19 เม.ย. เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมนักลงทุนต้องทำความเข้าใจเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ไม่ได้ลงทุนในสหรัฐฯก็ตาม

ในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก ตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐฯเปรียบเสมือนจักรกลหลักขนาดใหญ่ ที่ค่อยขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจโลกให้หมุนต่อไป
และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นได้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การค้า การเงิน การลงทุน และนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
บทความนี้จะพานักลงทุนมือใหม่ทุกคนมาทำความเข้าใจกันแบบพอสังเขป ถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯในระดับมหภาค
เพื่อหาคำตอบว่าทำไมนักลงทุนต้องทำความเข้าใจเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ไม่ได้ลงทุนในสหรัฐฯก็ตาม
  • ​นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ส่งผลต่อนโยบายการเงินของประเทศอื่นๆทั่วโลก
ด้วยความที่โลกของเรามีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ทำธุรกรรมและค้าขายระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 1944 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ทำให้นโยบายการเงินของสหรัฐฯ นั้นมีอิทธิพลต่อนโยบายการเงินและสกุลเงินอื่นๆทั่วโลก
ตัวอย่าง
หากสหรัฐฯมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยทั่วไปแล้วสิ่งนี้จะทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
ซึ่งหากประเทสอื่นๆไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินตามสหรัฐฯ สกุลเงินของประเทสเหล่านั้นก็จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่เป็นสกุลเงินหลัก
และจะทำให้พวกเขาเสียเปรียบในด้านการค้าขายระหว่างประเทส ส่งออกได้กำไรน้อยลง นำเข้าเท่าเดิมแต่ต้องจ่ายมากกว่าเดิม อีกทั้งยังทำให้ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศแพงขึ้น เนื่องจากสกุลเงินของพวกเขาอ่อนค่าลงทำให้เกิดเงินเฟ้อซึ่งจะมีผลกระทบตามมาอีกมากมาย
  • ​สหรัฐฯ เป็นกำลังบริโภคหลักของโลกใบนี้
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีกำลังบริโภคสูงติดอันดับต้นๆของโลก หลายๆประเทศจำเป็นต้องมีการพึ่งพากำลังบริโภคของผู้คนชาวอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ แม้แต่ประเทศไทยของเราด้วยเช่นกัน
ด้วยประชากรกว่า 335.8 ล้านคน และมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 70,200 ดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับต้นๆของประเทศที่มีรายได้สูง
หากใครนึกภาพไม่ออกว่ากำลังบริโภคของสหรัฐฯ มีบทบาทกับโลกขนาดไหน ให้ลองนึกถึงช่วงการระบาดของ Covid-19 ที่รัฐบาลสหรัฐฯมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่ากว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเงินทุนที่ได้มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายนักลงทุน
และแน่นอนว่าที่สหรัฐฯ สามารถจัดหาเงินทุนได้มหาศาลแบบนี้ นั่นก็เพราะว่า สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นเจ้าของสกุลเงินหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้พวกเขาได้รับความเชื่อมั่นที่สูงจากนักลงทุนทั่วโลก
เงินจำนวนกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นกำลังซื้อและบริโภคให้กับผู้คนชาวอเมริกันเพื่อใช้จ่ายสินค้าและบริการจากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
ที่มา Tradingeconomics
โดยในช่วงเวลาการระบาดของ Covid-19 สหรัฐฯมีการนำเข้าสูงกว่าการส่งออกจำนวนมาก จนทำให้สหรัฐฯ เกิดการขาดดุลการค้าสูงเป็นประวัติการณ์
และจากแผนภูมิจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯมีการนำเข้าสูงกว่าส่งออกมาโดยตลอดนานนับหลายสิบปี ซึ่งสะท้อนถึงกำลังบริโภคของพวกเขา
  • ​สหรัฐฯ เป็นเจ้าของตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สหรัฐฯ เป็นเจ้าของตลาดหุ้นหลักของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น DJI NYSE NASDAQ และ S&P500 และสหรัฐฯ ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อโลก
โดยในช่วงต้นปี 2024 สหรัฐฯ เป็นเจ้าของตลาดหุ้นซึ่งกินส่วนแบ่งกว่า 60.5% ของตลาดหุ้นโลก
ที่มา Statista
ซึ่งทำให้ตลาดการเงินของสหรัฐฯกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการระดุมจากธุรกิจและบริษัททั่วโลก เนื่องจากเป็นตลาดการเงินที่นักลงทุนทั่วโลกเข้าถึงได้ จึงทำให้มีสภาพคล่องที่สูงและง่ายต่อการระดุมของธุรกิจและบริษัทต่างๆ
อีกทั้งสหรัฐฯ ยังเป็นเจ้าของตลาดตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยในไตรมาสสามปี 2023 ตราสารหนี้คงค้างของสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 57.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา sifma.org
แต่ที่มีนัยสำคัญกับโลกมากที่สุด ก็คือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ากว่า 25.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เดือนมีนาคมปี 2024 มีมูลค่า 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)
โดยที่บอกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีนัยสำคัญกับโลกมากที่สุด นั่นก็เพราะว่า ผู้ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐส่วนใหญ่ จะเป็นรัฐบาลและสถาบันการเงินหรือธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ รวมถึงกองทุนรวม กองทุนบำนาญ บริษัทประกันภัย บริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ และบุคคลจากทั่วโลก
ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง แต่ต้องการผลตอบแทนที่มั่นคงและสม่ำเสมอ ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเงินที่สูงที่สุดอย่างสหรัฐฯ
นั่นเลยทำให้เวลาที่สหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินซึ่งโดยทั่วไปจะทำให้เกิดการผันผวนของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และมักจะทำให้เกิดความผันผวนด้านราคาหน้าตั๋วของพันธบัตรรัฐบาลตามมา
กลายเป็นว่าองค์กรขนาดใหญ่ต่างๆทั่วโลก ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องรับความเสี่ยงด้านราคาด้วยนั่นเอง
ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดทุนทางบัญชี (Accounting Loss) และส่งผลต่อมูลค่าบริษัท มูลค่าสินทรัพย์รวม งบดุล หรือผลดำเนินงานขององค์กรขนาดใหญ่เหล่านั้นได้
  • ​สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก
1
ในปี 2023 สหรัฐฯ ได้กลายผู้ผลิตน่ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถผลิตได้ที่ราวๆ 12.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่ารัสเซียที่ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และซาอุดิอาราเบียที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันดิบในประเทศแทบเอเซียอย่างประเทศไทยจะอ้างอิงกับราคาน้ำมันดิบของซาอุดิอาราเบียเป็นหลัก แต่ราคารวมถึงกำลังการผลิตน่ำมันดิบของสหรัฐฯ ก็สามารถกระทบราคาน้ำมันดิบในแทบเอเซียได้ในทางอ้อมเช่นกัน
อย่างเช่น หากสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง เนื่องจากเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบในตลาด
ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้ซาอุดิอาราเบียตัดสินใจลดกำลังการผลิตลง เพื่อรักษาระดับปริมาณน้ำมันของโลกเอาไว้ และทำให้ราคาของน้ำมันดิบในแทบเอเซียหรือราคาน้ำมันดิบในประเทศที่มีการซื้อขายน้ำมันดิบกับซาอุดิอาราเบียปรับตัวสูงขึ้น
เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบของซาอุดิอาราเบียลดลง จากการลดกำลังการผลิตนั่นเอง
นอกจากนี้ น้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้าพลังงานสำหรับอุปโภคบริโภคของผู้คนและธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ
ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ หากราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวขึ้นก็สามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ ในทางกลับกันหากราคาน้ำมันดิบลดลง ก็ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงได้เช่นกัน
ซึ่งหากมีเงินเฟ้อเกิดขึ้นก็อาจทำให้ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อได้ด้วยเช่นเดียวกัน
จะได้เห็นว่า แม้ว่านักลงทุนหลายคนอาจจะไม่ได้ลงทุนโดยตรงในสหรัฐฯ แต่การทำความเข้าใจเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังคงมีความสำคัญในหลายๆแง่มุม
เพราะว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาดที่ใหญ่ มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกผ่านกลไกต่างๆ เช่น การค้า การเงิน การลงทุน และนโยบายเศรษฐกิจ
ดังนั้นการติดตามข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างชาญฉลาดและรอบคอบได้มากขึ้นนั่นเอง
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนมานำเสนอเท่านั้น เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา