Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InvestWay
•
ติดตาม
3 พ.ค. เวลา 04:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เหตุใดโครงสร้างหนี้ของสหรัฐฯถึงเปราะบางที่สุดในรอบหลายปี
สหรัฐอเมริกามักถูกยกย่องว่าเป็นมหาอำนาจชั้นนำ ด้วยอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่แผ่ขยายไปทั่วโลก
แต่อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ได้มีการก่อหนี้สินมากมายมหาศาล ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สถานการณ์ที่น่ากังวลนี้อาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจหรือปัญหามากมายในอนาคตก็เป็นได้
ดังนั้นบทความนี้เลยจะมานำเสนอข้อมูลและชวนนักลงทุนวิเคราะห์กันว่าเหตุใดสหรัฐฯ ถึงกำลังจะเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเราจะเริ่มต้นบทความด้วยคำถามที่ว่า ทำไมถึงคิดว่าโครงสร้างหนี้ของสหรัฐฯ นั้นมีปัญหาและมีความเปราะบางที่สุดในรอบหลายปี
หากใครที่ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดจะพอทราบว่า สหรัฐฯกำลังเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ และเศรษฐกิจกำลังถูกกดดันด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างหนัก
แต่สิ่งที่น่ากังวลใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ โครงสร้างหนี้ของพวกเขา ณ ขณะนี้ ซึ่งต่อจากนี้จะอธิบายปัจจัยที่ทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นกัน
★
การขาดดุลของสหรัฐฯ
ที่มา gao.gov
จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า ในทุกๆปีงบประมาณนับตั้งแต่ปี 2002 รัฐบาลสหรัฐฯจะเริ่มเกิดภาวะขาดดุลอยู่เสมอ ซึ่งหมายความว่าพวกเขามีการใช้จ่ายที่มากกว่ารายได้ (แท่นสีสะท้อนถึงรายจ่ายที่เริ่มอยู่สูงกว่าเส้นรายได้สีส้ม)
และจะเห็นได้อีกว่าแนวโน้มทางประชากรศาสตร์และแนวโน้มอื่นๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น ประชากรสหรัฐฯกำลังจะเข้าสู่ช่วงสูงวัยกันมากขึ้น และค่ารักษาพยาบาลของสหรัฐฯก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามด้วยเช่นกัน
ทั้งสองภาคส่วนนี้เป็นรายจ่ายหลักที่สร้างแรงกดดันต่อโครงการประกันสังคมและโครงการ Medicare ที่เป็นโครงการที่รัฐบาลสหรัฐฯช่วยเหลือประชาชนของเขาในเรื่องนี้ โครงการดังกล่าวเหล่านี้จึงนำไปสู่รายจ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี (แทบสีฟ้าและสีน้ำเงิน)
หากสงสัยว่าอะไรที่ทำให้การดูแลสุขภาพในสหรัฐฯ ถึงมีราคาแพง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.blockdit.com/posts/6508676c90dadff904bf424a?id=6508676c90dadff904bf424a&series=64674c47614aaa7d47574f36
ทีนี้มาต่อกันที่ระดับการขาดดุลของสหรัฐฯ ในแต่ละปีกัน
●
ระดับการขาดดุลของสหรัฐฯ ในแต่ละปี
ที่มา fiscaldata.treasury.gov
จากแผนภูมิก็จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายสิบที่ผ่านมาสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะขาดดุลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยช่วงที่มีการขาดดุลเพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดจะเป็นช่วงวิกฤต Subprime ปี 2008 และช่วงการระบาดของ Covid-19 ปี 2020
ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าในช่วงวิกฤต รัฐบาลจำเป็นต้องมีการใช้จ่ายมากกว่าปกติในการช่วยเหลือผู้คนและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้กับมาฟื้นตัวอีกครั้งนั่นเอง
แต่การใช้จ่ายที่มากเกินไปที่กลายเป็นปัญหาจริงๆ นั้นจะอยู่ที่ช่วงการระบาดของ Covid-19
หากย้อนกลับไปดูที่แผนภูมิทั้งสองก่อนหน้านี้ จะพบว่าช่วงการระบาด Covid-19 จะเป็นช่วงที่มีการขาดดุลสูงที่สุด
ซึ่งหากใครที่พอจะเข้าใจเรื่องกระบวนการทางการคลัง จะพอทราบกันดีว่าเมื่อรัฐบาลเกิดการขาดดุล หรือ มีภาวะการใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ที่หาได้
รัฐบาลจะทำสิ่งที่เรียกว่า "การพิมพ์เงิน" ด้วยการสร้างเงินใหม่ขึ้นมาในระบบ เพื่อนำมาชดเชยส่วนที่ขาดดุลนั้น ด้วยวิธีอย่างการออกพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่มาขายนักลงทุนที่ยังให้ความเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจและรัฐบาลอยู่
ซึ่งการออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายนักลงทุน นั้นจะเป็นเหมือนการสร้างหนี้ชุดใหม่ขึ้นมา เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลโดยทั่วไปจะมีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุน หรืออาจมีการเสนอส่วนลดจากราคาหน้าตั๋วให้นักลงทุนในบางกรณี
และเมื่อพันธบัตรรัฐบาลถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน รัฐบาลก็จะคืนเงินต้นให้แก่นักลงทุน ซึ่งเงื่อนไขก็จะแล้วแต่ประเภทของพันธบัตรที่รัฐบาลออกมาขาย
ต่อจากนี้เรามาดูข้อมูลและวิเคราะห์ตามกัน
●
หนี้สินทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐฯ
ที่มา fred.stlouisfed.org
●
มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ
ที่มา fred.stlouisfed.org
●
การออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขั้นต้นรายไตรมาส
ที่มา The wall street journal
จากแผนภูมิทั้งสามจะเห็นว่าหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ตอนนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 34.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ
และข้อมูลจาก WSJ ระบุว่ามูลค่าของตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯทั้งหมด ณ ตอนนี้ อยู่ที่ประมาณ 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 27.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือก็คือ แค่หนี้สินที่มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ก็มีขนาดและมูลค่าพอๆกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของพวกเขาแล้ว
แต่จุดที่น่าสังเกตอยู่ตรงนี้ หากย้อนไปดูแผนภูมิการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะพบว่าพันธบัตรส่วนใหญ่ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกจะเป็นพันธบัตรตั๋วเงินคลังระยะสั้น หรือที่เรียกกันว่า Treasury Bills (T-Bills)
ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลประเภทนี้จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุน แต่จะเปลี่ยนเป็นการเสนอผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนลดจากราคาหน้าตั๋วแทน และพันธบัตรประเภทนี้จะมีอายุและวันครบกำหนดไถ่ถอนไม่เกิน 1 ปี
ซึ่งจากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯมีการออก T-Bills และพันธบัตรประเภทอื่นใหม่และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปีด้วย เราเลยอนุมานได้ว่าพวกเขาสร้างหนี้ใหม่มาเพื่อชดใช้หนี้เก่าอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
อธิบายถึงตรงนี้หลายๆคนอาจคิดว่า ก็ปกติไม่ใช่หรอรัฐบาลสหรัฐฯก็ทำแบบนี้มานานแล้วไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย
แต่สิ่งที่จะมาเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ไป นั่นก็คือ วิกฤตการระบาดของ Covid-19
เป็นความจริงที่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลจะมีการใช้จ่ายที่มากขึ้นเป็นพิเศษ แต่ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของ Covid-19 สามารถเรียกได้ว่า "มากเกินไป"
จากแผนภูมิในปี 2020 รัฐบาลสหรัฐฯ มีการออกพันธบัตรชุดใหม่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะ T-Bills และอย่างที่กล่าวไว้ว่า T-Bills เป็นตั๋วเงินคลังระยะสั้นที่มีอายุและวันครบกำหนดไม่เกิน 1 ปี
นั่นหมายความว่า หลังจากออก T-Bills ชุดใหม่ รัฐบาลสหรัฐฯต้องเตรียมเงินต้นสำหรับคืนนักลงทุนในวันครบกำหนดไถ่ถอนในปีถัดไป
แต่ในแผนภูมิจะสังเกตได้ว่า ในปีถัดๆมาหลังจากที่มีการออกพันธบัตรชุดใหม่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลสหรัฐฯ กลับมีการออก T-Bills ชุดใหม่น้อยลง
ซึ่งตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วรัฐบาลสหรัฐฯ เอาเงินจากไหนมาคืนนักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรในปีก่อนหน้า
คำตอบ ก็คือ รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถเก็บภาษีและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เติบโตขึ้นหลังการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงการระบาดของ Covid-19 นั่นเอง
●
รายได้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดช่วงปีงบประมาณ 2015-2023
ที่มา fiscaldata.treasury.gov
จากแผนภูมินี้จะเห็นได้ว่า ช่วงที่ 2020 ถึงปลายปี 2021 รัฐบาลสหรัฐฯ มีการเก็บภาษีและมีรายได้เพิ่มขึ้น นั่นเลยทำให้พวกเขาพอจะมีเงินที่ใช้สำหรับเป็นเงินต้นคืนให้แก่นักลงทุนที่ซื้อ T-Bills ในปีก่อนหน้า
แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีภาวะการขาดดุลเกิดขึ้น เพียงแต่ขาดดุลน้อยลงจึงออก T-Bills ชุดใหม่น้อยลงเท่านั้น
ก่อนที่หลังจากนั้นในปี 2022 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงดำเนินนโยบายดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ (QT) เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เป็นผลพวงมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการระบาด
ท้องฟ้าสงบก่อนพายุจะเข้าก็ได้จบลง เพราะด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นและนโยบายการเงินต่างๆ ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำจนวิกฤต ในช่วงปลายปี 2022 ตามแผนภูมิต่อไปนี้
●
การดำเนินการด้านสภาพคล่องของธนาคารกลาง (Fed) และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
ที่มา lynalden
สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจต่ำลงก็เท่ากับเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจน้อยลง อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงยังทำให้ภาระหนี้ของเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งสองปัจจัยนี้เป็นผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ เก็บภาษีได้น้อยลงพวกเขาจึงมีรายได้ลดลง
ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นเหตุผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องกลับมาออกพันธบัตรชุดใหม่ในปริมาณที่สูงขึ้นอีกครั้งเพื่อหาเงินมาชำระหนี้และชดเชยการขาดดุล
โดยถ้าเราย้อนกลับไปดูแผนภูมิการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้และเปรียบเทียบกับรายได้ของรัฐบาลสหรัฐฯ และแผนภูมิด้านสภาพคล่อง ในช่วงปลายปี 2022 ก็จะเห็นถึงความสอดคล้องนี้
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้เกิดเป็นวิกฤตธนาคาร SVB และธนาคารอีกหลายแห่งทั้ง Silvergate และ Signature ตามมาในช่วงครึ่งแรกของปี 2023
การล้มละลายของธนาคารในสหรัฐฯทั้ง 3 แห่งนี้สร้างความกังวลให้กับตลาดการเงินทั่วโลก ทำให้ทั้งสามหน่วยงานอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), กระทรวงการคลัง และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (FDIC) ต้องเข้ามาให้การช่วยเหลือ
เป็นผลซ้ำเติมทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องออกพันธบัตรชุดใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมไปอีก ซึ่งหากกลับไปดูแผนภูมิการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กับแผนภูมิด้านสภาพคล่องก่อนหน้านี้ ก็จะเห็นถึงความสอดคล้องนี้เช่นกัน
และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2023 ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 121%
●
หนี้สาธารณะต่อ GDP ของสหรัฐฯ
ที่มา fred.stlouisfed.org
อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรชุดใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีมูลค่าพอๆกับช่วงการระบาดของ Covid-19 ในปี 2020 และยังคงเป็น T-Bills เช่นเดิมที่ออกมาเยอะ
ที่มา The wall street journal
แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่างสองครั้งนี้ ก็คือ ครั้งนี้ไม่ได้นำมากระตุ้นระบบเศรษฐกิจ แต่นำไปช่วยเหลือธนาคารของสหรัฐฯ และนำไปชำระหนี้คงค้างและชดเชยการขาดดุล
คำตอบต่อไป ก็คือ แล้วหลังจากนี้โครงสร้างหนี้ของสหรัฐฯจะเป็นเช่นไรต่อมา
เพราะต้องไม่ลืมว่าในครั้งปี 2020 มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาช่วยทำให้เก็บภาษีและมีรายได้เยอะ เลยทำให้ไม่ต้องออกพันธบัตรชุดใหม่อะไรมากนัก
แต่ครั้งปี 2023 นั้นไม่ใช่ ในครั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และเงินเฟ้อที่ยังคงยืดเยื้อไม่ยอมลงง่ายๆ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงเช่นเดิม
เงื่อนไขทางการเงินที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการเก็บภาษีของภาครัฐ และหนี้จำนวนมหาศาลที่ใกล้วันครบกำหนดไถ่ถอนจากการออก T-Bills รวมถึงภาวะการขาดดุลจำนวนมากในปี 2023
รัฐบาลสหรัฐฯ จะนำเงินจากไหนมาชำระหนี้คงค้างและชดเชยการขาดดุลที่สูงขนาดนี้ จะออกพันธบัตรชุดใหม่ที่มากกว่าเดิมขึ้นไปอีก และทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแบบทวีความรุนแรงหรือไม่
ทั้งๆที่ตอนนี้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไปแล้วตั้งแต่ช่วงการระบาดของ Covid-19
ที่มา cbo.gov
หรือพวกเขามีวิธีแก้ไขที่ซับซ้อนกว่าที่พวกเราคิด อีกทั้งหากพวกเขาจะใช้ท่าเล่นเดิมอย่างการทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพื่อเก็บภาษี พวกเขาจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรไม่ให้เกิดเป็นเงินเฟ้อที่แก้ไขได้ยากตามมาภายหลัง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้จึงไม่แปลกเลย หากเราจะมองว่าโครงสร้างหนี้ของสหรัฐฯ นั้นกำลังเผชิญกับปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และเปราะบางที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งนักลงทุนทุกคนยังคงต้องค่อยติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
References:
https://tradingeconomics.com/united-states/gdp-growth
https://fiscaldata.treasury.gov/americas-finance-guide/government-revenue/
https://fred.stlouisfed.org/series/GFDEBTN#
https://tradingeconomics.com/united-states/government-revenues
https://fred.stlouisfed.org/series/GDP#
https://fred.stlouisfed.org/series/GFDEGDQ188S#
https://fiscaldata.treasury.gov/americas-finance-guide/national-deficit/
https://www.gao.gov/americas-fiscal-future
https://www.cbo.gov/publication/58946
การลงทุน
เศรษฐกิจ
ธุรกิจ
1 บันทึก
2
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
INVESTING NEWS AND ECONOMY SERIES by InvestWay
1
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย