25 ก.พ. 2024 เวลา 16:21 • ครอบครัว & เด็ก
เทศบาลตำบลโพนแพง

ม.ราชภัฏสกลนคร เสนอแนวคิด “ปิ่นโตครัวเรือน” ช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง

นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร ร่วมกับหน่วยงานภาคีนำร่องพื้นที่ตำบลโพนแพง รวมกลุ่มหรือชมรมเพื่อบริหารจัดการ “จัดสวัสดิการ” ด้วยแนวคิดโมเดล "ปิ่นโตครัวเรือน” ให้กับสมาชิกกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นด้านการสงเคราะห์หรือการพัฒนาทักษะอาชีพ เกิดการสร้างอาชีพจนสามารถมีรายได้ให้กลุ่มยืนอยู่ด้วยตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี สร้างเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE)
เพื่อการบรรเทาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ จัดโดยโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร สนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่เทศบาลตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย เป็นประธานกล่าวชี้แจงเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสระดับอำเภอ โดยมี นายเสมอ จำรักษา นายกเทศมนตรีตำบลโพนแพง กล่าวต้อนรับคณะนักวิจัยนำโดย ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผศ.ดร.สาคร อินทะชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และนักศึกษาวิศวกรสังคม
พร้อมด้วยหน่วยงานภาคี นายธีรพงศ์ นิระเคน ผู้แทนจาก สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสกลนคร คุณไทยวัน ชมภูทอง ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดสกลนคร อพม.ตำบลโพนแพง และกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมกิจกรรม 80 คน
โมเดล “ปิ่นโตครัวเรือน” เป็นการนำร่องให้รวมกลุ่มหรือชมรมขับเคลื่อนงานการบริหารจัดการ “จัดสวัสดิการ” ด้านสงเคราะห์และพัฒนาอาชีพ ให้สมาชิกกลุ่มครัวเรือนเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ด้วยการสร้างอาชีพให้สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง พัฒนาระบบและกลไกกลุ่มหรือชุมชนให้เข้มแข็งและจัดตั้งเป็นทางการ พร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงองค์การกุศลและหน่วยงาน CSR เข้ามาหนุนเสริมในจุดที่กลุ่มหรือชมรมมีศักยภาพไม่ถึง มีจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์ 60 ครัวเรือน
ทีมนักวิจัยเน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าใจว่าแต่ละคนมีศักยภาพอะไร ซึ่งเป็นก้าวแรกที่จะ Empowerment ให้กลุ่มหรือชมรมเดินไปสู่ความสำเร็จและมีเป้าหมายเดียวกัน “ปิ่นโตครัวเรือน” มีกระบวนการพัฒนาโมเดล ได้แก่
1) การสร้างความเข้าใจเข้าถึงศักยภาพของบุคคล เพื่อบริหารจัดการความคาดหวัง สู่การวางแผนดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมและการบริหารความเสี่ยง
2) การพัฒนาโมเดลปิ่นโตครัวเรือน ให้มีกิจกรรมการผลิตที่สามารถยืนได้ด้วยตนเอง เพิ่มทักษะอาชีพให้กับสมาชิกในครัวเรือน ของผู้เปราะบาง ทำอาชีพเพาะเห็ดและสบู่สมุนไพรเพื่อใช้ในกลุ่มและจำหน่าย ด้วยโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมวิเคราะห์ระบบผลิตเพื่อหาช่องว่างที่กลุ่มมีศักยภาพไม่ถึง เช่น การจ้างงาน การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การตลาด พร้อมทั้งเทคโนโลยีที่เหมาะสมลดความเสียหายในการผลิต ร่วมถึงการส่งเสริมฟื้นฟูศักยภาพ เพื่อพัฒนาร่างกายและจิตใจผู้เปราะบาง
3) การติดตามและเชื่อมโยงภาคี นำเสนอโมเดลเพื่อสังคมกับหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE) ให้การสนับสนุนกลุ่มหรือชมรมเพื่อจัดสวัสดิการให้สมาชิกกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงเข้าสู่แผนพัฒนาตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อจัดสรรงบประมาณโครงการได้อย่างแม่นยำตรงเป้าหมาย พร้อมกับการถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาเครื่องมือนำไปใช้ในพื้นที่อื่น
กลยุทธ์ “ปิ่นโตครัวเรือน” จะสร้างพลังในชุมชน เพื่อสร้างความคุ้มครองในสังคมและสร้างสังคมสร้างสรรค์ ด้วยศักยภาพของสมาชิกในครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงการส่งเสริมฟื้นฟูศักยภาพเพื่อพัฒนาร่างกายและจิตใจผู้เปราะบาง นอกจากนี้ปิ่นโตครัวเรือนยังหมายถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย
มาร่วมมือนำร่องโมเดลนี้ให้เกิดรูปธรรมด้วยกันที่แรก ในตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ด้วยแนวคิดสร้างเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE) ประกอบด้วย 5 มิติ
โดย แรงงาน สิ่งแวดล้อม และความมั่งคั่ง ซึ่งเป็น 3 มิติแรกที่ระบบให้ความสำคัญ แรงงานจะต้องเป็นศูนย์กลางของธุรกิจและการพัฒนา และ อีก 2 มิติ คือ ค่านิยมทางจริยธรรมที่ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน มิติสุดท้ายคือ ธรรมาภิบาล ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม โครงสร้างการบริหารจึงควรเน้นการมีส่วนร่วมและยึดหลักประชาธิปไตย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา