Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อีซึม-ism
•
ติดตาม
1 มี.ค. 2024 เวลา 01:00 • นิยาย เรื่องสั้น
เส้นขนานบนอุดมการณ์เดียว
ช่วง ม.ปลาย (สมัยลุงเพิ่งรัฐประหาร) เราชอบอ่านงานของวินทร์ เลียววาริณมาก ๆ แต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจเรื่องประวัติศาสตร์เลย เกลียดวิชาสังคมเข้าไส้ ส่วนการเมืองตอนนั้นเราเป็นแดง เกลียดทหาร แต่ความรู้เรื่องการเมืองเราค่อนข้างจะจำกัด (สมัยนี้ก็ยังรู้แบบด้วน ๆ อยู่น่ะนะ) ตอนนั้นเคยหยิบเล่มนี้มาอ่านจากห้องสมุด ด้วยความมองโลกมุมเดียวของเราในสมัยนั้นทำให้เราตั้งธงว่าใครเป็นทหารก็คือตัวร้าย 555 สุดท้ายเราก็อ่านไม่จบด้วยความรู้สึกว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ
มาตอนนี้ลองกลับมาอ่านดูอีกครั้งหลังจากที่ประสีประสาเรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองขึ้นมากบ้างนิดหน่อย ถ้าถามว่าการอ่านรอบนี้ของเรามีการตั้งธงบางอย่างในใจหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่ามันก็มีอยู่บ้าง เพราะเคยเห็นการแสดงความเห็นต่อเรื่องการเมืองของตัวนักเขียน ดังนั้นพึงตระหนักไว้ว่ารีวิวนี้มีอคติอยู่แน่นอน ไม่มากก็น้อย
สิ่งนึงที่เราสัมผัสได้ตั้งแต่บทแรกของเรื่องคือนวนิยายเล่มนี้มีกลิ่นอายนิยายกำลังภายใน แบบโกวเล้งสำนวนแปล ว. ณ เมืองลุง ที่มาในโทนคาวบอยดวลปืนหน่อย ๆ (โกวเล้งเองก็ได้อิทธิพลจากหนังคาวบอยอยู่แล้ว) ซึ่งก็ไม่แปลกใจนักเพราะเข้าใจว่านักเขียนท่านนี้ได้รับอิทธิพลงานกำลังภายในมา
ส่วนตัวเราก็ชอบนิยายโกวเล้งนะ แน่นอนว่ามันมีความชายแทร่สูงมาก ซึ่งมันโอเคในเซตติ้งของนิยายกำลังภายใน (แต่นิยายกำลังภายในมันก็เล่าแบบไม่ชายแทร่ได้แหละ)
พระเอกผู้แน่วแน่ ยึดมั่นในแนวทางของตนไม่เคยเปลี่ยน และแน่นอนเป็นสุภาพบุรุษเสียเกินบรรยาย หากเมื่อนำคาแรคเตอร์แบบนี้มาเล่าประวัติศาสตร์ที่มีความซับซ้อนยากจะตัดสินถูกผิด มันกลับทำให้เรื่องออกมาในแนวสั่งสอน และ romanticize อุดมการณ์เสียเกินไป แม้ว่าตัวผู้เขียนจะย้ำว่าตนไม่ได้ตัดสินหรือเข้าข้างฝ่ายใด แต่จากน้ำเสียงการเล่าแล้วมันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้เขียนก็คงมีข้างหรือฝ่ายอยู่ในใจ
ย้อยและตุ้ย สองหนุ่มผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์คนละขั้ว แต่กลับเป็นดั่งสหายรู้ใจกัน คำถามที่น่าสนใจคือสองคนนี้อยู่คนละขั้วจริง ๆ หรือ? ในเรื่องเราจะเห็นความคิดของย้อยอย่างชัดเจน เขาเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐ สนับสนุนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถ้าเช่นนั้นแล้วตุ้ยอยู่ฝั่งไหนล่ะ? ถ้าบอกว่าตรงข้าม แปลว่าตุ้ยเป็นคนที่ต้องการการปกครองรูปแบบอื่นหรือไม่? เปล่าเลย เขาแค่อยู่ฝั่งรัฐ อยู่ในระบบ แต่ก็เชื่อมั่นในหลักการณ์เดียวกันอยู่นั่นเอง อันที่จริงแล้วแทบทุกตัวละครที่มีความเป็นฮีโร่ของเรื่องนี้ต่างก็เป็นตัวละครที่ยึดมั่นในอุดมการณ์นี้ รวมถึงตัวละครทหารญี่ปุ่นที่กลายเป็นสหายต่างฝ่ายของย้อย (ในประเด็นนี้ก็เป็นการ romanticize คนญี่ปุ่น และความรักชาติของคนญี่ปุ่น ซึ่งก็น่าถกเถียงอยู่ไม่น้อย)
ราวกับว่าหนังสือเล่มนี้ต้องการจะประกาศกร้าวว่าท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ขอแค่คุณรักชาติ คุณก็คือฮีโร่ ขอแค่คุณยึดมั่นในหลักการนี้โดยไม่แปรเปลี่ยน จะเห็นว่าทั้งย้อยและตุ้ยแม้จะมีสถานภาพที่แปรเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลาตลอด 60 ปี (2476-2535) แต่นับจากต้นจนจบเอาเข้าจริงแล้วตัวละครทั้งสองนี้แทบไม่ได้เรียนรู้ เติบโต หรือเปลี่ยนแปลงเลย สองตัวละครนี้เป็นดั่งไอดอลที่ชี้นำผู้คน เหมือนพระเอกในนิยายกำลังภายใน หรือซุปเปอร์ฮีโร่ในหนังมาร์เวล
อันที่จริงก็คงไม่ผิดอะไรหรอกที่ผู้เขียนจะนำเสนอตัวเอกในรูปแบบนี้ บ่อยครั้งคนเราก็ต้องการอ่านตัวละครที่สูงส่งและให้ความหวัง เพียงแต่การที่ผู้เขียนบอกว่านิยายเรื่องนี้เพียงแค่สะท้อนประวัติศาสตร์โดยไม่แสดงความเห็นว่าถูกหรือผิดนั้นมันออกจะผิดที่ผิดทางไปเสียหน่อย
ในเรื่องเรายังเห็นอีกว่ามีคนกลุ่มนึงที่ถูกตัดสินโดยตัวละครหลักทั้งสองว่าเป็นฝ่ายผิดเสียเต็มประตู คนกลุ่มนั้นก็คือพรรคคอมมิวนิสต์ (ที่ถูกโยนให้เป็นของนอก เข้ามาบ่อนทำลายชาติไทย) แน่นอนว่ามันสมเหตุสมผลที่ตัวละครสองคนนี้จะมองแบบนั้น แต่การที่เนื้อเรื่องไม่มีการกล่าวถึงพรรคคอมมิวนิสต์จากมุมอื่นเลยยิ่งตอกย้ำว่าผู้เขียนน่าจะตัดสินคนกลุ่มนี้อยู่ในใจนั่นเอง
หรืออาจยิ่งไปกว่านั้น มันราวกับว่าผู้เขียนมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นแนวคิดที่ผิดนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่มิอาจเป็นอื่น ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการฆ่าคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ เพียงแค่เห็นด้วยกับการฆ่าหรือการตายของชุดความคิดนี้
นักศึกษาเข้าป่าในเรื่องนี้ไม่มีใครที่เข้าป่าเพราะเห็นด้วยกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ แค่โดนรัฐบาลเผด็จการผลักไสมา และย้อยก็แสดงความเห็นว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์แม้ไม่โดนปราบก็ต้องสูญไปสักวันหนึ่งเพราะมันขัดกับความเป็นมนุษย์ ตัวละครครูที่ถูกประหารก็ไม่ได้เห็นด้วยกับคอมมิวนิสต์ แค่มีความเป็นสังคมนิยม ตลอดทั้งเรื่องไม่มีการอธิบายเสียด้วยซ้ำว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร ผิดอย่างไร เพียงแค่ตอกย้ำอยู่เรื่อย ๆ ว่ามันผิด
การนำเสนอเรื่องนี้ผ่านเรื่องสั้นหลายเรื่องรวม ๆ กันนับว่ามีความน่าสนใจ และผู้เขียนก็เขียนออกมาได้อย่างน่าติดตาม แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราไม่เห็นถึงการพัฒนาของตัวละครเท่าไหร่ แต่ก็คงเพราะผู้เขียนไม่ได้ต้องการให้ตัวละครทั้งสองพัฒนาอยู่แล้ว เพราะทั้งคู่เป็น "คนดี" มาตั้งแต่ต้น และเป็น "คนดี" ไปจนจบ
สิ่งที่เราติดมากที่สุดก็คงจะเป็นฉากที่ทั้งสองในวัยแก่นั่งคุยกันย้อนความหลัง มันเหมือนการเล่าให้คนอ่านฟังมากกว่าการคุยกันเองของคนที่รู้จักกันมานาน แน่นอนว่าการ exposition มันมีความจำเป็น แต่ถ้าเป็น exposition ผ่านบทบรรยาย หรือการมีตัวละครเล่าให้อีกตัวละครที่ไม่ทราบเรื่องนั้นมันจะดูเข้าท่ากว่าการให้คนสองคนที่รู้เรื่องอยู่แล้วมาพ่นบท exposition ใส่กัน
อย่างไรก็ตามเราชื่นชมการผสมประวัติศาสตร์เข้ากับนิยายของผู้เขียนนะ มันมีรายละเอียดเยอะมากจริง ๆ เรายอมรับว่าเราเองไม่รู้มากเท่าผู้เขียนแน่ ๆ ผู้เขียนตั้งเป้าไว้ชัดเจน ดังจะเห็นในคำนำของหนังสือ ว่าต้องการจะ educate ผู้อ่าน อีกทั้งยังเขียนว่า "คนไทยเรายังไม่มีความสามารถในการเรียนรู้อีกด้วย" อันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้เขียนยกตน "เหนือ" ผู้อ่าน มองว่าตัวเองรู้และเข้าใจมากกว่า และมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะสอนผู้อ่าน
ใช่แหละว่าประวัติศาสตร์ที่สอนในโรงเรียนมันไม่พูดถึงเรื่องพวกนี้ และคงมีคนไม่น้อยที่ไม่รู้เรื่องพวกนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่านักเขียนจะมายึดเป็นหน้าที่ของตนในการ educate คนมิใช่หรือ อย่างนี้มันจะต่างอะไรกับ "หน้าที่ของคนขาว" เล่า
อีกทั้งประวัติศาสตร์ที่เล่าในนวนิยายเล่มนี้ยังมีความเป็นประวัติศาสตร์แนวสัจนิยม แม้จะผสมเรื่องแต่ง แต่ถ้าตัดเรื่องแต่งออกไปที่เหลือคือ "เรื่องจริง" ที่ไม่เป็นอื่น แต่แล้วผู้เขียนข้ามสิ่งใดไปบ้างเล่า อะไรที่ผู้เขียนคัดมาเล่า? อะไรที่ผู้เขียนคัดทิ้งไป? แน่นอนมีหลายประเด็นทีเดียวที่ผู้เขียนไม่ได้แตะ คิดว่าตัวผู้เขียนก็รู้แต่แค่ไม่แตะ (เช่นพรรคการเมืองเก่าที่สุดของไทยที่ไม่ถูกแตะต้องเลย)
ท้ายที่สุดคือผู้เล่นในเรื่องนี้ทั้งหมดคือ "คนชั้นกลางถึงสูงเพศชาย" (น่าสังเกตว่าแม้แต่ตัวละครประกอบยังไม่มีผู้หญิงเลย) เป็นคนชาติดีมีตระกูล คนเมือง หรือคนต่างจังหวัดที่มีการศึกษา ราวกับว่าคนกลุ่มอื่นไม่มีสิทธิโลดแล่นในการเมืองอย่างไรอย่างนั้น ราวกับว่าคนมี่เหลือเป็นเพียงแค่หมากในกระดานที่ต้องตามกระแสการเมืองหรือถูกชักจูงไปเพียงเท่านั้น (หน้าปกก็เป็นหมากรุกเสียด้วยสิ)
ที่สุดแล้วผู้เขียนคงยืมปากย้อยบอกกับเราว่า 2475 คือการชิงสุกก่อนห่าม การมอบประชาธิปไตยให้กับคนไทยที่ยังขาดการศึกษา ไม่พร้อมเลือก ไม่พร้อมตัดสินใจ และยังไม่พร้อมมาจนถึงทุกวันนี้ (วันนี้ในที่นี้หมายถึงปีที่ผู้เขียนเขียนน่ะนะ ถ้าเข้าใจไม่ผิดคือปี 2537)
คนอื่นคิดเห็นอย่างไรมาถกเถียงกันได้ เราเองก็ไม่ใช่คนรู้มากอะไร ไม่ได้เรียนด้านประวัติศาสตร์ ไม่ได้เรียนวรรณกรรม ทั้งหมดนี้ก็แค่ความรู้สึกของเราต่อนิยายเรื่องนี้ ส่วนนึงก็อย่างเป็นเสียงอีกฝั่งเพื่อโต้กับรีวิวอื่น ๆ บน Goodreads ที่ชื่นชมนิยายเล่มนี้ อย่างไรก็ตามมันไม่ผิดอะไรเลยที่จะชอบนิยายเล่มนี้ เราแค่เป็นคนนึงที่ไม่ชอบมันและไม่ชอบที่จะเห็นบางสิ่งถูกยกย่องบูชาจนเกินไปก็เท่านั้น
ปล. เป็นหนังสือที่ควรอ่านนะ หนังสือทุกเล่มควรอ่านทั้งนั้นแหละ ไม่ว่ามันจะรีวิวดีหรือไม่ดี อ่านแล้วจะชอบหรือไม่ชอบ อ่านแล้วจะได้อะไรหรือไม่ได้ มันไม่มีคำว่าเสียเวลาที่อ่านหรอก สำหรับเล่มนี้ยังไงเราก็มองว่าอ่านเพื่อเป็นฐานให้เกิดความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองได้อยู่ แค่พึงระลึกว่ามันเป็นประวัติศาตร์ที่เล่าผ่านมุมหนึ่งเท่านั้น
หนังสือ
สังคม
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ไขสือ
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย