28 มี.ค. 2024 เวลา 21:59 • หนังสือ

Yellowface-ใครมีสิทธิ์หยิบเรื่องมาเล่า

Yellowface คือนิยายที่เขียนโดยนักเขียนหญิงเชื้อสายจีน บอกเล่าเรื่องราวของนักเขียนหญิงผิวขาว ที่เขียนนิยายเกี่ยวกับคนจีน (หรืออันที่จริงคือขโมยมา)
คนขาวจะรู้อะไรเกี่ยวกับคนเอเชียมากกว่าคนเอเชียได้อย่างไร แน่นอนว่าบางคนอาจจะรู้ในเชิงข้อเท็จจริงมากกว่า แต่คนขาวก็คงไม่สามารถเข้าใจหรือมองโลกผ่านมุมมองแบบคนเอเชีย เพราะโตมาในคนละบริบท เช่นนั้นคนขาวมีสิทธิ์ในการหยิบเรื่องราวของคนเอเชียมาเล่าหรือไม่
แต่ก็น่าคิดอีกเช่นกันว่า R.F. Kuang ผู้เขียนซึ่งเป็นคนเชื้อสายเอเชีย เธอเข้าใจคนขาวมากพอที่จะหยิบเรื่องราวของคนขาวมาเล่าหรือไม่
ตัวละครหลักของ Yellowface คือ June หรือ Juniper (ชื่อกลาง Song) Hayward นิยายเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ June โดยใช้สรรพนามบุคคลที่หนึ่ง เราจะได้สัมผัสถึงความคิดของคนเหยียดเชื้อชาติที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเหยียดเชื้อชาติ เข้าใจว่าตนเองใส่ใจเรื่องราวของคนจีน ทั้ง ๆ ที่ลึก ๆ แล้วมีความรังเกลียดอยู่ในใจ
ตัวละครหลักอีกตัวของเรื่องคือ Athena Liu นักเขียนหญิงเชื้อสายจีน เธอเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ June ที่มหาวิทยาลัย Yale (มหาลัยดังกลุ่ม Ivy League ของอเมริกา) ทั้งคู่ไม่ได้สนิทกันนัก แฮงค์เอาท์กันบ้างเป็นครั้งคราว Athena กลายเป็นนักเขียนดาวรุ่ง ขณะที่ June ออกหนังสือเดบิวท์ที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก
อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่โดดเดี่ยว Athena ไม่มีเพื่อนมากนัก ตามที่ June เข้าใจ ดูเหมือนเธอจะเป็นเพื่อนคนเดียวที่ Athena แฮงค์เอาท์ด้วย ทั้งสองออกไปดื่มฉลองที่นิยายของ Athena กำลังจะได้สร้างเป็นหนัง ในคืนนั้น Athena พา June ไปที่ห้องพักของเธอเป็นครั้งแรก และเผยผลงานชิ้นใหม่ที่เธอเพิ่งเขียนจบ
แต่แล้วในคืนนั้นเอง Athena กินแพนเค้กแล้วมันดันติดคอเธอตายต่อหน้าต่อตา June จากนั้นเรื่องราวของการขโมยผลงานจากนักเขียนผู้ล่วงลับก็เปิดฉากขึ้น
June ขโมยผลงานชิ้นสุดท้ายของ Athena ออกมาเขียนใหม่และตีพิมพ์ด้วยนามปากกาใหม่ Juniper Song เพื่อให้ชื่อดูกำกวมเหมือนนามสกุลคนจีน นิยาย The Last Front บอกเล่าประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ถูกลืมของกลุ่มชาวจีนทีาถูกอังกฤษเกณฑ์ไปร่วมรบ
เธอปรับเปลี่ยนน้ำเสียงของเรื่องเล่า ลดความรุนแรงที่คนขาวกระทำต่อชาวจีน และไม่เข้าใจบริบทหลาย ๆ เกี่ยวกับคนจีน เช่นไม่เข้าใจว่าการใส่ Da/ต้า (ใหญ่/พี่ใหญ่) กับ Xiao/เซี่ยว (เล็ก/น้องเล็ก) หน้าชื่อคนหมายถึงอะไร นิยายเรื่องนี้กลายเป็นนิยายดังแต่ก็เต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์หนาหูและข่าวลือว่าเธอขโมยผลงาน
ท้ายที่สุดแล้ว June จะโกหกไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่คงต้องให้ท่านผู้อ่านไปติดตามต่อกันในเล่ม Yellowface หรือ วรรณกรรมสลับหน้า ฉบับภาษาไทยแปลโดยคุณทศพล ศรีพุ่ม สำนักพิมพ์ Beat
หนังสือเล่นกับปมที่ว่า June รู้สึกว่าตนเสียเปรียบในวงการนักเขียน เพราะสังคมอเมริกันสนใจแต่เรื่องราวของคนชายขอบเพื่อขับเน้นความ "หลากหลาย" ทางชาติพันธุ์ เธอเชื่อลึก ๆ ว่าฝีมือการเขียนของเธอไม่แพ้ Athena แต่ Athena ได้โอกาสมากกว่าเพราะเธอเป็นคนเอเชีย และเขียนเรื่องเกี่ยวกับคนเอเชีย ในขณะที่พอ June ตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับคนเอเชีย เธอกลับโดนตั้งคำถามว่าเธอมีสิทธิ์อะไรที่จะเอาความทุกข์ของคนเอเชียมาหากิน
ในขณะเดียวกัน Athena ลูกหลานชาวจีนมีฐานะ พูดจีนไม่คล่อง ใช้ชีวิตส่วนมากอยู่ในอเมริกา ตัวเธอจะเข้าใจเรื่องราวความลำบากของคนจีนยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 จริง ๆ หรือ ถ้าเช่นนั้นแล้วเธอมีสิทธิ์อะไรที่จะเล่าเริ่องเหล้านั้นเล่า ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังเคยเขียนเรื่องคนเกาหลี คนเวียดนาม ทั้ง ๆ ที่เธอเป็นคนจีน แต่ก็กลับไม่มีการทักท้วงเรื่องนี้
ประเด็นหลังนี้เองก็น่าสนใจไม่น้อย ว่ามันเป็นเพราะมุมมองของคนอเมริกันที่ stereotype ชาติเอเชียว่าคือคนเหลืองที่คล้าย ๆ กันไปหมดหรือไม่ Athena จึงเขียนเรื่องเกี่ยวกับคนเอเชียชาติอื่นได้โดยไม่ถูกทักท้วง
อย่างที่เกริ่นไป นิยายเรื่องนี้เขียนโดยคุณ Kuang ที่เป็คนอเมริกันเชื้อสายจีน จึงน่าตั้งคำถามเช่นกันว่าในฐานะคนอเมริกันเชื้อสายจีน เธอมีสิทธิ์หรือไม่ที่จะเล่าเรื่องราวของคนขาว เธอเข้าใจมุมมองของคนขาวจริง ๆ หรือไม่หรือสุดท้สยแล้วสิ่งที่เธอเขียนก็เป็นเพียงการตอกย้ำ stereotype ของคนขาวลงไปอีกทีหนึ่ง
ประเด็นใหญ่ที่นิยายเรื่องนี้หยิบยกมาเล่าอีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องวงการหนังสือ การที่หนังสือเล่มนึงจะถูกเลือกมาตีพิมพ์ หรือจะถูกทำให้ดัง มันขึ้นอยู่กับเทรนด์การอ่าน ขึ้นอยู่กับกระแสอินเตอร์เน็ต และการโฆษณา จนบ่อยครั้งก็ยากจะแน่ใจว่า "หนังสือดี" นั้นคืออะไร มีอยู่จริงหรือไม่ หรือทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการกอบโกยของสำนักพิมพ์ในระบบทุนนิยมเพียงเท่านั้น
ส่วนตัวเรามองว่านิยายเล่มนี้เล่นกับประเด็นหลังได้เจ็บแสบกว่าประเด็นเรื่องเชื้อชาติเสียอีก แต่เพื่อที่จะพูดเรื่องนั้นขอเตือนไว้ตรงนี้ว่าจะมีการสปอยล์เนื้อเรื่อง 🚨
Yellowface เป็นนิยายความยาว 330 หน้าอังกฤษที่อ่านเพลิน เสียดสีแบบคัน ๆ แต่กลับไม่รู้สึกถึงความลึกของประเด็นที่เสียดสี มันให้ความรู้สึกตื้นเขินจนช่วงกลาง ๆ ออกแนวน่าเบื่อ ซึ่งเรามองว่ามันคือความจงใจของผู้เขียน เพราะท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้คือเรื่องเล่าผ่านมุมมองของ June ที่เป็นคนตื้นเขิน เข้าข้างตัวเอง และไม่น่าเชื่อถือ
นิยายเรื่องนี้จำเป็นต้องเล่าผ่านสรรพนามบุคคลที่ 1 ของ June (จะกล่าวถึงประเด็นนี้ต่อไป) แต่นั่นก็ทำให้น่าเสียดาย เพราะถ้าเล่าผ่านมุมมองอื่นเราอาจจะได้อ่านเรื่องราวในเชิงลึกกว่านี้
ทำไมถึงจำเป็นต้องเล่าผ่านมุมมองนี้? คำตอบนั้นอยู่ในบทท้าย ๆ ของเรื่อง ท้ายที่สุดแล้ว June ถูกแฉโดย Candice Lee พนักงานคนหนึ่งของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์เรื่อง The Last Front ให้นาง Candice ถูกไล่ออกจากสำนักพิมพ์หลังจากที่เธอไปขัดคอ June เธอจึงปลอมตัวเป็นผี Athena มาหลอกหลอน June จนนางยอมสารภาพ เธออัดเสียงคำสารภาพเอาไว้ หลังจากนั้นเธอก็เอาเรื่องราวนี้ไปเขียนเป็นนิยายเดบิวท์ ได้ข้อตกลงก้อนโต
June กลายเป็นผู้แพ้และตั้งใจจะเขียนเรื่องทั้งหมดในมุมมองของเธอเพื่อตอบโต้ narrative ของ Candice นางเชื่อว่าผลงานนี้จะได้ตีพิมพ์ และกอบกู้ชื่อเสียงให้ตนเอง
เรื่องราวจบเพียงเท่านั้น เราไม่รู้ต่อว่าสรุปเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น แต่กระนั้นมันก็ตีความได้ว่าสุดท้ายแล้วนิยายโต้กลับของ June ถูกตีพิมพ์ในที่สุด และมันก็คือนิยายที่เราได้อ่านไปนั่นเอง! ด้วยเหตุนี้นิยายจึงไม่สามารถเล่าต่อว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น และจำเป็นต้องเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่ 1 ของ June
ด้วยเหตุนี้เราจึงมองว่านิยายเรื่องนี้เล่นกับประเด็นวงการหนังสือได้เจ็บแสบ เพราะมันบอกเรากลาย ๆ ว่าสุดท้ายแม้ว่า June จะเคยทำเรื่องเลวร้ายเอาไว้ ผลงานของเธอก็ยังได้รับการตีพิมพ์เพราะสำนักพิมพ์มองว่ามันมีกระแส และมันจะทำเงิน
เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่สนับสนุน cancel culture เรามองว่าการ cancel มันคือการไม่ให้โอกาสกันเกินไปหน่อย แน่นอนว่าบางครั้งเราก็ต้อง take action บางอย่างให้เขารู้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่โอเค แต่เราก็ไม่ควรลืมว่าคน ๆ หนึ่งเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าทำผิดครั้งนึงแล้วเราไป cancel เขาตลอดกาล
สิ่งที่เรามีปัญหามากกว่าคือความเป็นทุนนิยมของการพิมพ์หนังสือ ภายใต้ระบบนี้ เรื่องราวต่าง ๆ ถูกคัดเลือกมาพิมพ์ด้วยปัจจัยว่าจะสร้างกำไรได้เท่าไหร่ มากกว่าที่จะใส่ใจคุณค่าทางสังคม การเลือกพิมพ์เรื่องของคนชายขอบ ผู้อพยพ ก็ถูกคัดเลือกมาเพราะสำนักพิมพ์มองว่ามันจะทำเงิน (ในบริบทการอ่านของคนอเมริกัน) Athena ถูกแปะป้ายว่าเป็นคนเอเชีย สำนักพิมพ์คาดหวังให้เธอเขียนเรื่องเกี่ยวกับคยเอเชีย แม้เธอจะอยากเขียนเรื่องอื่นบ้าง
แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าสำนักพิมพ์ใส่ใจหรือเข้าใจเรื่องราวของคนชายขอบจริง ๆ เพราะสุดท้ายก็หยิบมาเฉพาะเรื่องที่คนน่าจะเสพกันได้ ไม่ต้องลงลึกเกินไปเพราะมันจะเข้าใจยากเกิน จะเห็นว่าคนอเมริกันเสพนิยายแปลกันน้อยมาก ถ้าอ่านเรื่องเอเชียก็จะเป็นเรื่องเอเชียนอเมริกัน ไม้ใช่เรื่องแปลจากนักเขียนเอเชียที่เล่าเรื่องเอเชียจากมุมมองภายในเอเชียจริง ๆ
Candice ที่หยิบเรื่องดราม่าทั้งหมดนี้มาเขียน สุดท้ายก็ตกอยู่ภายใต้กรอบของการเป็นนักเขียนเอเชียนอเมริกันนี้อยู่ดี ส่วน June ที่ดูน่าจะถูก cancel สุดท้ายก็ได้พิมพ์เรื่องของตนอยู่ดี แน่นอนเพราะมันขายได้ และท้ายที่สุดทุกอย่างมันก็คือเรื่องของเงิน ทุน และกำไร
สำหรับเรา เรารู้สึกว่างานเขียนมันไม่ควรถูกจำกัดกรอบว่าใครควรจะเล่าเรื่องของใคร ไม่เช่นนั้นนักเขียนสักคนก็คงเล่าได้แต่เรื่องของตัวเอง แต่ถึงกระนั้นเราในฐานะนักอ่านก็ควรพึงตระหนักว่าเรื่องเล่านี้ใครเป็นคนเล่า
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือนิยายแนวเพื่อชีวิตที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชนชั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วนักเขียนชนชั้นกลางสักคนจะเข้าใจเรื่องราวของแรงงานหรือ และการเอาเรื่องของเขามาหากิน สร้างรายได้ให้ตน ในขณะที่คนอ่านก็อิน ชื่นชมกับความ "สมจริง" เป็น "มนุษย์" การเล่นกับประเด็น "ชนชั้น" อย่างเข้าถึงนั้น อันที่จริงเราในฐานะนักอ่านชนชั้นกลางจะไปรู้อะไรเล่า
นั่นคือสิ่งที่เราพึงระลึกและตระหนักอยู่เสมอ การพูดว่าตนเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของเรา ท้ายที่สุดแล้วเป็นเพียงการกระทำที่แค่ทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกว่าตนเข้าใจ "ความเป็นมนุษย์" มากกว่าคนอื่นหรือไม่
สำหรับเรื่อง Yellowface เราก็ควรตระหนักไปด้วยว่าคุณ R.F. Kuang ถึงแม้จะเป็นคนชายขอบในเชิงชาติพันธุ์ในอเมริกา แต่เธอก็เป็นผู้มีอภิสิทธิ์ชนในเชิงฐานะการเงิน เรียนจบมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง และมีโอกาสมากกว่าคนเอเชียนอเมริกันทั่ว ๆ ไป
แน่นอนว่านักเขียนในแวดวงหนังสือตะวันตก ยังถูกครอบงำโดยมุมมองของคนขาว และนักเขียนจำนวนมากก็ยังเป็นคนขาวอยู่ นี่ยังไม่ต้องกล่าวถึงประเด็นเรื่องเพศ ดังนั้นการจะบอกว่าปล่อยให้คนขาวเขียนเรื่องคนชาติอื่นไปเถอะ มันก็ฟังดูเมินเฉยต่อข้อเท็จจริงข้อนี้เกินไปหน่อย และการไปวิพากษ์วิจารณ์เสียงจากคนกลุ่มน้อย ก็อาจจะเป็นการหักหาญกันเองไปเสียหน่อย
แต่ท้ายที่สุดแล้วปัญหานี้มันหยั่งรากลึกกว่าแค่เปอร์เซ็นต์ทางเชื้อชาติของนักเขียนมาก การที่เรื่องของคนกลุ่มน้อยถูกเล่า ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำลายอคติในวงการพิมพ์ (และวงการอื่น ๆ) ได้แบบทันตาเห็น
หนังสือดัง ไม่เท่ากับหนังสือดี แต่คือหนังสือที่โปรโมทดี สร้างเงินเยอะ คนเข้าถึงได้ การจะเป็นนักเขียนที่สร้างแรงกระเพื่อมก็จำเป็นต้องให้เกิดกลุ่มผู้อ่านที่เยอะ แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องสละความลึกบางอย่างออกไป นักเขียนที่เขียนลึกอาจจะขายไม่ดี เป็นเพียงนักเขียนอินดี้ขายเฉพาะกลุ่ม สร้างอิมแพ็คไม่ได้ มันคือความย้อนแย้งที่คงไม่อาจหาทางออกได้ในระบบทุนนิยมแบบทุกวันนี้
ปล. ชอบฉากนึงที่มีผู้ชายคนขาวคนนึงบ่นลงอินเตอร์เน็ตว่าเข้าร้านอาหารไทยแล้วพนักงานถามว่าจะเอาเผ็ดแบบของแทร่หรือเผ็ดแบบคนขาว ทั้ง ๆ ที่ตนแต่งงานกับคนไทยมาหลายปีแล้ว นึกว่า "ไกจิน" (ในนิยายใช้คำนี้เลย เป็นคำญี่ปุ่นที่ใช่เรียกคนขาว หรือเทียบกับคำว่า "ฝรั่ง" นั่นเอง) คนนี้กินเผ็ดไม่เป็นหรอ 555
ขอตั้งสมมติฐานว่าเป็นความจงใจของผู้เขียนละกัน ที่เลือกใช้คำว่า "ไกจิน" แทนที่จะใช้ "ฝรั่ง" (farang) คงจะแสดงถึงความที่คนโพสต์นี้ดูพยายามจะแสดงออกถึงความรู้เรื่องเอเชียของตน แต่เลือกใช้คำผิดภาษาด้วยซ้ำ อันที่จริงเผ็ดของแทร่ในอเมริกา ก็เผ็ดไม่เท่าที่คนไทยกินกันในไทยจริง ๆ หรอก ถถถ
อยากรู้อยู่เหมือนกันว่าฉบับภาษาไทยแปล "ไกจิน" ว่าอะไร 555
ปล. 2 เรื่องนี้ดูมีแนวคล้าย ๆ กับหนังเรื่อง American Fiction แต่เรายังไม่มีโอกาสได้ดูเรื่องนั้น เลยเปรียบเทียบกันไม่ได้ ทั้งสองเรื่องออกมาเมื่อปี 2023 ทั้งคู่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา