7 เม.ย. เวลา 23:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำความเข้าใจว่าทำไมพันธบัตรรัฐบาลถึงสามารถบ่งชี้ถึงสภาพเศรษฐกิจได้

พันธบัตรรัฐบาล คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่รัฐบาลออกเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนหรือประชาชนเพื่อนำเงินไปใช้จ่าย โดยทั่วไปจะเสนอผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยให้กับผู้ถือ
พันธบัตรรัฐบาลนั้นก็มีด้วยกันอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ พันธบัตรตั๋วเงินคลัง พันธบัตรดอกเบี้ยคงที่ พันธบัตรอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ
ซึ่งตามทั่วไปแล้วพันธบัตรรัฐบาลจะถือเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง (Rick Free) เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ออก ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้จึงต่ำเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน
อย่างไรก็ดี เป็นความจริงที่ว่าพันธบัตรรัฐบาลนั้นไม่ได้มีความเสี่ยง หากเราถือครองครบระยะเวลาไถ่ถอน
แต่นั้นก็ถือว่าไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะระหว่างการถือครองเพื่อรอครบกำหนดไถ่ถอน นักลงทุนจำเป็นต้องรับความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของมูลค่าหน้าตั๋วของพันธบัตร ยิ่งถือครองพันธบัตรระยะที่ยาวขึ้น ก็ยิ่งมีความผันผวนด้านมูลค่าที่สูงตามไปด้วย
อีกทั้งหากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาว ผู้ถือก็อาจขาดทุนได้เช่นกัน
นอกจากบริบทในด้านการลงทุนแล้ว ในหลายๆครั้งพันธบัตรรัฐบาลยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ถึงสภาพเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ในครั้งนี้เราเลยจะพามาทำความเข้าใจกับพันธบัตรประเภทที่ค่อนข้างจะมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง อย่างพันธบัตรตั๋วเงินคลังและพันธบัตรดอกเบี้ยคงที่กัน
  • พันธบัตรตั๋วเงินคลัง
พันธบัตรตั๋วเงินคลังหรือที่เรียกกันว่า Treasury Bills (T-Bills) เป็นตราสารหนี้ "ระยะสั้น" ที่ออกโดยกระทรวงการคลังของรัฐบาล มีจุดประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนหรือสภาพคล่องระยะสั้นให้กับรัฐบาล
โดยจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี และพันธบัตรตั๋วเงินคลังนี้จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือ แต่จะเปลี่ยนเป็นการเสนอผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนลดจากราคาหน้าตั๋วแทน
ตัวอย่าง
สมมุติว่ารัฐบาลออกตั๋วเงินคลังราคาหน้าตั๋ว 100 บาท อายุ 3 เดือน ขายในราคา 98 บาท เมื่อครบกำหนด รัฐบาลจะชำระคืน 100 บาท นักลงทุนก็จะได้กำไร 2 บาท
โดยทั่วไปแล้ว พันธบัตรตั๋วเงินคลังจะเป็นพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดแต่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลบางประเภท
เนื่องจากระยะเวลาถือครองสั้นกว่า อีกทั้งเป็นการซื้อในราคาส่วนลดจากราคาหน้าตั๋วส่วนลดจากราคาหน้าตั๋ว จึงทำให้มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าประเภทอื่นๆ
แล้วพันธบัตรตั๋วเงินคลัง (T-Bills) มีความสัมพันธ์อย่างไรกับเศรษฐกิจ?
การออกตั๋วเงินคลังของรัฐบาลนั้นสะท้อนถึงความต้องการเงินทุนในระยะที่สั้นซึ่งอาจไม่เกินหนึ่งปี ยิ่งออกมาเยอะก็เท่ากับความต้องการเงินทุนระยะสั้นของรัฐบาลนั้นมีปริมาณที่มาก ซึ่งในหลายๆครั้งก็มักออกเมื่อเกิดวิกฤตหรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ
ส่วนจะเป็นผลดีหรือผลเสียกับเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลนำเงินทุนเหล่านั้นไปใช้จ่ายกับอะไร
ตัวอย่าง
ในกรณีที่รัฐบาลออกตั๋วเงินคลังมาแล้วนำเงินไปชดใช้หนี้คงค้างของรัฐบาลที่กำลังจะถึงกำหนดชำระ การกระทำนี้อาจไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจอะไรมากนัก อาจทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสามารถแก้ไขได้ในอนาคต
แต่หากรัฐบาลออกตั๋วเงินคลังมาแล้วนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การกระทำนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
อย่างเช่น การระบาด Covid-19 กระทรวงการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการออกตั๋วเงินคลัง (T-Bills) จำนวนมากมูลค่ากว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเงินเหล่านั้นไปดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
แต่ด้วยกำลังบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในเวลาอันสั้น ทำให้เกิดการไล่ซื้อสินค้าและบริการ ผลักดันให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น และนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปราบปรามเงินเฟ้อ
การออกตั๋วเงินคลังที่มากเกินไปครั้งนั้นจึงส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างหนี้ของสหรัฐฯ แม้จะเป็นการทำเพื่อช่วยเหลือผู้คนก็ตามนั่นเอง
  • พันธบัตรดอกเบี้ยคงที่
พันธบัตรดอกเบี้ยคงที่ เป็นตราสารหนี้ "ระยะกลางและระยะยาว" ซึ่งออกโดยกระทรวงการคลังของรัฐบาลเช่นกัน
โดยจะถูกแบ่งเป็นสองประเภทหลักๆ ก็คือ พันธบัตรรัฐบาลระยะกลาง (Treasury Notes หรือ T Notes) พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Treasury Bonds หรือ T Bond)
โดยทั่วไปทั้งสองประเภทนี้ มีจุดประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนมาใช้จ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการในระยะยาว อย่างเช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการสาธารณะ การศึกษา และสาธารณสุข เป็นต้น
โดยพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางจะมีอายุ 1 ถึง 10 ปี และพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะมีอายุมากกว่า 10 ปี และทั้งสองจะมีการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการจ่ายดอกเบี้ยทุกๆหกเดือน
แต่พันธบัตรทั้งสองประเภทนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรตั๋วเงินคลัง (T-Bills) เนื่องจากมีระยะการถือครองและวันครบกำหนดไถ่ถอนที่นานกว่า
ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องรับความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของมูลค่าหน้าตั๋วของพันธบัตรที่สูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาวด้วย
แล้วพันธบัตรรัฐบาลระยะกลาง (Treasury Notes) กับพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Treasury Bonds) มีความสัมพันธ์อย่างไรกับเศรษฐกิจ?
อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า พันธบัตรทั้งสองส่วนใหญ่แล้วมีจุดประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนมาใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆของประเทศ
ดังนั้นถ้าหากรัฐบาลมีการออกพันธบัตรดอกเบี้ยคงที่ในปริมาณที่สูง เราอาจจะอนุมานได้ว่ารัฐบาลกำลังจะมีการดำเนินนโนบายหรือโครงการอะไรสักอย่าง เพื่อการเติบโตในระยะยาวของประเทศ ซึ่งอาจทำให้ GDP เติบโตขึ้นในอนาคตได้
 
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีอะไรที่สามารถบอกหรือรับประกันได้ว่า นโนบายหรือโครงการที่ใช้เงินจากการระดุมทุนโดยการออกพันธบัตรรัฐบาลนั้นจะประสบความสำเร็จเช่นกัน
และแม้จุดประสงค์หลักของพันธบัตรดอกเบี้ยคงที่จะเป็นการระดมทุนเพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศ แต่ในบางกรณีพันธบัตรดอกเบี้ยคงที่ก็สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจได้หลายประการ
1. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาว (ํBond Yield) สูงขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้เพิ่มขึ้น
หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาว มีการปรับตัวสูงขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้เพิ่มขึ้น นั่นอาจหมายความว่า เศรษฐกิจหรือรัฐบาลของประเทศนั้นๆกำลังประสบกับปัญหาบางอย่าง
เพราะ ตามปกติแล้วการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวสูงขึ้นได้นั้น มีอยู่ด้วยกันสองสาเหตุหลักๆ
ข้อแรก อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้น ข้อสอง มีนักลงทุนถือครองพันธบัตรรัฐบาลนั้นน้อยลง
1
แต่ถ้าหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาว มีการปรับตัวสูงขึ้นโดยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้เพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นขึ้น
ซึ่งมาจากปัญหาบางอย่างภายในประเทศ เช่น ประเทศมีหนี้สูงเกินไป หรือความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ เป็นต้น
เลยทำให้นักลงทุนไม่ซื้อหรือเทขายพันธบัตรรัฐบาล ทำให้มีนักลงทุนถือครองพันธบัตรรัฐบาลนั้นน้อยลง และเมื่อการถือครองพันธบัตรรัฐบาลมีน้อยลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจึงสูงขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนกลับมาซื้อพันธบัตรนั่นเอง
2. ราคาหน้าตั๋วของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาวเพิ่มขึ้น อาจแสดงถึงจุดเริ่มต้นของวัฏจักรเศรษฐกิจรอบใหม่
วิกฤตเงินเฟ้อในประวัติศาสตร์หลายๆครั้งที่ผ่านมา เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ก็มักจะทำให้เกิดการเทขายพันธบัตรรัฐบาลเสมอ
เนื่องจากเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้นตาม ทำให้นักลงทุนมีการเทขายพันธบัตรชุดเก่าเพื่อนำเงินมารอซื้อพันธบัตรชุดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเดิม
ดังนั้นหากราคาหน้าตั๋วของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาว มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว
นั่นอาจหมายความว่า นักลงทุนเริ่มคิดแล้วว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่เพิ่มไปมากกว่านี้แล้ว จึงเริ่มเชื่อกันว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็คงไม่สูงไปกว่านี้แล้วเหมือนกัน จึงเริ่มตัดสินใจกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลกันนั่นเอง
นอกจากนี้ นักลงทุนก็ต้องไม่ลืมว่าแม้การออกพันธบัตรมาขายจะเป็นการจัดหาเงินทุนเพื่อนำเงินทุนที่มามาใช้จ่ายต่างๆในประเทศของรัฐบาล
แต่ในอีกบริบทหนึ่งก็เป็นเหมือนการสร้างหนี้สินใหม่ๆให้กับประเทศ เพราะต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นให้ผู้ถือพันธบัตร
ซึ่งหากเงินทุนที่หามาได้เหล่านั้นไม่ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ทำให้ GDP เติบโต หนี้สินที่เกิดขึ้นในระบบเหล่านั้น อาจกลายเป็นปัญหาให้กับประเทศได้ในอนาคต
และก็ต้องไม่ลืมอีกเช่นเดียวกันว่า การที่นักลงทุนซื้อพันธบัตรของประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็เปรียบเหมือนว่านักลงทุนได้ซื้อหนี้สินของประเทศนั้นๆด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าพันธบัตรรัฐบาลนั้นมีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างลึกซึ้งและมีนัยสำคัญเสมอ ซึ่งบทความนี้นำมาเสนอแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น
ดังนั้นการหมั่นสังเกตและทำความเข้าใจพันธบัตรรัฐบาลให้มากขึ้น นั้นจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจระบบเศรษฐกิจได้ดีเพิ่มมากขึ้นหรือสามารถเชื่อมโยงและนำไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนเพื่อพอร์ตการลงทุนที่เติบโตอย่างยั่งยืนของเราได้นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา