเด็นนี้ทำให้รู้สึกไม่ค่อยชอบหนังสือเล่มนี้มากเท่าไร แต่เนื้อหาหลาย ๆ ส่วนคิดว่ามีประโยชน์ ใครที่ไม่เคยอ่านหนังสือดูแลสุขภาพ แนะนำอ่านเล่มนี้ได้ครับ)
บทท้าย ๆ ที่ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ปัญหาทางสุขภาพจิตและอารมณ์ ดูเป็นการเปิดเผยจุดอ่อนไหวหรือข้อบกพร่องของตัวเอง ทำให้คนอ่านเข้าถึงและเข้าใจตัวผู้เขียนได้ดีขึ้น (แต่ด้วยความรู้สึกถึงเรื่อง commercial เลยไม่รู้ว่าผู้เขียนจริงใจเปิดเผยเรื่องดังกล่าวแค่ไหน หรือเป็น gimmick สำหรับหนังสือ เพื่อกระตุ้นการขายมากกว่า จะเห็นว่า ช่วงนี้ บรรดา influencer ของไทยจะออกมาพูดและเขียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้กันมาก ๆ ดู hype กันมากกับหนังสือเล่มนี้ คงเพราะคนเขียนอาจต้องการเช่นนั้นเหมือนกัน)
สรุป lifespan กับ health span ควรมีควบคู่กัน แต่ที่สำคัญมาก ๆ คือ มันต้องมีความหมายประกบไปด้วยเช่นกัน (meaningful lifespan and health span) แม้จะอยู่นาน สุขภาพดี แต่ไร้ความหมายของชีวืต คงไม่ต่างอะไรกับ ”ซากศพเดินได้“ ครับ
สุขภาพ
ไลฟ์สไตล์
หนังสือ
1 บันทึก
5
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
รู้ทันหมอ
เรื่องเล่าจากหนังสือ
1
5
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย