27 ก.พ. 2024 เวลา 08:00 • สิ่งแวดล้อม

สิ่งก่อมะเร็งในอากาศ: มัจจุราชเงียบที่หายไปจากร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

เดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับ หากดูเผินๆ ข่าวนี้อาจเป็นแสงแห่งความหวังที่จะทำให้คนไทยมีอากาศดีๆ หายใจอีกครั้ง
แต่อย่าเพิ่งดีใจไปครับ เพราะจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ผ่านเข้าสู่สภา ผมพบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การจัดการฝุ่น PM2.5 ฝุ่น PM10 และก๊าซบางชนิดที่เกิดจากการเผาไหม้ของยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า วัสดุทางการเกษตร ไฟป่า ฝุ่นจากการก่อสร้าง การประกอบกิจการ และฝุ่นควันข้ามพรมแดน แต่ความจริงแล้วมลภาวะทางอากาศ (air pollution) ไม่ได้มีแค่ ‘ฝุ่น’ กับ ‘ก๊าซ’ เพียงไม่กี่ชนิด เพราะในอากาศยังมี ‘สารพิษ’ อีกมากมายที่แฝงตัวอยู่อย่างแนบเนียน
บทความนี้ ผมจะพาผู้อ่านไปสำรวจประวัติศาสตร์ของสารพิษในอากาศและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศที่ถูกมองข้าม เพื่อช่วยให้กฎหมายอากาศสะอาดฉบับแรกของประเทศไทยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
น้ำมันเติมสารตะกั่ว: นวัตกรรมสุดเลวร้าย จุดเริ่มต้น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ของสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์เกี่ยวกับสารพิษในอากาศที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ เกิดจากวีรกรรมสุดแสบของวิศวกรเครื่องกลและวิศวกรเคมีชาวอเมริกัน ชื่อว่า โธมัส มิดจ์เลย์ จูเนียร์ (Thomas Midgley Jr.)
โธมัส มิดจ์เลย์ จูเนียร์ (Thomas Midgley Jr.) (photo: National Academies of Sciences)
เรื่องราวโดยย่อมีอยู่ว่า ราวปี 1921 มิดจ์เลย์และพรรคพวกกำลังลองผิดลองถูกเพื่อแก้ปัญหาการน็อกน้ำมันเบนซินของเครื่องยนต์ หลังจากทดลองเติมสารเคมีตัวนั้นที ตัวนี้ที ลงในน้ำมันอยู่นับครั้งไม่ถ้วน พวกเขาก็พบว่า ‘สารตะกั่ว’ สามารถทำหน้าที่เป็นสารป้องกันการน็อก (anti-knock agent) ได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นที่มาของสารประกอบเตตระเอธิลเลด (tetraethyl lead) ที่ฮอตฮิตติดลมบนอยู่นานหลายสิบปี
ประเด็นมีอยู่ว่า หลังจากน้ำมันเติมสารตะกั่วถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย คนงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมันเติมสารตะกั่วก็เริ่มป่วยและตายอย่างต่อเนื่อง (ตัวของมิดจ์เลย์ก็ป่วยเช่นกัน แต่เขาไม่ตาย) กระทั่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า สารตะกั่วเป็นพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิต!!
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคนยุคนั้นจะรู้สึกตัวช้าไปหน่อย เพราะสารตะกั่วจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้ฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมทั่วโลก แล้วกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการและโรคร้ายนานาชนิด เช่น นอนไม่หลับ ประสาทหลอน วิกลจริต หูหนวก ตาบอด สมองเสื่อม อัมพาต ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไตวาย มะเร็ง เลือดเป็นพิษ ตัวอ่อนในครรภ์บกพร่อง ไอคิวต่ำ และอาจมีฤทธิ์ส่งเสริมให้คนบางกลุ่มมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมจนนำไปสู่การก่ออาชญากรรม
การเติมสารตะกั่วลงในน้ำมันถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักธรณีเคมีชาวอเมริกัน ชื่อว่า แคลร์ คาเมรอน แพตเทอร์สัน (Clair Cameron Patterson) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวิธีการวัดอายุของโลกจากการสลายตัวของธาตุยูเรเนียม-ตะกั่ว (uranium–lead dating) ภายในหินอัคนีและอุกกาบาต โดยแพตเทอร์สันได้วิเคราะห์แกนน้ำแข็งขั้วโลก แล้วพบว่าชั้นน้ำแข็งก่อนปี 1923 แทบไม่มีสารตะกั่วอยู่เลย การทดลองของเขาจึงเป็นการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าสารตะกั่วที่สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมมาจากการเผาไหม้ของน้ำมันเครื่องยนต์
แคลร์ คาเมรอน แพตเทอร์สัน (Clair Cameron Patterson) (photo: The Royal Society)
ความฉิบหายที่เกิดจากฝีมือของมิดจ์เลย์และผองเพื่อนไม่ได้มีแค่นี้นะครับ เพราะเขายังเป็นหนึ่งในผู้สังเคราะห์สารทำความเย็นประสิทธิภาพสูงที่มีชื่อว่า ฟรีออน (Freon) ซึ่งเป็นสารประกอบกลุ่มคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (chlorofluorocarbon) ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบในภายหลังว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดรูโหว่โอโซน (ozone hole) ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์อีกด้วย!!
ช่วงบั้นปลายชีวิต มิดจ์เลย์ป่วยเป็นโรคโปลิโอและกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่ด้วยศักดิ์ศรีของนักประดิษฐ์ เขาจึงลงมือสร้างระบบรอกสำหรับพลิกหรือพยุงร่างกายพิการของเขาขึ้นจากเตียง แต่โชคชะตากลับเล่นตลก เพราะเขาถูกเชือกของรอกดังกล่าวรัดคอตายเมื่อปี 1944
การเปิดโปงมลพิษของสารตะกั่วในน้ำมันโดยแพตเทอร์สันนี่แหละครับ ที่กลายเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่นำไปสู่การตราพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ปี 1970 (Clean Air Act of 1970) ของสหรัฐอเมริกา และทำให้น้ำมันเติมสารตะกั่วถูกยกเลิกการใช้งานในที่สุด
  • ภัยเงียบที่ถูกมองข้าม: สิ่งก่อมะเร็งในอากาศ ละอองลอยทุติยภูมิ และมลภาวะทางอากาศอื่นๆ
อย่างที่ผมเล่าไปในตอนต้นว่า ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับของประเทศไทย เน้นให้ความสำคัญกับฝุ่นและก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาแหล่งกำเนิดแบบโดยตรง มองเห็นได้ง่าย และมีกระบวนการเกิดไม่ซับซ้อน แต่ความจริงแล้วมลภาวะทางอากาศยังประกอบด้วยสารพิษอีกหลายประเภทที่ต้องนำมาพิจารณา เพื่อเติมเต็ม ‘ช่องว่าง’ ของกฎหมายอากาศสะอาดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้แก่
1. สิ่งก่อมะเร็งในอากาศ (airborne carcinogen) เช่น โลหะหนัก (heavy metal) ที่มาจากสิ่งต่างๆ รอบตัว และสารประกอบกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์
2. ละอองลอยทุติยภูมิ (secondary aerosol) คือ ฝุ่นละอองที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสสารกับแสงอาทิตย์หรือก๊าซบางชนิด เช่น การเผาไหม้ถ่านหิน/ชีวมวล การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนทางการเกษตร การปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายทางชีวภาพ (Biogenic Volatile Organic Compound) ของพืชพรรณเขตร้อน ซึ่งละอองลอยเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็น ‘ยานพาหนะ’ ให้สารพิษ โลหะหนัก สิ่งก่อมะเร็ง และสิ่งก่อกลายพันธุ์ (mutagen) ขึ้นมาเป็นผู้โดยสาร แล้วเดินทางเข้าสู่ร่างกายของเรา
กระบวนการเกิดละอองลอยทุติยภูมิจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (photo: Yu-Qing Zhang et al.)
3. มลภาวะทางอากาศในอาคาร (indoor air pollution) เช่น ควันจากบุหรี่ ธูป การทำอาหาร สารระเหยจากสีทาบ้าน น้ำหมึก สเปรย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเหตุป่วยจากอาคาร (sick building syndrome)
4. มลภาวะทางอากาศจากภัยพิบัติ เช่น ฝุ่นควันจากการปะทุของภูเขาไฟมีพลัง (active volcano) ที่สามารถปลิวมาถึงประเทศไทย แม้จะมีโอกาสเกิดน้อย แต่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะบริเวณหมู่เกาะอันดามัน-นิโคบาร์ของประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ยังมีภูเขาไฟหลายลูกที่คุกรุ่นอยู่
ผู้อ่านน่าจะเห็นภาพรวมแล้วว่า กฎหมายอากาศสะอาดที่ดีจะต้องถูกบัญญัติขึ้นโดยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันสมัยเป็นรากฐาน เพราะตราบใดที่เรายังตีโจทย์ไม่แตก การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และทำให้เราต้องทนทุกข์กับอากาศพิษไปอีกนาน
อ้างอิง:
  • มติสภาฯ เอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด
  • ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ….
  • Effects of biogenic volatile organic compounds and anthropogenic NOx emissions on O3 and PM2.5 formation over the northern region of Thailand
  • The sick building syndrome
  • วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ นิตยา มหาผล และธีระ เกรอต. (2538). มลภาวะอากาศ.
  • ศิวพันธุ์ ชูอินทร์. (2559). มลพิษทางอากาศ.
  • วิลาวรรณ์ คำหาญ. (2560). ฝุ่นละอองในบรรยากาศ.
  • Bill Bryson. 2003. A Short History of Nearly Everything.
  • Tom Phillips. 2018. Humans: A Brief History of How We F*cked It All Up.
โฆษณา