6 ก.พ. 2024 เวลา 13:06 • ข่าว
ที่ว่าการอำเภออากาศอำนวย

ชาวอากาศอำนวย "คึดนำกัน" มองภาพอนาคตการแก้จน

ม.ราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ อำเภออากาศอำนวย และ SDG Move จัดกิจกรรม Poverty Foresight มองภาพอนาคตการแก้จนระดับอำเภอ นายอำเภออากาศฯ ชูปฏิบัติการโมเดลแก้จนหนุนมิติเศรษฐกิจ โดยการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดสกลนคร สนับสนุนทุนจากหน่วย บพท.
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่หอประชุมอำเภออากาศอำนวย นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย ได้พูดคุยการขับเคลื่อนงานแก้จนและต้อนรับทีมนักวิจัย วิทยากร และผู้เข้าร่วมประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเป้าหมาย และชาวบ้าน รวม 80 คน
บรรยากาศการประชุมแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็นเพิ่มเติมประเด็นปัญหาที่ตกหล่น 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล จากนั้นช่วยกันเสนอเป้าหมาย (Goals) การแก้ปัญหาความยากจน ตามด้วยคิดแนวทางการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ของการแก้ไขปัญหาความยากจน และสุดท้ายวิเคราะห์ปัจจัยสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยใช้กรอบแนวคิด FAIR Canvas
นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย กล่าวว่า เรามีวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกกิจกรรมอาชีพผู้คนมีฝีมือมีทักษะทั้งด้านเกษตรกรรมและหัตถกรรม แต่มีจุดด้อยตรงที่เราขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยความรู้ความร่วมมือกับ ม.ราชภัฏสกลนคร ที่ช่วยต่อยอดหนุนเสริมการผลิต การแปรรูปและช่องทางจำหน่าย ถ้าบริหารจัดการได้เองทั้งระบบ เกษตรกรเราจะลืมตาอ้าปากได้อย่างสง่างาม
นายสุทธิเมศวร์ กล่าวต่อว่า ม.ราชภัฏ ขับเคลื่อนงานร่วมกับอำเภออากาศอำนวยเป็นปีที่ 2 ในการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ข้อมูลในการบริหารโครงการ นักวิจัยดำเนินงานตอบโจทย์ครัวเรือนได้ตามความถนัน เป็นความต้องการที่จะพัฒนากลุ่มในชุมชน มีโมเดลและวิธีการแตกต่างกันตามความเชี่ยวชาญในทักษะฝีมือ
เกิดผลในเชิงประจักษ์เหมือนการตัดเสื้อให้พอดีตัว หมายถึงทุกคนเพาะเห็ดได้แต่รวมกลุ่มกันเป็นกิจการไม่ได้ ทุกบ้านทำข้าวเม่าได้แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญเหมือนกับบ้านนายอ เชื่อมโยงประเด็นเกษตรมูลค่าสูง ที่อำเภอให้ความสำคัญทั้งเห็ดและข้าว ถ้าแก้ไขปัญหาปากท้องได้มีเศรษฐกิจดีขึ้น ด้านอื่น ๆ ก็จะดีขึ้นตาม
ด้าน อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย รายงานผู้รับประโยชน์จากโครงการในพื้นที่อำเภออากาศอำนวยจำนวน 355 ครัวเรือน ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งหมด 11 ชิ้นงาน เพื่อยกระดับรายได้สู่การแก้จนทั้งอำเภออย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคีท้องถิ่น ท้องที่ และนักศึกษาวิศวกรสังคม ปฏิบัติการโมเดลแก้จน ประกอบด้วย 2 โมเดล ได้แก่
1.โมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ เป็นอาชีพระยะสั้น ยกระดับธุรกิจชุมชนเพาะเห็ด ได้เงินเร็วหนึ่งเดือนมีรายได้แก้ปัญหาไม่มีงานทำและลดรายจ่าย มีรายได้เพิ่มขึ้น 892 บาท/คน/เดือน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในอำเภออากาศอำนวย มูลค่า 1,814,000 บาท
2.โมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นอาชีพระยะยาว พัฒนาอาชีพทำนาปรังแก้ปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีโอกาสใหม่เตรียมพัฒนาเป็นท่องเที่ยวชุมชน “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับ Local Alike (กิจการเพื่อสังคม) ลดรายจ่ายประมาณ 1,083 บาทต่อครัวเรือน ปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ได้มากถึง 55,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 715,000 บาทต่อปี
อ.สายฝน กล่าวต่อว่า วันนี้นำผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเป้าหมายมาแสดงและมอบเป็นของฝากให้ทุกท่าน นอกจากนี้ได้มอบก้อนเห็ดนางรมเทา ที่สนับสนุนสินค้ามาจากกลุ่ม “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจบะหว้า” จำนวน 500 ก้อน ส่งให้อำเภออากาศอำนวยเพาะปลูก เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยมีนายอำเภออากาศอำนวยรับมอบ
ข้อเสนอภาพอนาคตการแก้จนเป้าหมายประเด็นการพัฒนา เชื่อมกับการดำเนินงานในปัจจุบันซึ่ง นายอำเภออากาศอำนวย มีแนวทางจะสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยทุนวัฒนธรรม โดยใช้ข้อมูลอาชีพหรือโมเดลจากนักวิจัยช่วยขับเคลื่อนงาน
ความคิดเห็นส่วนใหญ่อยากมีอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่ ผลักดันสินค้าข้าวเม่า เห็ด หรืออื่นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ทว่า อ.อากาศอำนวย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มองอีกมุมหนึ่งเป็นศักยภาพสามารถปลูกข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรัง หมายความว่าจะมีวัตถุดิบส่งแปรรูปข้าวเม่าได้ตลอดทั้งปี จะช่วยเกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น อีกทั้งชาวบ้านนิยมปลูกข้าวเหนียวซึ่งเป็นวัตถุดิบเดียวที่นำมาทำข้าวเม่าได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา