2 ก.พ. 2024 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สภาพคล่องส่วนเกิน (Excess Liquidity) มีนัยกับเศรษฐกิจอย่างไรแบบเข้าใจง่าย

โดยทั่วไปคำว่า "สภาพคล่อง" ในทางการเงินจะหมายถึง ความสามารถในการแปลงสินทรัพย์กลับมาเป็นเงินสดของสินทรัพย์นั้นๆ
การที่เรามีสภาพคล่องสูง นั่นหมายความว่า สินทรัพย์ที่เรามีอยู่นั้นสามารถแปลงเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความมั่งคั่งของเรานั้นมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วเมื่อเผชิญกับปัญหาหรือความเสี่ยงต่างๆ
เช่น มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับพอร์ตการลงทุนของเรา แต่สินทรัพย์ของเรามีสภาพคล่องที่สูงเราจึงสามารถขายและเปลี่ยนเป็นเงินสด เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นหรือถือเป็นเงินสดไว้ได้ ทำให้เราสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง
แต่คำว่าสภาพคล่องที่เราจะมาพูดคุยกันในครั้งนี้ ก็คือ สถาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจ
โดยเราจะมาทำความเข้าใจกับคำว่า "สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ" กันก่อน
สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่กล่าวถึงนี้ คือ ปริมาณเงินและการหมุนเวียนของเงินที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
โดยหากระบบเศรษฐกิจมีปริมาณเงินและเกิดการหมุนเวียนของเงินในระดับที่สูง จะบ่งบอกว่าเศรษฐกิจโดยรวมนั้นกำลังเติบโต เนื่องจากภาคครัวเรือนมีใช้จ่ายหรือซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นจึงทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน
เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่เมื่อมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น การกู้หนี้ยืมสินเพื่อขยายกิจการหรือนำมาใช้ดำเนินธุรกิจก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
ในทางกลับกันหากระบบเศรษฐกิจมีปริมาณเงินและเกิดการหมุนเวียนของเงินในระดับที่ต่ำ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีการใช้จ่ายน้อยลง
  • เราจะรู้ได้อย่างไรว่าระบบเศรษฐกิจของเรามีสภาพคล่องในระดับที่สูงหรือต่ำ?
โดยทั่วไปแล้ววิธีที่ง่ายที่สุดในการประเมินว่า ระบบเศรษฐกิจของเรานั้นมีสภาพคล่องในระดับที่สูงหรือต่ำ เราจะประเมินจากมาตรวัดปริมาณทางการเงินและเศรษฐกิจอย่าง M1 M2 และ M3
แต่มาตรวัดอย่าง M1 จะบ่งบอกถึงปริมาณเงินและการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจได้ดีที่สุด
โดย M1 จะเท่ากับ ธนบัตร + เหรียญกษาปณ์ + เงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ปริมาณเงินที่หมุนเวียน รวมถึงเหรียญและธนบัตรตลอดจนเงินฝากที่อยู่ในบัญชีกระแสรายวันในธนาคาร
ซึ่งธุรกรรมและปริมาณเงินที่เกิดขึ้นใน M1 มักเป็นเงินที่ประชาชนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
การเปลี่ยนแปลงของ M1 จึงสามาถสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนได้ดีที่สุด ซึ่งการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนก็จะไปส่งผลต่อการใช้จ่ายของภาคธุรกิจอีกทีหนึ่งนั่นเอง
  • ถ้าระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องมากจนเกินไปจะเกิดอะไรขึ้น?
สภาพคล่องส่วนเกินหรือที่เรียกกันว่า Excess Liquidity นั้นหมายถึง สถานการณ์ที่มีปริมาณเงินในระบบการเงินมากเกินความจำเป็นสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ
ให้เข้าใจง่ายๆก็เหมือนการที่เราซื้อสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตแล้วก็ยังมีเงินเหลือในกระเป๋าตัง
ซึ่งสถานการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น รัฐบาลหรือธนาคารกลางอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการนโยบายการคลังและนโยบายทางการเงิน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ
ตัวอย่างเช่น นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลไทย และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโรคระบาด Covid-19 ของสหรัฐฯ
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากสภาพคล่องส่วนเกินไม่ได้มีมากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติเท่าไหร่นัก สภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวนี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาและอาจจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมก็ได้
โดยหากระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องส่วนเกินในปริมาณที่ไม่มากเท่าไหร่นัก จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและใช้จ่ายที่เกินกว่าปกติมาเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นผลดีและก่อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับที่ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหา
หากนึกภาพไม่ออกให้ลองเปรียบสภาพคล่องส่วนเกิน เป็นน้ำในระบบนิเวศของธรรมชาติ
น้ำ คือ สิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตต่างๆในธรรมชาติ หากมีน้ำเพียงพอชีวิตต่างๆในธรรมชาติก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่หากมีน้ำมากจนเกินไปในระบบนิเวศ น้ำที่มากเกินไปนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม หรือการแพร่กระจายของเชื้อโรค
สภาพคล่องส่วนเกินก็เช่นเดียวกัน หากมีมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆในระบบเศรษฐกิจได้
แล้วแบบนี้เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า ในระบบเศรษฐกิจเริ่มมีสภาพคล่องส่วนเกินมากเกินกว่าความจำเป็นสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ
โดยเราสามารถสังเกตได้จากหลายสถานการณ์
  • การเกร็งกำไรและมูลค่าสินทรัพย์เริ่มเพิ่มขึ้น
อย่างที่ได้เปรียบเปรยไว้ว่าสภาพคล่องส่วนเกิน ก็เปรียบเสมือนการที่มีเงินอยู่ในกระเป๋าเยอะ หากมีมากเกินกว่าความจำเป็นสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เงินเหล่านั้นมักจะไหลไปเข้าตลาดสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์โดยรวมปรับตัวสูงขึ้น
โดยจุดนี้เราสามารถสังเกตมาตรวัดอย่าง M2 ร่วมด้วย เนื่องจาก M2 เท่ากับ M1 + เงินฝากประจำของประชาชน + เงินฝากออมทรัพย์ และยังรวมถึงบัญชีที่เกี่ยวกับการตลาดการเงินและสินทรัพย์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทน
การสังเกตการเปลี่ยนแปลงของ M2 จึงทำให้เราทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในตลาดสินทรัพย์ได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากมีปริมาณเงินไหลเข้าตลาดสินทรัพย์มากเกินไปก็จะทำให้เกิดการเกร็งกำไรในสินทรัพย์เหล่านั้น และอาจนำไปสู่ฟองสบู่สินทรัพย์ในท้ายที่สุด
ดังนั้นมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและฟองสบู่สินทรัพย์ จึงมักเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าระบบเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น เริ่มมีสภาพคล่องส่วนเกินมากเกินไปนั่นเอง
  • เกิดเงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยสภาพคล่องส่วนเกินก็เป็นหนึ่งในนั้น สภาพคล่องส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นมากจนเกินความต้องการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ นั้นบ่งบอกว่าภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีการใช้จ่ายที่มากขึ้น
ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และหากอุปทานสินค้าและบริการไม่เพียงพอต่อความต้องการ เงินเฟ้อก็อาจปรับตัวสูงขึ้นได้
ในขณะเดียวกัน สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจที่มากเกินไป จะทำให้ตัวกลางที่เป็นทางผ่านของเงินอย่างธนาคารพาณิชย์มีเงินทุนเหลือเฟือ ที่จะสามารถปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน
ซึ่งจะสนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคธุรกิจและครัวเรือนให้สูงขึ้น และไปผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้อีกทางหนึ่ง
เงินเฟ้อจึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าระบบเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น เริ่มมีสภาพคล่องส่วนเกินมากเกินไปนั่นเอง
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ ดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางกำหนดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมสภาพคล่อง และใช้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์
โดยหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูง อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตาม เช่นเดียวกันหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับตัวลดลง
หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินสำหรับธนาคารพาณิชย์ลดลง ส่งผลให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น
ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
เพราะแม้การกู้ยืมเงินจะเป็นเพียงสัญญาการยืมเงิน และเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นในระบบการเงิน แต่เงินที่กู้ยืมมานั้นส่งผลต่อสภาพคล่องของบุคคลหรือธุรกิจ
ดังนั้นการกู้ยืมเงินที่ง่ายจากการที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ ก็เปรียบเหมือนการเพิ่มปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจด้วยนั่นเอง
โดยหากปัจจัยทั้งสองข้อก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำ นั่นอาจบ่งบอกว่าระบบเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น เริ่มมีสภาพคล่องส่วนเกินมากเกินไปนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจเริ่มเพิ่มขึ้น อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้เช่นกัน
เนื่องจากในช่วงแรกที่สภาพคล่องส่วนเกินเริ่มเพิ่มขึ้น จะเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่าย ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ราคาสินทรัพย์จึงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนบางรายที่สามารถรับความเสี่ยงในจุดนี้ได้
แต่อย่างไรก็แต่ในทางกลับกันเมื่อสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น มากกว่าความต้องการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ เช่น ฟองสบู่ในสินทรัพย์ เงินเฟ้อ หรือการเก็งกำไร
ดังนั้นนักลงทุนจึงควรระมัดระวังในการลงทุน และควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ข้อมูลการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารต่างๆ และข้อมูลปริมาณเงิน M1 M2 และ M3 ร่วมด้วย
และควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายทางการคลังและการเงินอย่างใกล้ชิด และปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงนั่นเอง
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนมานำเสนอเท่านั้น เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา