14 มี.ค. เวลา 01:26 • หนังสือ

เล่นแร่แปลภาพ-ความจริงภายใต้กรอบเฟรม

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีทำให้การดัดแปลงรูปภาพไม่ว่าจะโดยการตัดต่อ ใส่ฟิลเตอร์ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ต่างก็ทำได้ ยังไม่ต้องกล่าวถึงเอไอในกล้องที่ปรับแต่งภาพให้เราแบบอัตโนมัติอีก ทั้งหมดนี้ทำให้ความคิดที่ว่าภาพถ่ายคือสิ่งที่บันทึกความเป็นจริงถูกสั่นคลอนอย่างหนัก แต่แล้วในอดีตภาพถ่ายนั้นเป็นสิ่งที่บันทึกความเป็นจริงจริง ๆ หรือ
ในยุคที่กล้องดิจิทัลเป็นที่แพร่หลาย การถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายและถ่ายได้อย่างแทบจะไม่จำกัด บางคนโหยหาการถ่ายภาพด้วยฟิล์มเพราะมองว่าการที่เรามีฟิล์มที่จำกัดทำให้เรา "ตั้งใจ" กับการบันทึกภาพมากกว่า ฟิล์มที่เสียแล้วเสียเลย ไม่ใช่ถ่ายเผื่อไว้ค่อยมาคัดทิ้ง
คำถามคือความ "ตั้งใจ" นั้นเองหรือเปล่าที่ทำให้ภาพที่เราถ่ายออกมาไม่ได้บันทึกความเป็นจริง เพราะเราต้องจงใจถ่าย เลือกจุดที่จะถ่าย ท่าที่จะถ่าย ผ่าน "มุมมอง" ของเรา เพื่อให้ได้ภาพแบบที่เรา "ต้องการ" ในขณะที่การถ่ายภาพไปเรื่อยของคนรุ่นใหม่เปิดโอกาสให้เราถ่ายภาพเสียหรือภาพหลุดได้ และบางครั้งภาพเสียเหล่านี้เองที่สามารถบันทึกความจริงบางอย่างเอาไว้ สีหน้าของคนในภาพที่อาจจะยังไม่ทันยิ้มตอนที่ถูกถ่าย อาจจะบอกอะไรกับเราได้มากกว่ารอยยิ้มที่เราจงใจมอบให้กับกล้อง
หนังสือเล่มนี้พาเราเข้าไปสำรวจมุมมองเหล่านี้ผ่านภาพถ่ายเก่า ๆ ของคนสยาม ในยุคที่การจะถ่ายภาพได้สักภาพต้องใช้เวลา ขนาดที่ว่าต้องมีขาตั้งพิงคอสำหรับนาย/นางแบบหน้ากล้องเพื่อกันเมื่อย ภาพถ่ายเหล่านี้ "จงใจ" จะบอกอะไรกับเรา มันสะท้อนมุมมองและความคิดของผู้คนที่อยู่ในภาพ และผู้คนที่ถ่ายมันออกมาหรือไม่ อย่างไร
ทำไมคนสมัยก่อนถึงไม่ยิ้มในภาพถ่าย และทำไมถึงมีบางคนที่ยิ้มอยู่ในภาพเหล่านั้น สิ่งนี้สะท้อนสถานะทางสังคมบางประการของคน ๆ นั้นหรือไม่ นี่คือหนึ่งในหัวข้อที่หนังสือเล่มนี้เล่าถึง
แน่นอนว่าคำตอบที่หนังสือให้ก็เป็นการ "แปลภาพ" หรือตีความตามแนวคิดของผู้เขียน มันอาจจะมีการแปลในแบบอื่นก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือตัวคำถามที่ผู้เขียนตั้งให้เราได้ขบคิด และการได้เห็นภาพเก่าแปลกตาแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่ รวมถึงเปิดให้เราเห็นความเป็นไปได้อื่นในการมองอดีตและการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นการศึกษาผ่านตัวอักษรเสมอไป
ปล. เราซื้อหนังสือที่คุณนักรบ มูลมานัสออกแบบมาหลายเล่มโดยที่ไม่เคยดูชื่อผู้ออกแบบปก เพิ่งมารู้จักชื่อนักรบ มูลมานัสเมื่อประมาณปีก่อน หลังจากนั้นเมื่อเห็นหน้าปกของศิลปินท่านนี้เราก็แทบจะรู้ในทันทีว่าใครออกแบบ 555 และหลังจากที่เราไปฟังเขาบนช่องยูทูปต่าง ๆ เช่นช่องฟาโรส และอื่น ๆ เราก็ยิ่งอินกับแนวคิดการคอลลาจของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ จนตามไปดูหนังเรื่องแมนสรวง และตามมาอ่านหนังสือเล่มนี้ ความตลกคือบางครั้งระหว่างที่อ่านเรารู้สึกเหมือนเรานึกน้ำเสียงของคุณนักรบออกเลย 5555 สงสัยจะฟังจากยูทูปมาเยอะเกิน 555

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา