24 มี.ค. เวลา 21:00 • หนังสือ

อดีตตายตัว-ประวัติศาสตร์ไม่ตายตัว

เวลานี้ของเมื่อวานนี้คุณกำลังทำอะไรอยู่ เป็นคำถามง่าย ๆ ที่บางครั้งเราก็ตอบไม่ได้ ยิ่งเมื่อถามย้อนกลับไปเป็นเมื่อสัปดาห์ก่อน เดือนก่อน หรือปีก่อน หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของเราถูกลืมเลือนไป โดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
ณ เวลาหนึ่งเมื่อคุณมองย้อนกลับไปในชีวิต คุณเห็นเรื่องราวในมุมหนึ่ง เช่นว่าถ้าตอนนั้นคุณเพิ่งทะเลาะกับแฟน คุณก็มองย้อนกลับไปเห็นแต่เรื่องแย่ ๆ แต่ในอีกวันหนึ่งเมื่อเลิกรากันไปแล้ว บางครั้งคุณอาจจะมองย้อนกลับไปแล้วนึกถึงวันเก่าครั้งรักยังหวานชื่น ดังนั้นถ้าคุณเขียนอัตชีวประวัติของตัวเองในช่วงเวลาที่ต่างกัน แม้แต่ประวัติของตัวคุณเองก็ยังกลายเป็นเรื่องราวสองฉบับที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงได้
นั่นเพราะมีบางสิ่งที่คุณเลือกจะบันทึก บางสิ่งที่ถูกเลือกทิ้งไป บางสิ่งที่ลืมไป บางสิ่งที่มองไม่เห็นเพราะกรอบที่คุณใช้มอง ณ เวลาหนึ่ง ๆ ประวัติศาสตร์ก็ไม่ต่างกัน
ประวัติศาสตร์ในระดับโรงเรียนถูกสอนราวกับว่ามันเป็นความจริงที่ตายตัว เราถูกสอนให้ท่องจำเหตุการณ์เหล่านั้นมากเสียยิ่งกว่าถูกสอนให้ตั้งคำถามกับมัน เราดำรงอยู่ในโลกที่ถูกครอบงำโดยตรรกะของความเป็นสากล ความจริงแท้
เราคาดหวังให้ประเทศของเราพัฒนาให้ทัดเทียม "สากล" เราต้องการให้อะไร ๆ ต่าง ๆ เป็นเหมือนกับ "สากล" เรามองว่ามีความเป็นสากลอะไรบางอย่างในความเป็น "มนุษย์" คุณค่าบางอย่างที่มีอยู่ในคนทุกที่ ทุกเวลา
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตอกย้ำตรรกะของความเป็นสากลนั้น ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เป็นสากล ทดสอบได้ทุกที่ ทุกเวลา ภายใต้ตัวแปรเดียวกัน
เมื่อเรามองกลับไปในประวัติศาสตร์ภายใต้ตรรกะของความเป็นสากลนี้ บ่อยครั้งเราจึงตกหลุมพลางของการทำความเข้าใจอดีต ภายใต้ตรรกะของความจริงหนึ่งเดียว เมื่อเราเจอเรื่องราวที่ย้อนแย้ง สิ่งแรกที่เราคิดคือเรื่องไหนกันแน่ที่เป็นเรื่องจริง เรื่องไหนกันแน่ที่โกหก แต่มันจำเป็นที่จะต้องเป็นแบบนั้นหรือไม่
"ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ชื่อของเขาคือยอดนักสืบโคนัน" น่าสนใจว่าบรรดาผู้อยู่ในเหตุการณ์ในคดีต่าง ๆ ของนิยายสืบสวน มักจะจำเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ และข้อสรุปสุดท้ายของยอดนักสืบมักจะร้อยเรียงสอดรับกันอย่างเหลือเชื่อจนเราคาดไม่ถึง และสิ่งที่ดูเหมือนจะย้อนแย้งในตอนต้น สุดท้ายมักเป็นเพียงเพราะมุมมองที่ต่างกันของผู้อยู่ในเหตุการณ์
แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนเราจำรายละเอียดได้ขนาดนั้นเลยหรือ บ่อยครั้งเราลืม บ่อยครั้งเราจำผิดและเชื่อว่าตัวเองจำถูก บ่อยครั้งเราจึงพูดสิ่งที่ผิดโดยที่ไม่ได้โกหกเสียด้วยซ้ำ เพราะนั่นมันเป็นความจริงของเรา ความจริงอย่างที่เราจำได้
ทุกวันนี้ที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักถูกท้าทายและตั้งคำถาม บ่อยครั้งผู้ที่สนับสนุนประวัติศาสตร์กระแสรองก็มองว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักเป็นเรื่องโกหก และกระแสรองของตนเป็นเรื่องถูก แต่มันจำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนั้นหรือ ความย้อนแย้งบางอย่างก็ไม่ได้จำเป็นต้องมีข้อสรุปว่าเรื่องไหนที่จริงหรือเรื่องไหนที่โกหกไม่ใช่หรือ
เรื่องย้อนแย้งเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่น่าสนใจ ทำไมถึงมีคนกลุ่มนึงที่คิดและมองโลกเช่นนั้น ขณะที่อีกกลุ่มคิดและมองโลกในอีกแบบหนึ่ง การทำความเข้าใจความแตกต่างนี้ต่างหากที่ทำให้เราเข้าใจอดีตมากขึ้น เห็นภาพที่กว้างขึ้น ไม่ใช่การมองหาว่าเรื่องราวฉบับไหนที่จริงกว่ากัน
โลกทุกวันนี้พยายามไขว้คว้าความเป็นสากล ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันบางอย่าง ในขณะเดียวกันก็ย้ำกับเราว่าความหลากหลายเป็นสิ่งที่ดี คำถามคือสองสิ่งนี้จะดำเนินควบคู่กันไปได้อย่างไร
อันที่จริงแล้วไม่มีอะไรที่เป็นสากลอย่างแท้จริง ไม่แม้แต่วิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ไม่แม้แต่ความเป็น "มนุษย์" โลกของเราเต็มไป
โลกของเราเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายที่ไม่สามารถเข้าใจกันได้ บ่อยครั้งเมื่อคนตะวันตกพูดว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เขากำลังหมายความว่าคุณที่ไม่ใช่คนตะวันตก ก็สามารถที่จะคิดอย่างคนตะวันตกได้ ดังนั้นคุณจึงเป็นคนเท่ากับคนตะวันตก อันที่จริงเราต่างก็พยายามไขว้คว้าความเป็น "สากล" ซึ่งก็คือความเป็นตะวันตกนั่นเอง
แต่นั่นมันไม่เท่ากับว่าเป็นการตอกย้ำความ "เหนือกว่า" ของความเป็นตะวันตกเช่นนั้นหรือ ที่สุดแล้วมันก็มีความไม่เท่ากันอยู่ในตรรกะแบบนี้อยู่ดี
สำหรับเราแล้วความเท่ากันคือความที่เราสามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องเข้าใจ ไม่ต้องชอบอีกฝ่าย ไม่ต้องคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะสามารถคิดเหมือนเรา แต่คือการที่มองว่าในความต่างนั้นไม่ได้มีของใครที่ถูกต้องหรือเหนือกว่า แต่ละชุดความคิดมันก็มีความหมาย มีคุณค่าในตัวของมัน
ประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน แต่ละฉบับก็บันทึกเรื่องราวและมุมมองต่อเรื่องราวของผู้บันทึกเอาไว้ มันบอกเล่าอะไรต่าง ๆ มากกว่าที่ตัวอักษรบันทึกไว้อีกชั้นหนึ่ง ภายใต้ความย้อนแย้งแตกต่างนั้น
หนังสือ History: A Very Short Introduction (VSI) หรือชื่อฉบับภาษาไทยว่า ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ คือหนังสือที่ชี้ให้เห็นว่าคุณค่าของการเรียนประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องของการรู้ความจริงที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะมันไม่อาจรู้ได้ แต่คือเรื่องของการตระหนักว่าการมองและทำความเข้าใจโลกมันไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว มันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายที่ขึ้นกับเวลาและสถานที่ มันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
แม้แต่การศึกษาและเขียนประวัติศาสตร์เองก็ยังเปลี่ยนแปลงไปตามกรอบความเข้าใจ อุดมการณ์ และแรงขับของผู้เขียนประวัติศาสตร์ตามแต่ละยุคสมัย คนในอนาคตอาจไม่ได้มองประวัติศาสตร์แบบที่เรามองทุกวันนี้ แต่มันก็ไม่ได้แปลว่ามันคือการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหรือจริงกว่า มันเป็นเพียงสิ่งที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา