6 ก.พ. 2024 เวลา 02:00 • หนังสือ
แขวงตลาดน้อย

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ: ตลาดน้อย ชุมชนจีนกับประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม

ช่วงเวลาแห่งวันตรุษจีนใกล้เข้ามาแล้ว ประจวบกับที่ผู้เขียนได้อ่านวรรณกรรมชื่อยาวเหยียด "พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ" ของคุณแหม่ม วีรพร นิติประภา จบไปหมาด ๆ แม้ชื่องนิยายเรื่องนี้จะดูไม่น่าเกี่ยวอะไรกับวันตรุษจีน แต่ที่จริงแล้วมันเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งเพราะนวนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องครอบครัวชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ดังนั้นผู้เขียนจึงถือโอกาสปีใหม่จีนนี้ในการหยิบเอาหนังสือเล่มนี้มาเล่าสู่กันฟัง
คนไทยมักจะเรียกวันตรุษจีนว่า Chinese New Year หรือวันปีใหม่จีน แต่ในภาษาอังกฤษที่จริงแล้วมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Lunar New Year หรือวันปีใหม่พระจันทร์ เพราะปีใหม่ตามปฏิทินทั่วไปที่ใช้กันในปัจจุบันนั้นนับตามปฏิทินแบบสุริยคติ ส่วนปฏิทินจีน (และอีกหลาย ๆ วัฒนธรรมในเอเชีย) เป็นปฏิทินจันทรคติที่อิงตามพระจันทร์ จีนไม่ใช่ชาติเดียวที่ฉลองปีใหม่ในวันตรุษจีน แต่ยังมีชาวเวียดนามและเกาหลีที่ฉลองปีใหม่ในวันเดียวกันนี้ ในไทยบางครั้งจึงอาจมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าตรุษญวณ หรือ "เต๊ด" ในภาษาเวียดนาม
ทุกวันนี้ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย อาจจะไม่ได้ฉลองตรุษจีนตามธรรมเนียมอีกแล้ว และตรุษจีนก็กลายเป็นเหมือนเทศกาลที่มีการตกแต่งตามห้าง ผู้คนแต่งตัวด้วยชุดสีแดง มีโปรโมชั่น ไปกินอาหารจีน ฯลฯ มากกว่าที่จะเป็นงานรวมญาติไปเสียแล้ว แน่นอนว่านั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร อย่างไรก็ตามมันชวนให้เราย้อนกลับมามองว่ามีความเป็นจีนอะไรบ้างที่คนไทยเชื้อสายจีนค่อย ๆ ลืมมันไปตามกาลเวลา
นับตั้งแต่ประเทศไทยยังเป็นสยามประเทศ ผืนดินแห่งนี้ก็เต็มไปด้วยคนหลากหลายชนชาติ โดยเฉพาะชาวจีน เราเรียนกันในโรงเรียนว่าในสมัยอยุธยามีชุมชนชาวจีน มีหมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านญี่ปุ่น มีบุคคลสำคัญที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้าตากสิน (ชาวจีนแต้จิ๋ว), ฟอลคอน (ชาวกรีก), ท้าวทองกีบม้า (ลูกผสมโปรตุเกส, ญี่ปุ่นม เบงกอล), ยามาดะ นากามาซะ (ญี่ปุ่น) แต่แล้วชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไรกัน ลูกหลานของคนเหล่านี้ยังอาศัยอยู่ในผืนดินไทยหรือไม่
แน่นอนว่าลูกหลานชาวจีนยังคงอยู่ และยังมีชาวจีนอพยพเข้ามาอีกหลายระลอก จนประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก (เกิน 10% ของจำนวนประชากร) ถ้าไม่นับจีนใหม่ที่เพิ่งอพยพเข้ามา คนหนุ่มสาวปัจจุบันส่วนมากก็อาจจะเป็นรุ่นที่สามหรือสี่ หลงลืมภาษา (แต้จิ๋ว/กวางตุ้ง/ไหหลำ) ไปแล้ว ไม่รู้ว่าบ้านบรรพบุรุษของตนเองมาจากไหนนอกเสียจากชื่อกว้าง ๆ อย่าง "ซัวเถา" และถ้าหากใครมาถามเราเข้าเราก็คงมักจะพูดว่าเราเป็น "คนไทย" มากกว่าที่จะตอบว่าเป็นคนจีน
ถึงกระนั้นประวัติศาสตร์และเรื่องราวของคนจีน รวมถึงคนชาติอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยกลับแทบไม่เคยถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์กระแสกหลัก พวกเข้าใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร เกี่ยวพันกับสังคมนี้อย่างไร
สำหรับตัวผู้เขียนที่เป็นลูกหลานชาวจีนแต้จิ๋วผู้หลงลืมภาษา วัฒนธรรมไปเสียเกือบสิ้นแล้ว ตอนเด็ก ๆ ก็ไม่เคยถามเรื่องประวัติครอบครัวจากอากงอาม่า พอมาเริ่มสนใจในประเด็นนี้เราก็ได้แต่ถามพ่อแม่
"วันนั้นมีฝนตก" พ่อบอก "ตอนนั้นป๊าเพิ่งอายุสักสองขวบ ไม่มีความทรงจำอะไรเลยเกี่ยวกับบ้านเก่าในตลาดน้อย แต่ไม่รู้ทำไมถึงมีภาพลาง ๆ ว่าวันนั้นที่ครอบครัวย้ายบ้านไปจันท์เป็นวันที่มีฝน พอโตมาก็ไปถามตั่วโกว ตั่วโกวก็บอกว่าใช่ วันนั้นมีฝนตก วันนั้นวันที่ย้ายไปจันท์"
คำบอกเล่าจากปากพ่อที่เป็นเหมือนทรงจำของทรงจำที่พ่อฟังมาอีกทอดหนึ่งเหมือนกับชื่อของนวนิยาย พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ
เช่นเดียวกับครอบครัวของผม ครอบครัวของปู่ทวดตงในนวนิยายเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่มาตั้งรกรากบริเวณตลาดน้อย ใช้ชีวิตผ่านช่วงสงครามโลก และโยกย้ายไปทางตะวันออก ในกรณีของปู่ทวดตงคือไปเมืองแปดริ้ว หรือฉะเชิงเทรา
สำหรับผู้เขียนการได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้ที่เล่าถึงประวัติสาแหรกสามชั่วคนของครอบครัวนายตง แซ่ตั้ง จึงเปรียบเหมือนการได้เรียนรู้ประวัติครอบครัวของตัวเองที่เราไม่เคยรู้ และคงไม่มีโอกาสได้รู้ แม้ว่าจะไม่ใช่ประวัติครอบครัวจริง ๆ ของเราก็ตาม เรื่องราวของครอบครัวที่ถูกกระแสประวัติศาสตร์อันไม่แน่นอนของไทย จีน และโลก พัดพาไปราวกับต้องคำสาป
ฉากหลังหนึ่งที่เด่นชัดในนวนิยายเรื่องนี้คือ "ตลาดน้อย" สำหรับคนรุ่นใหม่สถานที่แห่งนี้อาจจะเป็นที่ท่องเที่ยวชิค ๆ ที่คุณไปหาคาเฟ่นั่งชิล ถ่ายรูปกับสตรีทอาร์ตและรถเก่าคันเก่าขึ้นสนิม แต่สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนหลาย ๆ คน สถานที่แห่งนี้คือสถานที่ที่บรรพบุรุษได้มาลงหลักปักฐานในสยามประเทศ
ก่อนที่เทพจะมาสร้าง บางกอกมีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ด้วยความที่เป็นทางผ่านของเรือสินค้าที่จะเข้าไปอยุธยาจากอ่าวไทย บางกอกจึงมีชุมชนของผู้คนหลากหลายสัญชาติอาศัยอยู่ และนั่นก็คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่พระเจ้าตากเลือกบริเวณนี้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ พระเจ้าตากสร้างวังขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือ "ฝั่งธน" เมืองมองข้ามฝากแม่น้ำมาก็จะเห็นท่าเตียนและเขตวังหลวงของฝั่งกรุงเทพฯ
เดิมทีท่าเตียนมีชุมชนคนจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่ พระเจ้าตากก็เป็นคนแต้จิ๋วเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกที่จะเลือกสร้างวังในบริเวณที่ไม่ห่างจากชุมชนคนแต้จิ๋วนัก ต่อมาเมื่อรัชกาลที่หนึ่ง (ซึ่งน่าจะมีเชื้อมอญและจีนฮกเกี้ยน) ตัดสินใจย้ายวังมาฝั่งตะวันตก จึงได้ไล่ชุมชนชาวจีนที่ท่าเตียนลงไปทางใต้ของแม่น้ำ บริเวณที่ซึ่งกลายมาเป็นสำเพ็ง เยาวราช และตลาดน้อย
ส่วนฝั่งธนก็มีชุมชนชาวจีนริมแม่น้ำอีกชุมชนหนึ่ง ตามที่ผู้เขียนจำได้จากหนังสือ "ก่อร่างเป็นบางกอก" (แต่ไม่แน่ใจเพราะไม่มีหนังสืออยู่กับตัว) ชุมชนนี้เป็นชาวฮกเกี้ยนที่รัชกาลที่หนึ่งชอบพอมากกว่าชาวจีนแต้จิ๋ว (สามก๊กที่แปลสมัยรัชกาลที่หนึ่งก็ใช้สำนวนฮกเกี้ยน) บริเวณนี้ก็คือย่าน "กุฎีจีน" ที่โด่งดังในฐานะพื้นที่ที่มีส่วนผสมของชาวจีน ชาวโปรตุเกส และคนมุสลิม (บ้างว่าหลังจากฟอลคอนถูกประหาร ท้าวทองกีบม้าผู้เป็นภรรยาก็ลี้ภัยจากอยุธยามาอยู่ชุมชนโปรตุเกสบริเวณนี้นี่แหละ)
จากกุฎีจีนลงไปตามแม่น้ำเราก็จะพบชุมชนชาวจีนอย่างย่านคลองสานและตลาดพลู
[บางคนอาจจะเคยได้ยินว่า คริสเตียน=โปรเตสแตนต์ (เช่นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน) และ คริสตัง=คาทอลิก (เช่นโรงเรียนเซนต์ฟรังค์, เซนต์คาเบรียล, โรงเรียนซางตาครูส จริง ๆ เรื่องนี้เป็นผลมาจากว่าไทยรับเอาคาทอลิกเข้ามาจากชาวโปรตุเกสจึงใช้ภาษาโปรตุเกสว่าคริสตัง ส่วนโปรเตสแตนต์เข้ามาภายหลังจากมิสชันนารีชาวอเมริกันอย่างหมอบรัดเลย์ (รัชกาลที่สาม)]
ในอดีตแม่น้ำและลำคลองคือถนน ดังนั้นชุมชนมักจะอยู่ริมน้ำมากกว่าที่จะอยู่ลึกเข้ามาในผืนดิน ดังนั้นเยาราช (ซึ่งอันที่จริงเป็นชื่อถนนตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า) จึงไม่ใช่บริเวณชุมชนเดิม ชุมชนเดิมที่จริงแล้วก็คือตลาดน้อย หรือ ตั๊กลักเกี้ย นี่เอง บริเวณนี้จึงยังมีบ้านจีนแบบเก่า ศาลเจ้าโจวซือกง และศาลเจ้าจีนอื่น ๆ
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ยุ่งเหยิงเหมือนไร้ผัง แต่ที่จริงแล้วมันถูกสร้างขึ้นตามคติผังเมืองแบบไทยในอดีต มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางในเชิงสัญลักษณ์ (แรกเริ่มรัชกาลที่หนึ่งมีงบไม่พอสร้างภูเขาเลยสร้างวัดสุทัศน์ขึ้นมาเป็นตัวแทนวิหารพระอินทร์บนยอดเขาพระสุเมรุ พอรัชกาลที่สามมีเงินจึงสร้างเขาขึ้นมา ซึ่งก็คือภูเขาทองนั่นเอง) มีระบบคูคลองเป็นชั้น ๆ ที่ยังหลงเหลือให้เห็นบนแผนที่กรุงเทพฯ
บริเวณชั้นในสุดก็คือพระบรมมหาราชวัง พื้นที่นอกวังก็เป็นที่อยู่ของชาวบ้านทั้งไทยและเทศ ซึ่งชาวชาติต่าง ๆ ก็เชี่ยวชาญงานฝีมือต่าง ๆ กันไป แต่ละย่านจึงมีชื่อย่านเป็นชื่อสินค้าที่ขึ้นชื่อของย่านนั้น ๆ ถ้าเราลองไล่ตามแผนที่ออกมาจากบริเวณวัง ตามแม่น้ำเจ้าพระยาเราจะพบบ้านหม้อ ที่ประกอบด้วยคนมอญ ญวณ และลาว (นอกจากหม้อแล้วก็ยังเป็นช่างทองอีกด้วย), พาหุรัด (สร้อยข้อมือแบบหนึ่ง) ย่านคนอินเดียที่โด่งดังด้านเสื้อผ้า เครื่องประดับ จากนั้นเราจึงพบกับสำเพ็ง เยาวราช และตลาดน้อย [ไปต่อจากนี้จะเจอย่านชาวตะวันตก]
ไม่ไกลจากบ้านหม้อมีปากคลองตลาดที่โด่งดังเรื่องดอกไม้ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นบริเวณที่ชาวสวนขนดอกไม้ตามแม่น้ำเจ้าพระยามาส่งทางเรือ ไม่ไกลจากปากคลองตลาดเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่เช่าที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) หลังวัดแห่งนี้ยังมีโรงไฟฟ้าวัดเลียบ จากถนนหน้าวัดตรงไปทางแม่น้ำเราจะพบกับสะพานพุทธ สะพานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่เจ็ดเพื่อฉลอง 150 ปีรัตนโกสินทร์
บ้างว่ามีคำทำนายในสมัยรัชกาลที่หนึ่งว่ากรุงเทพฯ จะมีอายุ 150 ปี รัชกาลที่เจ็ดจึงสร้างสะพานพุทธเพื่อสะเดาะเคราะห์ แต่ท้ายที่สุดแล้วปีที่ 150 นั้นก็ตรงกับ พ.ศ. 2325+150=2475 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง
[เกร็ดน่าสนใจของวัดเลียบคือในวัดนี้มีสุสานญี่ปุ่นอยู่ และมีพระพุทธรูปแบบญี่ปุ่นประดิษฐานอยู่ด้วย อ้างอิงจากรายการ จากรากสู่เรา ตอนญี่ปุ่น - ไทย แสนยานุภาพทางความสัมพันธ์ ของ Thai PBS]
ย่านเหล่านี้ต่างถูกสะท้อนออกมาในเรื่องพุทธศักราชอัสดงฯ คุณยานศรีเคยเปิดร้านตัดเสื้ออยู่ในย่านพาหุรัด เรื่องที่ว่าย่านนี้ถูกระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บางคนว่าเป็นเพราะต้องการระเบิดโรงไฟฟ้าวัดเลียบ แต่ปู่ทวดตงมองว่ารัฐบาลไทยไม่ค่อยแคร์คนในย่านนี้เพราะเป็นย่านคนต่างชาติ ฝ่ายสัมพันธมิตรเลยเลือกระเบิดบริเวณนี้
[โรงเรียนสวนกุหลาบมักเล่าว่าเขาต้องการระเบิดสะพานพุทธ (ซึ่งก็คงจรงอยู่ เพราะสะพานพุทธก็โดนระเบิดจริง ๆ อย่างที่เห็นในฉากโกโบริโดนระบิดในหนังคู่กรรมฉบับณเดชน์) ครั้งนึงนักบินมองพลาดนึกว่าไอ่ตึกยาว ๆ นี่คือสะพาน เลยทิ้งระเบิดลงมา ตึกยาวของสวนกุหลาบเลยโดนระเบิดเข้าให้]
เรื่องราวของคนตัวเล็ก ๆ อย่างหลายชีวิตในครอบครัวปู่ทวดตง ในประเทศที่ไร้ซึ่งความทรงจำแห่งนี้เรื่องราวของคนตัวเล็ก ๆ อย่างหลายชีวิตในครอบครัวปู่ทวดตง ในประเทศที่ไร้ซึ่งความทรงจำแห่งนี้ย่านเหล่านี้ประกอบด้วยผู้คนอันหลากหลาย พวกเขาคงมีเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และความทรงจำมากมายที่ได้เพียงสืบทอดกันอยู่ภายในผ่านเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่ได้ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลัก ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็คงมีบทบาทในการสร้างกรุงเทพฯ และสร้างความเป็นไทยขึ้นมา
เรื่องราวของคนตัวเล็ก ๆ อย่างหลายชีวิตในครอบครัวปู่ทวดตง ในประเทศที่ไร้ซึ่งความทรงจำแห่งนี้
ถึงกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองสุดแสนจะยุ่งเหยิงไม่ต่างจากสายสื่อสารอันระโยงระยาง หากแต่เบื้องหลังความไร้ระเบียบนั้นคือเสียงสะท้อนจากอดีตที่หยั่งรากลึกยากจะเลือน เร้นกายอยู่ใต้ฝุ่นควันแห่งปัจจุบัน
ท้ายที่สุดนี้อยากจะเชิญชวนท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยอ่านนวนิยายเล่มนี้ให้ลองหาซื้อมาอ่านกัน โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ไม่แน่ว่าเมื่อได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้คุณอาจจะอยากรู้ประวัติครอบครัวของตัวเองจนต้องไปถามญาติผู้ใหญ่เหมือนกับตัวผู้เขียนก็เป็นได้ และถ้าคุณมีโอกาส ลองออกเดินสำรวจย่านเหล่านี้เพื่อตรับฟังเสียงสะท้อนที่ยังหลงเหลืออยู่ของมันดูสักครั้ง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา