7 มี.ค. เวลา 12:15 • หนังสือ

14 กุมภา (synchronicity)

“I have invented the word synchronicity as a term to cover … things happening at the same moment as an expression of the same time content” Carl G. Jung
คาร์ล จุง ได้นิยามศัพท์ว่า synchronicity ขึ้นมา เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ เวลาที่คนเราบังเอิญเจอสัญญาณบางอย่าง โดยไม่คาดหมาย หรือไม่มีทางรู้ล่วงหน้า แต่เหมือนสัญญาณนั้นถูกส่งมาจากเบื้องบนเพื่อบอกใบ้ให้เราตระหนักรู้หรือเข้าใจบางอย่าง จุงได้แรงบันดาลใจจากเคสหนึ่ง ระหว่างคนไข้เล่าเรื่องความฝันวันก่อนว่าได้รับอัญมณีสีทองเม็ดหนึ่ง ก็มีแมลงสีทองบินเข้ามาชนหน้าต่างห้องบำบัดในจังหวะพอเหมาะพอดี คนไข้คนนั้นก็ตระหนักรู้ได้ถึงสัญญาณบางอย่าง จากก้นบึ้งของจิตใจ จากนั้นก็เปลี่ยนโลกทรรศน์ในการใช้ชีวิตไปเลยทั้งหมด
ผู้เขียนจึงคิดว่าการที่อยู่ๆผู้เขียนได้เกิดผุดวาบความคิดอยากจะเขียนบันทึกความทรงจำกึ่งสารคดีที่ค้นคว้าเกี่ยวกับสภาะวะเหนือจิตสำนึกขึ้นมา หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเรื่ิอง ‘ความคิด ความฝันและความทรงจำ’ของ คาร์จ จี จุง จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ผู้เขียนคิดว่างานเขียนชิ้นนี้อยู่ภายใต้การทรงนำและเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า และการพบปะกันระหว่างจิตวิญญาณของผู้เขียน และผู้อ่านที่บังเอิญหยิบหนังสือของผู้เขียนมาอ่าน ก็คงอยู่ใต้การทรงนำของพระเจ้าเช่นกัน หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน และกระทำบางสิ่งต่อจิตใจของผู้อ่าน …ไม่มากก็น้อย
ในหนังสือของคาร์ลจุงเสนอทฤษฏีเกี่ยวกับการค้นหา 'ความหมายแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์' โดยค้นหาผ่านประสบการณ์ (ร่วม) ภายในจิตไร้สำนึกที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน วิคเตอร์ อี แฟรงเคิล เสนอทฤษฏี 'ความหมายในจิตวิญญาณ' ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกับจุง คือ ให้มนุษย์ค้นหา 'ภารกิจ' เฉพาะตน ที่ไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมภายนอก หรือสถานการณ์รอบตัว โดยทำให้วิธีการค้นหานั้นเป็นรูปธรรมมากกว่าทฤษฏีของจุงที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ฝันและลางนิมิต วิคเตอร์ค้นพบว่าระหว่างรอความตายอยู่ในค่ายกักกัน (นาซี) เขาพยายามค้นหาอะไรก็ได้สักอย่าง เศษกระดาษแผ่นเล็กๆ เพื่อเอามาเขียน บันทึกประสบการณ์ของเขา และเมื่อคุยกับเพื่อนร่วมค่าย ที่ไม่รู้ว่าตนเองจะเข้าไปอยู่ในห้องรมแก๊สเมื่อไหร่เพื่อแบ่งปันประสบการณ์กัน คนที่นอนรอความตายจะแปรสภาพคล้ายผีดิบตายซาก มีแต่ความเบื่อหน่ายหดหู่ ทว่าคนที่ยังมีสิ่งค้างคาที่ต้องออกทำให้สำเร็จก่อน จะยังทนอยู่ในสภาวะนั้นได้ด้วยทัศนคติที่เข็มแข็ง วิคเตอร์จึงสรุปว่าการค้นพบความหมายแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ อาจค้นพบในสถานการณ์ที่ไร้ซึ่งความหวังและความกดดันนั้นโถมทับลงมาบนตัวมนุษย์แบบสุดขีดจำกัด การที่คนๆนึงจะทนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้นั้น เขาต้องค้นพบว่าเขาอยากอยู่ต่อเพื่อทำอะไร มีภารกิจแห่งการมีชีวิตอยู่เฉพาะตัวเขาเท่านั้นที่จะทำมันให้เสร็จสิ้นไปได้ เป็นความรับผิดชอบของเขาเพียงคนเดียว ไม่ใช่ของคนอื่น (ภารกิจแห่งปัจเจกจึงมักไม้ขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคม แต่เป็นเจตจำนงส่วนบุคคลจริงๆ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา